แคหางค่าง สรรพคุณและประโยชน์ดอกแคหางค่าง 8 ข้อ ! (แคบิด)

แคหางค่าง สรรพคุณและประโยชน์ดอกแคหางค่าง 8 ข้อ ! (แคบิด)

แคหางค่าง

แคหางค่าง ชื่อวิทยาศาสตร์ Fernandoa adenophylla (Wall. ex G.Don) Steenis จัดอยู่ในวงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE)[1],[2]

สมุนไพรแคหางค่าง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แคบิด แคร้าว แคลาว (เลย), แฮงป่า (จันทบุรี), แคพอง (สุราษฎ์ธานี), แคหัวหมู (นครราชสีมา), แคขน (ภาคเหนือ), แคหางค่าง (ภาคกลาง), ปั้งอะ (ม้ง) เป็นต้น[3],[5]

ลักษณะของแคหางค่าง

  • ต้นแคหางค่าง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบในช่วงสั้น มีลำต้นสูงประมาณ 5-20 เมตร ลำต้นมักคดงอ มีเรือนยอดไม่เป็นระเบียบ เอนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ ส่วนเปลือกต้นเป็นสีเทาค่อนข้างเรียบ ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีขาว ตามกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล และมีช่องระบายอากาศอยู่ทั่วไป[1],[8] โดยจะพบได้มากตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าหญ้า ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-800 เมตร ส่วนในต่างประเทศจะพบได้ที่อัสสัม บังคลาเทศ พม่า อันดามัน คาบสมุทรอินโดจีน และมาเลย์-เพนนินซูลาร์[1],[4]

ต้นแคหางค่างต้นแคบิด
  • ใบแคหางค่าง ใบออกเป็นช่อ ช่อจะออกตรงข้ามกันหรือออกเยื้องกันเล็กน้อย ช่อใบมีความยาวประมาณ 20-50 เซนติเมตร ในแต่ละช่อจะประกอบไปด้วยใบย่อยที่มีลักษณะและขนาดแตกต่างกันออกไป เช่น เป็นรูปมน รูปรี รูปป้อม หรือเป็นรูปสีเหลี่ยมขนมเปียกปูนกลาย ๆ โดยจะมีใบย่อยประมาณ 1-4 คู่ ออกเรียงตรงข้ามกัน ที่ปลายสุดของช่อใบอาจเป็นใบเดี่ยวหรือคู่ก็ได้ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-20 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-30 เซนติเมตร ปลายใบมนและเป็นติ่งแหลมสั้น ๆ ส่วนโคนใบมนหรือยักเว้าเล็กน้อยและมักเบี้ยว แผ่นใบหนา หลังใบเกลี้ยง หรืออาจมีขนเล็กน้อย ส่วนท้องใบมีขนสาก ๆ อยู่ทั่วไป ส่วนเส้นแขนงของใบค่อนข้างเหยียดตรง มีประมาณ 6-10 คู่ เส้นใบย่อยเป็นแบบขั้นบันได มองเห็นได้ชัดทางท้องใบ ส่วนก้านใบย่อยจะสั้นมาก[1],[8]

ใบแคหางค่าง

  • ดอกแคหางค่าง ดอกมีขนาดใหญ่สีเหลืองอ่อน ดอกจะออกรวมกันเป็นช่อใหญ่บริเวณปลายกิ่ง โดยช่อดอกจะตั้งชี้ขึ้นและมีความยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร โคนกลีบรองกลีบดอกติดกันเป็นรูปถ้วย มีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-4.5 เซนติเมตร ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก มีขนาดไม่เท่ากัน ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นหนาแน่น ส่วนกลีบฐานดอกจะติดเป็นจุกผล กลีบของดอกเป็นรูปแตรงอน มีขนสีน้ำตาลขึ้นอยู่หนาแน่นทางด้านนอก ส่วนด้านในเกลี้ยง หลอดกลีบดอกในช่วงล่างเป็นหลอดแคบ ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ส่วนช่วงบนจะขยายใหญ่กว้างจนถึงปากหลอด กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรตัวผู้อยู่ 2 คู่ แบ่งเป็นยาว 1 คู่และสั้น 1 คู่ และมีรังไข่เป็นรูปทรงกระบอกและบิดเบี้ยว มีขนคลุมอยู่หนาแน่น โดยดอกแคหางค่างจะออกดอกในช่วงเดือนสิงหาคมไปจนถึงเดือนกันยายน[1],[2],[8]

ดอกแคบิด

แคบิด

ดอกแคหางค่าง

  • ฝักแคหางค่าง ลักษณะของฝักเป็นรูปทรงกระบอกโต โค้งงอและบิดเป็นเกลียว มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 35-70 เซนติเมตร ฝักจะมีสันเป็นเส้นยาวตามฝัก 5 สัน และมีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นอยู่ทั่วไป ฝักเมื่อแก่จะแตกตามรอยประสาน ในฝักมีเมล็ดลักษณะแบน กว้างประมาณ 0.7-1.2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร และมีเยื่อบาง ๆ ตามขอบคล้ายกับปีก[1],[8]

ฝักแคหางค่าง

ฝักแคบิด

สรรพคุณของแคหางค่าง

  1. เมล็ดใช้เป็นยาบำรุงโลหิต (เมล็ด)[6]
  2. ช่วยขับเสมหะ (เมล็ด)[6]
  3. เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (เปลือกต้น)[6]
  4. ใบใช้ตำพอกรักษาแผล[6] รักษาแผลสด แผลถลอก แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก และช่วยห้ามเลือด (ใบ)[7]
  5. ใบใช้ตำพอกแก้โรคผิวหนัง ผดผื่นคัน และหูด (ใบ)[7]
  6. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำอาบ ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้ (เปลือกต้น)[6]

ประโยชน์ของแคหางค่าง

  • ดอกและฝักอ่อนสามารถนำมาใช้เป็นผักจิ้มกินกับน้ำพริกได้ แต่ต้องทำให้สุกเสียก่อน โดยจะมีรสขมเล็กน้อย[1],[4] หรือจะใช้ดอกนำมาคั่วหรือกินกับน้ำพริก[5] บ้างก็ว่าดอกและฝักอ่อนให้นำมาย่างไฟก่อนเพื่อลดความขม หรือใช้ต้มให้สุกก่อนนำมาใช้เป็นผักจิ้ม[6]
  • เนื้อไม้แคหางค่าง สามารถนำมาใช้ทำสิ่งก่อสร้าง ทำเสาต่าง ๆ ทำด้ามเครื่องมือ ด้ามปืน ฯลฯ[2],[4],[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “แคบิด“.  อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1, หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the garden.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [27 ธ.ค. 2013].
  2. สารสนเทศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “แคหางค่าง“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.ku.ac.th.  [27 ธ.ค. 2013].
  3. รายชื่อพรรณไม้ (ป่า) ในประเทศไทย ฐานข้อมูลเพื่อการวิจัยด้านป่าไม้ หน่วยวิจัยภัยพิบัติด้านทรัพยากรธรรมชาติ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “แคหางค่าง“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.frcdb.forest.ku.ac.th.  [27 ธ.ค. 2013].
  4. พรรณไม้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.  “แคหางค่าง“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: rspg.dusit.ac.th.  [27 ธ.ค. 2013].
  5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “แคหางค่าง, แคบิด“.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [27 ธ.ค. 2013].
  6. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “แคหางค่าง“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.org/newslet/9_5.pdf.  [27 ธ.ค. 2013].
  7. MyFirstBrain.  “แคหางค่าง“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.myfirstbrain.com.  [27 ธ.ค. 2013].
  8. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “แคบิด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [27 ธ.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by dinesh_valke, jayeshgp912, Sh@ist@)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด