แคหัวหมู
แคหัวหมู ชื่อวิทยาศาสตร์ Markhamia stipulata var. stipulata[2] จัดอยู่ในวงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE)
สมุนไพรแคหัวหมู ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แคหมู แคพุงหมู แคหัวหมู (ทั่วไป), แคปุ๋มหมู (เชียงใหม่), แคขอน แคหางต่าง แคหางค่าง (เลย), แคอาว (นครราชสีมา), ขุ่ย แคว (กระเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน), แคหมากลิ่ม (เงี้ยว แม่ฮ่องสอน), แคยอดดำ (ภาคใต้) เป็นต้น[1],[2],[5] และอีกข้อมูลหนึ่งได้ระบุว่าแคหัวหมูยังมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นอื่น ๆ อีกว่า แคป่า แคหางค่าง (คนเมือง), แควะ เปาะแควะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), แคว (กะเหรี่ยง), ตะหย่ากุ๊มีเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), แคฝอย (ไทลื้อ), แคหางค่าง (ไทใหญ่), ปั้งอ่ะ (ม้ง), ดอกแก ดอกแกป่า (ลั้วะ), ไฮ่ไม้แก้ (ปะหล่อง), ต่าด้าวเดี๋ยง (เมี่ยน) เป็นต้น[3]
ลักษณะของแคหัวหมู
- ต้นแคหัวหมู จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-15 เมตร เป็นต้นไม้ที่ชอบแสงแดดจัดและดินร่วนปนทราย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด สามารถพบได้ตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังหรือป่าคืนสภาพ ไปจนถึงระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตร ส่วนในต่างประเทศ 1,700 เมตร[2],[3],[4] มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศจีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และในประเทศไทย สำหรับในไทยจะพบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และทางภาคใต้ตอนบน[2]
- ใบแคหัวหมู ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ยาวประมาณ 20-55 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 4-8 คู่ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือเป็นรูปแกมรูปรี หรือแกมรูปใบหอก ยาวประมาณ 8-25 เซนติเมตร โคนใบแหลมถึงเกือบกลม ส่วนปลายใบแหลม แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนขึ้นอยู่ประปราย ก้านใบมีขนาดสั้นหรือยาวไม่เกิน 0.5 เซนติเมตร[2]
- ดอกแคหัวหมู ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกยาวประมาณ 15-35 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกประมาณ 4-10 ดอก ก้านดอกยาวประมาณ 2-6 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 3.3-5.5 เซนติเมตร และมีขนปุย ส่วนกลีบดอกเป็นสีเหลืองตุ่น ๆ บางครั้งอาจปนสีแดงอยู่ด้านใน หลอดกลีบยาวประมาณ 6-6.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบปากกว้างประมาณ 3.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4.5 เซนติเมตร และปากกว้างประมาณ 10-15 เซนติเมตร[2]
- ฝักแคหัวหมู ลักษณะของฝักเป็นรูปแถบ ยาวประมาณ 30-70 เซนติเมตร ฝักมีขนปุย ๆ ภายในฝักมีเมล็ดกว้างประมาณ 1-1.3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3.5 เซนติเมตร[2]
สรรพคุณของแคหัวหมู
- เปลือกต้นใช้ต้มกินเป็นยารักษาโรคอัมพฤกษ์ (เปลือกต้น)[3]
ประโยชน์ของแคหัวหมู
- ดอก (กลีบดอก) และผลอ่อนหรือฝักอ่อน นำมาลวกหรือนึ่งกินกับน้ำพริกหรือจะนำไปยำก็ได้ หรือจะนำดอกมาปิ้งแล้วสับคั่วกับน้ำพริกก็ได้ บ้างก็นำถั่วเน่าที่ตำผสมกับพริกและหัวหอมมายัดใส่ในดอกแล้วนำไปปิ้งกินก็ได้ เห็นว่ามีรสขม แต่รสดีมาก หรือจะนำฝักอ่อนมาเผาแล้วขูดขนออก กินร่วมกับน้ำพริก โดยจะมีรสขมเล็กน้อย นอกจากนี้ยังใช้ดอกนำไปประกอบอาหาร เช่น การนำมาผัดก็ได้ แต่ไม่นิยมนำไปแกง[3],[4]
- ไม้แคหัวหมู สามารถนำมาใช้ก่อสร้างบ้านเรือนได้[3]
เอกสารอ้างอิง
- รายชื่อพรรณไม้ (ป่า) ในประเทศไทย ฐานข้อมูลเพื่อการวิจัยด้านป่าไม้ หน่วยวิจัยภัยพิบัติด้านทรัพยากรธรรมชาติ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “แคหัวหมู“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.frcdb.forest.ku.ac.th. [27 ธ.ค. 2013].
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “แคหัวหมู“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/botany/. [27 ธ.ค. 2013].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “แคหัวหมู, แคหางค่าง“. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), พืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง ชุดที่ 1 บ้านปางมะโอ (เกรียงไกรและคณะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [27 ธ.ค. 2013].
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “แคหัวหมู“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [27 ธ.ค. 2013].
- โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ ปีที่ 50 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “แคพุงหมู, แคหัวหมู“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com. [27 ธ.ค. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Tony Rodd), เว็บไซต์ ict2.warin.ac.th (พัชริดา สังข์ทอง)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)