แคนา สรรพคุณและประโยชน์ของต้นแคนา 23 ข้อ ! (แคขาว)

แคนา สรรพคุณและประโยชน์ของต้นแคนา 23 ข้อ ! (แคขาว)

แคนา

แคนา ชื่อวิทยาศาสตร์ Dolichandrone serrulata (Wall. ex DC.) Seem. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Bignonia serratula Wall. ex DC., Bignonia serrulata Wall. ex DC., Spathodea serrulata (Wall. ex DC.) DC., Stereospermum serrulatum DC.)[1] จัดอยู่ในวงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE)[1]

สมุนไพรแคนา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แคขาว แคเก็ตวา แคเก็ตถวา แคเค็ตถวา (เชียงใหม่), แคภูฮ่อ (ลำปาง), แคป่า (เลย, ลำปาง), แคทราย (นครราชสีมา), แคยาว แคอาว (ปราจีนบุรี), แคยอดดำ (สุราษฎร์ธานี), แคตุ้ย แคแน แคฝา แคฝอย แคหยุยฮ่อ แคแหนแห้ (ภาคเหนือ), แคนา (ภาคกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3],[5]

ลักษณะของแคนา

  • ต้นแคนา หรือ ต้นแคป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของลำต้นได้ถึง 10-20 เมตร ลำต้นเปลาตรง มักแตกกิ่งต่ำ เปลือกของลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนอมสีเทาและอาจมีจุดดำประ ผิวต้นเรียบหรือล่อนเป็นเกล็ดขนาดเล็ก ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำราก โดยสามารถพบต้นแคนาได้ตามป่า ตามทุ่ง ตามไร่นา และตามป่าเบญจพรรณทั่วไป[1],[3],[4] มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศลาว พม่า เวียดนาม และในประเทศไทยสามารถพบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และทางภาคกลาง โดยอาจจะได้ประปรายในป่าเบญจพรรณ และพบได้บ่อยตามนาข้าวทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ระดับความสูงไม่เกิน 300 เมตร[2],[5]

ต้นแคนาต้นแคป่า
  • ใบแคนา มีใบเป็นใบประกอบแบบขนชั้นเดียวปลายคี่ ออกตรงข้ามกันประมาณ 3-5 คู่ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบเบี้ยว ส่วนขอบใบหยักเป็นแบบซี่ฟันตื้น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-16 เซนติเมตร ผิวใบด้านล่างมีขนสั้นอยู่ประปรายบนก้านใบ ส่วนก้านใบย่อยมีความยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร[1]

ใบแคนา

  • ดอกแคนา ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะสั้น ดอกมีขนาดใหญ่ ลักษณะของดอกเป็นรูปแตรสีขาว โดยจะออกดอกตามปลายกิ่ง ดอกยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 1.8-4 เซนติเมตร ในแต่ละช่อจะมีดอกอยู่ประมาณ 2-10 ดอก กลีบเลี้ยงหนาและเหนียว ปลายเรียวเล็กและโค้งยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร หุ้มดอกตูมมิด เชื่อมติดกันเป็นหลอดโค้งปลายแหลม เมื่อดอกบานจะมีรอยแตกทางด้านล่าง มีลักษณะเป็นกาบหุ้มกลีบดอกติดกันเป็นท่อ ส่วนปลายขยายออกเป็นรูประฆัง และจะแยกออกเป็นแฉก 5 แฉก กลีบดอกเชื่อมติดกัน ยาวประมาณ 16-18 เซนติเมตร ส่วนหลอดกลีบดอกจะยาวประมาณ 13-14 เซนติเมตร ส่วนโคนจะแคบเป็นหลอด สีเขียวอ่อน ส่วนบนจะบานออกคล้ายกรวยเป็นสีขาวแกมสีขมพู แฉกกลีบดอกมีอยู่ 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ที่ขอบกลีบจะย่นเป็นคลื่น ๆ ดอกเป็นสีขาว ดอกตูมเป็นสีเขียวอ่อน ๆ โคนกลีบมีสีน้ำตาลปน ดอกมีเกสรตัวผู้ 4 ก้าน ติดอยู่ด้านในของท่อกลีบดอก ปลายแยก มีขนาดสั้น 2 ก้านและยาว 2 ก้าน และยังมีเกสรตัวผู้ที่เป็นหมันอีก 1 ก้าน มีรูปร่างเป็นเส้นเรียวเล็กคล้ายเส้นด้าย มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนอับเรณูยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เป็นสีเทาดำ และจานฐานดอกเป็นรูปเบาะ เป็นพูตื้น ๆ และมีเกสรตัวเมียอยู่ 1 ก้าน โดยดอกแคนาจะค่อย ๆ บานทีละดอก ดอกมีกลิ่นหอม บานในตอนกลางคืน และจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน[1]

ดอกแคป่า

ดอกแคนา

แคป่า

ดอกแคขาว

  • ผลแคนา ผลเป็นฝัก ออกฝักช่อละประมาณ 3-4 ฝัก ลักษณะของฝักแบนเป็นรูปขอบขนาน ฝักโค้งและบิดเป็นเกลียว มีความยาวประมาณ 40-60 เซนติเมตร ส่วนเมล็ดเป็นรูปสี่เหลี่ยม ยาวประมาณ 2.2-2.8 เซนติเมตรรวมปีกบางใส[1],[5]

ฝักแคป่า

ฝักแคนา

สรรพคุณของแคนา

  1. รากมีรสเย็น ช่วยบำรุงโลหิต (ราก)[1]
  2. เมล็ดใช้เป็นยาแก้อาการปวดประสาท (เมล็ด)[1]
  3. ช่วยในการนอนหลับ (ดอก)[6]
  4. ช่วยแก้โรคชัก (เมล็ด)[1]
  5. ช่วยแก้ไข้ลมหัวได้เช่นเดียวกับดอกแคบ้าน (ดอก)[6]
  1. ใบนำมาต้มกับน้ำเป็นยาบ้วนปาก (ใบ)[1]
  2. ดอกมีรสหวานเย็น ใช้เป็นยาขับเสมหะ โลหิต และลม (ดอก)[1]
  3. ช่วยแก้เสมหะและลม (ราก)[1]
  4. ใช้ต้มรับประทานแก้อาการท้องร่วง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2],[3]
  5. ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ โดยใช้กับสตรีหลังคลอดบุตร (เปลือกต้น)[1]
  6. ช่วยขับผายลม (ดอก)[1]
  7. ช่วยในการขับถ่ายให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น (ดอก)[6]
  8. ช่วยแก้พยาธิ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2],[3]
  9. ช่วยแก้ริดสีดวงงอก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2],[3]
  10. ช่วยแก้อาการตกเลือด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2],[3]
  11. ใบใช้ตำพอกรักษาแผล (ใบ)[1]
  12. ช่วยแก้ฝีราก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2],[3]
  13. ใช้เป็นยาแก้บวม (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2],[3]

ประโยชน์ของแคนา

  1. ดอกแคนาสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้ โดยนำมาทำเป็นแกงส้ม หรือจะนำดอกมาลวก หรือต้มจิ้มกินกับน้ำพริกก็ได้เช่นกัน[1],[3]
  2. รสขมของดอกแคนาจะช่วยทำให้รับประทานอาหารอร่อยยิ่งขึ้น[6]
  3. ต้นแคนาเป็นต้นไม้ทรงพุ่ม ใบและฝักแลดูสวยงาม เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้สำหรับให้ร่มเงาและเป็นไม้ประดับเสริมจุดเด่นให้สวนที่ปลูกได้[4]
  4. ใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย (ข้อมูลไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าใช้ส่วนไหน แต่เข้าใจว่าเป็นดอก)[4]
  5. เนื้อไม้ของต้นแคนาสามารถนำมาใช้ทำสิ่งก่อสร้างอาคารบ้านเรือนได้ เช่น ทำเป็นเสา ไม้กระดาน ฝาเพด้าน พื้น ฯลฯ[2],[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “แคนา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [26 ธ.ค. 2013].
  2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “แคขาว“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [26 ธ.ค. 2013].
  3. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์.  “แคขาว“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.uru.ac.th.  [26 ธ.ค. 2013].
  4. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “แคนา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [26 ธ.ค. 2013].
  5. สารานุกรมพืชในประเทศไทย สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “แคขาว“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/botany/.  [26 ธ.ค. 2013].
  6. ไทยโพสต์.  “แคป่า บานกลางกรุง ตอกย้ำความอร่อยของผักตามฤดูกาล“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaipost.net.  [26 ธ.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by SierraSunrise), www.phargarden.com, เว็บไซต์ kaentong.com (by kaentong)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด