แคทะเล สรรพคุณและประโยชน์ของแคทะเล 13 ข้อ ! (แคน้ำ)

แคทะเล สรรพคุณและประโยชน์ของแคทะเล 13 ข้อ ! (แคน้ำ)

แคทะเล

แคทะเล ชื่อสามัญ Tui, Mangrove trumpet tree

แคทะเล ชื่อวิทยาศาสตร์ Dolichandrone spathacea (L.f.) Seem. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Bignonia spathacea L.f.) วงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE)[1],[2],[3]

สมุนไพรแคทะเล มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แคน้ำ แคนา แคป่า แคน้ำทะเล (ภาคกลาง), แคฝา แคตุ้ย แคปี่ฮ่อ แคแหนแห้ (เหนือ) เป็นต้น[1],[2],[3],[4]

ลักษณะของแคทะเล

  • ต้นแคทะเล หรือ ต้นแคน้ำ จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 4-20 เมตร แตกกิ่งก้านน้อยและต่ำ เป็นเรือนยอดแผ่กว้าง กิ่งอ่อนมักมีเมือกเหนียว แต่ละส่วนเมื่อแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ส่วนเปลือกเป็นสีเทาเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้น ๆ และมีช่องอากาศอยู่ตามลำต้น โดยต้นแคทะเลมักจะขึ้นตามชายป่าโกงกางด้านในหรือตามริมแม่น้ำที่น้ำทะเลท่วมถึง หรือขึ้นกระจายอยู่ห่าง ๆ ตามแนวหลังป่าชายเลน มีเขตการกระจายพันธุ์เป็นวงกว้าง โดยจะพบได้ตั้งแต่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนในประเทศไทยจะพบต้นแคทะเลได้เฉพาะทางภาคกลางและภาคใต้ในแถบจังหวัดชายฝั่งทะเล[1],[2],[3]

ต้นแคทะเลต้นแคน้ำ
  • ใบแคทะเล ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงตรงข้ามกัน ก้านใบยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 2-4 คู่ และมีขนาดไม่เท่ากัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ถึงรูปใบหอก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-16 เซนติเมตร ปลายใบแหลมยาว ส่วนโคนใบเบี้ยวหรือแหลมถึงกลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีลักษณะเกลี้ยง มีต่อมประปรายบนเส้นกลางใบด้านล่างของท้องใบ และก้านใบย่อยมีความยาวประมาณ 0.4-1 เซนติเมตร[1],[2]

ใบแคทะเล

  • ดอกแคทะเล ออกดอกเป็นช่อยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกประมาณ 2-8 ดอก ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมีลักษณะคล้ายกาบรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 3-9 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกเป็นรูปแตรสีขาว หลอดกลีบส่วนโคนเรียวแคบ ยาวประมาณ 8-13 เซนติเมตร และหลอดกลีบส่วนปลายจะบานออกเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นกลีบ 5 กลีบตื้น ๆ เกสรตัวผู้ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก โดยเกสรตัวผู้ที่เป็นหมันจะลดรูป จานฐานดอกเป็นรูปเบาะ ส่วนก้านเกสรตัวเมียจะเป็นรูปเส้นด้ายเรียวยาว ยื่นเลยพ้นปากหลอดกลีบไปเล็กน้อย โดยจะออกดอกเกือบตลอดทั้งปี แต่จะออกมากในช่วงเดือนเมษายนจนถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2]

ดอกแคทะเล

  • ผลแคทะเล ผลเป็นฝักเรียวยาวและโค้งงอ ฝักกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร ฝักเมื่อแห้งจะแตกออกเป็นสองซีกและบิดเป็นเกลียว ภายในฝักมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หนา แบน และมีปีก กว้างประมาณ 0.6-0.8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.3-1.8 เซนติเมตร โดยจะออกผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน[1],[2]

ฝักแคน้ำ

แคน้ำ

ฝักแคทะเล

เมล็ดแคทะเล

สรรพคุณของแคทะเล

  1. รากช่วยบำรุงโลหิต (ราก)[6]
  2. เมล็ดใช้เป็นยาแก้อาการปวดประสาท (เมล็ด)[5]
  3. ช่วยแก้โรคชัก (เมล็ด)[6]
  4. ราก ดอก ใบ ใช้เป็นแก้ไข้ (ราก, ดอก)[5]
  5. ช่วยขับเสมหะ (ราก)[5]
  6. ใบใช้ทำเป็นยาบ้วนปากได้ (ใบ)[5]
  7. ช่วยแก้โลหิต (ราก)[5]
  8. เปลือกใช้เป็นยาแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (เปลือก)[5]
  9. ช่วยแก้อาการคัน (ใบ)[5]
  10. ใบใช้ทำเป็นยาพอกรักษาแผล (ใบ)[5]

ประโยชน์แคทะเล

  • ดอกและยอดสามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผักได้[4],[5]
  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ[4]
  • เนื้อไม้ของต้นแคทะเลสามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือนและหีบสำหรับใส่สิ่งของได้[4],[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “แคทะเล“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/botany/.  [24 ธ.ค. 2013].
  2. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ.  “แคทะเล“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.nectec.or.th.  [26 ธ.ค. 2013].
  3. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ กลุ่มงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “แคทะเล“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th.  [26 ธ.ค. 2013].
  4. สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “แคน้ำ“. [ ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/pattani_botany.  [26 ธ.ค. 2013].
  5. รายวิชาชายฝั่งทะเล กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนท้ายหาด.  “แคทะเล“.  (วรรณี ทัฬหกิจ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.geocities.ws/Jukkrit_L/.  [26 ธ.ค. 2013].
  6. bioGANG.  “แคทะเล“.  (hedhom).  อ้างอิงใน: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.biogang.net.  [26 ธ.ค. 2013].
  7. A Guide to Mangroves of Singapore.  “Tui“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: mangrove.nus.edu.sg.  [26 ธ.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Cerlin Ng, wildsingapore, brandon Chia, Shubhada Nikharge, Andrew Ward Nicholson)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด