แก้วหูทะลุ (Ruptured eardrum) อาการ สาเหตุ และการรักษาเยื่อแก้วหูทะลุ 5 วิธี !!

แก้วหูทะลุ

หู (Ear) เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่การรับฟังเสียงและการทรงตัวของร่างกาย ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ

  1. หูชั้นใน ประกอบไปด้วย 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ท่อขดก้นหอย (Cochlea) ซึ่งทำหน้าที่รับคลื่นเสียงจากหูชั้นกลางแล้วส่งต่อไปทางเส้นประสาทหูชั้นในเข้าไปแปลความที่สมอง และเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่ช่วยในการทรงตัว เรียกว่า เวสทิบิวล่าร์แอพพาราตัส (Vestibular apparatus)
  2. หูชั้นกลาง เป็นส่วนที่อยู่ถัดจากหูชั้นในออกมา ประกอบไปด้วยกระดูกรูปโกลน (Stapes), กระดูกรูปทั่ง (Incus) และกระดูกรูปค้อน (Malleus) เรียงตามลำดับจากด้านในสู่ด้านนอก มีหน้าที่ในการขยายการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงให้มากขึ้น แล้วส่งต่อการสั่นสะเทือนนั้นเข้าสู่ประสาทหูส่วนใน และส่งต่อไปยังสมองเพื่อแปลเป็นการได้ยิน หูชั้นกลางมีการติดต่อกับท่อปรับความดันอากาศระหว่างหูชั้นกลางกับภายนอกร่างกาย/ความดันอากาศในลำคอเรียกว่า ท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) ซึ่งมีหน้าที่ปรับความดันอากาศภายในหูให้มีความดันอากาศเท่ากับความดันภายนอก (หากระดับความดันไม่เท่ากันจะมีผลทำให้รู้สึกหูอื้อ และถ้าเกิดความแตกต่างกันมากก็จะทำให้รู้สึกปวดหูได้)
  3. หูชั้นนอก ประกอบไปด้วย ใบหู (Auricle) ซึ่งมีหน้าที่รวบรวมคลื่นเสียงจากภายนอกส่งเข้าสู่รูหู, ช่องหูชั้นนอก (External auditory canal) ซึ่งมีหน้าที่เป็นทางเดินของคลื่นเสียงเข้าสู่หูชั้นกลาง รวมทั้งในรูหูยังมีขนและต่อมสร้างขี้หูเอาไว้สำหรับดักฝุ่นละอองหรือสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าไปลึกในรูหู, และประกอบไปด้วย แก้วหู หรือ เยื่อแก้วหู (Eardrum) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ ที่กั้นอยู่ระหว่างหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง ทำหน้าที่สั่นสะเทือนเมื่อมีเสียงมากระทบและแยกคลื่นเสียงที่แตกต่างกันได้

แก้วหูทะลุอันตรายไหม
IMAGE SOURCE : www.fairview.org, www.nytimes.com

แก้วหูทะลุ / เยื่อแก้วหูทะลุ (Ruptured eardrum หรือ Perforated eardrum) คือ ภาวะที่แก้วหูมีรูทะลุเกิดขึ้น โดยอาจเกิดจากการอักเสบติดเชื้อ (หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง) หรือเกิดจากการได้รับบาดเจ็บจนแก้วหูทะลุก็ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหูอื้อ หูตึง เกิดการได้ยินลดลง และบางรายอาจมีอาการปวดในรูหูหรือมีเลือดไหลออกจากหูได้

สาเหตุของแก้วหูทะลุ

แก้วหูทะลุมักเกิดจากการเขี่ยหู แคะหู หรือการพยายามนำสิ่งแปลกปลอมออกจากหู การได้รับบาดเจ็บที่กะโหลกศีรษะ (ทำให้กระดูกบริเวณหลังหูหัก) อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา การถูกกระทบกระแทกจากสาเหตุต่าง ๆ ในบริเวณหูและ/หรือที่บริเวณศีรษะอย่างรุนแรง (เช่น การถูกตบหู ซึ่งทำให้มีการเพิ่มขึ้นของความดันภายในช่องหูชั้นนอก) การได้ยินเสียงดังจากวัตถุระเบิด พลุ หรือประทัดในระยะใกล้ ๆ และการมีความดันภายนอกหูที่สูงเกินไปจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การดำน้ำ การขึ้นลงเครื่องบินในขณะที่ท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติ (เช่น ในขณะที่เป็นหวัด) เป็นต้น

รูปแก้วหูทะลุ
IMAGE SOURCE : www.webmd.com, www.dreamresearchgroup.com

แก้วหูทะลุหายเองได้ไหม
IMAGE SOURCE : www.wikimedia.org (by Didier Descouens), jeffreysterlingmd.com, nesilv.com

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อย ๆ คือ แก้วหูทะลุที่เกิดจากหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง โดยจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในหูชั้นกลางอย่างเรื้อรังที่ไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ดีจนทำให้หนองในช่องหูชั้นกลางมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ความดันในหูชั้นกลางสูงขึ้นจนดันให้แก้วหูทะลุตามมา

อาการของแก้วหูทะลุ

ผู้ป่วยแก้วหูทะลุจากการบาดเจ็บ มักมีอาการหูอื้อ หูตึง มีเสียงดังในหู และอาจมีอาการปวดในรูหู และมีเลือดไหลออกจากหู ซึ่งรอยทะลุบนแก้วหูที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บนี้มักจะมีลักษณะเป็นรูปรี ๆ หรือแตกออกเป็นหลายแฉกคล้ายรูปดาว ขอบมักไม่เรียบ และมักมีเลือดคั่งอยู่ในบริเวณขอบของรอยทะลุหรือภายในช่องหู ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจการได้ยิน (Audiogram) เพื่อตรวจหาพยาธิสภาพอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในหูชั้นกลางและหูชั้นใน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยแก้วหูทะลุจะมีอาการดังนี้

  • การได้ยินของผู้ป่วยผิดปกติไป คือ หูอื้อ หูตึง การได้ยินเสียงเบาลง มีเสียงดังในหู (อาการจะเกิดขึ้นทันทีภายหลังการได้รับบาดเจ็บ)
  • ถ้าเบ่งออกแรง เช่น สั่งน้ำมูก ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามีลมออกมาจากหู ซึ่งเกิดจากตอนที่เบ่งจะมีลมจากจมูกผ่านออกมาทางท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) มาถึงหูชั้นกลาง จากนั้นลมจะผ่านแก้วหูที่ทะลุออกมาได้
  • ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการปวดในรูหู ยกเว้นในรายที่เกิดตามหลังการกระทบกระแทกอย่างเฉียบพลัน
  • ในรายที่เกิดจากการกระทบกระแทก เช่น หลังการปั่นหู อาจทำให้มีเลือดไหลออกมาจากหูได้
  • ในรายที่แก้วหูทะลุจากหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง จะทำให้มีหูน้ำหนวกไหลเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังร่วมกับมีอาการหูอื้อ หูตึง หูน้ำหนวก ซึ่งจะมีลักษณะเป็นหนองสีเหลืองหรือสีเขียว บางรายอาจมีอาการบ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย และส่วนมากจะไม่มีไข้หรือมีอาการเจ็บปวดในรูหูแต่อย่างใด

อาการแก้วหูทะลุ
IMAGE SOURCE : www.amotherthing.com

ภาวะแทรกซ้อนของแก้วหูทะลุ

  • สูญเสียการได้ยิน ขนาดและตำแหน่งของการทะลุของแก้วหูจะส่งผลต่อระดับการสูญเสียการได้ยินไปจนกว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษา
  • การติดเชื้อในหูชั้นกลาง (หูชั้นกลางอักเสบ) หากมีการติดเชื้อเนื่องจากแก้วหูทะลุและผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ดี อาจทำให้การติดเชื้อเรื้อรังต่อไปจนทำให้สูญเสียการได้ยินถาวรได้
  • เกิดโรคหูรุนแรงที่เรียกว่า โคเลสเทียโตมา (Cholesteatoma) คือ ถุงน้ำในหูชั้นกลางซึ่งประกอบไปด้วยเซลล์ผิวหนัง ขี้หู และเศษซากต่าง ๆ ที่ออกมายังหูชั้นนอกกลายเป็นขี้หู แต่ในกรณีที่แก้วหูทะลุอาจทำให้เศษซากเหล่านี้เคลื่อนเข้าไปที่หูชั้นกลางและเกิดเป็นถุงน้ำซึ่งจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อและทำลายกระดูกในหูชั้นกลางต่อไปได้

การวินิจฉัยแก้วหูทะลุ

แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะแก้วหูทะลุได้ง่ายจากการซักประวัติ (เช่น การถามถึงอาการหูอื้อ การได้ยินลดลง การมีเสียงดังในหู อาการปวดหู ลักษณะของเหลวที่ไหลออกมาจากรูหู เป็นข้างไหน เป็นมานานเท่าไร มีบุคคลในครอบครัวเคยเป็นโรคหูมาก่อนหรือไม่ เคยรับประทานยาอะไรมาบ้าง มีอาการเวียนศีรษะบ่อยแค่ไหน หรือเคยมีประวัติเป็นโรคอะไรมาบ้าง) และจากการตรวจทางหู คอ จมูกด้วยเครื่องตรวจหู (Otoscope) แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีหนองหรือขี้หูในหูชั้นนอกมากจนแพทย์ไม่สามารถมองเห็นแก้วหูได้ชัดเจน เพื่อให้มองเห็นแก้วหูได้อย่างชัดเจนแพทย์อาจจำเป็นต้องใช้ยาหยอดละลายขี้หูหรือใช้เครื่องมือเข้าไปดูดเอาหนองหรือขี้หูออกให้สะอาดเสียก่อน

นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจการได้ยิน (Audiogram) เพื่อตรวจหาพยาธิสภาพอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในหูชั้นกลางและหูชั้นใน เนื่องจากผู้ป่วยแก้วหูทะลุมักจะสูญเสียการได้ยินรุนแรงไม่เท่ากันเกิดขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของรูทะลุที่แก้วหู

วิธีรักษาแก้วหูทะลุ

  1. หากสงสัยว่าแก้วหูทะลุหรือมีลักษณะอาการดังที่กล่าวมา ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเพื่อรับการรักษาและการดูแลหูที่ถูกต้องเหมาะสม (ส่วนในกรณีที่มีเลือดออกจากช่องหู มีอาการหูอื้อ และ/หรือการรับเสียงบกพร่อง ให้รีบไปพบแพทย์หู คอ จมูก ฉุกเฉินหรือภายใน 24 ชั่วโมง)
  1. ในรายที่แก้วหูทะลุจากการถูกกระทบกระแทก ผู้ป่วยกลุ่มนี้แก้วหูจะมีโอกาสที่กลับมาปิดเองสูงมาก ส่วนใหญ่จึงมักไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดซ่อมแซม (จากข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้ประมาณ 68% แก้วหูจะกลับมาปิดได้เองภายในเวลา 1 เดือน และประมาณ 94% ที่เวลา 3 เดือน แก้วหูของผู้ป่วยจะกลับมาเป็นปกติ) แต่ในระหว่างนี้ผู้ป่วยจะต้องรักษาหูให้แห้งอยู่เสมอ ห้ามให้น้ำเข้าหู และรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่น ยาเพนิซิลลินวี (Penicillin V), อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เป็นต้น
  2. ในรายที่แก้วหูทะลุจากหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง แพทย์จะพยายามนำสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่ในช่องหูชั้นนอกและหูชั้นกลางออกมาให้มากที่สุดก่อน (อาจใช้ยาหยอดละลายขี้หู หรือใช้เครื่องมือเข้าไปดูดเอาหนองหรือขี้หูออกมาให้หมดก่อน) แล้วจึงให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อชนิดรับประทานและชนิดหยอดหูเป็นระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็อาจรอให้แก้วหูปิดเอง ซึ่งมักจะต้องใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์
  3. การผ่าตัดปะแก้วหู (Tympanoplasty) โดยปกติแล้วถ้าแก้วหูทะลุเป็นรูเล็ก อาจปิดได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ และถ้าแก้วหูปิดได้ ผู้ป่วยก็มักจะหายขาดและไม่มีภาวะแทรกซ้อนตามมาแต่อย่างใด แต่ในรายที่แก้วหูทะลุเป็นรูกว้างหรือในรายที่แก้วหูทะลุไม่หายได้เอง แพทย์อาจต้องทำการผ่าตัดเอาเยื่อมาปิดบริเวณแก้วหูที่ทะลุ (ในบางกรณีแพทย์อาจปลูกแก้วหูโดยการจี้แก้วหูด้วยสารเคมีเพื่อช่วยกระตุ้นให้แก้วหูงอกแล้วปะด้วยกระดาษบาง ๆ ไปก่อน แต่ถ้ารูทะลุไม่สามารถปิดได้เองด้วยวิธีนี้ แพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัดปะแก้วหูต่อไป)
    • การเตรียมร่างกายเข้ารับการผ่าตัด ผู้ป่วยควรงดน้ำและอาหาร (สำหรับผู้ป่วยที่แพทย์วางแผนให้ดมยาสลบ) งดยาละลายลิ่มเลือดใน 1 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด และสระผม 1 วัน ก่อนการผ่าตัด
    • การดูแลตนเองหลังการผ่าตัด
      1. หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะมีวัสดุห้ามเลือดใส่อยู่ในรูหู แพทย์จะนัดมาดูแผลและเอาออกให้ หรืออาจคาไว้ก่อนและนัดให้มาเอาออกในภายหลัง
      2. ผู้ป่วยควรเคี้ยวอาหารในด้านตรงข้ามกับที่ทำการผ่าตัด เช่น ผ่าหูขวาให้เคี้ยวอาหารด้านซ้าย
      3. หลังการผ่าตัด 24 ชั่วโมง ควรนอนศีรษะสูง โดยการนอนหงายหรือนอนตะแคงข้างที่ไม่ได้ทำการผ่าตัด (ถ้าไม่อาเจียนสามารถหนุนหมอนได้)
      4. ให้รับประทานยาฆ่าเชื้อตามที่แพทย์สั่ง และถ้ามีอาการปวดให้รับประทานยาแก้ปวด
      5. งดการสระผม 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
      6. ห้ามสั่งน้ำมูกเป็นเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ และเวลาไอหรือจามควรเปิดปากเสมอ
      7. งดออกแรงและก้มเงย เป็นเวลา 2-3 สัปดาห์
      8. ห้ามทำงานหนักหรือยกของหนัก
      9. ในระหว่างนี้อาจมีน้ำเหลืองใส ๆ ไหลออกมาจากหูได้ แต่ถ้าเป็นหนองควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดทันที
      10. ถ้าจำเป็นต้องขึ้นเครื่องบิน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเสมอ
    • คำแนะนำสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วย ควรสัมผัสให้ผู้ป่วยรู้ตัวล่วงหน้าก่อนพูดด้วย แล้วเลือกใช้คำพูดไม่ยาว พูดในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ พูดช้า ๆ อย่างชัดเจน โดยไม่ต้องตะโกน พูดให้ผู้ป่วยเห็นหน้าและอ่านริมฝีปากได้ และควรแสดงท่าทางประกอบก่อนพูดเสมอ และไม่แสดงท่าทางเบื่อหน่าย
    • ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดที่อาจจะเกิดขึ้น คือ อาการวิงเวียนศีรษะ, การอักเสบของกระดูกหลังหู หูชั้นในอักเสบ, ใบหูชา หูกาง ช่องหูตีบ, ลิ้นไม่รับรู้รส, อัมพาตของใบหน้า (เช่น อาการปากเบี้ยว ตาปิดไม่สนิท ชาที่หน้า ถ้ามีต้องรีบรายงานแพทย์) และเมื่อกลับบ้านแล้ว ควรสังเกตอาการของภาวะหูน้ำหนวกเรื้อรัง ได้แก่ หูอื้อ การได้ยินลดลง มีหนองไหลออกจากหู หนองมีกลิ่นเหม็น มีไข้ ปวดศีรษะ ซึมลง หากมีอาการดังกล่าวควรรีบกลับมาพบแพทย์ก่อนวันนัด
  4. ในรายที่แก้วหูทะลุเพราะเป็นโรคภูมิแพ้จะต้องควบคุมโรคภูมิแพ้ให้ปราศจากอาการก่อน

การดูแลตนเองเมื่อแก้วหูทะลุ

ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ไม่ควรทำความสะอาดภายในช่องหูด้วยตนเอง รวมไปถึงการใช้ไม้แคะหูหรือไม้พันสำลีต่าง ๆ
  • ควรระมัดระวังอย่าให้น้ำเข้าหูเป็นอันขาด โดยห้ามดำน้ำหรือลงเล่นน้ำในสระหรือแม่น้ำลำคลอง และระวังอย่าให้น้ำเข้าหูเวลาอาบน้ำ (ควรใช้โฟมอุดในหูชั้นนอกก่อนอาบน้ำเสมอเพื่อไม่ให้น้ำเข้าหู) ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนตามมา
  • ไม่ควรหยอดยาหยอดชนิดใด ๆ ทั้งสิ้น
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “เยื่อแก้วหูทะลุ (Ruptured eardrum)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 925.
  2. หาหมอดอทคอม.  “แก้วหูทะลุ (Ruptured eardrum)”.  (พ.อ.นพ. ณฐพล จันทรอัมพร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [01 ธ.ค. 2016].
  3. โรงพยาบาลลำปาง.  “เยื่อแก้วหูทะลุ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.lph.go.th/lampang/.  [02 ธ.ค. 2016].
  4. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  “แก้วหูทะลุ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org.  [02 ธ.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด