แก้วลืมวาง
แก้วลืมวาง ชื่อสามัญ Chinese Pink
แก้วลืมวาง ชื่อวิทยาศาสตร์ Dianthus chinensis L. จัดอยู่ในวงศ์ CARYOPHYLLACEAE[1],[2]
สมุนไพรแก้วลืมวาง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผีเสื้อ (กรุงเทพฯ), เก็งชุ้งล้อ (จีน-กรุงเทพฯ), ฉวีม่าย (จีนกลาง), สือจู๋ (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของแก้วลืมวาง
- ต้นแก้วลืมวาง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 30-50 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านเป็นจำนวนมาก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่อุดมสมบูรณ์ร่วนซุย เป็นพรรณไม้พื้นเมืองในเขตอบอุ่นแถบเหนือ[1],[2]
- ใบแก้วลืมวาง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกัน โคนใบเชื่อมติดกันเล็กน้อย ไม่มีก้านใบ ใบมีขนาดเล็ก ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกแคบ ปลายใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ มีสีเขียวอ่อน[1],[2]
- ดอกแก้วลืมวาง ออกดอกบริเวณปลายยอด มีประมาณ 1-3 ดอก ลักษณะของดอกมีกลีบรองกลีบดอก ยาวประมาณ 16-24 เซนติเมตร โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด หลอดยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ส่วนปลายกลีบแยกออกจากกันเป็นแฉกแหลม ตั้งตรงมี 5 แฉก และกลีบดอกมีขนาดยาวประมาณ 1-25 มิลลิเมตร ขอบกลีบดอกหยักเป็นซี่ ๆ ห่างกัน มีทั้งสีแดงแกมขาว สีแดงม่วงอ่อน หรือสีแดงแกมสีแดงดำ กลางดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ท่อเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก 2 แฉก[1],[2]
- ผลแก้วลืมวาง ผลหุ้มอยู่ในโคนกลีบ ปลายผลหยักเป็นเลื่อย มี 4 ซีก สีแห้ง[1],[2]
สรรพคุณของแก้วลืมวาง
- ทั้งต้นมีรสขม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อหัวใจ ไต กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้เล็ก ใช้เป็นยาแก้ร้อนใน (ต้น)[2]
- ต้นใช้เป็นยาขับปัสสาวะ รักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือปัสสาวะเป็นเลือด ตำรับยาขับปัสสาวะ แก้ร้อนใน จะใช้แก้วลืมวาง, ผักกาดน้ำ, ชะเอม และรากต้นพุดตาน นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ต้น)[1],[2]
- ลำต้นใช้เป็นยาขับระดูของสตรี (ต้น)[1],[2]
- ใช้เป็นยาแก้แผลเน่าเปื่อย ด้วยการใช้ต้นสดนำมาคั้นเอาน้ำล้างแผล (ต้น)[1]
- ใช้เป็นยารักษาฝี ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็นฝี (ต้น)[2]
- ใช้เป็นยารักษาบาดแผล รักษาโรคโกโนเรีย แก้โรคผิวหนังผดผื่นคัน (ต้น)[2]
- ลำต้นใช้เป็นยาแก้โรคมะเร็งผิวหนัง แก้โรคเรื้อน (ต้น)[1]
ขนาดและวิธีใช้ : ยาแห้งให้ใช้ประมาณ 5-12 กรัม ต่อ 1 ครั้ง นำมาต้มรับประทาน[2]
ข้อควรระวัง : ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้กับสตรีมีครรภ์ เพราะอาจจะทำให้แท้งบุตรได้[1],[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของแก้วลืมวาง
- สารสำคัญที่พบในสมุนไพรชนิดนี้ คือ พบน้ำมันระเหยที่ดอก เช่น Eugenol, Phenylethylalcohol, Benzyl benzoate, Benzyl salicylate, Methyl salicylate เป็นต้น ส่วนในต้นพบ Japonin, Alkaloid, น้ำตาล และวิตามินเอ[2]
- เมื่อใช้น้ำที่ต้มได้จากต้นแก้วลืมวาง นำมาฉีดเข้ากระเพาะอาหารของกระต่ายในปริมาณ 2 กรัม ต่อ 1 กิโลกรัม พบว่าภายใน 6 ชั่วโมง กระต่ายจะมีปัสสาวะเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2.5 เท่าของปกติ[2]
- น้ำที่ต้มได้จากต้นแก้วลืมวาง เมื่อนำมาฉีดเข้าลำไส้ของกระต่าย พบว่ามีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ให้แรงขึ้น[2]
- เมื่อใช้สารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ นำมาฉีดเข้าเส้นเลือดของกระต่าย พบว่าจะทำให้การเต้นของหัวใจอ่อนลง และความดันลดลง[2]
ประโยชน์ของแก้วลืมวาง
- แก้วลืมวาง เป็นพรรณไม้ที่นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “แก้วลืมวาง”. หน้า 76-77.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “แก้วลืมวาง”. หน้า 94.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by prilfish, A Yee, 澎湖小雲雀, gilbertosilvareis)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)