แกแล สรรพคุณและประโยชน์ของต้นแกแล 20 ข้อ !

แกแล สรรพคุณและประโยชน์ของต้นแกแล 20 ข้อ !

แกแล

แกแล ชื่อสามัญ Cockspur thorn[1],[2]

แกแล ชื่อวิทยาศาสตร์ Maclura cochinchinensis (Lour.) Corner (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cudrania javanensis Trécul) จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)[1],[2]

สมุนไพรแกแล มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แกก้อง (แพร่), ช้างงาต้อก (ลำปาก), เข (นครศรีธรรมราช), หนามเข (ประจวบคีรีขันธ์), น้ำเคี่ยวโซ่ (ปัตตานี), สักขี เหลือง (ภาคกลาง), แกล แหร (ภาคใต้), กะเลอะเซอะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) เป็นต้น[1]

ลักษณะของต้นแกแล

  • ต้นแกแล มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศอินเดีย ศรีลังกา ญี่ปุ่น จีน ภูมิภาคอินโดจีน และในภูมิภาคมาเลเซีย ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก บ้างว่าเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มียางสีขาวถึงเหลืองอ่อน มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร มีหนามแข็งแหลม ยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร (ปลายแหลมตรงหรือโค้งเล็กน้อย) อยู่ตามต้น กิ่ง และตามง่ามใบ ส่วนเนื้อไม้มีลักษณะแข็ง มักขึ้นตามป่าละเมา ตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบ ในพื้นที่ระดับต่ำไปจนถึงพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง การปักชำ และการเพาะเมล็ด สามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีแสงแดดจัดและชุ่มน้ำ[1],[6]

ต้นแกแล

  • ใบแกแล ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับกัน ใบมีลักษณะเป็นรูปรี ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 1-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-11 เซนติเมตร มีหนามแหลมออกตรงซอกใบ 1 อัน ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนเรียบเป็นสีเขียวเป็นมัน มีเส้นแขนงใบอยู่ข้างละประมาณ 6-9 เส้น ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.3-1-5 เซนติเมตร และยังมีหูใบขนาดเล็กมากร่วงได้ง่าย[1],[2],[6]

รูปใบแกแล

ใบแกแล

  • ดอกแกแล ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น ดอกเพศผู้จะออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกมีขนาดเล็กสีขาวนวล กลีบดอกมี 4 กลีบ ลักษณะของกลีบเป็นรูปไข่กลีบ และมีใบประดับขนาดเล็กมากเป็นรูปช้อนที่โคนดอก ด้านนอกกลีบดอกมีขนสั้น ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 ก้าน ขนาดเล็กมาก ช่อดอกเพศผู้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร ส่วนดอกเพศเมียจะออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่น โดยออกตามง่ามใบเป็นคู่ ๆ หรืออยู่เดี่ยว ๆ มีกลีบดอกรวม 4 กลีบ โคนกลีบติดกัน ปลายแยก ช่อดอกเพศเมียมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ส่วนรังไข่จะอยู่ในฐานรองดอก ก้านเกสรเพศเมียจะเรียวและยาวกว่ากลีบรวมเล็กน้อย ส่วนก้านช่อดอกจะมีความยาวประมาณ 0.3-1 เซนติเมตร[1],[2],[6],[7]

ดอกแกแล
ดอกแกแลเพสผู้

ดอกแกแลเพศเมีย
ดอกแกแลเพศเมีย

  • ผลแกแล ผลเป็นผลรวม ผลมีลักษณะกลม ผิวผลขรุขระ ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร มียางสีขาว ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็ก[1],[5],[6]

ลูกแกแล

ผลแกแล

เมล็ดแกแล

สรรพคุณของแกแล

  1. แก่นมีรสปร่า ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (แก่น)[1],[2],[3],[5]
  2. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (แก่น)[3]
  3. ต้นและแก่นใช้เป็นยาบำรุงโลหิตในร่างกาย (แก่น, ต้น)[3]
  4. ดอกใช้เป็นยาแก้โลหิตและวาโยกำเริบ (ดอก)[3]
  5. แก่นใช้เป็นยาแก้ไข้รากสาด รักษาไข้รากสาดหลบเข้าลำไส้ (แก่น)[2],[3]
  1. ช่วยแก้ไข้พิษ (แก่น)[3]
  2. ใช้เป็นยาภายนอกเพื่อลดไข้ (แก่น)[6]
  3. ช่วยขับเสมหะ (แก่น, ดอก)[3]
  4. ช่วยกล่อมเสมหะโลหิต (แก่น)[3]
  5. ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (แก่น)[3]
  6. ช่วยแก้อาการท้องร่วง (แก่น)[2],[3]
  7. ใช้แก้มุตกิดระดูขาวของสตรี (แก่น)[5]
  8. ใช้เป็นยาสำหรับสตรีที่คลอดบุตร (แก่น)[1],[6]
  9. ช่วยบำรุงน้ำเหลืองให้เป็นปกติ (แก่น)[1],[2],[3],[5]
  10. ช่วยแก้กาฬสิงคลี (แก่น)[3],[5]
  11. แก้พุพอง (แก่น)[1],[3],[5]
  12. ใช้แก้คุดทะราด (แก่น)[3] โรคคุดทะราดรู้สังหารเสียซึ่งเสมหะ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าคือส่วนของแก่น)[3]
  13. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (แก่น)[1],[3],[5]
  14. สารสกัดด้วยเฮกเซนและคลอโรฟอร์มจากรากของแกแลมีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ (ข้อมูลจาก: สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์)

แก่นแกแล

ประโยชน์ของแกแล

  • แก่นหรือเนื้อไม้ใช้ทำเป็นสีสำหรับย้อมผ้า ผ้าไหม ไหมพรม ฝ้าย จีวรพระ โดยจะให้สีเหลือง (สารสีเหลืองมีชื่อว่า มอริน (Morin))[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “แกแล”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 94.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  “แกแล”.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยามหิดล).  หน้า 135.
  3. สมุนไพรในร้านยาโบราณ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.  “แกแล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.msu.ac.th.  [07 ก.พ. 2014].
  4. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “แกแล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [07 ก.พ. 2014].
  5. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “แกแล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org.  [07 ก.พ. 2014].
  6. หนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษร ก. ราชบัณฑิตยสถาน.
  7. คมชัดลึกออนไลน์, คอลัมน์ ไม้ดีมีประโยชน์.  “แกแล แก่นเป็นยา”.  (นายสวีสอง).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.komchadluek.net.  [07 ก.พ. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, mingiweng, coolerclimes, barryaceae, Steve & Alison1, Jen 64), เว็บไซต์ pharmacy.mahidol.ac.th

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด