เอนไซม์ (Enzyme) คืออะไร? ประโยชน์ของเอนไซม์ 11 ข้อ !

เอนไซม์

เอนไซม์ (Enzyme) เปรียบเสมือนกับสิ่งที่เป็นตัวจุดประกายของชีวิตในร่างกาย หมายความว่าถ้าหากร่างกายของเราไม่มีเอนไซม์ ร่างกายก็จะไม่สามารถย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหารเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ และในที่สุดก็ตายลง ดังนั้นเอนไซม์จึงเป็นตัวช่วยเร่งปฏิกิริยาเคมี หรือตัวคะตะลิสต์ (Catalyst) ที่จำเพาะ ซึ่งจะทำง่านร่วมกับโคเอนไซม์ (Coenzymes) โดยโคเอนไซม์ในที่นี้ก็คือพวกวิตามินและแร่ธาตุจำเป็นต่อร่างกาย และวิตามินและแร่ธาตุนั้นจะไม่สามารถกระตุ้นให้ทำงานได้หากไม่ได้ทำงานร่วมกับเอนไซม์

ดร.เอ็ดเวิร์ด เฮาเวลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการเป็นบุคคลแรกที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเอนไซม์ ในช่วงปี พ.ศ.2476 – 2486 และเขาได้กล่าวว่า “ร่างกายของเรามีแหล่งพลังงานจากเอนไซม์มาตั้งแต่แรกเกิด เปรียบเสมือนกับแบตเตอรี่ก้อนใหม่ ที่เมื่อใช้ไปในระยะหนึ่งแล้ว แบตเตอร์รี่ดังกล่าวก็จะหมดอายุหรือหมดพลังไป ร่างกายของเราก็เช่นกัน เมื่อใช้แหล่งพลังงานเหล่านั้นจากเอนไซม์ไปมากเท่าไหร่ ชีวิตของเราก็สั้นมากขึ้นเท่านั้น” และเขายังพบว่าคุณภาพชีวิตและระดับพลังงานในร่างกายของเรานั้นจะขึ้นอยู่กับเอนไซม์ทั้งหลาย หากร่างกายมีเอนไซม์อยู่น้อยก็จะทำให้เรามีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพด้วย โดยมีผู้ประมาณการเอาไว้ว่า 80% ของโรคในร่างกายมีสาเหตุมาจากร่างกายไม่สามารถย่อยอาหารได้ และนอกจากนี้สารปนเปื้อนในอาหารบางอย่างก็จะถูกดูดซึมเข้าไปด้วย

เนื่องจากเรามีแหล่งพลังงานจากเอนไซม์ที่จำกัด และแหล่งพลังงานนี้ก็จะสูญหายไปได้เรื่อย ๆ จากนิสัยการเลือกบริโภคอาหารของเราเอง เช่น ชอบรับประทานอาหารที่ปรุงแต่งด้วยสารเคมีต่าง ๆ หรืออาหารฟาสต์ฟู้ด การดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์ หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การรับประทานยา หรือแม้แต่อาหารที่ปรุงสุกแล้วก็จะไม่ค่อยมีเอนไซม์เหลืออยู่เลย เนื่องจากเอนไซม์จะถูกทำลายได้ง่ายโดยความร้อน ก็ล้วนแต่มีส่วนในการทำลายเอนไซม์ในร่างกายของแทบทั้งสิ้น เมื่อร่างกายได้รับเอนไซม์ไม่เพียงพอ จะทำให้ร่างกายต้องดึงเอนไซม์ของตัวเองออกมาใช้ เพื่อช่วยย่อยอาหาร ทำให้มีผลเสียที่ตามมาคือ ร่างกายเสื่อมสภาพ แก่เร็วขึ้น และทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

เอนไซม์ คืออะไร?

เอนไซม์ หรือ enzyme คือ กลุ่มของโปรตีนที่มีหน้าที่พิเศษแตกต่างจากโปรตีนทั่วไป คือ มีความสามารถในการเร่งปฏิกิริยาทางชีวเคมีที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง เพื่อใช้ในการสังเคราะห์องค์ประกอบภายในเซลล์ ระบบการย่อยอาหาร ฯลฯ

เอนไซม์มีความจำเพาะต่อสารที่ทำปฏิกิริยาที่เรียกว่า “ซับสเตรด” (Substrate) และสามารถเร่งปฏิกิริยาโดยไม่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์อื่น ตลอดทั้งเอนไซม์จะเพิ่มอัตราเร็วของปฏิกิริยาโดยลดพลังงานกระตุ้นของปฏิกิริยาได้

คุณสมบัติของเอนไซม์

  • เอนไซม์มีโครงสร้างทางเคมีเป็นโปรตีน ซึ่งประกอบไปด้วยโพลีเปปไทด์ (Polypeptide) เพียงสายเดียวหรือหลายสายที่ม้วนกันเป็นก้อนกลม มีโครงรูปที่จำเพาะ และถูกกำหนดมาโดยลำดับการเรียงตัวของกรดอะมิโน และยังมีเอนไซม์อีกจำนวนมากที่มีสารประกอบอื่นที่ไม่ใช่โปรตีนรวมอยู่ด้วยจึงทำหน้าที่ได้ เอนไซม์เหล่านี้เรียกว่า “โฮโลเอนไซม์” (Holoenzyme) เฉพาะส่วนที่เป็นโปรตีนจะเรียกว่า “กลุ่มโพรสทีติก” (Prosthetic group) ซึ่งอาจจะเป็นไอออนของโลหะเรียกว่า “โคแฟกเตอร์” (Cofactor) และถ้าเป็นสารประกอบอินทรีย์จะเรียกว่า “โคเอนไซม์” (Coenzyme)
  • มีเอนไซม์จำนวนมากจะไม่ทำงานถ้าไม่มีตัวช่วย อย่าง โคเอนไซม์ และโคเอนไซม์ส่วนใหญ่จะเป็นวิตามินชนิดที่ละลายน้ำหรือเกลือแร่จำเป็นยางชนิด ซึ่งเกลือแร่จำเป็นน้ำบางครั้งจะเรียกว่า โคแฟกเตอร์ ซึ่งเอนไซม์ทำจากโปรตีน แต่โคเอนไซม์ไม่ใช่โปรตีน และเอนไซม์จะมีขนาดใหญ่มากกวาโคเอนไซม์ โดยในระห่างการทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีอยู่นั้น เอนไซม์จะกลีบคืนมาเป็นอิสระอย่างเดิม แต่โคเอนไซม์จะหมดเปลืองไปเรื่อย ๆ จึงจำเป็นต้องหามาเสริมจากที่ต่าง ๆ
  • เอนไซม์แต่ละชนิดมีหน้าที่เฉพาะตัว เพราะจะทำปฏิกิริยาเคมีจำเพาะกับสารตั้งต้น หรือ ซับสเตรด (Substrate) ที่ถูกกำหนดไว้เท่านั้น เช่น เอนไซม์ชนิดย่อยไขมันจะไม่ย่อยแป้ง และเอนไซม์ย่อยแป้งจะไม่ย่อยโปรตีน เป็นต้น
  • เอนไซม์จะยังคงสภาพเดิมทั้งคุณสมบัติและปริมาณ ภายหลังการเกิดปฏิกิริยาแล้วจึงจะสามารถเร่งปฏิกิริยาต่อไปได้อีก
  • เอนไซม์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่สามารถเร่งอัตราการเกิดปฏิกิริยาโดยเป็นตัวลดพลังงานกระตุ้น
  • เอนไซม์มีความไวต่อปฏิกิริยามาก แม้ในปริมาณเพียงน้อยนิดก็สามารถเร่งปฏิกิริยาได้ ถ้าไม่มีเอนไซม์ปฏิกิริยาเคมีทุกชนิดจะเกิดขึ้นช้ามาก จนชีวิตไม่สามารถรอดอยู่ได้
  • การแช่แข็งจะไม่ทำลายความสามารถของเอนไซม์ส่วนใหญ่ แต่เอนไซม์จะถูกทำลายได้โดยง่ายที่ความร้อนสูงเกิน 45 องศาเซลเซียส
  • เอนไซม์มีความจำเพาะเจาะเจาะจงต่อซับสเตรด (Supstrate) หรือสารตั้งต้นที่จะเข้าทำปฏิกิริยาแต่ละชนิด จึงสามารถเร่งปฏิกิริยาใดปฏิกิริยาหนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้น ยกเว้นเอนไซม์บางชนิดที่มีความเฉพาะเจาะจงน้อยจะเร่งปฏิกิริยาของสารเริ่มต้นที่คล้ายกันได้
  • อัตราการทำงานของเอนไซม์ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ อุณหภูมิ (อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการทำงานโดยทั่วไปของเอนไซม์อยู่ในช่วง 25-40 องศาเซลเซียส หากสูงเกินไปจะทำให้เอนไซม์เสียสภาพโครงสร้าง ทำให้เข้าร่วมกับซับสเตรดไม่ได้), ความเป็นกรดเบส (โดยทั่วไปเอนไซม์จะทำงานได้ดีในช่วงค่า pH 6-7 แต่เอนไซม์หลายชนิดจะทำงานได้ดีในสภาพความเป็นกรดเบสแตกต่างกันออกไป เช่น ลิเพส ทำงานได้ดีที่สุดที่ค่า pH7, เพบซินที่ pH1.5-2.5, ทริบซินที่ pH 8-11 เป็นต้น), ปริมาณของเอนไซม์และซับสเตรด (อัตราการเกิดปฏิกิริยาจะแปรผันตามความเข้มข้น ถ้ามากเกินพออัตราการเกิดปฏิกิริยาจะคงที่เนื่องจากไม่มีเอนไซม์และซับสเตรดเหลือพอที่จะทำปฏิกิริยา)
  • เอนไซม์แต่ละชนิดที่ร่างกายผลิตขึ้นมาจะมีชีวิตหรืออายุได้เพียง 20 นาที และจะต้องมีเอนไซม์ใหม่เข้ามาทดแทนอยู่เรื่อย ๆ แต่ก็มีเอนไซม์บางชนิดสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์ ก่อนที่มันจะหมดสภาพไป
  • เอนไซม์ที่มีระดับต่ำในร่างกาย จะมีความสัมพันธ์กับโรคของความเสื่อมต่าง ๆ ถ้าเอนไซม์มีระดับต่ำมาก โรคแห่งความเสื่อมก็จะเกิดขึ้นมากตามไปด้วย
  • สิ่งมีชีวิตทุกชนิดสามารถสร้างเอนไซม์ขึ้นมาได้เอง ด้วยความสามารถในการผลิตที่ต่างกัน

หน้าที่ของเอนไซม์

องค์ประกอบที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของเราได้แก่ น้ำ อากาศ และอาหาร อาหารจะถูกส่งเข้าไปเลี้ยงในร่างกายได้จะต้องอาศัยเอนไซม์ในการกระบวนการย่อยอาหาร และจะต้องอาศัยวิตามิน แร่ธาตุ กรดอะมิโน สารไฟเตท ที่จำเป็นมาเป็นตัวประกอบสำคัญในการเสริมประสิทภาพการทำงานของเอนไซม์ ร่างกายของประกอบไปด้วยเซลล์ขนาดเล็กหลายล้านเซลล์ สารอาหารจะต้องถูกย่อยโดยการทำงานของเอนไซม์จนมีขนาดเล็กในระดับอิออน จึงจะสามารถผ่านหนังของเซลล์ขนาดเล็กแต่ละเซลล์ได้ ร่างกายจึงจะดำรงชีวิตอยู่ได้ ในทางกลับกันถ้าสารอาหารไม่สามารถส่งไปถึงเซลล์ได้ การซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอก็ไม่สามารถทำได้ จึงทำให้ร่างกายเกิดภาวะเสื่อม ส่งผลทำให้ภูมิคุ้มกันทำหน้าที่ไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เป็นโรคต่าง ๆ

เอนไซม์ มีหน้าที่อะไร? สรุปแล้วหน้าที่หลักที่แท้จริงของเอนไซม์ ได้แก่ ช่วยในการย่อยอาหาร โดยเอนไซม์มีหน้าที่เป็นตัวเร่งในการย่อยอาหารให้สมบูรณ์ ทำให้ร่างกายของเราได้รับสารอาหารที่มีคุณภาพแล้วนำไปใช้ได้ ถ้าน้ำย่อยไม่ดีถึงรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพียงใดก็ไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ กับร่างกายทั้งสิ้น นอกจากนี้เอนไซม์ยังมีหน้าที่ช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง ช่วยสร้างโปรตีนในกล้ามเนื้อ ช่วยทำให้กล้ามเนื้อหดตัว สลายสารพิษ ทำให้เลือดบริสุทธิ์ ช่วยกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากปอด และช่วยลดความเครียดของตับอ่อนและอวัยวะอื่น ๆ ภายในร่างกาย

การทำงานของเอนไซม์

ในการทำงานของเอนไซม์ โครงสร้างของเอนไซม์ทั้งก่อนและหลังการเกิดปฏิกิริยาจะยังคงเหมือนเดิม แสดงว่าเอนไซม์ไม่ได้ทำปฏิกิริยากับซับสเตรด แต่ในขณะที่เกิดปฏิกิริยาเอนไซม์จะจับตัวกับซับสเตรด ทำให้ซับสเตรดแปรสภาพไป โดยมีการสลายหรือสร้างพันธะของซับสเตรดขึ้นใหม่เกิดผลิตภัณฑ์ของปฏิกิริยาเคมี จากการรวมตัวระหว่างเอนไซม์กับซับสเตรด จนกลายเป็นเอนไซม์-ซับสเตรดคอมเพล็กซ์ (Enzyme-substrate complex) มีสมมติฐานที่อธิบายกลไกไว้ดังนี้

  1. สมมติฐานแม่กุญแจกับลูกกุญแจ ที่เอนไซม์จะเปรียบเสมือนเป็นลูกกุญแจ ส่วนซับสเตรดคือแม่กุญแจ ซึ่งจะเกิดการปลี่ยนแปลงเมื่อไขด้วยลูกกุญแจ โดยแม่กุญแจจะต้องมีรูปร่างที่พอเหมาะเท่านั้น ถึงจะรวมกับเอนไซม์และเกิดปฏิกิริยานกลายเป็นผลิตภัณฑ์ได้
  2. สมมติฐานการเหนี่ยวนำ แอคทีฟไซต์จะสามารถยืดหยุ่นและเปลี่ยนสภาพได้เมื่อซับสเตรดเข้าใกล้บริเวณแอคทีฟไซต์ของเอนไซม์ ซับสเตรดจะเหนี่ยวนำให้เอนไซม์เปลี่ยนโครงรูปบริเวณแอคทีฟไซต์ให้มีรูปร่างและขนาดพอเหมาะที่จะรวมกับซับสเตรดได้

เอนไซม์

การยับยั้งเอนไซม์

ปฏิกิริยาเคมีอาจหยุดชะงัดได้ด้วยสารประเภทหนึ่งที่เราเรียกว่า “ตัวยับยั้งเอนไซม์” ซึ่งจะมีอยู่ 3 แบบ คือ

  1. การยับยั้งแบบถาวร เป็นสารที่จับกับเอนไซม์อย่างถาวรด้วยพันธะโควาเลนต์ จนกลายเป็นสารประกอบที่เสถียร ทำให้เอนไซม์ไม่สามารถเร่งปฏิกิริยาได้อีก
  2. การยับยั้งแบบชั่วคราว เป็นตัวยับยั้งทีเกาะอยู่บนโมเลกุลของเอนไซม์อย่างชั่วคราวด้วยพันธะอื่น ๆ (ที่ไม่ใช่พันธะโควาเลนต์) จึงมีโอกาสหลุดออกจากเอนไซม์กลับสู่สภาพเดิมได้
  3. การยับยั้งแบบย้อนกลับ เป็นการยับยั้งที่เกิดจากปฏิกิริยาที่มีปริมาณมากจนเกินพอ จะสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เร่งปฏิกิริยาขั้นแรกในวิถีเมแทบอลึซึมได้ ซึ่งการยับยั้งรูปแบบนี้จะพบได้ในกระบวนการสังเคราะห์กรดไขมัน คอเลสเตอรอล กรดอะมิโนนิวคลีโอไทด์ และในเมแทบอลิซึมคาร์โบไฮเดรต

ชนิดของเอนไซม์

เอนไซม์เราสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ชนิด คือ

  1. เอนไซม์จากอาหาร (Food enzyme – ฟูดเอนไซม์) คือ เอนไซม์ที่พบได้ในอาหารสด อาหารดิบทุกชนิด ถ้ามาจากพืชเราจะเรียกว่า เอนไซม์จากพืช (Plant Enzyme) แต่ถ้ามาจากสัตว์ เราจะเรียกว่า เอนไซม์จากสัตว์ (Animal Enzyme) อาหารที่ผ่านความร้อนจะทำลายเอนไซม์ในอาหารได้โดยง่าย ซึ่งเอนไซม์ชนิดนี้จะช่วยในการย่อยอาหารที่เรารับประทานเข้าไป
  2. เอนไซม์ย่อยอาหาร (Digestive enzyme – ไดเจสทีฟเอนไซม์) คือ เอนไซม์ที่ผลิตขึ้นโดยร่างกาย ส่วนใหญ่จะผลิตมาจากตับอ่อน เพื่อใช้ในการย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีคุณค่า
  3. เอนไซม์ในการเผาผลาญพลังงาน (Metabolic enzyme – เมทาโบลิกเอนไซม์) คือ เอนไซม์ที่ผลิตในเลือด ในเซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะภายในต่าง ๆ ของร่างกาย มีหน้าที่เร่งปฏิกิริยาเคมีเพื่อช่วยในการเผาผลาญสารอาหารและสร้างพลังงาน สร้างภูมิต้านทาน ความเจริญเติบโตให้กับร่างกาย รวมไปถึงการช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของอวัยวะภายใน และช่วยบำบัดและรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ของร่างกาย

หมายเหตุ : บางตำรารวมเอนไซม์จากอาหารและเอนไซม์อาหารไว้ด้วยกัน เพราะเอนไซม์ทั้งสองมีทุกอย่างที่เหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่แหล่งผลิตเท่านั้น โดยเอนไซม์จากอาหารจะผลิตจากภายนอกร่างกาย ส่วนเอนไซม์ย่อยอาหารจะผลิตจากภายในร่างกาย และดังที่กล่าวมาแล้วตับอ่อนจะรับวัตถุดิบของการผลิตเอนไซม์เพื่อการย่อยอาหารออกมาอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นภาระหน้าที่ที่หนักของตับอ่อน บางครั้งตับอ่อนอาจจะบวมเพราะพยายามผลิตเอนไซม์เพื่อให้เพียงที่จะย่อยอาหาร เอนไซม์ที่ผลิตจะถูกจับออกมาพร้อมกับด่างไบคาร์บอเนต ผ่านท่อของตับอ่อนมาเข้าร่วมกับท่อน้ำดีของถุงน้ำดี เพื่อย่อยอาหารที่เคลื่อนลงมาจากกระเพาะ เอนไซม์จะต้องถูกใช้ตลอดเวลา และเสื่อมคุณภาพหรือหมดอายุก็จะถูกขับออก ดังนั้น ร่างกายจึงต้องพยายามผลิตขึ้นใหม่ โดยอาจจะไม่เพียงพอ ต้องชดเชยโดยได้มาจาก “อาหารดิบ” (Raw Food) หรือบางทีก็มาจาก “เอนไซม์อาหารเสริม” (Enzyme Supplement)

อาหารจากธรรมชาติล้วนแล้วแต่มีเอนไซม์อยู่ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อจะช่วยในการย่อยสิ่งต่าง ๆ ที่เรารับประทานเข้าไป เช่น โปรตีน แป้ง ไขมัน เส้นใยอาหาร น้ำตาล นม เป็นต้น โดยเอนไซม์ในอาหารจากธรรมชาติเหล่านี้เราสามารถจำแนกออกได้เป็น 7 ประเภท

  • อะไมเลส (Amylase) เอนไซม์ที่ช่วยสลายอาหารจำพวกแป้ง (ใช้หน่วยวัดปริมาณ DU – Alpha Amylase Dextrinizing Unit)
  • ไลเพส (Lipase) เอนไซม์ที่ช่วยสลายอาหารจำพวกไขมัน (ใช้หน่วยวัดปริมาณ LU – Lipase Unit)
  • โพรทีเอส (Protease) เอนไซม์ที่ช่วยสลายอาหารจำพวกโปรตีน (ใช้หน่วยวัดปริมาณ HUT – Hemogolbin Unit Tryosine Base)
  • เซลลูเลส (Cellulase) เอนไซม์ที่ช่วยสลายอาหารพวกเส้นใยพืชต่าง ๆ (ใช้หน่วยวัดปริมาณ CU – Cellulase Unit)
  • แลกเทส (Lactase) เอนไซม์ที่ช่วยสลายอาหารจำพวกนม
  • ซูเครส (Sucrase) เอนไซม์ที่ช่วยสลายอาหารจำพวกน้ำตาล
  • มอลเทส (Maltase) เอนไซม์ที่ช่วยสลายอาหารจำพวกเมล็ดข้าว

ประเภทของเอนไซม์

เอนไซม์ ที่นำมาใช้ในกระบวนการแปรรูปอาหาร สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. เอนไซม์ในอาหาร (Endogenous enzyme) หมายถึง เอนไซม์ที่ปรากฏอยู่ในเนื้อเยื่อของพืชและสัตว์ตามธรรมชาติ และมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งในลักษณะที่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารนั้นต้องการและไม่ต้องการ เช่น กลิ่น รส ลักษณะของเนื้อสัมผัส เป็นต้น
  2. เอนไซม์นอกอาหาร (Exogenous enzyme) หมายถึง เอนไซม์ที่ใช้เติมลงในกระบวนการแปรรูปเพื่อทำให้เกิดปฏิกิริยาต่าง ๆ ตามที่ต้องการ ซึ่งจะนิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเอนไซม์ที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมนั้นจะมาจาก 3 แหล่ง คือ พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ โดยคำนึงถึงความจำเพาะ ความเป็นกรดด่าง อุณหภูมิ หาได้ง่าย และมีราคาไม่สูงมากนัก

ประโยชน์ของเอนไซม์

  1. เอนไซม์มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิต เพราะว่าปฏิกิริยาเคมีส่วนใหญ่ในเซลล์จะเกิดขึ้นช้ามาก ถ้าไม่มีเอนไซม์ก็อาจทำให้ผลิตภัณฑ์จากปฏิกิริยากลายเป็นสารเคมีชนิดอื่น ซึ่งถ้าขาดเอนไซม์ก็จะทำให้ระบบการทำงานของเซลล์ผิดปกติได้ เช่น การผ่าเหล่า การขาดหาย การผลิตน้อยเกินไป การผลิตมากเกินไป เป็นต้น
  2. เอนไซม์มีหน้าที่สำคัญในการสร้างมนุษย์ตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์มารดา จากไข่ที่ผสมพันธุ์เซลล์เดียวเติบโตมาจนเป็น 60 ล้านล้านเซลล์ และต่อมายังทำหน้าที่ในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ทำหน้าที่ย่อยอาหารเพื่อให้ได้สารอาหาร ช่วยกำจัดของเสียในร่างกาย ด้วยการเร่งปฏิกิริยาเคมีเพื่อทำลายสิ่งแปลกปลอม จึงช่วยทำให้เลือดสะอาด
  3. เอนไซม์มีความจำเป็นสำหรับทุกปฏิกิริยาเคมีในร่างกาย เซลล์ทั้ง 60 ล้านล้านเซลล์จะต้องใช้เอนไซม์เพื่อเร่งปฏิกิริยาเคมี หากไม่มีเอนไซม์เราจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
  4. แม้ว่าวิตามิน เกลือแร่ โปรตีน ฮอร์โมน และสารอาหารอื่น ๆ จะมีความสำคัญต่อชีวิตและสุขภาพ แต่ก็โดยเอนไซม์เท่านั้นที่ทำให้สารต่าง ๆ ได้ทำงานตามคุณสมบัติของมันได้ เพราะถ้าไม่มีเอนไซม์ทุกอย่างก็จะทำปฏิกิริยาไม่ได้เลย จนมีผู้กล่าวว่า “เอนไซม์คือพลังงานชีวิต” ถ้าระดับเอนไซม์ในร่างกายลดต่ำลงจนถึงระดับหนึ่ง จะทำให้ระบบภายในร่างกายทำงานไม่ได้ และชีวิตจะหยุดลงทันที เอนไซม์จึงเป็นผู้สร้างเซลล์ สร้างร่างกาย สร้างอวัยวะ และสร้างชีวิต
  5. ถ้าในร่างกายมีเอนไซม์อย่างสมบูรณ์และเพียงพอ มนุษย์อาจมีอายุยืนได้ถึง 120 ปี เพราะเซลล์ในร่างกายสามารถแบ่งตัวได้ตามกำหนดของโปรแกรมนาฬิกาชีวิต
  1. ถ้าไม่มีเอนไซม์เป็นตัวเร่ง ปฏิกิริยาเคมีก็ยังเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ แต่จะไม่ทันต่อการดำรงชีวิต เพราะผลของปฏิกิริยาจะเกิดขึ้นช้ามาก เช่น ถ้าร่ากายต้องการทำปฏิกิริยาเคมีกับน้ำตาลเพื่อให้เกิดพลังงานไปสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรคที่เข้าจู่โจมร่างกาย ถ้าทำปฏิกิริยาตามปกติโดยไม่มีเอนไซม์เป็นตัวช่วย ก็คงจะเกิดพลังงานได้เหมือนกัน แต่กว่าจะเกิดปฏิกิริยาสมบูรณ์ ก็อาจต้องกินเวลานานกว่า 3 เดือน ร่างกายจึงจะได้รับพลังงานมาต่อต้านเชื้อโรค ถ้าเป็นเช่นนี้ เชื้อโรคจะฆ่าเราก่อนที่พลังงานภูมิคุ้มกันนั้นจะเกิดขึ้นอีก แต่ถ้าเรามีเอนไซม์สมบูรณ์ พลังงานและภูมิต้านทานจะเกิดขึ้นเร็วมากในเวลาเพียง 1 นาทีแรกที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เป็นต้น
  2. เอนไซม์บางชนิด จะส่งเสริมการทำงานของหัวใจ ฯลฯ ซึ่งเอนไซม์แต่ละชนิดจะมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป
  3. หากร่างกายมีเอนไซม์อย่างสมบูรณ์ จะช่วยแก้ปัญหาการทำงานผิดปกติของระบบอวัยวะต่าง ๆ ภายในของร่างกายได้ เช่น ระบบทางเดินอาหาร (โรคกระเพาะ ลำไส้อักเสบ ท้องผูก อาหารไม่ย่อย มะเร็งกระเพาะและลำไส้ โรคไตอักเสบ ไตวาย โรคตับ ต่อมลูกหมาก), ระบบหลอดเลือดและหัวใจ (โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง), ระบบทางเดินหายและระบบภูมิคุ้มกัน (ไซนัส ภูมิแพ้ หลอดลมอักเสบ โรคปอด ไข้หวัดใหญ่ หัดต่าง ๆ), ระบบผิวหนัง (บำรุงผิวพรรณ แก้กลากเกลื้อน สิวฝ้า จุดด่างดำ ผิวหนังอักเสบ แผลสด แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลในปาก สะเก็ดเงิน), ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (กล้ามเนื้ออักเสบ อัมพฤกษ์ อัมพาติ โปลิโอ ปวดเมื่อยตามตัว กระดูกพรุน กระดูกอักเสบ ไขข้ออักเสบ รูมาตึซึม โรคเก๊าท์), ระบบต่อมไร้ท่อ (เบาหวาน ต่อมไทรอยด์อักเสบ), ระบบสร้างเม็ดเลือด (โรคลูคิเมีย โรคโลหิตจาง), ระบบสืบพันธุ์ (เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ความผิดปกติของประจำเดือน)
  4. เอนไซม์ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย โดยถูกนำมาใช้ใน 2 ลักษณะ คือ ใช้ในกระบวนการแปรรูปและใช้เป็นสารปรุงแต่งอาหาร เช่น เอนไซม์ Amylase ถูกนำมาใช้กับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพื่อแยกแป้งออกจากสารละลาย ช่วยลดความขุ่นและความหนืด, เอนไซม์ Cellulase ถูกนำมาใช้กับผงซักฟอก เพื่อขยายเส้นใยเซลลูโลสของผ้า ทำให้เอนไซม์เข้าสู่เนื้อผ้าได้ จึงช่วยทำให้สิ่งสกปรกหลุดออกจากเนื้อผ้า, เอนไซม์ Lactase ถูกนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์นม เพื่อทำให้โปรตีนนมมีความเสถียร, เอนไซม์ Naringinase ถูกนำมาใช้กับผลไม้ตระกูลส้ม เพื่อช่วยลดสารขมในน้ำผลไม้, เอนไซม์ Protease ถูกนำมาใช้กับเบียร์หรือไวน์ เพื่อช่วยแยกตะกอนโปรตีน ทำให้ผลิตภัณฑ์ใส, เอนไซม์ Lipase ถูกนำมาใช้กับเนยแข็ง เพื่อย่อยสลายไขมันในระหว่างการบ่มและช่วยเพิ่มกลิ่นรสของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
  5. นอกจากจะใช้เอนไซม์ในด้านอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มแล้ว ยังมีการนำเอนไซม์มาใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีกด้วย เช่น การนำมาประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ โดยการใช้เอนไซม์ตรึงรูป เพื่อทดแทนการสูญเสียเอนไซม์โดยการผ่านเข้าทางเส้นเลือด หรือการใช้เอนไซม์ในการบำบัดโรคต่าง ๆ และใช้ในการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ เป็นต้น
  6. ตัวยับยั้งเอนไซม์ถูกนำมาผลิตเป็นยาแผนปัจจุบันจำนวนมาก ตั้งแต่ยาแก้ปวดแอสไพริน เพนิซิลลิน (Penicillins) แก้อักเสบ ยาไวอากร้า ฯลฯ ซึ่งเป็นการใช้ตัวห้ามมาปิดกั้นการทำงานของเอนไซม์หรือห้ามไม่ให้เอนไซม์บางชนิดทำงาน ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการรักษาอาการของโรคต่าง ๆ ที่ทำให้รู้สึกปวด ทำให้เชื้อแบคทีเรียไม่แบ่งตัว หรือทำให้กล้ามเนื้อหลอดเลือดของอวัยเพศชายคลายตัวไม่บีบไล่เลือดออกไป ทำให้อวัยวะเพศบวมและแข็งอยู่ได้นาน

อาหารที่มีเอนไซม์

เราได้รับเอนไซม์ที่สะสมมาตั้งแต่แรกเกิด อาหารที่มีเอนไซม์ซึ่งปริมาณของเอนไซม์จะลดลงเรื่อย ๆ ตามช่วงอายุของเรา ยิ่งในวัยผู้ใหญ่ ประสิทธิภาพในการผลิตเอนไซม์ของร่างกายก็จะลดลง ทำให้เกิดปัญหาของการพร่องเอนไซม์ในร่างกาย อีกทั้งเอนไซม์ที่ควรจะได้รับจากอาหารยังเกิดการสูญเสียสภาพไป อันเนื่องมาจากอาหารที่ผ่านกระบวนการต่าง ๆ อย่างการปรุงอาหาร โดยเฉพาะความร้อน แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถเพิ่มปริมาณของเอนไซม์ให้กับร่างกายของเราได้ 2 วิธีด้วยกัน โดยในวันหนึ่ง ๆ ให้เรารับประทานผักและผลไม้สดให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของอาหารทั้งหมดที่เรารับประทานเข้าไปใน เพื่อให้ร่างกายจะได้ไม่ขาดเอนไซม์ที่จำเป็น

นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า การลดจำนวนอาหารลงจะทำให้เราไม่สิ้นเปลืองการใช้เอนไซม์ที่จะมาใช้ในการย่อยอาหาร ส่งผลทำให้ตายช้าลง เพราะเมทาโบลิกเอนไซม์จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากไม่ต้องไปช่วยย่อยอาหาร จึงสามารถนำไปซ่อมแซมร่างกายให้แข็งแรง ตัวอย่างที่ได้อย่างชัดเจนก็คือ แมว เวลามันป่วยก็จะหยุดกินอาหาร และจะพยายามออกไปกินต้นหญ้าบางอย่าง เป็นสัญชาติญาณการประหยัดเอนไซม์จากการหยุดกินอาหาร และยังเอาเอนไซม์จากพืชมาช่วยด้วย แต่ใช่ว่าแมวจะฉลาดกว่ามนุษย์ แต่เป็นเพราะกฎแห่งการอยู่รอด ซึ่งธรรมชาติเป็นผู้กำหนด ในศาสนาต่าง ๆ เช่น ในศาสนาพุทธที่ให้พระสงฆ์งดอาหารเย็น หรือการถือศีลอดของศาสนาอิสลามก็เป็นความยิ่งใหญ่ของการปรับปรุงระดับเอนไซม์ในร่างกายที่น่าศึกษาทีเดียว เพราะเมื่อไม่ต้องใช้เอนไซม์ในการย่อยอาหาร จึงทำให้การสร้างเมทาโบลิกเอนไซม์มีไว้ใช้ได้มากขึ้น

ผักผลไม้สดที่เรารับประทานเข้าไป จะทำให้ร่างกายได้รับเอนไซม์ต่าง ๆ โดยเอนไซม์เหล่านี้ที่ได้รับมาจะไปช่วยในการทำงานของเอนไซม์ที่มีอยู่แล้วในร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้สุขภาพร่างกายของเราดีขึ้นด้วย และนักชีวเคมียังมีความเชื่อด้วยว่าเอนไซม์ที่ถูกผลิตขึ้นในร่างกายของแต่ละคนจะมีอยู่อย่างจำกัด เปรียบเสมือนเงินฝากในธนาคาร ถ้าใช้อย่างฟุ่มเฟือย เงินในธนาคารก็หมดเร็ว เพราะคนทั่วไปเบิกเอนไซม์ของตอนมาใช้ และไม่ค่อยหากลับมาฝากคืนธนาคารอีก ดังนั้นเราจึงต้องช่วยตัวเองที่จะประหยัดเอนไซม์เพื่อให้มีใช้ได้นานที่สุด และหาเอนไซม์จากภายนอกมาใช้แทน ถ้าต้องการให้มีอายุยืนยาวและสุขภาพที่ดี

นักวิจัยพบว่าเอนไซม์ถ้ามีระดับต่ำกว่าปกติในเลือด จะทำให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น ผู้ป่วยมะเร็งจะมีระดับเอนไซม์ในเลือดต่ำกว่าคนทั่วไป ผู้ป่วยเบาหวานจะมีเอนไซม์ไลเปสและเอนไซม์ทริปซินในเลือดต่ำมาก หรือในผู้ป่วยทีเป็นโรคผิวหนังบางชนิดจะมีระดับเอนไซม์อะไมเลสต่ำในเลือด เป็นต้น อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ที่ต้องการมีอายุยืนยาวและมีสุขภาพแข็งแรง นอกจากจะต้องรับประทานอาหารสดและอุดมไปด้วยเอนไซม์แล้ว ก็ต้องรักษาสุขภาพด้านอื่น ๆ อีกด้วย เช่น หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ไม่เครียด ฯลฯ เหล่านี้ก็จะทำให้มีชีวิตที่ยืนยาวตราบเท่าที่ร่างกายยังมีการทำงานของเอนไซม์ตามปกติ เพราะถ้าเอนไซม์ในร่างกายถูกใช้หมดไปเร็วเท่าไหร่ ชีวิตก็จะสั้นลงเร็วขึ้นเท่านั้น

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด