เหียง
เหียง ชื่อสามัญ Hairy Keruing
เหียง ชื่อวิทยาศาสตร์ Dipterocarpus obtusifolius Teijsm. ex Miq. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dipterocarpus punctulatus Pierre) จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE)[1],[2]
สมุนไพรเหียง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ยางเหียง (ราชบุรี, จันทบุรี), ตาด (พิษณุโลก, จันทบุรี), ซาด (ชัยภูมิ), เห่ง (เลย, น่าน), คร้าด (นครพนม), เหียงพลวง เหียงโยน (ประจวบคีรีขันธ์), สะแบง (อุตรดิตถ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ตะแบง (ภาคตะวันออก), เกาะสะเตียง (ละว้า-เชียงใหม่), ตะลาอ่ออาหมือ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), สาละอองโว (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), กุง (มลายูภาคใต้), ไม้ยาง (เมี่ยน), ชาด เป็นต้น[1],[5],[6]
ลักษณะของต้นเหียง
- ต้นเหียง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 8-28 เมตร ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งก้านน้อย เรือนยอดเล็ก เปลือกลำต้นหนาเป็นสีน้ำตาลหรือเทา แตกเป็นสะเก็ดหนาและเป็นร่องลึก ตามยาว เนื้อไม้เป็นสีแดงอ่อนถึงสีน้ำตาลปนแดง ตามกิ่งอ่อนและใบมีขนสีขาวขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศพม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และอินเดีย ในประเทศไทยพบขึ้นเป็นกลุ่มตามป่าเต็งรัง ป่าแดง ป่าสนเขา ป่าชายหาด และตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-1,000 เมตร เหียงเป็นพรรณไม้ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี และหลายสภาพตั้งแต่ป่าบนภูเขาสูงจนถึงป่าชายหาดริมทะเล แม้แต่ทางภาคใต้ที่มีฝนตกชุกก็พบต้นเหียงขึ้นอยู่ตามป่าชายหากริมทะเลและป่าทุ่งที่มีดินเป็นกรดและมีกรวดปน[1],[2],[3]
- ใบเหียง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ขนาดใหญ่ ปลายใบมน โคนใบมนหรือหยักเว้าตื้น ฐานเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบเป็นหยักคลื่นตามเส้นใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10-18 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ใบอ่อนมีขนยาวแหลม ผิวใบด้านหลังใบและท้องใบมีขนเล็กน้อย ด้านหลังใบเป็นสีเขียวเข้ม มีขนตามเส้นใบและขอบใบ เนื้อใบหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนสีน้ำตาล ส่วนท้องใบเป็นสีบรอนซ์ออกสีเขียวและมีขนรูปดาวตามเส้นใบ และขนสีขาวยาวกว่าด้านหลังใบ มีเส้นใบข้างประมาณ 10-18 คู่ มีขนสีน้ำตาลอมเหลือง ก้านใบยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร มีขนขึ้นหนาแน่น แผ่นใบจีบเป็นร่องระหว่างเส้นแขนงใบ เส้นใบเป็นสันเห็นได้จากด้านท้องใบ ส่วนใบอ่อนมีลักษณะพับเป็นจีบชัดเจนตามแนวเส้นแขนงใบ มีหูใบหุ้มยอดอ่อน หูใบมีลักษณะเป็นรูปแถบกว้าง ปลายมน ยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร เป็นสีชมพูสด ผิวด้านนอกมีขนสั้นหนานุ่ม[1],[2]
- ดอกเหียง ออกดอกรวมกันเป็นช่อเดียวตามซอกใบใกล้บริเวณปลายกิ่ง กลุ่มละประมาณ 3-7 ดอก ดอกมีขนาดประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร มีขนหนาแน่น แกนก้านเป็นรูปซิกแซก ก้านดอกย่อยมีตั้งแต่สั้นมากจนถึงยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ดอกเหียงมีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีชมพูสด ลักษณะของกลีบเป็นรูปกรวย โคนกลีบชิดกันปลายบิดเวียนเป็นรูปกังหัน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 เซนติเมตร ส่วนขนาดของกลีบกว่างประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4.8-5 เซนติเมตร ผิวด้านนอกมีขนสั้นเป็นรูปดาวขึ้นปกคลุม ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 30 อัน อัดกันแน่นรอบรังไข่ อับเรณูมีลักษณะเป็นรูปหัวลูกศร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขน มี 3 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุล 2 เม็ด ส่วนกลีบเลี้ยงดอกนั้นมี 5 กลีบ ขนาดประมาณ 1.4 เซนติเมตร มีขนหนาแน่น ใบประดับที่ก้านดอกย่อยมีลักษณะเป็นรูปแถบหรือรูปใบหอก โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาวได้ประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ส่วนปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก มีสองขนาด คือ แฉกยาว 2 แฉก มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร และแฉกสั้นอีก 3 แฉก มีขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร โดยต้นเหียงจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม เมื่อดอกบานเต็มที่แล้วจะร่วงลงสู่พื้น[1],[2],[3]
- ผลเหียง ผลเป็นผลแห้งแบบผลผนังชั้นในแข็ง ผลมีลักษณะกลมแข็ง เกลี้ยงไม่มีสันหรือปุ่มด้านบน ผลเมื่ออ่อนจะยังมีขนปกคลุมอยู่ เมื่อแก่แล้วผมจะเรียบเกลี้ยง ผลแก่จะเป็นสีน้ำตาลเป็นมัน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร และมีปีกที่พัฒนามาจากกลีบเลี้ยงของดอก 5 ปีก แบ่งเป็นปีกยาวที่มีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน 2 ปีก โดยมีขนาดกว้างประมาณ 2.3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 13 เซนติเมตร มีเส้นตามยาวปีก 1 เส้น ส่วนเส้นย่อยสานกันเป็นร่างแห และอีก 3 ปีกเล็ก ที่มีขนาดยาวได้ประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีหยักลึก โดยปีกออ่อนจะเป็นสีแดงสด และภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด โดยต้นเหียงจะติดผลในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน[1],[2],[3]
สรรพคุณของเหียง
- ใบเหียงมีรสฝาด ตำรายาไทยจะใช้ใบเหียงนำมาต้มผสมกับน้ำเกลือ ใช้อมแก้ปวดฟัน แก้ฟันโยกคลอน (ใบ)[1],[2]
- เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ตาลขโมย (เปลือกต้น)[5]
- ช่วยขับเสมหะ (น้ำมันยาง)[1],[2]
- เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย (เปลือกต้น)[1],[2]
- เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด (เปลือกต้น)[5]
- ช่วยขับปัสสาวะ (น้ำมันยาง)[1],[2]
- ช่วยรักษาแผลในทางเดินปัสสาวะ (น้ำมันยาง)[1],[2]
- น้ำมันยางใช้เป็นยาแก้ตกขาวของสตรี (น้ำมันยาง)[1],[2]
- ใบและยาวมีรสฝาดร้อน ใช้กินเป็นยาตัดลูกหรือทำให้ไม่มีบุตร (ใบและยาง)[2]
- ใช้เป็นยาสมานแผล แก้หนอง (น้ำมันยาง)[1],[2]
- น้ำมันใช้เป็นยาทารักษาแผลภายนอก (น้ำมัน)[2]
ประโยชน์ของเหียง
- กลีบดอกเหียงเป็นผักชนิดหนึ่ง ที่มีรสเปรี้ยวเล็กน้อย สามารถนำมารับประทานได้ โดยชาวบ้านจะใช้จิ้มกับน้ำพริกรับประทาน[2]
- ใบเหียงแก่สามารถนำมาเย็บเป็นตับใช้มุงหลังคาหรือเถียงนาหรือกั้นเป็นฝาได้เหมือนใบพลวง[2],[4]
- ทางภาคเหนือจะใช้ใบแก่นำมาห่อยาสูบและห่อของสด ห่ออาหาร ห่อข้าวเหนียว หรืออาหารอื่น ๆ ซึ่งใช้แทนใบกล้วย[2],[3]
- ยางไม้หรือน้ำมันจากลำต้นใช้ยาเครื่องจักสาน ยาไม้ ยาแนวเรือ ทำไต้ ทาไม้[2],[4]
- ยางใช้ผสมกับเนื้อไม้ผุแล้วนำมาอัดใส่กระบอกไม้ไผ่ใช้เป็นเชื้อเพลิง จุดไฟ (ชาวเมี่ยน)[6]
- ใช้เปลือกไม้บง บดให้ละเอียดผสมกับขี้เลื่อยและกาว ใช้ทำเป็นธูป หรือนำมาผสมกับกำมะถัน ใช้ทำเป็นยากังยุงได้ดี (โดยปกติแล้วจะใช้เปลือกต้นที่มีอายุ 6-7 ปี)[4]
- เนื้อไม้ของต้นเหียงมีสีแดงอ่อนถึงสีน้ำตาลปนแดง เสี้ยนไม้ค่อนข้างตรง เนื้อไม้มีความหยาบแต่สม่ำเสมอ มีความแข็ง เลื่อยผ่าไสกบตบแต่งได้ง่าย สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างทั่วไป ที่อยู่อาศัย สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ภายในร่ม เครื่องใช้สอย เครื่องจักสาน เช่น เสา รอด ตง คาน พื้น ฝา ขื่อ กระเบื้องไม้ปูฟื้น เครื่องมาทางการเกษตร กังหันน้ำ เป็นต้น[3],[4]
- ส่วนของคนเมืองจะใช้เนื้อไม้ของต้นเหียงมาใช้ทำฟืน[6]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “เหียง”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 194.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เหียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [19 ก.ค. 2014].
- หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2. “ยางเหียง”.
- ศูนย์ปฏิบัติการพืชเศรษฐกิจ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม . “ยางเหียง” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [19 ก.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในโรงเรียน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. “ชาด,ยางเหียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: copper.msu.ac.th/plant/. [19 ก.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เหียง, ยางเหียง”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [19 ก.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), www.magnoliathailand.com (by สมศักดิ์)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)