เหงือกปลาหมอ สรรพคุณและประโยชน์ของเหงือกปลาหมอ 54 ข้อ !

เหงือกปลาหมอ สรรพคุณและประโยชน์ของเหงือกปลาหมอ 54 ข้อ !

เหงือกปลาหมอ

เหงือกปลาหมอ ชื่อสามัญ Sea holly, Thistleplike plant

เหงือกปลาหมอ ชื่อวิทยาศาสตร์ Acanthus ebracteatus Vahl (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Acanthus ilicifolius Lour., Acanthus ilicifolius var. ebracteatus (Vahl) Benoist, Dilivaria ebracteata (Vahl) Pers.) จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)

สมุนไพรเหงือกปลาหมอ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แก้มหมอ (สตูล), แก้มหมอเล (กระบี่), อีเกร็ง (ภาคกลาง), นางเกร็ง จะเกร็ง เหงือกปลาหมอน้ำเงิน เป็นต้น

เหงือกปลาหมอมีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ที่เป็นดอกสีม่วง (Acanthus ilicifolius L.) ที่พบได้มากทางภาคใต้ และพันธุ์ที่เป็นดอกสีขาว (Acanthus ebracteatus Vahl) ที่พบได้มากทางภาคกลางและภาคตะวันออก และเป็นพรรณไม้ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสมุทรปราการ

เหงือกปลาหมอ สมุนไพรใกล้ตัวหรืออาจจะเรียกว่าเป็นสมุนไพรชายน้ำหรือชายเลนก็ได้ สามารถนำสรรพคุณทางยามาใช้ในการรักษาโรคได้หลายชนิด ที่โดดเด่นมากก็คือการนำมารักษาโรคผิวหนังได้เกือบทุกชนิด แก้น้ำเหลืองเสีย และการนำมาใช้รักษาริดสีดวงทวาร เป็นต้น โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรก็ได้แก่ ส่วนลำต้นทั้งสดและแห้ง ใบทั้งสดและแห้ง ราก เมล็ด และทั้งต้น (ส่วนทั้ง 5 ประกอบไปด้วย ต้น ราก ใบ ผล เมล็ด)

ลักษณะของเหงือกปลาหมอ

  • ต้นเหงือกปลาหมอ เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นแข็ง มีหนามอยู่ตามข้อของลำต้น ข้อละ 4 หนาม ลำต้นกลม กลวง ตั้งตรง มีสีขาวอมเขียว ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการใช้กิ่งปักชำ เป็นพรรณไม้ที่มักขึ้นกลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในที่ร่มและในที่ที่มีความชื้นสูง ชอบขึ้นตามชายน้ำหรือบริเวณริมฝั่งคลองบริเวณปากแม่น้ำ เช่น บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกเหนือปากคลองมหาวงก์ และที่โรงเรียนนายเรือ เป็นต้น

ต้นเหงือกปลาหมอ

  • ใบเหงือกปลาหมอ ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบมีหนามคมอยู่ริมขอบใบและปลายใบ ขอบใบเว้าเป็นระยะ ๆ ผิวใบเรียบเป็นมันลื่น แผ่นใบสีเขียว เส้นใบสีขาว มีเหลือบสีขาวเป็นแนวก้างปลา เนื้อใบแข็งและเหนียว ใบกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ใบจะออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ก้านใบสั้น

ใบเหงือกปลาหมอ

  • ดอกเหงือกปลาหมอ ออกดอกเป็นช่อตั้งตามปลายยอด ยาวประมาณ 4-6 นิ้ว ดอกมีทั้งพันธุ์ดอกสีม่วง (หรือสีฟ้า) และพันธุ์ดอกสีขาว ที่ดอกมีกลีบรองดอกมี 4 กลีบ กลีบแยกจากกัน บริเวณกลางดอกจะมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่

ดอกเหงือกปลาหมอ

สมุนไพรเหงือกปลาหมอ

  • ผลเหงือกปลาหมอ ลักษณะของผลเป็นฝักสีน้ำตาล ลักษณะของฝักเป็นทรงกระบอก รูปไข่ หรือกลมรี ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร เปลือกฝักมีสีน้ำตาล ปลายฝักป้าน ข้างในฝักมีเมล็ด 4 เมล็ด

สรรพคุณของเหงือกปลาหมอ

  1. ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้อายุยืน ร่างกายแข็งแรง เลือดลมไหลเวียนดี เส้นเลือดไม่อุดตัน บำรุงผิวพรรณ ด้วยการใช้ทั้งต้นเหงือกปลาหมอนำมาตำผสมกับพริกไทยในอัตราส่วน 2:1 แล้วคลุกเคล้าผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นยาลูกกลอน ว่ากันว่าหากรับประทานติดต่อกัน 1 เดือน จะทำให้ปัญญาดี ไม่มีโรค / 2 เดือน ผิวหนังเต่งตึง / 3 เดือน ทำให้ริดสีดวงหาย / 4 เดือน ช่วยแก้ลม 12 จำพวก หูไว / 5 เดือน หมดโรค / 6 เดือน ทำให้เดินไม่รู้จักเหนื่อย / 7 เดือนผิวสวย / 8 เดือน เสียงเพราะ / 9 เดือน หนังเหนียว (ทั้งต้น, ราก)
  2. เหงือกปลาหมอมีสรรพคุณช่วยบำรุงประสาท (ราก)
  3. ช่วยรักษาอาการธาตุไม่ปกติ (ทั้งต้น)
  4. ช่วยทำให้เลือดลมเป็นปกติ (ทั้งต้น)เหงือกปลาหมอขาว
  5. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ทั้งต้น)
  6. ช่วยแก้โรคกระษัย อาการซูบผอมเหลืองทั้งตัว ด้วยการใช้ทั้งต้นของเหงือกปลาหมอนำมาตำเป็นผงกินทุกวัน (ต้น)
  7. ช่วยแก้อาการร้อนทั้งตัว เจ็บระบบทั้งตัว ตัวแห้ง เวียนศีรษะ หน้ามืดตามัว มือตายตีนตาย ด้วยการใช้ทั้งต้นของเหงือกปลาหมอและเปลือกมะรุมอย่างละเท่ากัน ใส่หม้อต้มผสมกับเกลือเล็กน้อย หมาก 3 คำ เบี้ย 3 ตัว วางบนปากหม้อ แล้วใช้ฟืน 30 ดุ้น ต้มกับน้ำเดือดจนงวดแล้วยกลง เมื่อเสร็จให้กลั้นใจกินขณะอุ่น ๆ จนหมด อาการก็จะดีขึ้น (ทั้งต้น)
  8. ช่วยยับยั้งมะเร็ง ต้านมะเร็ง (ทั้งต้น)
  9. ช่วยรักษาอาการปอดอักเสบ ด้วยการใช้เหงือกปลาหมอทั้งต้นและข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ในสัดส่วนที่เท่ากัน นำมาต้มกับน้ำจนเดือดแล้วนำมาดื่มในขณะอุ่น ๆ ครั้งละ 1 แก้ว เช้า กลางวัน เย็น อาการจะดีขึ้น (ทั้งต้น)
  10. รักษาปอดบวม ข้อมูลนี้ยังไม่น่าเชื่อถือ* (ใบ)
  11. ต้นมีรสเค็มกร่อย สรรพคุณช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ต้น)
  12. รากช่วยแก้และบรรเทาอาการไอ หรือจะใช้เมล็ดนำมาต้มดื่มแก้อาการไอก็ได้เช่นกัน (ราก, เมล็ด)
  13. ช่วยแก้หืดหอบ (ราก)
  14. ช่วยรักษาวัณโรค ด้วยการใช้ต้นนำมาตำผสมเป็นน้ำดื่ม (ต้น)
  15. ช่วยแก้อาการเจ็บตา ตาแดง ด้วยการใช้เหงือกปลาหมอทั้งต้นนำมาตำผสมกับขิง คั้นเอาแต่น้ำใช้หยอดตาแก้อาการ (ทั้งต้น)
  16. ใบช่วยแก้ไข้ (ใบ)
  17. ช่วยแก้ไข้จับสั่น ด้วยการใช้ทั้งต้นเหงือกปลาหมอมาตำผสมกับขิง (ทั้งต้น)
  18. ช่วยแก้พิษไข้หัว ด้วยการใช้ทั้งต้นรวมทั้งรากนำมาต้มอาบแก้อาการ (ทั้งต้น)
  19. แก้อาการไอ เมล็ดใช้ผสมกับดอกมะเฟือง เปลือกอบเชย น้ำตาลกรวด นำมาต้มรวมกันแล้วเอาแต่น้ำมากินเป็นยาแก้ไอ (เมล็ด)
  20. ช่วยขับเสมหะ (ราก)
  1. ถ้าเป็นลม ให้ใช้ต้นเหงือกปลาหมอ 1 ส่วน / พริกไทย 2 ส่วน ผสมรวมกัน ตำให้ละเอียดเป็นผงแล้วนำมาละลายน้ำร้อนดื่ม (ต้น)
  2. ช่วยแก้โรคกระเพาะ ด้วยการใช้ทั้งต้นและพริกไทย (10:5 ส่วน) ตำผสมปั้นเป็นยาลูกกลอน (ทั้งต้น)
  3. ช่วยขับพยาธิ (เมล็ด)
  4. ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้ต้นเหงือกปลาหมอกับขมิ้นอ้อย นำมาตำละลายกับน้ำแล้วทาบริเวณที่เป็นริดสีดวง หรือจะใช้ปรุงกับฟ้าทะลายโจร ใช้รมหัวริดสีดวงก็ได้ (ต้น, ใบ)
  5. ช่วยขับปัสสาวะ ข้อมูลนี้ยังไม่น่าเชื่อถือ* (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  6. ช่วยรักษามุตกิดระดูขาว ตกขาวของสตรี ด้วยการใช้ใบและต้นนำมาตำเป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำมันมันงา ปั้นเป็นยาลูกกลอนรับประทานแก้อาการ (ต้น, ใบ, ราก)
  7. ช่วยแก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติของสตรี ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาตำผสมกับน้ำผึ้ง น้ำมันงา (ทั้งต้น)
  8. ช่วยรักษานิ่วในไต ด้วยการใช้ใบนำมาต้มเป็นน้ำดื่ม (ใบ)
  9. ช่วยแก้ไตพิการ ข้อมูลนี้ยังไม่น่าเชื่อถือ* (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  10. ผลช่วยขับโลหิต หรือจะใช้เมล็ดผสมกับดอกมะเฟือง เปลือกอบเชย น้ำตาลกรวด นำมาต้มรวมกันแล้วเอาแต่น้ำมากิน หรือใช้ต้น 10 ส่วนและพริกไทย 5 ส่วน ผสมทำเป็นยาลูกกลอนกินก็ได้ (เมล็ด, ผล, ทั้งต้น)
  11. ช่วยฟอกโลหิต ข้อมูลนี้ยังไม่น่าเชื่อถือ* (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  12. แก้พิษเลือด ข้อมูลนี้ยังไม่น่าเชื่อถือ* (เปลือกต้น)
  13. ช่วยสมานแผล ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาตำผสมกับหัวสามสิบ ในอัตราส่วน 2:1 (ทั้งต้น)
  14. ต้นเหงือกปลาหมอมีสรรพคุณช่วยรักษาแผลพุพอง (ต้น)
  15. ใบมีรสเค็มกร่อย สรรพคุณช่วยรักษาแผลอักเสบ (ใบ)
  16. ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย ด้วยการใช้ต้น 3-4 ต้น นำมาหั่นเป็นชิ้น แล้วต้มน้ำอาบแก้อาการ (ต้น, ใบ, เมล็ด)
  17. สำหรับผู้ป่วยเอดส์ที่มีแผลพุพองตามผิวหนัง หากใช้ต้นมาต้มอาบและทำเป็นยากินติดต่อกันประมาณ 3 เดือนจะช่วยทำให้อาการของแผลพุพองบรรเทาลงอย่างชัดเจน (ต้น)
  18. ช่วยรักษาโรคผิวหนังหรือประดง รักษากลากเกลื้อน อีสุกอีใส (ใบ)
  19. ช่วยรักษาโรคเรื้อน คุดทะราด ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาตำเอาแต่น้ำกิน (ทั้งต้น)
  20. ช่วยแก้ผดผื่นคันตามร่างกาย ใช้ล้างแผลเรื้อรัง ด้วยการใช้ต้นสดและใบสดล้างสะอาดประมาณ 3-4 กำมือ นำมาสับแล้วต้มกับน้ำอาบแก้ผื่นคันติดต่อกัน 3-4 ครั้ง (ต้น, ใบ)
  21. เหงือกปลาหมอมีสรรพคุณทางยาช่วยแก้ลมพิษ (ต้น)
  22. รากสดนำมาต้มเอาแต่น้ำ ใช้ดื่มเป็นยารักษาโรคงูสวัดได้ (ราก)
  23. ช่วยรักษาฝี ฝีเรื้อรัง แผลฝีหนอง ฝีดาษ ตัดรากฝี แก้พิษฝีทุกชนิดทั้งภายในภายนอก ด้วยการใช้ต้นและใบทั้งสดและแห้งประมาณ 1 กำมือ นำมาบดให้ละเอียด แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นฝี หรือวิธีที่สองจะนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่น้ำให้ท่วมแล้วต้มในน้ำเดือดทิ้งไว้ 10 นาที แล้วนำมาดื่มก่อนอาหารครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง ประมาณ 2-3 อาทิตย์ หรือจะใช้เมล็ดนำมาคั่วให้เกรียมแล้วป่นให้ละเอียด ชงกับน้ำกินเป็นยาแก้ฝีก็ได้ (ต้น, ใบ, เมล็ด)
  24. เมล็ดใช้ปิดพอกฝี (เมล็ด)
  25. ผลมีรสเผ็ดร้อน สรรพคุณช่วยถอนพิษ (ผล, ต้น)
  26. ใบสดนำมาตำให้ละเอียด สามารถใช้พอกบริเวณแผลที่ถูกงูกัดได้ (ใบ)
  27. ช่วยแก้ผิวแตกทั้งตัว ด้วยการใช้ทั้งต้นของเหงือกปลาหมอ 1 ส่วน / ดีปลี 1 ส่วน ใช้ผสมกันบดให้เป็นผงชงกับน้ำร้อนดื่มแก้อาการ (ทั้งต้น)
  28. ต้น ถ้านำมาใช้จะช่วยแก้โรคเหน็บชา อาการชาทั้งตัวได้ (ต้น)
  29. รากมีสรรพคุณช่วยแก้อัมพาต (ราก)
  30. แก้อาการเจ็บหลังเจ็บเอว ด้วยการใช้ต้นกับชะเอมเทศนำมาบดเป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอนกิน (ต้น)
  31. ใบใช้เป็นยาประคบแก้ไขข้ออักเสบและแก้อาการปวดต่าง ๆ (ใบ)
  32. ช่วยบำรุงรากผม ด้วยการใช้น้ำคั้นจากใบนำมาทาให้ทั่วศีรษะ จะช่วยบำรุงรากผมได้ (ใบ)

ประโยชน์ของเหงือกปลาหมอ

  • ในปัจจุบันสมุนไพรเหงือกปลาหมอมีการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นยาแคปซูลสมุนไพร (เหงือกปลาหมอแคปซูล) หรือเป็นยาชงสมุนไพร (เหงือกปลาหมอผงสำเร็จรูป) หรือในรูปแบบของยาเม็ด
  • นอกจากการใช้เป็นยาสมุนไพรที่ใช้ในการอบตัวหรืออบด้วยไอน้ำ สมุนไพรเหงือกปลาหมอยังใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น สบู่ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการเปลี่ยนสีผม จนกระทั่งแชมพูของสุนัข เป็นต้น

แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, หนังสือพิมพ์บ้านเมือง (ชำนาญ หิมะคุณ), หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4, ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์การส่วนพฤกษศาสตร์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), หนังสือยอดสมุนไพรยาอายุวัฒนะ (อาจารย์ยุวดี จอมพิทักษ์), หนังสือกายบริหารแกว่งแขน (โชคชัย ปัญจทรัพย์)

ภาพประกอบ : www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), เว็บไซต์ buriramtime.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด