เสี้ยวดอกขาว
เสี้ยวดอกขาว ชื่อสามัญ Mountain ebony tree[2], Orchid tree, Purple bauhinia[5]
เสี้ยวดอกขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia variegata L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Phanera variegata (L.) Benth.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)
สมุนไพรเสี้ยวดอกขาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เสี้ยวป่าดองขาว[5], เปียงพะโก, โพะเพ่[1], เสี้ยว(คนเมือง), ลำปาน(ลั้วะ), ไฮ่รูหร่า(ปะหล่อง)[2] เป็นต้น
ลักษณะของเสี้ยวดอกขาว
- ต้นเสี้ยวดอกขาว จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ มีความสูงของต้นได้ถึง 15 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ระบายน้ำดี มีความชื้นสูง และมีแสงแดดจัด มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและมาเลเซีย มักขึ้นตามป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือและทางภาคตะวันออกเฉียงใต้[1],[4],[5]
- ใบเสี้ยวดอกขาว มีใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้างถึงค่อนข้างกลม โดยมีลักษณะเป็น 2 พู ปลายใบเว้าลึก ส่วนโคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของใบประมาณ 6-18 เซนติเมตร และมีเส้นใบออกจากโคนของใบ[1]
- ดอกเสี้ยวดอกขาว ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกเป็นช่อสั้นตามกิ่ง จำนวนดอกน้อย ดอกมีสีขาวกลีบตั้ง มีเส้นริ้วด้านในสีเหลืองหรือสีแดงชัดเจน (และสีของดอกอาจแตกต่างไปจากนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์) มีกลีบดอก 5 กลีบ เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-12 เซนติเมตรและยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์[1]
- ฝักเสี้ยวดอกขาว ฝักมีลักษณะแบน ฝักอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนฝักแก่เป็นสีน้ำตาล เมื่อแก่จะแตกเป็น 2 ซีก[1],[5]
สรรพคุณของเสี้ยวดอกขาว
- ดอกใช้เป็นยาดับพิษไข้ (ดอก)[3]
- ฝักแก่มีรสหวาน ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกเป็นประจำ (ฝัก)[3],[4]
ประโยชน์ของเสี้ยวดอกขาว
- ดอกสามารถนำไปต้มแล้วนำมาผัดกินได้ หรือจะทำเป็นเมนู “ยำดอกเสี้ยว” หรือ “ดอกเสี้ยวชุบแป้งทอด” ส่วนยอดอ่อนนำไปใช้ประกอบอาหาร เช่น ทำแกง ใช้ใส่ในแกงหน่อไม้ ส่วนดอกและใบอ่อนก็สามารถนำมาแกงได้เช่นกัน[2],[3],[4] ใบอ่อนและฝักอ่อนใช้รับประทานเป็นอาหาร นำมาต้มกินกับน้ำพริกหรือนำไปแกงก็ได้[1],[3]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับริมข้างทางได้เป็นอย่างดี[1]
- เปลือกต้นมีสารแทนนิน สามารถนำมาใช้ย้อมแหและอวนให้คงทนแข็งแรงได้[1]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “เสี้ยวดอกขาว“. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1, หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [18 ธ.ค. 2013].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Mountain ebony tree“. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [18 ธ.ค. 2013].
- ASTVผู้จัดการออนไลน์. “ดอกเสี้ยว ขาว สวย…อร่อย“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [18 ธ.ค. 2013].
- ข่าวสด. “เสี้ยวดอกขาว“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.khaosod.co.th. [18 ธ.ค. 2013].
- โรงเรียนบ้านซับมะนาว. “เสี้ยวดอกขาว“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.submanao.org. [18 ธ.ค. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by incredibleayurveda, Mauricio Mercadante, plj.johnny/潘立傑, Bernard84600, Burnt Umber, yu380301)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)