เสาวรส
เสาวรส ชื่อสามัญ Passion Fruit, Jamaica honey-suckle, Yellow granadilla
เสาวรส ชื่อวิทยาศาสตร์ Passiflora edulis Sims จัดอยู่ในวงศ์กะทกรก (PASSIFLORACEAE)
เสาวรส (กะทกรกฝรั่ง) เป็นผลไม้เพื่อสุขภาพชนิดหนึ่งที่มีต้นกำเนิดในแถบทวีปอเมริกาใต้ ผลมีลักษณะกลม ผลอ่อนจะมีสีเขียว แต่เมื่อสุกแล้วจะมีหลายสีแล้วแต่สายพันธุ์ คือ สีม่วง สีเหลือง สีส้ม ซึ่งในบ้านเรานี้จะปลูกทั้ง 3 สายพันธุ์ โดยในผลเสาวรสนั้นจะมีเมล็ดจำนวนมาก มีกลิ่นคล้ายฝรั่งสุก รสออกเปรี้ยวจัด แต่บางสายพันธุ์จะมีรสออกอมหวานด้วย
สำหรับประโยชน์ของเสาวรสและสรรพคุณของเสาวรสนั้นก็มีมากมายหลายข้อ เพราะเสาวรสอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุรวมอยู่หลายชนิด ซึ่งได้แก่ วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 กรดโฟลิก ธาตุแคลเซียม ธาตุเหล็ก ธาตุแมกนีเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุโพแทสเซียม ธาตุสังกะสี และคาร์โบไฮเดรต โดยยังมีของแถมนั่นก็คือใยอาหารในปริมาณสูงรวมอยู่ด้วย ซึ่งนิยมนำมารับประทานเป็นผลไม้สด โดยเสาวรสที่ลักษณะดีนั้นต้องไม่เหี่ยว ผิวต้องเต่งตึง แต่ทั้งนี้ห้ามรับประทานในส่วนของต้นสดเด็ดขาด เพราะมีสารพิษอันตราย อาจทำให้เสียชีวิตได้ รอรับประทานผลอย่างเดียวจะดีกว่า
ประโยชน์ของเสาวรส
- เสาวรส ช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใส
- ช่วยในการชะลอวัย ชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัยด้วยสารต่อต้านอนุมูลอิสระ
- ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง
- ช่วยในการบำรุงสายตา เนื่องจากมีวิตามินเอรวมอยู่ด้วย
- น้ำเสาวรสช่วยให้นอนหลับสบายมากยิ่งขึ้น
- น้ำเสาวรสช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย
- มีวิตามินบี 2 ซึ่งช่วยบำรุงผิวพรรณ เล็บ และเส้นผม
- มีแคลเซียมซึ่งมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกเสื่อมและกระดูกหัก
- มีโพแทสเซียมสูง ช่วยให้มีสติปัญญา จิตใจร่าเริงแจ่มใส ด้วยการส่งออกซิเจนไปเลี้ยงที่สมอง
- มีแมกนีเซียม ซึ่งช่วยในการเผาผลาญไขมันและเปลี่ยนเป็นพลังงาน
- มีฟอสฟอรัสสูง ซึ่งช่วยส่งเสริมสุขภาพเหงือกและฟันให้แข็งแรง
- นิยมนำมาดื่มเป็นน้ำผลไม้หรือใช้เป็นส่วนผสมในน้ำผลไม้รวม
- ใช้ทำเป็นน้ำผลไม้ปั่น สำหรับวิธีทำน้ําเสาวรส อย่างแรกให้เตรียมเสาวรสที่สุกแล้ว 3 ลูก / น้ำเชื่อมครึ่งถ้วย / เกลือป่นหนึ่งช้อนโต๊ะ / น้ำต้มสุกแช่เย็นหนึ่งถ้วย หลังจากนั้นนำเสาวรสไปล้างให้สะอาดทั้งเปลือก แล้วนำมาผ่าครึ่งตามขวาง แล้วนำช้อนตักเมล็ดเนื้อเสาวรสและน้ำออกให้หมด แล้วนำมาปั่นกับน้ำต้มสุกจนละเอียด แล้วกรองกากและเมล็ดออกด้วยการใช้ผ้าขาวบางหรือกระชอน หลังจากนั้นนำน้ำเสาวรสที่กรองเรียบร้อยแล้วลงในเครื่องปั่น ใส่น้ำเชื่อม เกลือป่น น้ำแข็งตามลงไปปั่น เสร็จแล้วก็จะได้น้ำเสาวรสฝีมือของเราแล้ว
- นำมาใช้แต่งกลิ่นหรือรสชาติในโยเกิร์ต น้ำอัดลม เป็นต้น
- เนื้อเสาวรสนำไปทำขนมได้หลายชนิด เช่น เค้ก แยม เยลลี ไอศกรีม เป็นต้น
- ใช้นำไปประกอบของหวาน เช่น นำเมล็ดเสาวรสมาใช้แต่งหน้าเค้ก
- ใช้นำมาประกอบอาหาร เช่น การนำยอดเสาวรสไปแกงหรือกินกับน้ำพริก
- เมล็ดของเสาวรสสามารถนำไปสกัดเป็นน้ำมันพืชได้
- ใช้ทำเนยเทียมจากเมล็ดเสาวรส
- ใช้เป็นอาหารสัตว์ ด้วยการนำเปลือกไปสกัดสารเพกทินหรือนำมาตากแห้ง
- เปลือกเสาวรสสามารถนำมาใช้ทำปุ๋ยหมักได้
- ใช้ทำเป็นน้ำมันนวดผ่อนคลาย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เนื่องจากมีคุณสมบัติในการช่วยผ่อนคลายได้ดี
- ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางบางชนิด เช่น ผลิตภัณฑ์กันแดด ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผลิตภัณฑ์รักษาสิว เป็นต้น
- ช่วยในการสมานผิว รักษาเนื้อเยื่อผิวหนัง
- ช่วยปรับสมดุลในร่างกายและลดอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน
- ที่เปอร์โตริโก นิยมนำเสาวรสมาใช้ในการลดความดันโลหิต
- ช่วยบรรเทาอาการโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ช่วยในการฟื้นฟูตับและไตให้มีสุขภาพแข็งแรง
- ช่วยในการกำจัดสารพิษในเลือด
- ช่วยบรรเทาอาการปวด
- ช่วยในการบำรุงปอด
- ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
- ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง
- ช่วยรักษาอาการหอบหืด
- ใบสดนำมาใช้พอกแก้หิดได้
- ดอกใช้ขับเสมหะ ช่วยแก้ไอได้
- เมล็ดมีสารที่ทำหน้ายับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ดี
คุณค่าทางโภชนาการของเสาวรสต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 97 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 23.38 กรัม
- น้ำตาล 11.2 กรัม
- เส้นใย 10.4 กรัม
- ไขมัน 0.7 กรัม
- โปรตีน 2.2 กรัม
- วิตามินเอ 64 ไมโครกรัม 8%
- เบตาแคโรทีน 734 ไมโครกรัม 7%
- วิตามินบี 2 0.13 มิลลิกรัม 11%
- วิตามินบี 3 1.5 มิลลิกรัม 10%
- วิตามินบี 6 0.1 มิลลิกรัม 8%
- วิตามินบี 9 14 ไมโครกรัม 4%
- โคลีน 7.6 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินซี 30 มิลลิกรัม 36%
- วิตามินเค 0.7 ไมโครกรัม 1%
- ธาตุแคลเซียม 12 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุเหล็ก 1.6 มิลลิกรัม 12%
- ธาตุแมกนีเซียม 29 มิลลิกรัม 8%
- ธาตุฟอสฟอรัส 68 มิลลิกรัม 10%
- โพแทสเซียม 348 มิลลิกรัม 7%
- ธาตุโซเดียม 28 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุสังกะสี 0.1 มิลลิกรัม 1%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, USDA Nutrient Database
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)