เสลดพังพอน
เสลดพังพอน ชื่อสามัญ Hop Headed Barleria[6], Hophead, Porcupine flower, Philippine violet[10]
เสลดพังพอน ชื่อวิทยาศาสตร์ Barleria lupulina Lindl. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Barleria macrostachya Bojer, Dicliptera spinosa Lodd. ex Nees) จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)[1]
สมุนไพรเสลดพังพอน มีชื่อเรียกอื่นว่า เสลดพังพอนตัวผู้ พิมเสนต้น (ภาคกลาง), ก้านชั่ง (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), คันชั่ง (ตาก), ชองระอา ช้องละอา ทองระอา ลิ้นงูเห่า (กรุงเทพฯ), อังกาบ อังกาบเมือง (ไทย), ด่อมะอ้าย (ปะหล่อง), ฉิกแชเกี่ยม ฮวยเฮียะแกโต่วเกียง (จีน), ฮวาเย่เจี่ยตู้เจียน ชีซิงเจี้ยน ชื่อเสี่ยฮวา (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3],[4],[6],[10]
ลักษณะของเสลดพังพอน
- ต้นเสลดพังพอน (เสลดพังพอนตัวผู้) จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม แตกกิ่งก้านสาขามาก มีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นเป็นสีน้ำตาลอมเขียว ส่วนกิ่งและก้านเป็นสีน้ำตาลแดง ตามข้อของลำต้นและโคนก้านใบมีหนามแหลมคมและยาวสีน้ำตาลข้อละ 2 คู่[1],[5] ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุยและมีความชุ่มชื้น ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไป[3],[8]
- ใบเสลดพังพอน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปรียาว ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ผิวใบเกลี้ยง พื้นใบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน เส้นใบและก้านเป็นสีแดง ก้านใบสั้น ยาวได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร และโคนก้านมีหนามแหลม 1 คู่ โค้งงอ ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร สีม่วงชี้ลง[1],[5],[8]
- ดอกเสลดพังพอน ออกดอกเป็นช่อตั้ง โดยจะออกที่ปลายยอด ช่อดอกยาวได้ประมาณ 3-9 เซนติเมตร ช่อดอกอ่อนจะมองเห็นใบประดับรูปกลมรีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร หุ้มดอกไว้ภายใน ดอกจะมีใบประดับขนาดใหญ่เรียงกันเป็นรูปทรงกระบอกสีเขียว ใบประดับที่โคนเป็นสีเขียว ปลายใบประดับเป็นสีม่วง หรือทั้งใบประดับเป็นสีแดงอมเขียวหรือสีม่วงอมน้ำตาล รูปไข่เกือบกลม ปลายเป็นติ่งแหลม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกจะมี 4 กลีบ เรียงตรงข้ามเป็นคู่ ยาวประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร คู่นอกจะมีขนาดใหญ่กว่าคู่ใน ปลายเป็นติ่งหนาม เมื่อดอกโตเต็มที่ ดอกจะโผล่เลยกลีบประดับออกมา โดยกลีบดอกจะเป็นสีเหลืองหรือสีส้ม กลีบดอกคล้ายรูปปากเปิด มี 5 กลีบ ที่โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 2 ปาก แบ่งเป็นปากบนมีกลีบมนขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะมี 4 กลีบ เรียงซ้อนแผ่ชิดกัน บานแผ่ออก ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร และกลีบล่างอีก 1 กลีบ ที่มีขนาดเล็กกว่าและพับงอเล็กน้อย กลีบดอกจะหลุดร่วงได้ง่าย ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน ยาวได้ประมาณ 2 เซนติเมตร ยื่นพ้นจากปากหลอดกลีบดอก มีเกสรเพศผู้ที่เป็นมัน 2 อัน สั้น ๆ รังไข่มี 2 ช่อง ส่วนก้านเกสรเพศเมียยาว โดยจะยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร[1],[3],[5],[8]
- ผลเสลดพังพอน ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปมนรี รูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ลักษณะแบนและยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร เมื่อแห้งแล้วจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 2-4 เมล็ด (ซีกละ 1-2 เมล็ด)[3],[5],[8]
หมายเหตุ : เสลดพังพอนตัวผู้สามารถนำมาใช้แทนเสลดพังพอนตัวเมียได้ แต่เสลดพังพอนตัวผู้จะมีฤทธิ์อ่อนกว่าเสลดพังพอนตัวเมีย[6] และในวงศ์เดียวกันยังมีสมุนไพรอีกชนิดหนึ่ง คือ Barleria prionitis L. ในภาษาจีนเรียกว่า “หวงฮัวตู้จวน” ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีลักษณะและคุณสมบัติใกล้เคียงกับเสลดพังพอนตัวผู้ จึงสามารถนำมาใช้แทนกันได้[4]
สรรพคุณของเสลดพังพอน
- ใบเสลดพังพอน มีรสจืดเย็น ใช้เป็นยาทะลวงลมปราณ[4] แก้โรคเบาหวาน รักษาโรคคางทูม ช่วยถอนพิษไข้ พิษไข้ทรพิษ แก้ปวดฟัน เหงือกบวม แก้ริดสีดวงทวาร[6] ชาวปะหล่องจะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาช่วยลดอาการจากไข้มาลาเรีย (มีรสขมมาก)[9] ตำรายาไทยจะใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี[3] แต่จะนิยมใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าแล้วคั้นเอาน้ำดื่ม ส่วนกากเอามาพอกหรือทาเป็นยาแก้ลมพิษ รักษาเม็ดผื่นคันตามผิวหนัง แก้ไฟลามทุ่ง แก้ขยุ้มตีนหมา แก้โรคเริม แก้เริมบริเวณผิวหนัง งูสวัด ช่วยถอนพิษจากเม็ดตุ่มฝีดาษ รักษาโรคฝีดาษ แก้ฝีที่ฝ่ามือ แก้แผลกลาย เป็นยาถอนพิษ แก้พิษงูกัด พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น แมงป่อง ตะขาบ ผึ้ง[1],[4],[6] ช่วยถอนพิษอักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย[2] (ใช้ใบสดครั้งละ 1 กำมือ นำมาตำให้ละเอียด หรือจะแทรกด้วยพิมเสนเพียงเล็กน้อยด้วยก็ได้ แล้วนำมาทาหรือนำมาผสมกับเหล้าแล้วพอกบ่อย ๆ บริเวณที่เป็น)[5] หรือใช้เป็นยาแก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก ช่วยรักษาแผลฟกช้ำจากการกระทบกระแทก แผลสุนัขกัด แผลจากของมีคมบาด หรือแผลมีเลือดออก (ช่วยห้ามเลือด) ช่วยแก้ปวดแผล แก้อาการปวดจากปลาดุกแทง รวมไปถึงแก้พิษจากไฟลวก น้ำร้อนลวก แก้ยุงกัด แก้ฝีหนอง และแก้โรคฝีต่าง ๆ เพียงใช้ใบสดประมาณ 2-10 ใบ นำมาขยี้หรือตำให้แหลกใช้เป็นยาพอกหรือผสมกับเหล้าตำพอกบริเวณที่เป็น[3],[5],[6] ส่วนชาวโอรังอัสลีในรัฐเประที่ประเทศมาเลเซียจะใช้ใบสดเป็นยากำจัดหูด[11]
- รากเสลดพังพอน มีรสจืด ใช้เป็นยาแก้ตาเหลือง หน้าเหลือง เมื่อยตัว กินข้าวไม่ได้ แก้อาการเจ็บท้อง แก้ผิดอาหาร แก้ปวดฟัน[6] ใช้ฝนกับเหล้าดื่มและทาแก้พิษงู ถอนพิษตะขาบ แมงป่อง แมลงสัตว์กัดต่อย[1],[2],[3],[5]
- ในมาเลเซียจะใช้สมุนไพรเสลดพังพอนเป็นยาแก้ปวดฟันและแก้งูกัด ส่วนในประเทศไทยจะใช้เป็นยาแก้พิษจากงูเห่ากัด โดยใช้ตำพอกปากแผลส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งใช้ผสมกับเหล้ากิน เพื่อเป็นการช่วยยืดเวลาก่อนที่จะไปหาหมอ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[3]
ขนาดและวิธีใช้ : ใบสดให้ใช้ครั้งละ 10-20 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำรับประทาน หรือใช้ตำพอกแผลภายนอกตามต้องการ ส่วนใบแห้งให้ใช้ครั้งละ 6-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน[4] ส่วนการใช้ตาม [6] หากใช้รักษาแมลงสัตว์กัดต่อยเป็นผื่นคันให้ใช้ใบสด 5-10 ใบ นำมาตำขยี้ทาบริเวณที่เป็นแผลที่แพ้ จะช่วยให้ยุบหายได้ผลดี ถ้าใช้รักษาแผลโดนน้ำร้อนลวกหรือไฟไหม้ ให้ใช้ใบสดนำมาตำเคี่ยวกับน้ำมะพร้าวหรือน้ำมันงา เอากากพอกบริเวณที่เป็น แผลจะแห้งไว หรือจะนำใบมาตำผสมกับเหล้า ใช้พอกบริเวณที่เป็นจะมีสรรพคุณช่วยดับพิษร้อนได้ดี และสำหรับการใช้รักษาอาการอักเสบ ถอนพิษ แก้เริม งูสวัด ให้ใช้ใบสด (ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป) ประมาณ 10-20 ใบ นำมาตำผสมกับเหล้าหรือน้ำมะนาว คั้นเอาน้ำดื่มหรือเอาน้ำทาแผลและเอากากพอกบริเวณแผล[7]
ข้อห้ามใช้ : สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[3],[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเสลดพังพอน
- ในใบเสลดพังพอนพบสารหลายชนิด เช่น Acetylbarlerin, Barlerin, Bataine, Scutellarein-7-Rhamnosyl glucoside, Shanzhiside methyl ester เป็นต้น[4] ใบและก้านมีสารประกอบพวก iridoid glycosides[3]
- จากการทดลองในสัตว์พบว่า ใบเสลดพังพอนมีฤทธิ์ลดอาการอักเสบ[2]
- สารสกัดจากต้นเสลดพังพอนตัวผู้จะมีสารจำพวก iridoid ที่ช่วยบรรเทาอาการอักเสบและมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัสได้ด้วย เช่น โรคงูสวัด จึงสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาการอักเสบของโรคเริมหรือแมลงสัตว์กัดต่อยได้[4]
- สารสกัดด้วยเมทานอลจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นเสลดพังพอนตัวผู้ เมื่อนำมาใช้กับหนูแรทที่ถูกทำให้เป็นเบาหวาน พบว่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลได้ปานกลาง[10]
- สารสกัดเมทานอลจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นเสลดพังพอนตัวผู้มีฤทธิ์ลดการอักเสบแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังในหนูแรท โดยไม่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร[10]
- สารสกัดด้วยคลอโรฟอร์มจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นเสลดพังพอนตัวผู้มีฤทธิ์ช่วยลดอาการปวดในหนูเม้าส์ที่ทำให้เกิดอาการปวดด้วย acetic acid (formalin) แต่ใช้ไม่ได้ผลกับอาการปวดจากความร้อน[10]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ เมื่อให้หนูเม้าส์ได้รับสารสกัดด้วยเมทานอลจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นเสลดพังพอนตัวผู้ โดยการป้อนหรือฉีดเข้าทางช่องท้อง พบว่ามีความเป็นพิษปานกลาง[10]
ประโยชน์ของเสลดพังพอน
- ชาวเมี่ยนจะนิยมปลูกต้นเสลดพังพอนเป็นแนวรั้วเอาไว้ป้องกันงู[9]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “เสลดพังพอน (Salet Phang Phon)”. หน้า 308.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ชองระอา”. หน้า 61.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เสลดพังพอน”. หน้า 788-789.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “เสลดพังพอนตัวผู้”. หน้า 560.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เสลดพังพอนตัวผู้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [11 ก.ย. 2015].
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “เสลดพังพอนตัวผู้ (ซองระอา)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [11 ก.ย. 2015].
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “เสลดพังพอนตัวเมีย (พญาปล้องทอง)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [11 ก.ย. 2015].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “เสลดพังพอน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [11 ก.ย. 2015].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เสลดพังพอน, เสลดพังพอนตัวผู้”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [11 ก.ย. 2015].
- สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “เสลดพังพอน”. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/. [11 ก.ย. 2015].
- Anbu Jeba Sunilson John Samuel, Anandarajagopal Kalusalingam, Dinesh Kumar Chellappan, Rejitha Gopinath, Suraj Radhamani, Hj Azman Husain, Vignesh Muruganandham, Proom Promwichi. (2010). “Ethnomedical survey of plants used by the Orang Asli in Kampung Bawong, Perak, West Malaysia”. outnal of Ethnobiology and Ethnomedicine, 6:5.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ventilago, Russell Cumming, Christian Defferrard, Stephen Buchan, Corey Raimond, Scamperdale)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)