เสจ (Sage)
เสจ หรือ เซจ มีชื่อสามัญว่า Sage, Common Sage, Garden Sage, Gaster Sage, True Sage[1]
เสจ ชื่อวิทยาศาสตร์ Salvia officinalis Linn. จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)[1]
ลักษณะของเสจ
- ต้นเสจ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มหรือกึ่งพุ่ม ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 15-45 เซนติเมตร ลำต้นใสและฉ่ำน้ำ ออกจากรากใต้ดิน แตกกิ่งก้านตรงข้ามกัน กิ่งก้านตอนบนมักมีดอก พรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดและแพร่พันธุ์ในบริเวณเมดิเตอร์เรเนียน มีขึ้นอยู่ตามธรรมชาติทั่วยุโรป และมีการเพาะปลูกในแถบอเมริกาเหนือ[1]
- ใบเสจ ใบออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรี ปลายใบแหลมหรือทู่ โคนใบกลมหรือกึ่งหัวใจ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-10 เซนติเมตร ผิวใบก้านบนใสสีเขียวอมเทา (ใบอ่อน) เส้นกลางใบลึกเป็นร่อง ส่วนผิวใบด้านล่างเป็นสีเทา ใส เส้นใบเล็กมาก สานเป็นร่างแห เนื้อใบนุ่ม เมื่อขยี้จะมีกลิ่นหอมมาก รสหอมขม ก้านใบยาวได้ถึง 4.5 เซนติเมตร[1]
- ดอกเสจ ดอกเป็นสีน้ำเงิน บางครั้งเป็นสีชมพู หรือขาว[1]
- ผลเสจ ผลมีขนาดเล็กสีดำ[1]
สรรพคุณของเสจ
- กรณีใช้ภายในจะใช้ใบเสจเป็นยารักษาอาการเบื่ออาหาร ลดระดับไขมันเลือด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของความจำ รักษาอาการร้อนวูบวาบจากภาวะหมดประจำเดือน อาการเหงื่อออกมากผิดปกติ แก้อาการลมหายใจเหม็น แก้อาการปวดข้อ อาการปวดศีรษะจากความดัน ใช้ยับยั้งการหลั่งน้ำนมของสตรี ใช้เป็นยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ (ใบ)[1]
- กรณีใช้เป็นยาภายนอกนั้น จะนิยมใช้เป็นยาล้างแผล รักษาผิวหนังอักเสบ ใช้เป็นน้ำยาบ้วนปาก รักษาโรคในช่องปาก กล่องเสียง คอหอย และเหงือกอักเสบ (ใบ)[1]
- การใช้เป็นยารักษาอาการเหงื่อออกมากผิดปกติ วิธีแรกให้ใช้ใบแห้ง 20 กรัม นำมาลวกในน้ำร้อน 1 ลิตร โดยแช่ไว้ 15 นาที จากนั้นแยกส่วนของกากออก เอาส่วนของน้ำมาดื่มครั้งละ 200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ส่วนอีกวิธีให้ผสมผงยา 50 กรัม กับน้ำผึ้ง 80 กรัม ใช้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ ทั้งเช้าและก่อนนอน (ใบ)[1]
- การใช้เป็นยาล้างแผลและสมานแผลที่เกิดจากการแพ้หรืออักเสบ รักษาผิวหนังอักเสบ ด้วยการใช้ใบประมาณ 100 กรัม นำมาต้มผสมกับไวน์ขาว 0.5 ลิตร เป็นเวลา 1 นาที แล้วนำไปใช้ล้างแผล ส่วนอีกวิธีให้ผสมน้ำมันหอมระเหยประมาณ 2-3 หยด ลงในน้ำ 100 ลิตร หรือผสมสารสกัดแอลกอฮอล์ 5 กรัม ลงในน้ำ 1 แก้ว แล้วนำไปล้างใช้แผล (ใบ)[1]
- นอกเหนือจากสรรพคุณที่กล่าวมาข้างต้น ในข้อมูลจากเว็บไซต์อโรคายังระบุด้วยว่า “สมุนไพรเสจ” นั้น มีสรรพคุณช่วยเพิ่มสมาธิ ผ่อนคลายความวิตกกังวล แก้เจ็บคอ กล่องเสียงอักเสบ ไซนัสอักเสบ ช่วยลดสารคัดหลั่งในโพรงไซนัสและทางเดินหายใจส่วนบน แก้หวัดคัดจมูก รักษาแผลร้อนใน อาหารไม่ย่อย กลาก ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง บรรเทาอาการสั่น ช่วยบำรุงสุขภาพ แก้กลิ่นตัว และเท้ามีปัญหา[2]
- นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่ระบุด้วยว่า เสจมีสรรพคุณช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อหรือเกร็งเมื่อยชาตามแขนขา ช่วยปรับสมดุลในผู้หญิงและลดอาการกระวนกระวาย ช่วยลดอาการอักเสบของผิวหนัง สิว ผมร่วง และอาการผมมัน (ไม่มีแหล่งอ้างอิง)
ข้อควรระวังในการใช้
- ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้ในระหว่างตั้งครรภ์[1] รวมทั้งหญิงให้นมบุตร และห้ามให้เด็กกินในปริมาณเทียบเท่ายา[1]
- หากรับประทานสารสกัดแอลกอฮอล์หรือส่วนของน้ำมันหอมระเหยมากเกินกว่าขนาดที่กำหนด อาจทำให้เกิดภาวะไวต่อความร้อน หัวใจเต้นเร็ว มีอาการเวียนศีรษะ และชักเป็นลมบ้าหมูได้ ส่วนการใช้สารสกัดแอลกอฮอล์หรือน้ำมันหอมระเหยเป็นระยะเวลานาน ๆ ก็อาจทำให้เกิดอาการชักและเกิดอาการลมบ้าหมูได้เช่นกัน[1]
- สาร thujone ในขนาดสูง อาจทำให้เกิดความเป็นพิษต่อสมอง การใช้ในขนาดที่ระบุให้ใช้ในหัวข้อข้างต้น เพราะยังไม่พบอาการข้างเคียงหรือความผิดปกติแต่อย่างใด[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเสจ
- สารสำคัญที่พบ ได้แก่ cineole,1,8cineole, borneol, camphors, camphene, carnosolic acid, carnosol, carnosic acid, caryophylene (humullene), alpha-caryophyllene, beta-caryophyllene, estrogenic compound, isobutyl acetate, linalool, limonene, phenolic acids (caffeic acid, rosmarinic acid, feruric acid, gallic acids), diterpenes (carnosolic acidmpicrosalvin, rosmanol, safficinolide), triteroenoids (oleanolic acid, ursolic acid), beta-sitosteril, saponins, flavonids (apigenin-7-glucosides, luteolin-7-glucosides, genkwanin, genkwanin-6-methyl ether), flavonoid glycosides, flavones, steroids, tannis (salviatannin), resin, protein, pinene, alpha-pinnene, beta-pinene, viridiflorol, salvin, thujone, alpha-thujone, beta-thujone, Volatile oil (มีข้อกำหนดว่า ในน้ำมันหอมระเหยจากส่วนของใบต้องมีปริมาณของ thujone อย่างน้อย 1.5% (v/w) ของน้ำหนักใบเสจแห้ง)[1]
- ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ต้านการก่อกลายพันธุ์ ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส และลดระดับไขมันในเลือด[1]
- จากการศึกษาฤทธิ์ลดระดับไขมันในเลือด พบว่าสารสกัดเมทานอลจากใบเสจมีฤทธิ์ต้านการเพิ่มขึ้นของ triglyceride ในหนูถีบจักรที่ได้รับอาหารไขมันสูง และมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ pancreatic lipase [1]โดยสารสำคัญที่พบคือ carnosic acid, carnosol, royleanonic acid, 7-methoxyrosmanol, oleanolic acid โดยค่า IC50 ของ carnosic acid และ carnosol ในการยับยั้งเอนไซม์ pancreatic lipase คือ 12, 14 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ และการให้หนูถีบจักรกิน carnosic acid ในขนาด 5-20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนู 1 กิโลกรัม ยังช่วยยับยั้งการเพิ่มขึ้นของ triglyceride ในหนูถีบจักรที่ได้รับอาหารไขมันสูงด้วย นอกจากนี้การให้หนูถีบจักรกิน carnosic acid ขนาด 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ยังช่วยลดน้ำหนักตัวและลดการสะสมไขมันในร่างกายของหนูถีบจักรทดลองได้อีกด้วย[1]
- การศึกษาในผู้ป่วยที่เหงื่อออกมากผิดปกติ เมื่อได้รับยาชงและผงแห้งของสารสกัดด้วยหรือได้รับยาเตรียมในขนาดที่เทียบเท่ากับส่วนของใบ 2.6-4.5 กรัม เป็นประจำทุกวัน พบว่าสามารถช่วยลดภาวะเหงื่อออกมากได้[1]
- ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคอัลไซเมอร์ในระดับอ่อนถึงปานกลาง เมื่อได้รับสารสกัดแอลกอฮอล์จากส่วนของใบเสจในขนาด 3,000 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 4 เดือน จะมีอาการของโรคลดลง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากน้ำมันหอมระเหย[1]
- การใช้สารสกัดของใบเสจร่วมกับ อัลฟัลฟ่า ( Medicago sativa L.) จะช่วยให้อาการร้อนวูบวาบและมีเหงื่อออกในตอนกลางคืนจากภาวะประจำเดือนดีขึ้นได้ เมื่อทำการทดลองใช้เป็นระยะเวลา 3 เดือน[1]
- จากการศึกษาในกลุ่มคนหนุ่มสาวเมื่อปี ค.ศ.2005 ที่มีสุขภาพดี พบว่าสมุนไพรเสจสามารถช่วยลดความกังวลและช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้นในระหว่างการทดสอบที่ผู้เข้ารับการทดลองต้องทำงานในหลายภารกิจ[2]
- ส่วนการทดลองในปี ค.ศ.2009 นักวิจัยชาวโปรตุเกสได้ตีพิมพ์ผลการศึกษานำร่องว่าด้วยศักยภาพของสมุนไพรเสจในการลดระดับน้ำตาลในเลือดและลดคอเลสเตอรอลในผู้หญิงที่มีสุขภาพดี การศึกษาในผู้หญิง 6 ราย ที่ดื่มชาเสจ 300 มิลลิลิตร วันละ 2 ครั้ง นาน 4 สัปดาห์ แม้ว่าจะไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด แต่หลังจากสัปดาห์ที่ 8 ก็พบว่าผู้เข้ารับการทดลองมีระดับไขมันร้าย (LDL) ลดลง 12.4% และมีระดับไขมันดีเพิ่มขึ้น 50.6% อีกทั้งยังพบด้วยว่าการดื่มชาเสจสามารถช่วยเพิ่มระดับสารต้านอนุมูลอิสระในเลือดได้อีกด้วย[2]
- จากการศึกษาทางพิษวิทยา พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากส่วนที่อยู่เหนือดินซึ่งมีสาร cis-thujone, -humulene, 1,8-cineolel, E-caryophyllene, bornrol เมื่อทดสอบความเป็นพิษกับเซลล์ตับของหนูขาว ก็พบว่าขนาดที่น้อยกว่า 200 นาโนลิตรต่อมิลลิลิตร จะไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษ แต่ถ้าให้ในขนาด 2,000 นาโนลิตรต่อมิลลิลิตร จะตรวจพบ lactate dehydrogenase รั่วจากเซลล์ตับ และทำให้ glutathione ลดลงด้วย ซึ่งแสดงถึงการที่เซลล์ตับถูกทำลาย การทดลองให้หนูถีบจักรที่ถูกชักนำให้ตับเป็นพิษด้วยสาร carbon tetrachloride ดื่มชาที่ชงจากส่วนเหนือดินของต้นเสจ ก็พบว่าจะทำให้ตับถูกทำลายมากขึ้น โดยสังเกตได้จากการเพิ่มระดับของเอนไซม์ transaminase และสภาพของเนื้อเยื่อตับที่ถูกทำลาย ดังนั้น แม้ว่าชาชงของเสจจะไม่มีความเป็นพิษโดยตรง แต่ก็ควรใช้อย่างระมัดระวังในการใช้ร่วมกับยาที่ถูก metabolize ด้วยเอนไซม์ที่ตับ[1]
ประโยชน์ของเสจ
- ใบใช้เป็นยาบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ ช่วยแก้ปัญหารังแค อาการคันหนังศีรษะ และปัญหาหนังศีรษะแห้งได้ดี เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ช่วยลดการก่อตัวของรังแคได้ โดยยังคงความชุ่มชื้นของหนังศีรษะเอาไว้[3]
- ใบสามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นอาหารได้[3]
- น้ำมันจากดอกเสจ (Sage Essential Oil) สามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางและใช้ในสปาได้
- ชาวโรมันถือว่าเสจเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ และมีการจัดพิธีเก็บเกี่ยวให้โดยเฉพาะ[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “Sage” หน้า 223-224.
- อโรคา 108. “เสจ ยอดสมุนไพรมากสรรพคุณทางยา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.aroka108.com. [12 ก.ค. 2015].
- กระปุกดอทคอม. “บำรุงผมสวยแบบปลอดเคมี จาก 8 พืชสมุนไพรธรรมชาติ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : women.kapook.com. [12 ก.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by julia_HalleFotoFan, andreasbalzer, Irene Grassi, qooh88, naturgucker.de / enjoynature.net, andreasbalzer, Andrey Zharkikh)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)