เล็บเหยี่ยว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเล็บเหยี่ยว 20 ข้อ !

เล็บเหยี่ยว

เล็บเหยี่ยว ชื่อสามัญ Jackal Jujube, Small-fruited Jujube, Wild Jujube[4]

เล็บเหยี่ยว ชื่อวิทยาศาสตร์ Ziziphus oenopolia (L.) Mill. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Rhamnus oenopolia L.) จัดอยู่ในวงศ์พุทรา (RHAMNACEAE)[1],[2],[4]

สมุนไพรเล็บเหยี่ยว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตาฉู่แม โลชูมี (เชียงใหม่), เล็บแมว ยับเยี่ยว (นครราชสีมา), แสงคำ (นครศรีธรรมราช), สั่งคัน (สุราษฎร์ธานี, ระนอง), เล็บหยิ่ว ยับหยิ่ว (คลองหอยโข่ง-สงขลา), มะตันขอ หมากหนาม หนามเล็บเหยี่ยว (ภาคเหนือ), บักเล็บแมว (ภาคอีสาน), พุทราขอ เล็ดเหยี่ยว เล็บเหยี่ยว (ภาคกลาง), ยับยิ้ว (ภาคใต้) เป็นต้น[1],[2],[5]

ลักษณะของเล็บเหยี่ยว

  • ต้นเล็บเหยี่ยว จัดเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยเนื้อแข็ง มีความยาวประมาณ 3-10 เมตร เถาและกิ่งมีหนามสั้นแหลมโค้ง เปลือกเถาเรียบหรือขรุขระเล็กน้อย เป็นสีดำเทา ส่วนกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนระบายน้ำดี และชอบแสงแดดจัด พบได้ทั่วไปตามป่า ตามเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าคืนสภาพ[2],[3] มีเขตการกระจายพันธุ์จากอนุทวีปอินเดียไปทางใต้ของประเทศจีนและทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย[4]

ต้นเล็บเหยี่ยว

รูปต้นเล็บเหยี่ยว

  • ใบเล็บเหยี่ยว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปใบรี ปลายใบแหลม โคนใบเบี้ยวเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-6 เซนติเมตร แผ่นใบอ่อนทั้งสองด้านมีขนนุ่มสั้น ๆ ผิวใบด้านบนเรียบหรือมีขนด้วยเล็กน้อย ส่วนผิวใบด้านล่างมีขนนุ่มอยู่เป็นจำนวนมาก ใบมีเส้นใบ 3 ใบ ออกจากฐานใบไปปลายใบ และมีก้านใบยาวประมาณ 2-8 มิลลิเมตร[2]

ใบเล็บเหยี่ยว

  • ดอกเล็บเหยี่ยว ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ช่อดอกยาวได้ประมาณ 4-6 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร มีขนเล็กน้อย และก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร มีขนเล็กน้อย ใบประดับช่อดอกมี 1 อัน ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร มีขนกระจายอยู่ทั่วไป ดอกย่อยจะมีประมาณ 5-11 ดอก กลีบดอกย่อยมี 5 กลีบ สีเขียวหรือสีเขียวอมเหลือง รูปช้อน ปลายกลม ออกสลับกับกลีบเลี้ยง มีขนาดกว้างประมาณ 0.2-0.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.8-1 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน สีเขียวอมเหลือง ก้านชูเกสรแบน ยาวประมาณ 0.5-0.8 มิลลิเมตร ติดอยู่ที่ฐานกลีบดอก ส่วนอับเรณูเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 0.1-0.2 มิลลิเมตร เกสรเพศเมีย รังไข่เหนือวงกลีบ รังไข่เกิดจาก 2 คาร์เพล ในแต่ละคาร์เพลจะมีช่อง 1 ช่อง และ1 ออวุล ก้านและยอดเกสรเพศเมียมีลักษณะคล้ายรูปขวด ยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร เกลี้ยง สีเขียวอมเหลือง จานฐานดอกมีขนาด 1.5 มิลลิเมตร ผิวขรุขระ สีเหลือง ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ หลอดกลีบกว้างประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ปลายแฉกกว้าง 1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร เป็นสีเขียวหรือสีเขียวอมเหลือง ปลายกลีบก้านนอกมีขนด้วยเล็กน้อย โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[2]

ดอกเล็บเหยี่ยว

ดอกต้นเล็บเหยี่ยว

  • ผลเล็บเหยี่ยว ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ มีก้านผลยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร และมีขนกระจายอยู่ทั่วไป ภายในผลมีเมล็ดแข็ง 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดค่อนข้างกลม มีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 6-9 มิลลิเมตร ปลายกลม โดยจะติดผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม[2]

ผลเล็บเหยี่ยว

ผลเล็บเหยี่ยว

สรรพคุณของเล็บเหยี่ยว

  1. ตำรายาไทย จะใช้รากและเปลือกต้นนำมาต้มดื่มเป็นยาแก้โรคเบาหวาน (ราก,เปลือกต้น)[1],[2]
  2. ลำต้นเล็บเหยี่ยวตากแห้ง ใช้ผสมกับเปลือกลำต้นนางพญาเสือโคร่ง ลำต้นฮ่อสะพานควาย แก่นฝาง ข้าวหลามดง จะค่าน โด่ไม่รู้ล้ม ตานเหลือง ม้ากระทืบโรง ไม้มะดูก และหัวยาข้าวเย็น (ไม่ได้ระบุไว้ว่าข้าวเย็นเหนือ หรือข้าวเย็นใต้) นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง และแก้อาการปวดเมื่อย (ลำต้น)[3]
  3. คนเมืองจะใช้ลำต้นเล็บเหยี่ยวมาผสมกับข้าวหลามดง และปูเลย ปรุงเป็นยาช่วยทำให้มีกำลังหลังจากฟื้นไข้ (ลำต้น)[3]
  4. ผลมีรสเปรี้ยวหวาน ฝาดและเย็น มีสรรพคุณช่วยแก้อาการไอ ช่วยทำให้ชุ่มคอ (ผล)[2] ส่วนตำรับยาแก้ไอ จะใช้รากเล็บเหยี่ยว ผสมกับรากหญ้าคา และรากหญ้าชันกาด นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ราก)[1]
  5. ช่วยขับเสมหะ (ผล)[2]
  1. รากมีสรรพคุณช่วยในการย่อย และรักษาภาวะกรดเกิน (ราก)[2]
  2. ผลสุกใช้รับประทานเป็นยาระบาย (ผล)[2]
  3. ช่วยแก้อาการปวดท้องจากโรคกระเพาะอาหาร (ราก)[2]
  4. ประเทศอินเดียจะใช้รากเป็นยาขับพยาธิตัวกลม (ราก)[2]
  5. รากและเปลือกต้นมีรสจืดเฝื่อนเล็กน้อย นำมาต้มดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ (ราก,เปลือกต้น)[1],[2]
  6. รากและเปลือกต้นใช้ต้มดื่มเป็นยาขับระดูขาวของสตรี (ราก,เปลือกต้น)[1],[2]
  7. ช่วยแก้ฝีมุตกิด และฝีในมดลูกของสตรี ด้วยการใช้รากและเปลือกต้นนำมาต้มดื่ม (ราก,เปลือกต้น)[1],[2]
  8. ช่วยแก้มดลูกพิการ ด้วยการใช้รากและเปลือกต้นนำมาต้มดื่ม (ราก,เปลือกต้น)[1],[2]
  9. ตำรับยาแก้ผิดสาบ จะใช้รากเล็บเหยี่ยว ผสมกับรากชะอม รากรางแดง รากสามสิบ แก่นจันทน์ขาว แก่นจันทน์แดง และเขากวาง นำมาฝนใส่ข้าวจ้าวกินแก้ผิดสาบ (ราก)[1]
  10. รากมีสรรพคุณเป็นยาช่วยสมานแผล ฆ่าเชื้อ (ราก)[2]
  11. รากใช้ฝนกับน้ำทาแก้เล็บที่ห้อเลือด (ราก)[1]
  12. รากใช้ฝนกับน้ำเป็นยาทาแก้ฝี (ราก)[1]
  13. ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากเล็บเหยี่ยว ผสมกับรากกำจาย รากดังดีด รากคนทา รากทองกวาว รากมะแว้งต้น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว นำมาตำให้ละเอียด แล้วทำเป็นยาประคบแก้ตะคริวบริเวณที่เป็น (ราก)[1]

ประโยชน์ของเล็บเหยี่ยว

  • ผลเล็บเหยี่ยวแก่มีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานได้[2]
  • ข้อมูลจากเว็บไซต์ plugmet.orgfree.com ได้ระบุไว้ว่า ใบและยอดอ่อนสามารถนำมาจิ้มน้ำพริกกินแก้โรคนิ่วได้ ส่วนรากนำมาต้มกินยาขับปัสสาวะ แก้นิ่ว และยังใช้รากนำผสมกับสารส้ม ต้มกินแก้อาการอวัยวะเพศแข็งตัวค้าง ส่วนชาวพม่าจะใช้เปลือกต้นมาต้มกินเป็นยาแก้ท้องร่วง ท้องเสีย แก้มดลูกอักเสบติดเชื้อ และใช้เป็นยาบ้วนปาก แก้อาการเจ็บคอ (ส่วนนี้ไม่ยืนยันความถูกต้องนะครับ เพราะข้อมูลค่อนข้างจะแตกต่างจากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ และยังไม่มีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ)
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เล็บเหยี่ยว”.  หน้า 229 .
  2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เล็บเหยี่ยว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [31 พ.ค. 2014].
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ข้อมูลเล็บเหยี่ยว”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [31 พ.ค. 2014].
  4. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  “Ziziphus oenoplia”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: en.wikipedia.org/wiki/Ziziphus_oenoplia.  [31 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Sh@ist@, cpmkutty, Dinesh Valke), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), www.khaodanherb.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด