เลือดกำเดา (Epistaxis) อาการ สาเหตุ และการรักษาเลือดกำเดาไหล 10 วิธี !!

เลือดกำเดาไหล

เลือดกำเดา, เลือดกำเดาไหล, การตกเลือดกำเดา หรือเลือดออกจมูก (Epistaxis หรือ Nosebleed) หมายถึง ภาวะที่มีเลือดออกจากโพรงจมูกทางส่วนหน้าหรือส่วนหลังของโพรงจมูก โดยส่วนใหญ่ประมาณ 90% ของเลือดกำเดาไหลจะเกิดขึ้นที่บริเวณผนังกั้นจมูกด้านหน้าซึ่งเป็นบริเวณที่มีหลอดเลือดแดงหลายเส้นมาบรรจบกันเป็นร่างแหหรือเป็นตาข่าย ที่เรียกว่า Kiessel bach’s plexus หรือ Little’s area เมื่อหลอดเลือดเหล่านี้มีการแตกทำลายหรือเกิดการฉีกขาดก็จะทำให้มีเลือดสด ๆ ไหลออกจากทางรูจมูก ซึ่งมักออกเพียงข้างเดียว (บางรายอาจออกทั้ง 2 ข้างก็ได้) ส่วนใหญ่ภาวะนี้มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่โดยมากมักจะไม่เป็นอันตรายหรือมีสาเหตุที่ร้ายแรง ซึ่งจะทำให้มีเลือดออกเพียงเล็กน้อยและหยุดไหลได้เอง เพราะร่างกายมีการสร้างลิ่มเลือดเป็นตาข่ายมาปิดรอยฉีกขาดไว้

เลือดกำเดาไหลเป็นภาวะหรืออาการที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่จะพบได้สูงในเด็กอายุ 2-10 ปี (แต่มักไม่พบในเด็กอ่อน) และคนวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่อากาศจะเย็นและแห้งกว่าปกติ เยื่อบุโพรงจมูกจึงพลอยแห้งตามไปด้วย น้ำมูกที่ติดอยู่ในจมูกก็เลยแห้งกรังอยู่ภายในทำให้เกิดความรำคาญ ต้องแคะ แกะ ขยี้จมูกบ่อย ๆ เมื่อรอยแตกเล็ก ๆ ที่พื้นผิวในโพรงจมูกเริ่มเกิดขึ้นโดยเฉพาะบริเวณส่วนหน้าของผนังกั้นโพรงจมูกที่มีหลอดเลือดฝอยจำนวนมากมาบรรจบกัน เมื่อถูกแคะหรือขยี้ก็จะทำให้รอยแตกเกิดเป็นแผลถลอกขึ้น หลอดเลือดฝอยจึงฉีกขาดทำให้เกิดเลือดกำเดาไหลออกมาจากจมูก

ภาวะนี้ผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสเกิดได้เท่า ๆ กัน (แต่บางข้อมูลระบุว่า พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง) โดยประมาณ 10-12% ของประชากรจะมีเลือดกำเดาออกครั้งหนึ่งในชีวิต แต่จะมีผู้ป่วยประมาณ 10% เท่านั้นที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยปัญหานี้สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มที่มีเลือดออกจำนวนน้อย ๆ และหยุดไหลได้เอง แต่เป็นมาแล้วหลายครั้ง กลุ่มนี้มักพบในเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ที่อายุยังน้อย ซึ่งจะมีเลือดออกมาจากส่วนหน้าของโพรงจมูก
  2. กลุ่มที่มีเลือดออกจากจมูกเพียงครั้งเดียว แต่มีเลือดออกจำนวนมากและไม่สามารถหยุดไหลได้เอง มักพบในผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โดยเลือดที่ออกมักจะมาจากส่วนหลังของโพรงจมูก

เลือดออกจมูก
IMAGE SOURCE : www.proceduresconsult.jp (Kiessel bach’s plexus หรือ Little’s area)

ตำแหน่งที่เลือดกำเดาไหล

  1. เลือดออกมาจากส่วนหน้าของโพรงจมูก (Anterior epistaxis) เป็นกรณีที่พบได้ประมาณ 90% ของเลือดกำเดาไหลทั้งหมด มักพบในเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ที่อายุยังน้อย ที่มีประวัติการแคะจมูกหรือเยื่อบุจมูกอักเสบ ส่วนมากเลือดมักออกมาจากบริเวณผนังกั้นช่องจมูกด้านหน้า ซึ่งเป็นบริเวณที่มีหลอดเลือดหลายแขนงรวมกัน ตำแหน่งนี้สามารถมองเห็นได้ง่ายจากการตรวจโพรงจมูกทางด้านหน้า
  2. เลือดออกมาจากส่วนหลังของโพรงจมูก (Posterior epistaxis) คือมีเลือดไหลลง ซึ่งมักจะมีอาการรุนแรงกว่าชนิดแรก มักพบได้ในผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคความดันโลหิตสูงหรือมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งร่วมด้วย หรืออาจพบได้ในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกบริเวณโพรงหลังจมูกที่มีเลือดมาเลี้ยงมาก (Nasopharyngeal angiofibroma) เป็นต้น โดยเลือดมักออกจากแขนงหลอดเลือดใหญ่ทางส่วนหลังโพรงจมูก ตำแหน่งนี้สามารถมองเห็นได้จากการส่องกล้องตรวจในโพรงจมูก
  3. เลือดออกมาจากส่วนบนของโพรงจมูก มักพบได้น้อยกว่า 2 ชนิดแรก โดยอาจเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุบริเวณศีรษะ, การผ่าตัดไซนัส หรือเนื้องอกบางชนิด เป็นต้น

สาเหตุที่เลือดกำเดาไหล
IMAGE SOURCE : www.emaze.com (Anterior epistaxis และ Posterior epistaxis)

เลือดออกทางส่วนหน้าของโพรงจมูกมักพบในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อย เลือดออกจากส่วนหลังของโพรงจมูกมักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากโรคความดันโลหิตสูง

สาเหตุที่เลือดกำเดาไหล

ภาวะเลือดกำเดาไหลอาจเป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นในจมูกและโพรงหลังจมูก จากโรคหรือความผิดปกติของระบบร่างกายอื่น ๆ หรือเกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิดที่ทำให้เลือดไหล่ง่ายกว่าปกติ

  1. สาเหตุที่เกิดขึ้นในจมูกและโพรงหลังจมูก เช่น
    • การระคายเคืองหรือบาดเจ็บบริเวณจมูก ได้แก่ การแคะจมูก (ผู้ที่มีนิสัยชอบแคะจมูกจะมีน้ำมูกแห้งกรัง เมื่อแคะออกจะเกิดแผลถลอกและอาจเป็นแผลเรื้อรัง), การสั่งน้ำมูกแรง ๆ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศอย่างรวดเร็ว (เช่น ในระหว่างขึ้นเครื่องบิน หรือดำน้ำ ซึ่งอาจมีผลทำให้เกิดเลือดออกในโพรงอากาศข้างจมูกและมีเลือดกำเดาไหลได้), การได้รับแรงกระแทกที่จมูก (เช่น การถูกกระแทกด้วยของแข็งจากอุบัติเหตุ ซึ่งอาจมีกระดูกของจมูกแตกหักร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้), การผ่าตัดในโพรงจมูก (เช่น การผ่าตัดเยื่อบุจมูก), การผ่าตัดโพรงไซนัส, การผ่าตัดผนังกั้นช่องจมูก, การใส่ท่อช่วยหายใจผ่านทางจมูก, การใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกหรือสูดดมโคเคนอย่างไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน ๆ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุดังกล่าวนี้จะทำให้มีเลือดออกจากจมูกเนื่องจากมีการฉีกขาดของเยื่อบุโพรงจมูก โดยเลือดที่ออกมามักจะมีปริมาณไม่มากและออกเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่ก็อาจมีเลือดออกซ้ำได้ในช่วงระยะที่กำลังหายก็ได้ นอกจากนี้การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและใบหน้าอย่างรุนแรง (ซึ่งอาจโดนที่จมูกโดยตรงหรือโพรงไซนัส) ก็อาจทำให้มีเลือดออกจากจมูกเป็นปริมาณมากในระยะแรกก็ได้ (ถ้ามีเลือดออกจากจมูกหลังการบาดเจ็บในระยะเวลาเป็นสัปดาห์ให้นึกถึงเส้นเลือดโป่งพองที่เกิดจากอุบัติเหตุไว้ด้วย) ส่วนภาวะอากาศหนาวซึ่งมีความชื้นต่ำก็อาจทำให้เยื่อบุจมูกแห้งและมีแนวโน้มที่จะทำให้มีการระคายเคืองและเลือดออกได้ง่ายเช่นกัน จึงทำให้ภาวะนี้มักพบในช่วงฤดูที่มีอากาศหนาวมากกว่าฤดูอื่น ๆ
    • ความผิดปกติทางกายวิภาคของโพรงจมูก เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีกระดูกงอก หรือมีรูทะลุ ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่สมดุลของอากาศที่ผ่านเข้าออกและทำให้ผู้ป่วยมีเลือดกำเดาไหลข้างที่ผนังกั้นช่องจมูกคดหรือข้างที่แคบ เนื่องจากข้างที่แคบนั้นจะมีลมหายใจหรืออากาศผ่านเข้าออกมากและเร็วกว่าปกติ จึงทำให้เยื่อบุจมูกบริเวณดังกล่าวแห้ง มีสะเก็ด และเปราะบาง ส่งผลทำให้มีเลือดออกได้ง่าย โดยจุดที่มักจะเกิดเลือดออกนั้นมักจะเป็นที่ตำแหน่งทางด้านหน้าของบริเวณที่มีการคดงอหรือมีกระดูกงอก
    • การอักเสบในโพรงจมูก เช่น ภาวะการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน, โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้, ไซนัสอักเสบ, การมีสิ่งแปลกปลอมในจมูก (เช่น ปลิง เมล็ดผลไม้ ซึ่งก่อให้เกิดแผลและการติดเชื้อ), การสัมผัสสารระคายเคืองต่าง ๆ (เช่น การสูดโคเคนทางจมูก การใช้ออกซิเจนที่มีความชื้นต่ำ การใช้เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (Nasal continuous positive airway pressure – CPAP) เพื่อรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ) เป็นต้น ซึ่งสาเหตุดังกล่าวเหล่านี้จะทำให้มีเลือดคั่งที่เยื่อบุจมูก และ/หรือเยื่อบุไซนัสมากกว่าปกติ และเส้นเลือดจะแตกได้ง่าย เลือดที่ออกจากสาเหตุนี้มักปนมากับน้ำมูก แต่ถ้าความรุนแรงของการอักเสบเพิ่มขึ้นหรือผู้ป่วยสั่งน้ำมูกหรือจามแรง ๆ ก็อาจจะมีเลือดกำเดาออกมากได้
    • เนื้องอกของโพรงจมูก เช่น เนื้องอกชนิดไม่ร้ายอย่างริดสีดวงจมูก, เนื้องอกของหลอดเลือด (Juvenile nasopharyngeal angiofibroma) ซึ่งมักพบในเด็กผู้ชายและเป็นข้างเดียว, มะเร็งในจมูก ไซนัส หรือโพรงหลังจมูก ซึ่งมักพบในผู้ใหญ่ เป็นต้น เป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยและทำให้ผู้ป่วยมีเลือดกำเดาออกทีละมาก ๆ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออกจากจมูกแบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีเลือดออกจากจมูกเป็นปริมาณมาก ๆ ควรได้รับการส่องกล้องตรวจในโพรงจมูก หรือได้รับการตรวจเอกซเรย์ว่ามีเนื้องอกเป็นสาเหตุหรือไม่
    • ความผิดปกติของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงจมูก เช่น เส้นเลือดโป่งพองที่เกิดจากอุบัติเหตุ, ความผิดปกติของเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำที่มาเชื่อมต่อกันจากอุบัติเหตุ เป็นต้น
  2. สาเหตุที่เกิดจากโรคหรือความผิดปกติของระบบร่างกายอื่น ๆ ได้แก่
    • โรคเลือดชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด เช่น ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ, มะเร็งเม็ดเลือดขาว, โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ, ไอทีพี, โรคเลือดไหลไม่หยุดหรือฮีโมฟิเลีย (Hemophilia), โรคตับและไต (เช่น ตับแข็ง ตับวาย ไตวาย) เพราะทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ, การดื่มเหล้ามาก, ภาวะการขาดสารอาหารจำพวกวิตามิน (เช่น วิตามินซี วิตามินเค), การได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด
    • โรคของหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง (เพราะเป็นโรคที่มีผนังหลอดเลือดตีบแข็งและการยืดหยุ่นของหลอดเลือดไม่ดี จึงทำให้หลอดเลือดเปราะและแตกได้ง่าย), โรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดทั่วร่างกาย (Hereditary hemorrhagic telangiectasia – HHT) เป็นต้น
    • ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้ราวร้อยละ 10
    • ในบางกรณีพิเศษ อาการปวดศีรษะไมเกรนในเด็กก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เลือดกำเดาไหลได้
  3. สาเหตุที่เกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิดที่ทำให้เลือดไหลง่ายกว่าปกติ เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin), ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือเอ็นเสด (NSAIDs), ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) เช่น เฮพาริน (Heparin), วาร์ฟาริน (Warfarin) เป็นต้น

โดยมากมักไม่มีสาเหตุที่ร้ายแรง ซึ่งจะมีเลือดออกเพียงเล็กน้อยและหยุดได้เอง เช่น เกิดจากไข้หวัด หวัดภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ หลอดเลือดฝอยเปราะบางเนื่องจากอากาศแห้ง (เช่น ในฤดูหนาว) การแคะจมูกแรง ๆ หรือจากการได้รับบาดเจ็บที่ดั้งจมูก ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงบางครั้งก็อาจมีเลือดกำเดาไหลได้เช่นกัน และบางครั้งก็อาจพบร่วมกับโรคติดเชื้อ เช่น ไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย ไทฟอยด์ ไข้เลือดออก คอตีบ เป็นต้น มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีสาเหตุที่ร้ายแรง เช่น โรคเลือด เนื้องอกหรือมะเร็งในจมูก ไซนัส หรือโพรงหลังจมูก เป็นต้น

ปัจจัยที่ทำให้เลือดกำเดาออกซ้ำ

  • ความผิดปกติทางกายวิภาคดังที่ได้กล่าวไปแล้วและไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง
  • ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • การติดเชื้อในโพรงจมูกและ/หรือไซนัส (ไซนัสอักเสบ)
  • โรคภูมิแพ้ซึ่งทำให้คันจมูกแล้วต้องเอานิ้วแคะหรือขยี้จมูกแรง ๆ
  • การมีเนื้องอกหรือโรคมะเร็งในจมูก ไซนัส หรือโพรงหลังจมูก
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ผู้ป่วยต้องรับประทานเป็นประจำดังที่ได้กล่าวแล้ว

อาการเลือดกำเดาไหล

  • มีเลือดไหลออกจากจมูก ซึ่งอาจไหลออกทางด้านหน้าของจมูก (มักออกเพียงข้างเดียว แต่บางรายอาจออกทั้ง 2 ข้างเลยก็ได้) หรือไหลลงคอไปทางด้านหลังก็ได้ โดยเลือดที่ออกมานั้นอาจไหลออกมาเป็นน้ำเลือดสีแดงสด ๆ หรือออกมาเป็นลิ่มเลือดก็ได้ และเลือดนั้นอาจมีตั้งแต่ปริมาณเล็กน้อยถึงปริมาณมากจนทำให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำและเป็นลมหมดสติได้
  • ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บบริเวณที่มีเลือดไหลหรือไม่รู้สึกเจ็บเลยก็ได้
  • อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้มีเลือดกำเดาไหล
  • ความรุนแรงของอาการเลือดกำเดาไหลก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเลือดมักจะหยุดไหลได้เอง ยกเว้นในบางกรณีที่เลือดออกมากและไม่สามารถหยุดเองได้จนทำให้ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์ เช่น เมื่อเลือดกำเดาไหลมีสาเหตุมาจากเนื้องอกหรือมะเร็งในจมูก ไซนัส หรือโพรงหลังจมูก หรือภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

ระดับความรุนแรงของเลือดกำเดาไหล

  1. ระดับน้อย หมายถึง มีเลือดออกปริมาณน้อย ไม่สามารถวัดปริมาณได้ชัดเจน เช่น เปื้อนกระดาษชำระหรือเปื้อนผ้าเช็ดหน้า และมักหยุดไหลได้เอง
  2. ระดับปานกลาง หมายถึง มีเลือดออกมากขึ้นและระบุปริมาณได้ เช่น มากกว่า 100 มิลลิลิตร (ครึ่งแก้วน้ำดื่ม) เป็นต้น และยังมีสัญญาณแสดงชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ
  3. ระดับรุนแรง หมายถึง มีเลือดออกมากจนมีอาการแสดงของระดับสารน้ำในหลอดเลือดต่ำหรือภาวะช็อก เช่น ชีพจรเต้นเร็ว เบา ความดันโลหิตต่ำ หรือมีอาการหน้ามืด เป็นลมเวลาเปลี่ยนท่า และรวมถึงในกรณีที่มีเลือดไหลไม่หยุดแม้ว่าจะได้รับการห้ามเลือดโดยใช้ผ้าก๊อซใส่ในโพรงจมูกทั้งทางส่วนหน้าและส่วนหลังของโพรงจมูกแล้วก็ตาม

เลือดกำเดาไหลบ่อย
IMAGE SOURCE : www.danieltweedie.com, quickcareorer.com

ภาวะแทรกซ้อนของเลือดกำเดาไหล

โดยทั่วไปจะไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียง ยกเว้นในรายที่มีเลือดกำเดาออกมากหรือออกบ่อย ก็อาจทำให้เกิดภาวะซีดได้ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย

นอกจากนี้ในทางอ้อม การมีเลือดกำเดาไหลก็อาจทำให้ผู้ป่วยและ/ญาติที่อยู่ใกล้ตัวผู้ป่วยเกิดอาการตื่นตระหนกหรือตกใจกลัวที่เห็นเลือดจนเป็นลม หมดสติ เกิดภาวะหายใจล้มเหลว และ/หรือหกล้มหัวฟาดได้

เมื่อมีเลือดกำเดาไหลแพทย์จะตรวจอะไรบ้าง

เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ ก่อนอื่นแพทย์จะห้ามเลือดไม่ให้ไหล และจะซักถามประวัติของโรคต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว หลังจากนั้นจึงตรวจร่างกาย โดยใช้เครื่องตรวจในช่องจมูก เมื่อพบจุดเลือดออกจะห้ามเลือดด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
การตรวจทางห้องทดลอง

  • การเจาะเลือดตรวจเกล็ดเลือด และตรวจหาระยะเวลาที่ใช้การหยุดภาวะเลือดออก หรือใช้ในการแข็งตัวของเลือด (Coagulation studies)
  • ตรวจภาพตำแหน่งที่คาดว่าเป็นต้นเหตุของเลือดออก เช่น การเอกซเรย์ไซนัสเพื่อดูการติดเชื้อของโพรงไซนัส (ไซนัสอักเสบ) การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เมื่อสงสัยว่าเกิดจากเนื้องอกหรือมะเร็งในจมูก ไซนัส หรือโพรงหลังจมูก และการตรวจหลอดเลือดของจมูกและลำคอ (Carotid angiogram) เพื่อหาจุดเลือดออกในกรณีที่เลือดออกไม่หยุดหลังการห้ามเลือดในเบื้องต้น

วิธีรักษาเลือดกำเดาไหล

เมื่อมีเลือดกำเดาไหล อย่าตกใจจนทำอะไรไม่ถูก ให้ตั้งสติและห้ามเลือดกำเดาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยตัวเองเมื่อมีเลือดกำเดาไหล (วิธีนี้ใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่) ให้ผู้ป่วยนั่งหลังตรงและก้มหน้าเล็กน้อย แล้วใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือบีบ (กด) ปีกจมูกทั้ง 2 ข้างเข้าหากันในแนวกลาง โดยหนีบบริเวณผนังกั้นจมูกเอาไว้เพื่อกดจุดเลือดออกเป็นเวลาประมาณ 5-10 นาที (การกดหรือบีบ ต้องกดหรือบีบให้แน่น) แล้วค่อยคล้ายออก และในระหว่างนี้ให้หายใจทางปากแทน ซึ่งการใช้วิธีนี้ส่วนมากมักจะได้ผล (เพราะประมาณ 90% เลือดมักจะไหลออกมาจากส่วนหน้าของจมูก การบีบหรือกดที่ปีกจมูกจึงช่วยทำให้เลือดหยุดไหลได้) แต่ถ้ายังไม่ได้ผลให้ทำซ้ำอีกครั้งเป็นเวลานาน 10 นาที นอกจากนี้ อาจใช้ผ้าเย็น หรือน้ำแข็งห่อผ้าหรือใส่ถุงพลาสติก หรือเจลประคบเย็น (Cold pack) วางประคบบนสันจมูกเอาไว้ด้วยก็ได้ เพื่อให้ความเย็นช่วยทำให้หลอดเลือดหดตัว (แต่ห้ามใส่น้ำแข็งเข้าไปในจมูก)

  1. หลักสั้น ๆ จำง่าย ๆ เมื่อเลือดกำเดาไหล คือ “บีบจมูก นั่งหลังตรง ก้มหน้าเล็กน้อย อ้าปากหายใจ”
  2. ห้ามเงยหน้าหรือเอนตัวลงนอน แต่ให้นั่งหลังตรง (การนั่งหลังตรงจะช่วยบังคับให้ปริมาณและความแรงของเลือดลดลงเพราะศีรษะอยู่สูง) และก้มหน้าลงเล็กน้อย (เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลลงคอ ซึ่งจะทำให้ระคายเคืองและสำลักเลือด เลือดจะออกมากขึ้น และเลือดอาจเข้าไปในปอดก่อให้เกิดปอดอักเสบตามมาได้)
  3. อาจใช้ผ้ารองใต้จมูกเพื่อซับเลือดได้ และถ้าเลือดหยดลงด้านหน้าอาจหาถ้วยชามขนาดใหญ่มารองไว้ หรือไปยืนอยู่ที่อ่างล้างหน้าก็ได้ครับ
  4. ทำให้ตัวเย็นลง เพราะการลดอุณหภูมิของร่างกายเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณของเลือดที่ไหลออกทางจมูกได้ ซึ่งนอกเหนือจากการประคบเย็นที่บริเวณสันจมูกดังกล่าวแล้ว คุณอาจประคบเย็นที่บริเวณหน้าผากและคอร่วมด้วยก็ได้ และวิธีที่เด็ดกว่านั้นก็คือ “การอมน้ำแข็งเอาไว้ในปาก” เพราะการอมน้ำแข็งจะช่วยลดอุณหภูมิได้เร็ว (ตามการศึกษาพบว่า การอมน้ำแข็งนั้นให้ผลได้ดีกว่าการกดจมูกด้วยน้ำแข็ง) และยังช่วยให้ร่างกายคงอุณหภูมิที่ลดลงนี้ได้นานอีกด้วย ส่วนการเลียไอติมแท่งก็ให้ผลไม่ต่างกัน (การประคบเย็นหรืออมน้ำแข็งควรทำ 10 นาที แล้วจึงเอาออกประมาณ 10 นาที แล้วค่อยทำใหม่เป็นเวลา 10 นาที โดยให้ทำเช่นนี้สลับกันไปเรื่อย ๆ)
  5. อาจใช้ยาพ่นจมูกที่มีส่วนผสมของออกซีเมตาโซลีน (Oxymetazoline) ซึ่งตัวยาจะช่วยทำให้หลอดเลือดในโพรงจมูกหดตัว โดยให้หยดยาประมาณ 1-2 หยดลงบนก้อนสำลี แล้วใส่ก้อนสำลีเข้าไปในโพรงจมูก บีบจมูกอีกครั้ง หลังจากผ่านไป 10 นาที ให้ดูว่ายังมีเลือดไหลอยู่อีกหรือไม่ ถ้าเลือดหยุดไหลแล้วอย่าเพิ่งเอาก้อนสำลีออกจนกว่าจะครบ 1 ชั่วโมง เพราะเลือดอาจจะไหลได้อีกครั้ง (สามารถใช้ยาพ่นจมูกรักษาได้ ถ้าไม่ได้เป็นโรคความดันโลหิตสูง และควรใช้ในกรณีที่ลองบีบจมูก 10 นาทีแล้วเลือดยังไม่หยุดไหลเท่านั้น)
  6. ในอินเดีย ผู้คนจะทาน้ำมันเนย (ไขมันอิ่มตัว) ที่ด้านในจมูก ซึ่งจะช่วยให้เลือดหยุดไหลได้ทันที (น้ำมันเนยที่ว่านี้มีขายตามร้านขายของชำและซุปเปอร์มาร์เก็ตในอินเดีย)
  7. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่เมื่อมีอาการเลือดกำเดาไหล เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้เกิดการระคายเคืองและทำให้จมูกแห้ง
  8. หลีกเลี่ยงการพูด การไอหรือจามในขณะที่เลือดกำเดากำลังไหลอยู่ (ถ้าจะจามให้อ้าปาก เพื่อที่จะได้ไม่ทำร้ายจมูกหรือทำให้เลือดออกมากขึ้น)
  9. ห้ามสั่งจมูกหรือแคะจมูก โดยเฉพาะเมื่อเลือดไหลน้อยลงแล้ว เพราะอาจทำให้เลือดที่แข็งตัวแล้วหลุดออกและเลือดไหลอีกครั้ง
  10. อย่าตื่นตกใจหรือสติแตกเมื่อเห็นเลือดจำนวนมาก (เพราะเลือดที่ออกมาจริง ๆ นั้นมีน้อยกว่าที่เราเห็น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของเหลวที่อยู่ในจมูก เพราะในจมูกมีหลอดเลือดอยู่มาก) แต่ให้หายใจทางปากและทำใจให้สงบ (ไม่ว่าอาการจะแย่แค่ไหน) เพราะจะช่วยทำให้อัตราการสูบฉีดเลือดลดลงและเลือดออกน้อยลง อีกทั้งความสงบใจยังช่วยผ่อนคลายความกังวลและป้องกันไม่ให้สลบได้ด้วย

    การปฐมพยาบาลเลือดกำเดาไหล
    IMAGE SOURCE : www.rch.org.au

    ห้ามเลือดกำเดาไหล
    IMAGE SOURCE : www.eblogline.com

การดูแลตนเองหลังเลือดกำเดาหยุดไหล หลังเลือดกำเดาหยุดไหลแล้วภายใน 24-48 ชั่วโมงแรกจะต้องป้องกันไม่ให้เลือดออกซ้ำโดยการ

  • หลังเลือดหยุดไหลสนิทแล้ว สามารถทำความสะอาดจมูกด้วยน้ำอุ่นได้ และหลังจากทำความสะอาดเสร็จให้พยายามพักผ่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลอีก
  • พยายามพักผ่อน หยุดทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่กำลังทำอยู่ และให้นอนหัวยกสูง รวมถึงทำใจให้สบาย โดยอาจฟังเพลงผ่อนคลายเพื่อให้หัวใจเต้นช้าลง
  • อาจประคบเย็นด้วยวิธีดังที่กล่าวไปแล้ว
  • หลีกเลี่ยงการแคะจมูก ขยี้จมูกแรง ๆ และการสั่งน้ำมูกแรง ๆ เพราะจะทำให้เลือดที่แข็งตัวแล้วซึ่งปิดหลอดเลือดที่เสียหายก่อนหน้านี้ออก และทำให้เลือดกำเดาไหลอีกครั้ง
  • ระวังการเบ่ง การไอ การจาม
  • หลีกเลี่ยงการกระทบเทือนบริเวณจมูก โดยการไม่ออกแรงมาก ไม่ยกหรือหิ้วของหนัก ๆ ไม่เล่นกีฬาที่หักโหมหรือเล่นนอกบ้าน ไม่สัมผัสอากาศที่ร้อน เพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้
  • ไม่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่อุ่นหรือร้อน เพราะจะทำให้หลอดเลือดขยายตัว ซึ่งอาจทำให้เลือดออกได้อีก
  • แพทย์บางท่านแนะนำว่า ในขณะนอนหลับควรหนุนหมอนสูง ๆ

ไปพบแพทย์ ถ้าทำตามขั้นตอนแรกแล้วเลือดยังไม่หยุดไหลหรือยังไหลลงคอไม่หยุด หรือเลือดออกมากผิดปกติ ควรรีบไปแพทย์ที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีแพทย์หู คอ จมูกประจำอยู่ และมีเครื่องไม้เครื่องมือที่พร้อมโดยด่วน

  • เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ สิ่งที่แพทย์จะคำนึงเป็นอันดับแรก คือ การประเมินทางเดินหายใจ ระบบไหลเวียนเลือดเบื้องต้น และการแก้ไขอย่างทันท่วงที เช่น การเปิดทางหายใจของผู้ป่วยให้โล่ง การให้สารน้ำทางหลอดเลือด การจองเลือดไปพร้อม ๆ กับการห้ามเลือด แล้วจึงค่อยค้นหาสาเหตุของเลือดกำเดาไหล
  • ประวัติที่ได้จากผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ชิดจะมีความสำคัญต่อการวินิจฉัยหาสาเหตุ แต่ถ้าผู้ป่วยกำลังมีอาการเลือดออกอยู่ แพทย์จะทำการรักษาไปพร้อม ๆ กับการซักประวัติ เช่น ปริมาณ ความรุนแรง ระยะเวลา ความถี่ของเลือดที่ออก และด้านของจมูกที่มีเลือดออก รวมถึงประวัติอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล การได้รับบาดเจ็บบริเวณจมูก สุขภาพโดยรวม การใช้ยา การสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา และประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจศีรษะและลำคอ ตรวจในโพรงจมูกด้วยการใช้กล้องส่อง โดยตรวจทั้งก่อนและหลังการใช้ยาหดหลอดเลือดเฉพาะที่ และการทำงานของเกล็ดเลือด ส่วนในกรณีที่แพทย์ต้องการประเมินลักษณะทางกายวิภาคในโพรงจมูกหรือสงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งในจมูก ไซนัส หรือโพรงหลังจมูก แพทย์อาจส่งตรวจทางรังสีวิทยา เช่น CT scan หรือ MRI

การรักษาโดยแพทย์ แพทย์จะทำการห้ามเลือดกำเดาด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ (การจะใช้วิธีใดนั้นจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการมีเลือดออก สาเหตุการเกิด และดุลยพินิจของแพทย์) ซึ่งวิธีการต่าง ๆ จะเรียงตามระดับความรุนแรงจากน้อยไปมาก และตามตำแหน่งที่เลือดออก ดังนี้

  1. การกดบีบห้ามเลือด ตามที่กล่าวไปแล้วในข้อ 1
  2. การให้ยาหดหลอดเลือดเฉพาะที่ (Topical decongestants) เช่น 1–3% Ephedrine หรือ 0.025–0.05% Oxymethazoline เป็นต้น มักใช้ในกรณีที่มีเลือดออกปริมาณน้อย แพทย์อาจใช้ยาหดหลอดเลือดเฉพาะที่หยอดจมูก ซึ่งตัวยาจะออกฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดในเยื่อบุจมูกหดตัว หรือแพทย์อาจใช้สำลีชุบยาหดหลอดเลือดดังกล่าวแล้วใส่เข้าไปในจมูกและให้ผู้ป่วยบีบไว้ (การใช้ยากลุ่มนี้ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 7 วัน เนื่องจากอาจทำให้เกิดเยื่อบุจมูกอักเสบจากการใช้ยาได้)
  3. การจี้จุดเลือดออก (Cauterization) มักใช้ในกรณีที่มีเลือดออกปริมาณไม่มากหรือเลือดออกซ้ำที่เดิมอยู่บ่อย ๆ และเห็นตำแหน่งที่มีเลือดออกได้ชัดเจน ซึ่งการจี้ห้ามเลือดนี้สามารถทำได้โดยการใช้สารเคมี (Chemical cauterization) เช่น  20% Silver nitrate หรือ 50% (หรือ 85%) Trichloracetic acid ซึ่งจะเหมาะกับเลือดออกที่ตำแหน่งด้านหน้าของผนังกั้นช่องจมูก หรืออาจใช้ไฟฟ้า (Electric cauterization) และในบางกรณีอาจเลือกใช้เลเซอร์ (Laser cauterization) เพื่อทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นอุดตันไป และภายหลังที่มีเนื้อเยื่อใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิมเกิดขึ้นก็จะไม่เกิดเลือดออกได้ง่ายอีก หลังจี้เสร็จแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ไม้พันสำลีป้ายขี้ผึ้งผสมยาต้านจุลชีพ บริเวณที่เลือดเคยออก (เช่น Chloramphenicol eye ointment) ติดต่อกันนานประมาณ 7-10 วัน

    รักษาเลือดกำเดาไหล
    IMAGE SOURCE : www.gcheeent.com

  4. การใช้วัสดุกดห้ามเลือดในโพรงจมูกส่วนหน้า (Anterior nasal packing) มักใช้ในกรณีที่มีเลือดกำเดาออกทางส่วนหน้าของโพรงจมูกเป็นจำนวนมากและไม่สามารถทำให้เลือดหยุดไหลได้โดยวิธีการกดหรือการจี้ หรือในกรณีที่ไม่สามารถมองเห็นตำแหน่งที่มีเลือดออกได้ชัดเจน โดยวัสดุที่นำมาใช้ห้ามเลือดก็มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เช่น ผ้าก๊อซชุบวาสวีน (Vaseline gauze), การใช้ถุงมือยางยัดด้วยผ้าก๊อซ, ฟองน้ำ (Nasal sponge), การใช้บอลลูนในจมูกห้ามเลือด, MerocelÒ (เป็นวัสดุห้ามเลือดที่ขยายตัวได้หลังสัมผัสกับเลือดหรือน้ำ) และอาจเลือกใช้วัสดุที่ละลายได้เองโดยไม่ต้องดึงออก เช่น Gel foam หรือ SurgicelÒ (Oxidized cellulose) ซึ่งเหมาะในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคเลือด (เช่น เลือดออกง่ายแต่หยุดยาก) เป็นต้น
    • ภาวะแทรกซ้อนจากการห้ามเลือดด้วยวิธีนี้ ได้แก่ น้ำตาเอ่อจากท่อน้ำตาอุดตัน, รูเปิดของไซนัสอุดตัน เกิดไซนัสอักเสบ, เกิดพังผืดของเยื่อบุในโพรงจมูก, ผนังกั้นช่องจมูกทะลุ หรือเกิดภาวะขาดออกซิเจน โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภาวะอุดกั้นทางหายใจขณะหลับ เป็นต้น

      หยุดเลือดกำเดาไหล
      IMAGE SOURCE : www.rcot.org

  5. การใช้วัสดุกดห้ามเลือดในโพรงหลังจมูก (Posterior nasal packing) แพทย์จะเลือกใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเลือดกำเดาออกอย่างรุนแรงจากส่วนหลังของโพรงจมูก หรือในกรณีที่ทำวัสดุกดห้ามเลือดในโพรงจมูกส่วนหน้าแล้วเลือดยังไหลไม่หยุด ซึ่งวิธีการทำนั้นแพทย์อาจเลือกใช้บอลลูนสายสวนปัสสาวะห้ามเลือด หรือใช้ผ้าก๊อซชุบวาสลีนม้วน โดยอาจใช้ยาชาเฉพาะที่พ่นในจมูกและลำคอ หรือใช้วิธีการดมยาสลบ

    แก้เลือดกำเดาไหล
    IMAGE SOURCE : www.rcot.org

  6. การฉีดสารอุดหลอดเลือดแดง มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเลือดออกรุนแรงจากทางส่วนหลังของโพรงจมูกและยังไม่หยุดไหลหลังใช้วัสดุกดห้ามเลือดในโพรงจมูกส่วนหน้าและโพรงหลังจมูกไปแล้ว หรือใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดผิดปกติหรือมีเนื้องอกที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงมาก เป็นวิธีห้ามเลือดที่มีประสิทธิภาพดีมาก มีประโยชน์ทั้งในแง่ของการรักษาและการวินิจฉัย (สามารถหาตำแหน่งของหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุได้) โดยจะเป็นการฉีดสารอุดหลอดเลือด เช่น Polyvinyl alcohol, Gelfoam
    • ข้อดีของวิธีนี้คือ สามารถหาจุดเลือดออกได้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางแห่งที่เส้นเลือดอยู่ลึก และการผ่าตัดที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำซ้ำได้ ถ้าเกิดมีเลือดออกอีกและอาจไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ ส่วนข้อเสียคือ มีค่าใช้จ่ายสูง ต้องอาศัยเครื่องมือที่มีราคาแพง และรังสีแพทย์ที่มีความชำนาญในการฉีดรังสีหลอดเลือด ดังนั้น วิธีนี้จึงทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมเท่านั้น
    • ข้อห้ามในการรักษาด้วยวิธีนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยที่แพ้สารรังสีที่ใช้ฉีดหลอดเลือด, ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งอย่างมาก และไม่ควรใช้ในกรณีที่มีเลือดออกจากทางส่วนบนของโพรงจมูก เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมองได้
    • ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ (พบได้น้อย) ได้แก่ สมองขาดเลือด, อัมพาตของเส้นประสาทใบหน้า, อาการปวดบริเวณใบหน้าและขากรรไกร, ตาบอดจากการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงที่ตา, เลือดออกและเป็นก้อนเลือดที่บริเวณขาหนีบที่ใส่สายเข้าไปฉีดรังสีหลอดเลือด เป็นต้น
  7. การผูกหลอดเลือดแดง มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเลือดกำเดาออกอย่างรุนแรง ซึ่งเมื่อใช้วัสดุกดห้ามเลือดในโพรงจมูกส่วนหน้าและโพรงหลังจมูกแล้วยังไม่ได้ผล แต่การจะเลือกผูกเส้นเลือดใดนั้นจะขึ้นอยู่กับว่าเลือดกำเดาที่ไหลออกมานั้นออกมาจากตำแหน่งใดและเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงตำแหน่งนั้นคือเส้นเลือดอะไร โดยตำแหน่งของหลอดเลือดที่อาจผูกได้ เช่น ผ่านทางแผลผ่าตัดที่คอ, บริเวณข้างหัวตา หรือใช้กล้องส่องในจมูกแล้วใช้อุปกรณ์บีบเส้นเลือด
  8. การผ่าตัด เช่น ในกรณีที่มีสาเหตุมาจากโรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดทั่วร่างกาย (Hereditary hemorrhagic telangiectasia), เนื้องอกบริเวณโพรงหลังจมูกที่มีเลือดมาเลี้ยงมาก (Nasopharyngeal angiofibroma) เป็นต้น

แพทย์จะตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น การตรวจวัดไข้ ตรวจวัดความดันโลหิต คลำตับม้าม ดูรอยจ้ำเขียวตามตัว เป็นต้น ถ้าพบสาเหตุที่แน่ชัด แพทย์จะให้การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น การผ่าตัดเพื่อกำจัดเนื้องอก, การผ่าตัดเอารอยโรคออกและซ่อมเยื่อบุผิว, การผ่าตัดแก้ไขผนังกั้นช่องจมูกคดหรือการตัดกระดูกที่งอกที่ทำให้มีปัญหาเลือดออกจากจมูก, การแก้ไขความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด, ถ้าพบว่าเกิดจากความดันโลหิตสูงก็จะให้การรักษาแบบโรคความดันโลหิตสูง, ถ้าพบว่าเกิดจากโรคไข้หวัดใหญ่ เยื่อจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ ก็จะให้การรักษาไปตามสาเหตุนั้น ๆ หรือถ้าพบว่าตับม้ามโต หรือมีเลือดออกตามที่อื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งชวนให้คิดว่าเป็นโรคทางเลือด แพทย์จะตรวจเลือดและตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เป็นต้น

ควรรีบไปพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน (ขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่เลือดออก) เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดและรับการรักษาต่อไป เมื่อ

  • เลือดไหลไม่หยุดภายใน 20-30 นาที
  • เลือดกำเดาไหลซ้ำภายใน 24 ชั่วโมง
  • เลือดออกมากผิดปกติจนรู้สึกวิงเวียน มึนงง ซีด อิดโรย เหงื่อออกมาก ใจสั่น เป็นลม
  • เลือดกำเดาออกบ่อยหรือเป็นเรื้อรัง ซึ่งชวนให้สงสัยว่ามีสาเหตุที่ร้ายแรง เช่น เนื้องอกหรือมะเร็งในจมูก ไซนัส หรือโพรงหลังจมูก
  • เลือดกำเดาไหลที่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น การถูกกระแทกด้วยของแข็งที่จมูกอย่างรุนแรง
  • หากหายใจลำบาก โดยเฉพาะเมื่อเลือดไหลลงคอ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือไอได้ นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดการติดเชื้อได้ด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่อการหายใจ
  • มีประวัติเป็นโรคเลือด และ/หรือมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • เมื่อเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคตับและไต
  • เด็กในขณะที่เป็นโรคไข้เลือดออก เพราะเมื่อมีเลือดกำเดาไหล เลือดมักไม่หยุดเองง่าย ๆ
  • เมื่อใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) หรือเกิดจากการรับประทานยาแอสไพรินทุกวัน
  • เมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่

วิธีป้องกันเลือดกำเดาไหล

  1. ค้นหาและรักษาที่ต้นเหตุ การจะป้องกันไม่ให้เลือดกำเดาไหลได้นั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือจะต้องหาสาเหตุที่เกิดให้พบและให้การดูแลรักษาไปตามสาเหตุนั้น ๆ จึงจะป้องกันได้ เช่น การสอนเด็กไม่ให้แคะจมูก หรือขยี้จมูกแรง ๆ หรือสอดใส่สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในรูจมูก, การรักษาผนังกั้นช่องจมูกคด, การรักษาเนื้องอกหรือโรคมะเร็ง เป็นต้น
  1. อย่ารุนแรงกับจมูก เพราะอาการเลือดกำเดาไหลอาจเกิดจากพฤติกรรมของคุณเอง ซึ่งวิธีที่จะช่วยป้องกันอาการไม่ให้เลือดกำเดาไหลในอนาคตได้คือ หลีกเลี่ยงการแคะจมูกหรือขยี้จมูกแรง ๆ, ขณะไอหรือจามควรอ้าปากเสมอเพื่อไม่ให้มีแรงดันอากาศผ่านโพรงจมูก, เวลาสั่งจมูกให้สั่งเบา ๆ และสั่งทีละข้างเท่านั้น, ในเด็กควรตัดเล็บให้สั้นเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เป็นต้น
  2. ใช้เครื่องทำความชื้น เพื่อช่วยทำให้อากาศรอบตัวชื้นขึ้นและอากาศไม่แห้งจนเกินไป โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว (แต่หากไม่มีเครื่องทำความชื้น อาจใช้ภาชนะเหล็กใส่น้ำไว้บนเครื่องทำความร้อนเพื่อช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศก็ได้)
  3. ใช้สเปรย์พ่นน้ำเกลือสำหรับจมูก โดยให้ใช้พ่น 2-3 ครั้งต่อวันเพื่อช่วยทำให้จมูกชุ่มชื้น แต่ถ้าไม่อยากซื้อมาใช้ อาจทำสเปรย์น้ำเกลือด้วยตัวเองโดยการใช้เกลือไม่ผสมไอโอดีน 3 ช้อนชาพูน กับเบคกิ้งโซดา 1 ช้อนชา นำมาผสมให้เข้ากันในภาชนะที่สะอาด แล้วตักผง 1 ช้อนชาใส่น้ำสะอาดอุ่น ๆ (หรือน้ำต้มเดือด) ประมาณ 240 มิลลิลิตร แล้วผสมให้เข้ากัน
  4. รับประทานอาหารที่มีฟลาโวนอยด์ให้มากขึ้น เพราะฟลาโวนอยด์เป็นกลุ่มสารประกอบเคมีจากธรรมชาติที่มีอยู่ในผลไม้ตระกูลส้มที่สามารถช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับหลอดเลือดฝอยได้ โดยอาหารที่มีฟลาโวนอยด์สูง ได้แก่ ผลไม้ตระกูลส้มทั้งหมด กล้วย ใบแปะก๊วย ผักชีฝรั่ง หัวหอม ชาเขียว ชาดำ ชาอู่หลง ไวน์แดง ดาร์กช็อกโกแลต บลูเบอร์รี่ รวมถึงเบอร์รี่ชนิดอื่น ๆ เป็นต้น
  5. ป้องกันอาการท้องผูก โดยการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงและดื่มน้ำให้มาก ๆ เพราะอาการท้องผูกถ่ายยากจะทำให้เลือดกำเดาออกได้ง่ายขึ้นเนื่องจากหลอดเลือดจะตึง รวมทั้งยังทำให้ความดันในเส้นเลือดแดงเพิ่มสูงขึ้นชั่วขณะ และทำให้เลือดที่แข็งตัวแล้วซึ่งปิดหลอดเลือดที่เสียหายอยู่หลุดออกจนเกิดอาการเลือดกำเดาไหลตามมา
  6. อย่าออกแรงเบ่งในขณะขับถ่ายแรง ๆ เพราะจะเป็นการเพิ่มความดันเลือดในสมอง ซึ่งอาจทำให้เส้นเลือดฝอยในจมูกแตกได้ (อาจรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง ๆ เพื่อช่วยให้อุจจาระอ่อน เช่น การรับประทานลูกพรุนวันละ 6-12 ลูก)
  7. ลดการรับประทานอาหารร้อนและเผ็ด เพราะความร้อนจะทำให้หลอดเลือดขยายตัวและอาจทำให้เลือดไหลได้
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “เลือดกำเดา (Epistaxis/Nose bleed)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 470-471.
  2. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เลือดกำเดาไหล (Epistaxis)”.  (ผศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [28 ม.ค. 2017].
  3. ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ.  “ภาวะเลือดกำเดาไหล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhealth.com.  [29 ม.ค. 2017].
  4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 218 คอลัมน์ : ถามตอบปัญหาสุขภาพ.  “เลือดกำเดา”.  (พญ.ฉวีวรรณ บุนนาค).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [29 ม.ค. 2017].
  5. หาหมอดอทคอม.  “เลือดกำเดา การตกเลือดกำเดา (Epistaxis)”.  (ร.ท. พญ.นทมณฑ์ ชรากร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [30 ม.ค. 2017].
  6. wikiHow.  “วิธีการหยุดเลือดกำเดาไหล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : th.wikihow.com.  [30 ม.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด