เร่วหอม
เร่วหอม ชื่อวิทยาศาสตร์ Etlingera punicea (Roxb.) R.M. Smith จัดอยู่ในวงศ์ ZINGIBERACEAE เช่นเดียวกับกระวาน ขิง ข่า เร่ว
สมุนไพรเร่วหอม เป็นพืชท้องถิ่นที่พบได้ในจังหวัดตราดและจันทบุรี เป็นเร่วที่มีลักษณะแตกต่างจากเร่วชนิดอื่น ๆ ทั้งในด้านของลักษณะ กลิ่น รสชาติ และส่วนที่นำมาใช้ในการประกอบอาหาร ซึ่งในปัจจุบันมีการปลูกเร่วหอมเพื่อจำหน่ายมากขึ้น และยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย
ลักษณะของเร่วหอม
- ต้นเร่วหอม เป็นพืชล้มลุกที่มีลำต้นและเหง้าอยู่ใต้ดิน มีลำต้นสูงประมาณ 2-4 เมตร ลำต้นสาก สีเขียวอมแดง ส่วนโคนต้นมีสีแดงเรื่อ และเหง้าใต้ดินมีสีอมชมพู มีกลิ่นหอม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและแยกเหง้าใต้ดิน มักขึ้นตามพื้นล่างของป่าดงดิบพื้นราบและตามป่าเขาทั่วไป
- ใบเร่วหอม ใบออกแบบสลับกัน ลักษณะของใบเรียวยาว ใบหนาสีเขียวเข้ม ขอบใบเรียบ ขนาดของใบมีความกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร
- ดอกเร่วหอม ดอกมีสีแดง ออกดอกแทงช่อตรงจากเหง้า ดอกมีขนาด 2.5-4 เซนติเมตร ก้านช่อดอกมีความยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร
- ผลเร่วหอม ออกเป็นช่อ เปลือกผลมีขนคล้ายกับผลเงาะ มีขนาดประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มเรียงอัดกันแน่นอยู่เป็นจำนวนมาก
สรรพคุณของเร่วหอม
- ช่วยแก้ไข้ (ผล)
- ช่วยแก้อาการหืดไอ ไอมีเสมหะ (ผล)
- ผลใช้ปรุงเป็นยาขับลม (ผล)
- ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง (ผล)
- ใบเร่วหอมใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ใบ)
- ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร (ผล)
- เหง้าและรากเร่วหอมใช้เป็นยาเส้น (ราก, เหง้า)
ประโยชน์ของเร่วหอม
- ผลเร่วหอมสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องเทศได้
- รากมีกลิ่นหอม สามารถใช้เป็นเครื่องเทศในการปรุงน้ำก๋วยเตี๋ยว น้ำต้มเนื้อ แกงป่า แกงเลียง ผัดเผ็ด ฯลฯ
- เหง้าแก่ใช้ต้มน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวหมูหรือใช้ทำแกงเลียง ทำน้ำพริกแกงผัดเผ็ดหมูป่า
- เหง้าอ่อนและแขนงอ่อนของเร่วหอม ใช้รับประทานสดร่วมกับน้ำพริกได้
- รากและเหง้าใช้ทำเป็นยาหอมเย็นได้ เพราะเหง้ามีกลิ่นหอมและมีน้ำมันหอยระเหยเป็นองค์ประกอบ
- เร่วหอมแห้งชนิดแท่งสามารถนำมาใช้เป็นแท่งสำหรับคนในเครื่องดื่มร้อน ๆ เช่น กาแฟหรือชาได้ เพื่อให้มีกลิ่นหอมเช่นเดียวกับเปลือกอบเชย
- เร่วหอมเป็นพืชที่น่าจะมีศักยภาพในการนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้ ทั้งในด้านอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เช่น ลูกกวาด ลูกอมเร่วหอม น้ำยาบ้วนปาก ยาสีฟัน เจลสำหรับล้างมือ น้ำปรุงรส ชาสมุนไพรเพื่อสุขภาพ เร่วหอมอบแห้ง น้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์ เร่วหอมสกัด เป็นต้น
แหล่งอ้างอิง : สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภาพประกอบ : เว็บไซต์ photobucket.com (by minimininin), เว็บไซต์ prachathon.org (by noway2know), www. siamfishing.com (by bigboo), เว็บไซต์ bansuanporpeang.com (by rose1000)