เร่ว
เร่ว ชื่อสามัญ Bustard cardamom, Tavoy cardamom
เร่ว ชื่อวิทยาศาสตร์ Amomum villosum var. xanthioides (Wall. ex Baker) T.L.Wu & S.J.Chen (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Amomum xanthioides Wall. ex Baker) จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)
สมุนไพรเร่ว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หมากแหน่ง (สระบุรี), หน่อเนง (ชัยภูมิ), มะอี้ หมากอี้ มะหมากอี้ (เชียงใหม่), หมากเนิง (ภาคอีสาน), เร่วใหญ่ (ทั่วไป) เป็นต้น
สมุนไพรเร่ว จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ เร่วน้อยและเร่วใหญ่
- เร่วน้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amomum villosum Lour. มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เร่ว, เร่วดง เป็นต้น โดยผลเร่วน้อยที่มีคุณภาพดีนั้นต้องมีลักษณะของผลใหญ่ แข็ง มีเนื้อมาก เนื้อในเมล็ดมีสีน้ำตาลแดง และมีกลิ่นหอมฉุนมาก
- เร่วใหญ่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ Amomum xanthioides Wall. ex Baker มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เร่ว, เร่วกระวาน, กระวานป่า, หมากแหน่ง, มะอี้, หมากอี้, หมากเน็ง เป็นต้น โดยผลเร่วใหญ่ที่มีคุณภาพดีนั้นต้องมีลักษณะผลใหญ่ แข็ง มีสีเทา เนื้อในมีสีน้ำตาลอมเทาถึงสีน้ำตาล และมีกลิ่นหอมฉุน
ลักษณะของเร่ว
- ต้นเร่ว จัดเป็นพืชล้มลุก มีเหง้าหรือลำต้นอยู่ใต้ดิน เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด โดยเฉพาะในดินร่วนซุยในที่ร่มรำไร นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เหง้าหรือหน่อมากกว่าการใช้เมล็ด ในประเทศไทยสามารถพบได้ทางภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง
- ใบเร่ว เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ผิวใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ลักษณะของใบเรียวยาว เป็นรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมใบหอก มีความยาวประมาณ 12-20 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร ปลายใบแหลมและห้อยโค้งลง ก้านใบเป็นแผ่นมีขนาดสั้น
- ดอกเร่ว ดอกมีสีขาว ออกเป็นช่อจากยอดที่แทงขึ้นมาจากเหง้า ดอกจะรวมอยู่ในก้านเดียวกันเป็นช่อยาว ๆ คล้ายกับดอกข่า กลีบดอกเป็นสีชมพูอ่อนแล้วจะเปลี่ยนสีน้ำตาลเทา โคนกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นท่อ ปลายแยกเป็นกลีบ ก้านช่อดอกสั้น
- ผลเร่วน้อย ผลค่อนข้างกลม ลักษณะเป็น 3 พู มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีขน ผลแก่สีน้ำตาลแดง ภายในมีเมล็ดจำนวนมากจับกันเป็นกลุ่มก้อนกลม ๆ หรือกลมรี มี 3 พู โดยแต่ละพูจะมีเมล็ดประมาณ 3-15 เมล็ด อัดเรียงกันแน่น 3-4 แถว เมล็ดมีรูปร่างไม่แน่นอน มีหลายเหลี่ยมและมีเป็นสันนูน ขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร เมล็ดมีสีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลดำ ผิวด้านนอกเรียบมีเยื่อบางหุ้ม ปลายแหลมของเมล็ดมีรูเห็นได้เด่นชัด เมล็ดแข็ง เนื้อในเมล็ดมีสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมฉุน รสเผ็ดซ่า และมีรสขมเล็กน้อย
- ผลเร่วใหญ่ ผลมีลักษณะเรียวยาวหรือขอบขนานแกมสามเหลี่ยม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ผลแห้งแตกได้ มีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมอยู่ ผลมีรสมันเผื่อนติดเปรี้ยว ภายในผลมีเมล็ดเป็นกลุ่ม 10-20 เมล็ด ลักษณะเหมือนเร่วน้อย เมล็ดมีสีน้ำตาลเข้ม มีกลิ่นหอม มีรสร้อนเผ็ดปร่า
เร่วมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เช่น เร่วกอ เร่วช้าง เร่วหอม ซึ่งเร่วเหล่านี้ก็จะมีลักษณะของลำต้นที่แตกต่างกันออกไปด้วย โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้แก่ ต้น ใบ ดอก ผล เมล็ดจากผลที่แก่จัด และราก
สรรพคุณของเร่ว
- ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ด้วยการใช้เมล็ดเร่วผสมกับหัวแห้วหมู ขิงแห้ง และชะเอมเทศ นำมาปรุงเป็นยารับประทาน (เมล็ด)
- ช่วยแก้ธาตุพิการ (ผลเร่วใหญ่)
- ช่วยลดไขมันในเลือด (เมล็ดเร่วใหญ่)
- ช่วยแก้โลหิตขึ้นเบื้องสูง (ผลเร่วใหญ่)
- ผลมีรสเผ็ดปร่า ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ผลเร่วน้อย)
- ช่วยแก้ไข้สันนิบาต (ผลเร่วน้อย, ผลเร่วใหญ่, เมล็ดเร่วน้อย)
- ช่วยแก้ไข้เซื่องซึม (ราก)
- ผลเร่วใหญ่มีรสมันเผื่อนติดเปรี้ยว ช่วยแก้ไข้เพื่อดีและเสมหะได้ (ผลเร่วใหญ่)
- ช่วยแก้อาการหืด แก้อาการไอ (ราก)
- ช่วยแก้หืดไอ (ผลเร่วน้อย, ผลเร่วใหญ่, เมล็ดเร่วน้อย, เมล็ดเร่วใหญ่)
- ช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ (ต้น, เมล็ด, เมล็ดเร่วน้อย, เมล็ดเร่วใหญ่)
- ผลช่วยแก้เสมหะในลำคอ เมล็ดช่วยกัดเสมหะ (ผลเร่วน้อย, เมล็ดเร่วน้อย)
- ช่วยแก้เสมหะอันบังเกิดแต่ดี (ผลเร่วใหญ่)
- ช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำ (ผลเร่วใหญ่)
- ผลหรือเมล็ดจากผลที่แก่จัดใช้เป็นยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง ด้วยการใช้เมล็ดจากผลแก่นำมาบดให้เป็นผง แล้วใช้รับประทานหลังอาหารครั้งละ 1-3 กรัม (ประมาณ 3-9 ผล) วันละ 3 ครั้ง (ผล, ผลเร่วใหญ่, เมล็ดเร่วน้อย, เมล็ดเร่วใหญ่)
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง ด้วยการใช้เมล็ดเร่วผสมกับหัวแห้วหมู ขิงแห้ง และชะเอมเทศ นำมาปรุงเป็นยารับประทาน (ผลเร่วใหญ่, เมล็ดเร่วน้อย, เมล็ดเร่วใหญ่)
- เมล็ดเร่วน้อยช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย ด้วยการใช้เมล็ดนำมาบดเป็นผงครั้งละประมาณ 7-8 กรัม ชงกับน้ำขิงต้มดื่มกินบ่อย ๆ (เมล็ดเร่วน้อย)
- ช่วยขับผายลม ช่วยทำให้เรอ (ผลเร่วใหญ่)
- ช่วยขับลมในลำไส้ (ใบ, เมล็ด, เมล็ดเร่วน้อย, เมล็ดเร่วใหญ่)
- ช่วยแก้ปัสสาวะพิการ (ใบ)
- ผลเร่วใช้เป็นยารักษาโรคริดสีดวงทวารได้ (ผลเร่วน้อย, ผลเร่วใหญ่, เมล็ดเร่วน้อย, เมล็ดเร่วใหญ่)
- เร่วช่วยแก้ระดูขาวของสตรี (ผลเร่วน้อย, ผลเร่วใหญ่)
- ช่วยแก้อาการประจำเดือนมามากกว่าปกติ ด้วยการใช้ผลเร่วแห้งหนักประมาณ 7-8 กรัม ย่างไฟจนแห้งกรอบแล้วนำมาบดเป็นผง ใช้ชงกับน้ำดื่มบ่อย ๆ (ผล)
- ช่วยรักษาพิษอันบังเกิดในกองมุตกิดและมุตฆาต (ผลเร่วน้อย)
- เมล็ดเร่วใหญ่ช่วยลดความเป็นพิษของสารพิษต่อตับ (เมล็ดเร่วใหญ่)
- ดอกเร่วช่วยแก้พิษอันเกิดเป็นเม็ดผื่นคันขึ้นตามร่างกาย (ดอก)
- ช่วยแก้อาการเป็นพิษ ด้วยการใช้เมล็ดนำมาบดเป็นผง ชงกับน้ำอุ่นแล้วนำมาดื่ม (เมล็ด)
- ช่วยขับน้ำนมหลังการคลอดบุตรของสตรี (เมล็ดเร่วน้อย, เมล็ดเร่วใหญ่)
- ช่วยรักษาอาการขัดในทรวง (ผลเร่วใหญ่)
- จากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าเร่วใหญ่มีฤทธิ์ขับลม ช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้เล็กส่วนปลาย และช่วยลดความดันโลหิต
- เร่วจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดทศกุลาผล” ซึ่งเป็นตำรับยาสมุนไพรที่จัดอยู่ในตระกูลเดียวกัน 10 ชนิด ประกอบไปด้วย เร่วน้อย เร่วใหญ่ ชะเอมไทย ชะเอมเทศ อบเชยไทย อบเชยเทศ ผักชีล้อม ผักชีลาว ลำพันขาว และลำพันแดง เป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้เพื่อดีและเสมหะ ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ บำรุงปอด บำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น ช่วยแก้ไข้ แก้รัตตะปิดตะโรค ช่วยขับลมในลำไส้ และแก้ลมอัมพฤกษ์อัมพาต
ประโยชน์ของเร่ว
- ช่วยขับน้ำนมหลังการคลอดบุตรของสตรี (เมล็ด)
- เมล็ดและผลของเร่วใหญ่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องเทศได้
- สามารถนำมาผลิตหรือใช้ทำเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง น้ำมันหอมระเหย และผลิตภัณฑ์อาหาร
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
ภาพประกอบ : www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual), www.biogang.net, hinsorn.ac.th, bansuanporpeang.com (by ป้าเล็ก..อุบล), flickr.com (by Honey-น้ำผึ้ง-)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)