เยี่ยวหมู สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเยี่ยวหมู 17 ข้อ !

เยี่ยวหมู

เยี่ยวหมู ชื่อวิทยาศาสตร์ Adenostemma lavenia (L.) Kuntze จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1]

สมุนไพรเยี่ยวหมู มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เยี่ยวหมูต้น (ไทย), ลินลางเช้า (จีน), เซี่ยเถียนจวี๋ ฟงชี่เฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของต้นเยี่ยวหมู

  • ต้นเยี่ยวหมู จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีความสูงของต้นประมาณ 30-100 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรงมีลักษณะเป็นสันหรือค่อนข้างเป็นรูปทรงกระบอก มีขนขึ้นปกคลุมหรือเรียบเกลี้ยง กิ่งก้านที่ยอดต้นมีสีม่วงแดง มีขนเล็กน้อย ส่วนบริเวณโคนต้นกิ่งก้านเรียบมัน ไม่มีขนปกคลุม โคนต้นที่อยู่ติดกับพื้นดินเป็นข้อและมีราก ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบขึ้นในที่ดินร่วนซุยและมีความชื้นแฉะ[1],[2]

ต้นเยี่ยวหมู

  • ใบเยี่ยวหมู ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปกลมรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบเป็นปีกแคบไปยังก้านใบ ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-20 เซนติเมตร หน้าใบมีผิวย่น ผิวใบมีขนขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน แผ่นใบบางสีเขียว ก้านใบยาวประมาณ 1-6 เซนติเมตร[1],[2]

ใบเยี่ยวหมู

  • ดอกเยี่ยวหมู ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ปลายยอด ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ด้านหนึ่งจะแยกออกประมาณ 2-3 ช่อ ดอกมีขนาดเล็กสีขาว ที่โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นท่อหลอด ยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ส่วนปลายกลีบแยกออกเป็น 5 แฉก และมีขนปกคลุม กลีบเลี้ยงดอกมีขนาดเล็กอยู่ตรงโคนหรือกึ่งกลางของก้านช่อดอก ที่กลางดอกมีเกสรยื่นโผล่พ้นจากดอก 3-4 เส้น[1],[2]

ดอกเยี่ยวหมู

  • ผลเยี่ยวหมู ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมรียาวคล้ายรูปทรงกระบอกสีน้ำตาลและแห้ง ผลมีรยางค์อยู่ประมาณ 3-5 เส้น มีขนาดยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และมีขนปกคลุม[1],[2]

ผลเยี่ยวหมูต้น

สรรพคุณของเยี่ยวหมู

  1. ทั้งต้นมีรสขม ชุ่มเล็กน้อย เป็นยาเย็น ใช้เป็นยาขับความชื้นในร่างกาย ถอนพิษไข้ (ทั้งต้น)[2]
  2. ตำรายาแก้ไข้หวัดตัวร้อน จะใช้ต้นเยี่ยวหมูแห้งประมาณ 10-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ต้น)[2]
  3. ใบใช้เป็นยาพอกแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)[1]
  4. ใช้เป็นยาใส่แผลที่จมูกและหู (ใบ)[1]
  1. ในอินโดนีเซียจะใช้ใบนำมาทำเป็นยาแก้หวัดน้ำมูกไหล (ใบ)[1]
  2. น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยากระตุ้นและยาที่ทำให้จาม (น้ำคั้นจากใบ)[1]
  3. น้ำคั้นจากใบใช้กินกับเกลือเป็นยาแก้อาการเจ็บคอ (น้ำคั้นจากใบ)[1]
  4. ช่วยรักษาคออักเสบ หลอดลมอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ (ทั้งต้น)[2]
  5. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการท้องร่วง (ทั้งต้น)[1]
  6. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้อง (ราก)[1]
  7. ทั้งต้นนำมาคั้นเอาแต่น้ำใช้เป็นยารักษาโรคสีดวงโพรก และสำหรับสตรีเป็นยาดื่มหลังการคลอดบุตร (ทั้งต้น)[1]
  8. ใช้รักษาโรคตับอักเสบ ตัวเหลือง ด้วยการใช้ต้นเยี่ยวหมูสดประมาณ 100-120 กรัม หรือต้นแห้งประมาณ 35-70 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มวันละ 1 ครั้ง จากการทดลองพบว่าหลังการรับประทานยานี้ไปสักพัก อาการตัวเหลืองจะเริ่มหายไป ปัสสาวะจะขาวใสขึ้น และมีปริมาณมากขึ้น แต่ในระหว่างการรักษาห้ามไม่ให้ผู้ป่วยดื่มเหล้า จากการรักษาผู้ป่วยโรคตับอักเสบจำนวน 180 ราย พบว่า ส่วนมากมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (ต้น)[2]
  9. ทั้งต้นใช้ภายนอกเป็นยาแก้ฝีหนอง แก้พิษงู (ทั้งต้น)[2]
  10. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้บวม (ทั้งต้น)[2] ใบนำมาต้มกับน้ำกระสายยา ใช้เป็นยาแก้บวม หรือรักษาโรคผิวหนัง (ใบ)[1]
  11. ใบใช้ตำพอกแก้อาการปวดแสบปวดร้อนเมื่อถูกแดดเผา (ใบ)[1]
  12. ใช้เป็นยาแก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อ (ใบ)[1]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [2] ต้นสดให้ใช้ครั้งละ 60-100 กรัม แต่ถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-25 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม[2]

ประโยชน์ของเยี่ยวหมู

  • ใบใช้เป็นยาสระผม ช่วยทำให้ผมขึ้น[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “เยี่ยวหมู”.  หน้า 667-668.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “เยี่ยวหมูต้น”.  หน้า 470.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, Dinesh Valke, judymonkey17), hear.smugmug.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด