เม่าไข่ปลา สรรพคุณและประโยชน์ของต้นมะเม่าไข่ปลา 24 ข้อ !

เม่าไข่ปลา

เม่าไข่ปลา ชื่อสามัญ Black currant tree, Wild black berry[6]

เม่าไข่ปลา ชื่อวิทยาศาสตร์ Antidesma ghaesembilla Gaertn.[1] จัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)

สมุนไพรเม่าไข่ปลา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะเม่า ขะเม่าผา (ภาคเหนือ), มะเม่าผา มะเม่า (อีสาน), ขมวยตาครวย (อุบลราชธานี, กาฬสินธุ์, ชัยภูมิ), มังเม่า (จันทบุรี), เม่าไข่ปลา ขะเม่าผา (ชลบุรี), มะเม่าข้าวเบา (ชุมพร), เม่าทุ่ง (ชุมพร, สงขลา), กูแจ (มลายู-นราธิวาส), มะเม่าไข่ปลา เป็นต้น[1],[2],[6]

ลักษณะของเม่าไข่ปลา

  • ต้นเม่าไข่ปลา จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านต่ำเป็นพุ่ม มีความสูงได้ประมาณ 2-6 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ชอบดินร่วนซุย ความชื้นต่ำ แสงแดดจัด พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะ ชายป่าดิบ ป่าโปร่ง ป่าชายเลน ชายฝั่งทะเล ที่โล่งลุ่มต่ำ ตามทุ่งหญ้า เรือกสวนทั่วไป และตามป่าพรุ ตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1,300 เมตร ส่วนในต่างประเทศพบในอินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย ไปจนถึงทางตอนเหนือของออสเตรเลีย[1],[2],[4],[6]

ต้นเม่าไข่ปลา

  • ใบเม่าไข่ปลา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีค่อนข้างกลม รูปรีแกมขอบขนาน หรือรูปไข่กว้างถึงรี ปลายใบมนกลมหรือเป็นติ่งแหลมเล็กน้อย โคนใบมนกลมถึงหยักเว้า ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบเกลี้ยง หรือมีขนตามเส้นใบด้านท้องใบ ก้านใบยาวประมาณ 0.2-1.2 เซนติเมตร หูใบเป็นรูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ร่วงง่าย[1],[2],[4]

ใบเม่าไข่ปลา

  • ดอกเม่าไข่ปลา ออกดอกเป็นช่อเชิงลด โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายยอด ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก สีเขียวอมเหลือง ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อ ช่อดอกยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร แกนช่อมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง ใบประดับเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีขนสั้นนุ่ม ดอกเพศผู้ยาวได้ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ไม่มีก้านดอก กลีบเลี้ยงมีประมาณ 3-6 กลีบ แยกออกจากกัน ลักษณะเป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยมถึงรูปขอบขนาน ปลายแหลมถึงมน ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ผิวด้านในเกลี้ยง ส่วนผิวด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้มีประมาณ 4-6 อัน ขนาดยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ก้านชูอับเรณูเป็นสีขาวและมีขน อับเรณูมี 2 พู ลักษณะค่อนข้างกลม สีขาว มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน ลักษณะเป็นรูปกรวยกลับ มีขนสั้นนุ่ม ส่วนดอกเพศเมียมีลักษณะคล้ายดอกเพศผู้ แต่มีขนาดใหญ่กว่า โดยปลายเกสรเพศเมียจะแยกออกเป็นแฉกประมาณ 3-4 แฉก ช่อดอกยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร แกนช่อมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง ใบประดับเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีขนสั้นนุ่ม ดอกเพศเมียยาวได้ประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ก้านดอกย่อยยาวได้ถึง 1 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมีประมาณ 5-6 กลีบ ปลายแยกออกจากกัน ลักษณะเป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยม ปลายแหลม ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ผิวด้านในเกลี้ยง ส่วนผิวด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่หรือกลม มีขนสั้นนุ่ม มี 1 ช่อง และมีออวุล 2 เมล็ด ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน[1],[4]

ดอกเม่าไข่ปลา

  • ผลเม่าไข่ปลา ออกผลเป็นช่อ ช่อผลยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร ผลย่อยมีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปค่อนข้างกลมรีหรือแบนเล็กน้อย ผลมีขนาดประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร ผิวผลมีขน ผนังชั้นในแข็ง ผลอ่อนเป็นสีขาว พอแก่จะเป็นสีแดงเข้มเกือบดำ ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด ติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม[1],[4]

ผลเม่าไข่ปลา

มะเม่าไข่ปลา

สรรพคุณของเม่าไข่ปลา

  1. ตำรายาไทยใช้ใบและผลเม่าไข่ปลา นำมาต้มกับน้ำอาบแก้อาการโลหิตจาง ซีดเหลือง เลือดไหลเวียนไม่ดี (ผล)[1],[2],[3],[4]
  2. ต้นและรากมีสรรพคุณเป็นยาแก้กระษัย (ต้นและราก)[5]
  3. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง (เปลือกต้น)[4]
  4. ใบใช้ตำพอกแก้อาการปวดศีรษะ หรือใช้ผลทำเป็นยาพอกแก้อาการปวดศีรษะก็ได้ (ใบ, ผล)[2],[4]
  5. ใบใช้เป็นยาแก้ไข้ (ใบ)[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้ใช้ผลผสมกับน้ำอาบเพื่อแก้อาการไข้ (ผล)[4]
  1. ผลสุกใช้กินแก้คอแห้ง แก้อาการกระหายน้ำ (ผล)[5]
  2. ช่วยแก้อาการท้องอืด (ใบ)[2]
  3. ผลมีสรรพคุณเป็นยาระบาย ช่วยแก้อาการท้องผูก (ผล)[7]
  4. ใบมีสรรพคุณช่วยแก้อาการท้องบวม (ใบ)[4] ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ช่องท้องบวม (ผล)[4]
  5. ต้นและรากมีรสจืด ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ต้นและราก)[4]
  6. ใช้เป็นยาแก้มดลูกพิการ มดลูกช้ำบวม อาการตกขาวของสตรี (ต้นและราก)[4],[5]
  7. ช่วยขับโลหิตและน้ำคาวปลาของสตรี (ต้นและราก)[5]
  8. ต้นและรากมีสรรพคุณช่วยบำรุงไต (ต้นและราก)[4],[5]
  9. เปลือกต้นใช้เป็นยาฝาดสมาน (เปลือกต้น)[4]
  10. ใบใช้เป็นยาทาแก้โรคผิวหนัง (ใบ)[4]
  11. ช่วยแก้เส้นเอ็นพิการ แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (ต้นและราก)[5]

ประโยชน์ของเม่าไข่ปลา

  1. ผลสุกมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานได้[2]
  2. ผลสีม่วงแดงยังอุดมไปด้วยสารในกลุ่มแอนโธไซยานิน และฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระ ในปัจจุบันได้มีการนำมาพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ในทางโภชนาการมากมาย เช่น ทำน้ำผลไม้ ไวน์ แยม ฯลฯ และอาจนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์และเภสัชกรรม เช่น การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ยา และเครื่องสำอางต่อไปได้ในอนาคต (พฤกษเคมีและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของผลมะเม่า (Antidesma ghaesembilla) โดย ปพนพัชร์ วรสกุลเกียรติ์, อภิรัตน์ แจ่มโนนคูณ)
  3. ยอดอ่อน ใบอ่อน มีรสฝาดอมเปรี้ยวและมัน นำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงเลียง หรือใช้ต้มเป็นผักจิ้ม[5]
  4. ใบอ่อนและผลดิบใช้ปรุงอาหารให้มีรสเปรี้ยว[4]
  5. ใบใช้ตำพอกแก้รังแค[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าใช้ผลทำเป็นยาพอกแก้รังแค[4]
  6. รากนำมาตำคลุกกับข้าวสุกใช้เป็นยาเบื่อสุนัข[5]
  7. เนื้อไม้เป็นสีแดง มีความแข็งแรง สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างได้ (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, อ้างอิงใน : สำนักวิจัยและพัฒนาป่าไม้)
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “เม่าไข่ปลา (Mao Khai Pla)”.  หน้า 242.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “เม่าไข่ปลา”.  หน้า 161.
  3. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เม่าไข่ปลา”.  หน้า 39.
  4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “มะเม่า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [30 ต.ค. 2014].
  5. พืชผักพื้นบ้านนครศรีธรรมราช 103 ชนิด, กลุ่มผักที่ใช้ปรุงเป็นอาหารและอาจใช้เป็นผักเหนาะ, เทศบาลเมืองทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช.  “เม่าไข่ปลา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.tungsong.com.  [30 ต.ค. 2014].
  6. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “เม่าไข่ปลา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [30 ต.ค. 2014].
  7. สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์พรรณบุรี กองบำรุงพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์, พืชสมุนไพร.  “มะเม่าไข่ปลา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : lssp-spr.dld.go.th.  [30 ต.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Black Diamond Images, Flora & Fauna of the Mid North Coast of NSW, Cerlin Ng, Nieminski)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด