เม่าไข่ปลา
เม่าไข่ปลา ชื่อสามัญ Black currant tree, Wild black berry[6]
เม่าไข่ปลา ชื่อวิทยาศาสตร์ Antidesma ghaesembilla Gaertn.[1] จัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)
สมุนไพรเม่าไข่ปลา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะเม่า ขะเม่าผา (ภาคเหนือ), มะเม่าผา มะเม่า (อีสาน), ขมวยตาครวย (อุบลราชธานี, กาฬสินธุ์, ชัยภูมิ), มังเม่า (จันทบุรี), เม่าไข่ปลา ขะเม่าผา (ชลบุรี), มะเม่าข้าวเบา (ชุมพร), เม่าทุ่ง (ชุมพร, สงขลา), กูแจ (มลายู-นราธิวาส), มะเม่าไข่ปลา เป็นต้น[1],[2],[6]
ลักษณะของเม่าไข่ปลา
- ต้นเม่าไข่ปลา จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านต่ำเป็นพุ่ม มีความสูงได้ประมาณ 2-6 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ชอบดินร่วนซุย ความชื้นต่ำ แสงแดดจัด พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะ ชายป่าดิบ ป่าโปร่ง ป่าชายเลน ชายฝั่งทะเล ที่โล่งลุ่มต่ำ ตามทุ่งหญ้า เรือกสวนทั่วไป และตามป่าพรุ ตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1,300 เมตร ส่วนในต่างประเทศพบในอินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย ไปจนถึงทางตอนเหนือของออสเตรเลีย[1],[2],[4],[6]
- ใบเม่าไข่ปลา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีค่อนข้างกลม รูปรีแกมขอบขนาน หรือรูปไข่กว้างถึงรี ปลายใบมนกลมหรือเป็นติ่งแหลมเล็กน้อย โคนใบมนกลมถึงหยักเว้า ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบเกลี้ยง หรือมีขนตามเส้นใบด้านท้องใบ ก้านใบยาวประมาณ 0.2-1.2 เซนติเมตร หูใบเป็นรูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ร่วงง่าย[1],[2],[4]
- ดอกเม่าไข่ปลา ออกดอกเป็นช่อเชิงลด โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายยอด ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก สีเขียวอมเหลือง ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อ ช่อดอกยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร แกนช่อมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง ใบประดับเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีขนสั้นนุ่ม ดอกเพศผู้ยาวได้ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ไม่มีก้านดอก กลีบเลี้ยงมีประมาณ 3-6 กลีบ แยกออกจากกัน ลักษณะเป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยมถึงรูปขอบขนาน ปลายแหลมถึงมน ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ผิวด้านในเกลี้ยง ส่วนผิวด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้มีประมาณ 4-6 อัน ขนาดยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ก้านชูอับเรณูเป็นสีขาวและมีขน อับเรณูมี 2 พู ลักษณะค่อนข้างกลม สีขาว มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน ลักษณะเป็นรูปกรวยกลับ มีขนสั้นนุ่ม ส่วนดอกเพศเมียมีลักษณะคล้ายดอกเพศผู้ แต่มีขนาดใหญ่กว่า โดยปลายเกสรเพศเมียจะแยกออกเป็นแฉกประมาณ 3-4 แฉก ช่อดอกยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร แกนช่อมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง ใบประดับเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีขนสั้นนุ่ม ดอกเพศเมียยาวได้ประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ก้านดอกย่อยยาวได้ถึง 1 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมีประมาณ 5-6 กลีบ ปลายแยกออกจากกัน ลักษณะเป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยม ปลายแหลม ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ผิวด้านในเกลี้ยง ส่วนผิวด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่หรือกลม มีขนสั้นนุ่ม มี 1 ช่อง และมีออวุล 2 เมล็ด ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน[1],[4]
- ผลเม่าไข่ปลา ออกผลเป็นช่อ ช่อผลยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร ผลย่อยมีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปค่อนข้างกลมรีหรือแบนเล็กน้อย ผลมีขนาดประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร ผิวผลมีขน ผนังชั้นในแข็ง ผลอ่อนเป็นสีขาว พอแก่จะเป็นสีแดงเข้มเกือบดำ ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด ติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม[1],[4]
สรรพคุณของเม่าไข่ปลา
- ตำรายาไทยใช้ใบและผลเม่าไข่ปลา นำมาต้มกับน้ำอาบแก้อาการโลหิตจาง ซีดเหลือง เลือดไหลเวียนไม่ดี (ผล)[1],[2],[3],[4]
- ต้นและรากมีสรรพคุณเป็นยาแก้กระษัย (ต้นและราก)[5]
- เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง (เปลือกต้น)[4]
- ใบใช้ตำพอกแก้อาการปวดศีรษะ หรือใช้ผลทำเป็นยาพอกแก้อาการปวดศีรษะก็ได้ (ใบ, ผล)[2],[4]
- ใบใช้เป็นยาแก้ไข้ (ใบ)[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้ใช้ผลผสมกับน้ำอาบเพื่อแก้อาการไข้ (ผล)[4]
- ผลสุกใช้กินแก้คอแห้ง แก้อาการกระหายน้ำ (ผล)[5]
- ช่วยแก้อาการท้องอืด (ใบ)[2]
- ผลมีสรรพคุณเป็นยาระบาย ช่วยแก้อาการท้องผูก (ผล)[7]
- ใบมีสรรพคุณช่วยแก้อาการท้องบวม (ใบ)[4] ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ช่องท้องบวม (ผล)[4]
- ต้นและรากมีรสจืด ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ต้นและราก)[4]
- ใช้เป็นยาแก้มดลูกพิการ มดลูกช้ำบวม อาการตกขาวของสตรี (ต้นและราก)[4],[5]
- ช่วยขับโลหิตและน้ำคาวปลาของสตรี (ต้นและราก)[5]
- ต้นและรากมีสรรพคุณช่วยบำรุงไต (ต้นและราก)[4],[5]
- เปลือกต้นใช้เป็นยาฝาดสมาน (เปลือกต้น)[4]
- ใบใช้เป็นยาทาแก้โรคผิวหนัง (ใบ)[4]
- ช่วยแก้เส้นเอ็นพิการ แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (ต้นและราก)[5]
ประโยชน์ของเม่าไข่ปลา
- ผลสุกมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานได้[2]
- ผลสีม่วงแดงยังอุดมไปด้วยสารในกลุ่มแอนโธไซยานิน และฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระ ในปัจจุบันได้มีการนำมาพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ในทางโภชนาการมากมาย เช่น ทำน้ำผลไม้ ไวน์ แยม ฯลฯ และอาจนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์และเภสัชกรรม เช่น การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ยา และเครื่องสำอางต่อไปได้ในอนาคต (พฤกษเคมีและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของผลมะเม่า (Antidesma ghaesembilla) โดย ปพนพัชร์ วรสกุลเกียรติ์, อภิรัตน์ แจ่มโนนคูณ)
- ยอดอ่อน ใบอ่อน มีรสฝาดอมเปรี้ยวและมัน นำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงเลียง หรือใช้ต้มเป็นผักจิ้ม[5]
- ใบอ่อนและผลดิบใช้ปรุงอาหารให้มีรสเปรี้ยว[4]
- ใบใช้ตำพอกแก้รังแค[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าใช้ผลทำเป็นยาพอกแก้รังแค[4]
- รากนำมาตำคลุกกับข้าวสุกใช้เป็นยาเบื่อสุนัข[5]
- เนื้อไม้เป็นสีแดง มีความแข็งแรง สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างได้ (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, อ้างอิงใน : สำนักวิจัยและพัฒนาป่าไม้)
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “เม่าไข่ปลา (Mao Khai Pla)”. หน้า 242.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “เม่าไข่ปลา”. หน้า 161.
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เม่าไข่ปลา”. หน้า 39.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มะเม่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [30 ต.ค. 2014].
- พืชผักพื้นบ้านนครศรีธรรมราช 103 ชนิด, กลุ่มผักที่ใช้ปรุงเป็นอาหารและอาจใช้เป็นผักเหนาะ, เทศบาลเมืองทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช. “เม่าไข่ปลา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tungsong.com. [30 ต.ค. 2014].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “เม่าไข่ปลา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [30 ต.ค. 2014].
- สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์พรรณบุรี กองบำรุงพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์, พืชสมุนไพร. “มะเม่าไข่ปลา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : lssp-spr.dld.go.th. [30 ต.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Black Diamond Images, Flora & Fauna of the Mid North Coast of NSW, Cerlin Ng, Nieminski)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)