เม่าสร้อย
เม่าสร้อย ชื่อวิทยาศาสตร์ Antidesma acidum Retz.[1],[2] จัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)
สมุนไพรเม่าสร้อย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เม่า (ภาคเหนือ), มักเม่า (ลำปาง), เม่าตาควาย (เชียงราย), ส่อแพรเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), มะเม่า (ไทลื้อ), ปิมปอง (ขมุ) ส่วนทางจังหวัดเลยจะเรียกว่า “เม่าสร้อย“[1],[2]
ลักษณะของเม่าสร้อย
- ต้นเม่าสร้อย จัดเป็นไม้พุ่มหรือเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 2-5 เมตร พบกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติในป่าผลัดใบ ป่าเต็งรัง และป่าดิบทั่วไป จัดเป็นไม้ระดับกลาง ที่ชอบแสงแดดปานกลาง[1],[2]
- ใบเม่าสร้อย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหอกกลับ ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-9 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนขึ้นประปรายทั้งสองด้าน[1],[2]
- ดอกเม่าสร้อย ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงเชิงลด โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมากและเป็นแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น ไม่มีกลีบดอก ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวอ่อน[1]
- ผลเม่าสร้อย ผลกลุ่มออกเป็นช่อยาว รูปทรงกระบอก เป็นผลสด เนื้อผลฉ่ำน้ำ ลักษณะของผลย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปทรงกลม ผลดิบเป็นสีเขียว ส่วนผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือสีม่วงเข้ม และจะเป็นสีดำเมื่อแก่จัด[1],[2]
สรรพคุณของเม่าสร้อย
- ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ซางเด็ก (ลำต้น)[1]
- ผลสดใช้กินเป็นยาระบาย (ผล)[1]
- ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงจะใช้ใบเม่าสร้อย นำมาต้มกับน้ำให้สตรีหลังคลอดดื่มและอาบ (ใบ)[1]
ประโยชน์ของเม่าสร้อย
- ผลเม่าสร้อย สามารถนำมารับประทานได้[1],[2]
- ยอดอ่อน ใช้ประกอบอาหาร เช่น แกงเห็ดถอบ หรือใช้ใบเป็นส่วนประกอบในแกงเห็ดเผา[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เม่าสร้อย”. หน้า 38.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เม่า, เม่าสร้อย”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง บ้านโป่งคำ (อัปสรและคณะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [30 ต.ค. 2014].
ภาพประกอบ : wikimedia.org, www.magnoliathailand.com (by ป้ากระต่าย)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)