เมโทรนิดาโซล
เมโทรนิดาโซล หรือ เมโทรไนดาโซล (Metronidazole) เป็นยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะกับเชื้อแบคทีเรียชนิดที่มีการเจริญเติบโตได้โดยไม่ต้องพึ่งพาออกซิเจน (Anaerobic Bacteria) และเชื้อพวกสัตว์เซลล์เดียว (Protozoa)
ในวงการแพทย์มีการใช้ยานี้มานานมากกว่า 50 ปีแล้ว เนื่องด้วยเป็นยาที่มีประโยชน์หลายด้าน เป็นยาที่ปลอดภัยพอสมควรและค่อนข้างมีราคาถูก และได้มีผู้ทำการดัดแปลงโครงสร้างเคมีบางอย่างของยาเมโทรนิดาโซลจนได้เป็นยาอนุพันธ์ในกลุ่มเดียวกันอีกคือ ยาทินิดาโซล (Tinidazole) และยาออร์นิดาโซล (Ornidazole) ซึ่งมีประสิทธิภาพดีขึ้นและราคาก็แพงขึ้นด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างยาเมโทรนิดาโซล
ยาเมโทรนิดาโซล (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น เอเชียโซล (Asiazole), แอนนาแบค (Anabact), ไบโอจิล (Biogyl), เชนนิดาโซล (Chanenidazole), ฟลาจิเซปต์ (Flagisept), ฟลาจิล (Flagyl), ไกนีจิล (Gynegyl), กานา-พี (Kana-P), ไคลออน (Klion), ลิดาโซล (Lidazole), มาโนดาโซล (Manodazole), เมดาโซล หรือ มีดาโซล (Medazole), เมไดโซล (Medizole), เมด-ไทรโคไซด์ (Med-tricocide), เมฟิรอน (Mefiron), เมพาจิล (Mepagyl), เมทาซาล (Metazal), เมทราโซล (Metrazole), เมไทรโซล (Metrizole), เมโทรไซด์ (Metrocide), เมโทรจิล (Metrogyl), เมโทรเลกซ์ (Metrolex ), เมทรอน (Metron), เมโทรนิด (Metronid), เมโทรนิดาโซล จีพีโอ (Metronidazole GPO), เมโทรนิล (Metronil), เมโทรซิล (Metrosil), เมโทรไซน์ (Metrosine), เมโทรโซล (Metrozole), เมโทรวิด (Metrovid), เมโซล (Mezole), นิดาโซล (Nidazole), มิลานิดาโซล (Milanidazole), มายดาโซล (Mydazole), เมทรอนแคปส์ (Metroncaps), นิดาโซล (Nidazole), เอส.ที. ดาโซล (S.t. dazole), ทีโมนาส (Temonas), ไทโคโซล (Ticozole), ไทรโคไซด์ (Tricocide), ไทรโคเมด (Tricomed), ไทรโคนาส (Triconas), ไทรดาโซล (Tridazole), โรบาซ (Robaz), เซอร์วิซอล (Servizol), ยูนิโก (Unigo), แวกนา (Vagna), วาจิแลน (Vagilan), วาจิล (Vagyl) ฯลฯ
รูปแบบยาเมโทรนิดาโซล
- ยาเม็ด ขนาด 200, 250, 400 และ 500 มิลลิกรัม
- ยาแคปซูล ขนาด 375 มิลลิกรัม
- ยาน้ำแขวนตะกอน ขนาด 200 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร (1 ช้อนชา)
- ยาฉีด ขนาด 500 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร
- ยาทา (แบบครีมและแบบเจล) ขนาดความเข้มข้น 0.75-1%
สรรพคุณของยาเมโทรนิดาโซล
เมโทรนิดาโซลเป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาอาการติดเชื้อที่ระบบทางเดินอาหาร บริเวณระบบสืบพันธุ์ ปากมดลูก ผิวหนัง กระดูกและข้อ เช่น
- ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ไม่ต้องการออกซิเจน (Anaerobic Bacteria), โรคบิดอะมีบา (Amebiasis), ฝีตับอะมีบา (Amebic liver abscess), ลำไส้ใหญ่อักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Clostridium difficile ที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิดนานเกินไป (Pseudomembranous Colitis), โรคติดเชื้อพยาธิทริโคโมแนสในช่องคลอด (Trichomoniasis), ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial vaginosis), การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease), เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis), เยื่อบุหัวใจอักเสบ (Endocarditis), ปอดบวม (Pneumonia), ปอดอักเสบจากการสำลัก (aspirated pneumonia), โรคกระดูกติดเชื้อ (Osteomyelitis), การติดเชื้อในช่องท้อง (Intra-abdominal infection), เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis), โรคผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis), ภาวะเลือดมีแบคทีเรีย (Bacteremia), โรคท้องเดินจากเชื้อไกอาร์เดีย (Giardiasis), การติดเชื้อเอชไพโลไร (Helicobacter pylori Infection) ในผู้ป่วยแผลเพ็ปติก, ปีกมดลูกอักเสบ (Salpingitis), การอักเสบและการติดเชื้อในช่องปากและฟัน, บาดแผลจากสัตว์กัดหรือคนกัด, ใช้ป้องกันการติดเชื้อในแผลผ่าตัดลำไส้ใหญ่หรือการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ, ใช้ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD Prophylaxis) หลังการถูกข่มขืน ฯลฯ
- มีการใช้ยานี้ในวงการสัตวแพทย์ เพื่อใช้รักษาการติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียวชนิด Giardia ในสุนัขและแมว รวมไปถึงการติดเชื้อทางเดินลำไส้ในสัตว์ต่าง ๆ อีกด้วย
- สำหรับยาทาใช้เป็นยาทาเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือป้องกันการเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง, ใช้รักษาโรคผิวหนังโรซาเซีย (Rosacea) ที่มีอาการเส้นเลือดบริเวณใบหน้าขยายตัว ทำให้เห็นเป็นผื่นแดงที่ใบหน้า, ใช้สำหรับบรรเทาอาการอักเสบแดงและลดจำนวนสิว
กลไกการอออกฤทธิ์ของยาเมโทรนิดาโซล
ยาเมโทรนิดาโซลจะออกฤทธิ์โดยการซึมเข้าผนังเซลล์ของแบคทีเรียชนิดที่ไม่ต้องการออกซิเจน (Anaerobic Bacteria) และผนังเซลล์ของเชื้อจำพวกสัตว์เซลล์เดียว (Protozoa) จากนั้นตัวยาจะเข้าไปรบกวนการสร้างและการสังเคราะห์สารทางพันธุกรรม (DNA) ของเชื้อดังกล่าว ทำให้เชื้อไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อไปได้
ก่อนใช้ยาเมโทรนิดาโซล
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเมโทรนิดาโซล สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้
- ประวัติการแพ้ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
- โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาเมโทรนิดาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
- การรับประทานยาเมโทรนิดาโซลร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) อาจส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย หรือเกิดภาวะเลือดหยุดไหลช้า
- การรับประทานยาเมโทรนิดาโซลร่วมกับยาป้องกันหรือรักษาอาการชัก (เช่น ในโรคลมชัก) เช่น ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital) อาจทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกายหรือขบวนการทางเคมีที่ไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยาเมโทรนิดาโซล และส่งผลต่อการออกฤทธิ์ รวมไปถึงระดับยาในกระแสเลือดที่ลดลง
- การรับประทานยาเมโทรนิดาโซลร่วมกับยาบางกลุ่ม เช่น ยาทางจิตเวชบางชนิด (เช่น ลิเทียม (Lithium)), ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย (เช่น ไซโคลสปอริน (Cyclosporin)), ยาเคมีบำบัดบางชนิด (เช่น ไฟว์เอฟยู (5-FU) และบูซัลแฟน (Busulfan)) อาจทำให้ระดับของยาดังกล่าวในกระแสเลือดสูงมากขึ้น
- ยาเมโทรนิดาโซลอาจเสริมฤทธิ์ของยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) หากใช้ร่วมกัน
- การรับประทานยาเมโทรนิดาโซลร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก ใจสั่น มีการหายใจผิดปกติ
- เป็นหรือเคยเป็นโรคเลือด โรคทางสมอง โรคตับ โรคไต โรคเลือด โรคโครห์น (Crohn’s disease)
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาเมโทรนิดาโซล
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole)
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้
- ควรระมัดระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคเลือด โรคโลหิตจาง หรือมีความผิดปกติของเม็ดเลือดอื่น ๆ โรคเกี่ยวกับระบบสมอง (รวมไปถึงโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทส่วนปลาย ระบบประสาทส่วนกลาง) หรือโรคตับ
- ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก และหญิงที่ให้นมบุตร ถึงแม้ว่ายาเมโทรนิดาโซลจะไม่ก่อให้เกิดความพิการของตัวอ่อนในครรภ์ของสัตว์ทดลอง แต่ยานี้ก็มีผลต่อระบบเลือด ตับ และทางเดินอาหาร ซึ่งอาจส่งผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมต่อทารกได้เช่นกัน
- ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด เนื่องจากยานี้จะทำให้ไวต่อแสง
- การใช้ยานี้ในเด็กควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
- ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือของมีคม หรือต้องขับขี่ยานพาหนะเป็นประจำ เพราะการใช้ยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอนหรือวิงเวียนศีรษะได้
วิธีใช้ยาเมโทรนิดาโซล
- สำหรับยาเม็ด ยาแคปซูล และยาฉีด โดยทั่วไปให้รับประทานยาวันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับโรค อายุของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์ เช่น
- สำหรับรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ไม่ต้องการออกซิเจน (Anaerobic Bacteria) และการติดเชื้ออื่น ๆ ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis), เยื่อบุหัวใจอักเสบ (Endocarditis), ปอดบวม (Pneumonia), ปอดอักเสบจากการสำลัก (aspirated pneumonia), โรคกระดูกติดเชื้อ (Osteomyelitis), การติดเชื้อในช่องท้อง (Intra-abdominal infection), เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis), โรคผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis), การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease), การติดเชื้อของผิวหนังหรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง (Skin or Soft Tissue Infection) และภาวะเลือดมีแบคทีเรีย (Bacteremia) ในผู้ใหญ่ให้ใช้ยาชนิดฉีด ฉีดเข้าหลอดเลือดดำครั้งแรกในขนาด 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และต่อไปให้ฉีดครั้งละ 7.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือให้รับประทานครั้งละ 7.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 6 ชั่วโมง โดยทั้งหมดนี้ให้รักษาติดต่อกันเป็นเวลา 7-10 วัน (สูงสุดไม่เกินวันละ 4,000 มิลลิกรัม)
- สำหรับการรักษาโรคบิดอะมีบา (Amebiasis) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาครั้งละ 750 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ติดต่อกันเป็นเวลา 5-10 วัน ส่วนในเด็กให้รับประทานยานี้วันละ 35-50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง (สูงสุดไม่เกินครั้งละ 750 มิลลิกรัม) ติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน
- สำหรับการรักษาฝีตับอะมีบา (Amebic liver abscess) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาครั้งละ 500-750 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ติดต่อกันเป็นเวลา 5-10 วัน ส่วนในเด็กให้รับประทานยานี้วันละ 35-50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง (สูงสุดไม่เกินครั้งละ 750 มิลลิกรัม) ติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน
- สำหรับการรักษาลำไส้ใหญ่อักเสบ (Pseudomembranous Colitis) ถ้าไม่รุนแรง ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ถ้ารุนแรง ให้ใช้ยาชนิดฉีด ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง โดยให้รักษาติดต่อกัน 10 วัน ส่วนในเด็กและวัยรุ่น ให้รับประทานวันละ 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (สูงสุดไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม) โดยแบ่งให้วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกันอย่างน้อย 10 วัน
- สำหรับการรักษาโรคติดเชื้อพยาธิทริโคโมแนสในช่องคลอด (Trichomoniasis) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 2,000 มิลลิกรัม เพียงครั้งเดียว หรือแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม
- สำหรับการรักษาภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial vaginosis) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาครั้งละ 750 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน ส่วนในเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 45 กิโลกรัม ให้รับประทานวันละ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (สูงสุดไม่เกินวันละ 1,000 มิลลิกรัม) โดยแบ่งให้วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน
- สำหรับการรักษาโรคท้องเดินจากเชื้อไกอาร์เดีย (Giardiasis) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานครั้งละ 250 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 5-7 วัน ส่วนในเด็กให้รับประทานวันละ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง (สูงสุดไม่เกินครั้งละ 250 มิลลิกรัม) ติดต่อกันเป็นเวลา 5-7 วัน
- สำหรับการติดเชื้อเอชไพโลไร (Helicobacter pylori Infection) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง (ร่วมกับยาอะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin)) ทุก 12 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 10-14 วัน
- สำหรับใช้ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD Prophylaxis) หลังการถูกข่มขืน ในผู้ใหญ่และในเด็กที่มีน้ำหนักตัวเท่ากับหรือมากกว่า 45 กิโลกรัม ให้รับประทานครั้งละ 2,000 มิลลิกรัม เพียงครั้งเดียว ส่วนในเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 45 กิโลกรัม ให้รับประทานวันละ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (สูงสุดไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม) โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน
- สำหรับยาน้ำแขวนตะกอน ควรเขย่าขวดก่อนใช้ยา และควรใช้ช้อนสำหรับตวงยาโดยเฉพาะในการรับประทานยาเท่านั้น ไม่ควรใช้ช้อนชงกาแฟหรือช้อนโต๊ะในครัวเรือนทั่วไป
- สำหรับการใช้ยาทา ให้ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณรอยโรคก่อนด้วยสบู่อ่อน ๆ แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ซับให้แห้ง จากนั้นทายาบาง ๆ ลงบริเวณที่เป็นรอยโรค
- ยาชนิดทา เป็นยาใช้ภายนอกเท่านั้น ห้ามนำมารับประทานโดยเด็ดขาด
- ควรหลีกเลี่ยงการทายาบริเวณใกล้ดวงตา
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน และการสูบบุหรี่ เพราะจะส่งผลต่อการรักษาได้
- การรักษาอาจใช้เวลานานถึง 12 สัปดาห์ หากทายาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 3 สัปดาห์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
- ในระหว่างการใช้ยาทา ผู้ป่วยสามารถแต่งหน้าหรือทาครีมกันแดดได้ตามปกติ โดยให้ทายาก่อนเป็นเวลาอย่างน้อย 5 นาที ก่อนที่จะลงเครื่องสำอาง และเครื่องสำอางที่ใช้ควรมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก (Water-based products)
- หากเกิดอาการแพ้ เช่น มีผื่นแดงหรือระคายเคือง ให้หยุดใช้ยาและไปพบแพทย์
คำแนะนำในการใช้ยาเมโทรนิดาโซล
- ยานี้ควรรับประทานพร้อมหรือหลังอาหาร เพื่อลดการระคายเคืองของกระเพาะและลำไส้
- การซื้อยาชนิดนี้มาใช้เอง ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
- ควรใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากหรือตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ และไม่ควรหยุดใช้ยาก่อนระยะเวลาที่กำหนดแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
- หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้
- หญิงให้นมบุตร ควรใช้วิธีรับประทานยาครั้งเดียวแล้วงดให้นมบุตรนาน 24 ชั่วโมงหลังรับประทานยา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์
- หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาเมโทรนิดาโซลมากกว่า 10 วัน ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจและควบคุมความผิดปกติของระบบเลือด/ระบบโรคเลือด เช่น การตรวจซีบีซี (CBC)
การเก็บรักษายาเมโทรนิดาโซล
- ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กเสมอ
- ควรเก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส หรือเก็บตามคำแนะนำในฉลากยา เก็บยาให้พ้นแสงแดด และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น
- ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ
เมื่อลืมใช้ยาเมโทรนิดาโซล
หากลืมใช้ยาเมโทรนิดาโซล (ทั้งยาเม็ด ยาน้ำ และยาทา) ให้ใช้ยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปใช้ยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ผลข้างเคียงของยาเมโทรนิดาโซล
- ยาเมโทรนิดาโซลนับว่าเป็นยาที่มีความปลอดภัยมากตัวหนึ่ง ถ้าเกิดผลข้างเคียงอาการก็มักจะไม่รุนแรง และเมื่อหยุดใช้ยาก็จะหายได้เอง โดยผลข้างเคียงทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยานี้ ได้แก่ อาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร รู้สึกง่วงนอนและวิงเวียน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ รู้สึกรสปร่า ๆ ในปาก ปากและลิ้นแสบ ท้องเสีย เจ็บเกร็งท้อง เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร ปัสสาวะมีสีเข้มและคล้ำ
- ผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยานี้ ได้แก่ เกิดลมพิษ ผื่นคันตามตัว ผื่นแดงรุนแรง บวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น มีไข้ คัดจมูก มีฝ้าขาวหรือคล้ำภายในปาก สับสน ปวดข้อต่อ มีอาการติดเชื้อ มือเท้าชาหรือเจ็บ เจ็บตอนปัสสาวะ เหนื่อยง่าย ชัก เกิดการระคายเคืองบริเวณปากช่องคลอด ตกขาว
- สำหรับยาทา อาจเกิดผลข้างเคียงทั่วไป คือ แสบร้อน คัน แดง ผิวแห้ง น้ำตาไหล ส่วนผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจพบได้ คือ คลื่นไส้ ผื่นบริเวณผิวหน้าแย่ลง เกิดผื่นขึ้นใหม่ ไม่มีความรู้สึกบริเวณที่ทายา หรือรู้สึกเหมือนถูกเข็มแทงบริเวณที่ทายา
เอกสารอ้างอิง
- Drugs.com. “Metronidazole”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com. [01 ต.ค. 2016].
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1. “เมโทรไนดาโซล (Metronidazole)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 247-248.
- ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.). “METRONIDAZOLE”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net. [01 ต.ค. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “เมโทรนิดาโซล (Metronidazole)”. (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [01 ต.ค. 2016].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 95 คอลัมน์ : 108 ปัญหายา. “เมโทรไนดาโซล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [01 ต.ค. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)