เฟื่องฟ้า
เฟื่องฟ้า ชื่อสามัญ Paper flower[2], Bougainvillea[3]
เฟื่องฟ้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Bougainvillea glabra Choisy จัดอยู่ในวงศ์บานเย็น (NYCTAGINACEAE)[1]
เฟื่องฟ้า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ดอกต่างใบ (กรุงเทพฯ), ดอกกระดาษ ดอกโคม (ภาคเหนือ), ตรุษจีน (ภาคกลาง), เย่จื่อฮวา จื่อซานฮวา (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3]
ประวัติเฟื่องฟ้า
ต้นเฟื่องฟ้าถูกพบครั้งแรกในประเทศบราซิลโดยนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1766-1769 และได้ถูกนำไปปลูกยังส่วนต่าง ๆ ของโลก เริ่มจากทางยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย สำหรับในประเทศไทยได้มีการนำพันธุ์ของต้นเฟื่องฟ้าเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์เป็นครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ.2423 (รัชกาลที่ 5) และมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศอีกมากมายจนถึงปัจจุบัน โดยสายพันธุ์ของต้นเฟื่องฟ้าในประเทศก็มีจำนวนไม่น้อยไปกว่าต่างประเทศ เนื่องมาจากต้นเฟื่องฟ้าเป็นไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทยแล้วยังเกิดการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอีกมากมาย[2]
ลักษณะของเฟื่องฟ้า
- ต้นเฟื่องฟ้า จัดเป็นไม้ยืนต้นประเภทพุ่มกึ่งเลื้อย มีอายุยืนหลายสิบปี สามารถเลื้อยไปได้ไกลถึง 10 เมตร ลักษณะของทรงพุ่มสามารถตัดแต่งและบังคับทิศทางการเจริญเติบโตได้ ลำต้นมีลักษณะกลมใหญ่ เนื้อแข็ง ผิวเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาล ลำต้นเปราะและหักได้ง่าย มีหนามขึ้นตามลำต้นอยู่เหนือใบ หนามมีความยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง การปักชำกิ่ง เสียบยอด เจริญเติบโตได้ดีในดินปนทรายระบายน้ำดี ชอบความชื้นต่ำและแสงแดดแบบเต็มวัน[1],[2],[3]
- ใบเฟื่องฟ้า ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปรี หรือรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ผิวใบเรียบ ใบบาง มีหนามอยู่ตามง่ามใบ มีก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร[1],[2],[3]
- ดอกเฟื่องฟ้า ออกดอกเป็นกระจุกตามง่ามใบและปลายกิ่ง มี 3 ดอก ดอกมีหลายสี ทางจีนนิยมนำมาใช้เป็นยา คือ ดอกสีม่วง หรือสีแดง ดอกที่เป็นสี ๆ ก็คือใบที่เปลี่ยนสี เรียกว่า ใบดอก มีลักษณะบางคล้ายกับกระดาษ ลักษณะเป็นรูปไข่ปลายแหลม ในหนึ่งดอกจะมีใบดอก 3 ใบเชื่อมติดกัน ใบดอกจะกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร มีเกสรเป็นรูปทรงกระบอกสีเขียว[1]
- ผลเฟื่องฟ้า ผลมีขนาดเล็ก ลักษณะเป็นสัน 5 เหลี่ยม เปลือกแข็งและมีเมล็ดติดกับเปลือก[1],[3]
สรรพคุณของเฟื่องฟ้า
- ดอกเฟื่องฟ้ามีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจและระบบขับถ่าย (บางข้อมูลระบุว่าดอกเฟื่องฟ้ามีสรรพคุณช่วยบำรุงโลหิตและใช้แทนเครื่องหอมได้ด้วย) (ดอก)[5]
- ดอกเฟื่องฟ้า (สายพันธุ์ Bougainvillea glabra Choisy.) มีรสขมฝาด เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อตับ ใช้เป็นยาแก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี รักษาสตรีที่ประจำเดือนไม่มาหรือมุตกิดตกขาวของสตรี ด้วยการใช้ดอกที่เป็นยาแห้งครั้งละ 10-15 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยาตามที่ต้องการ (ดอก)[1]
- เฟื่องฟ้าดอกขาว (Bougainvillea spectabilis Willd.) ในประเทศจีนจะไม่นิยมนำมาใช้ทำยา แต่ในประเทศไทยจะมีการนำรากมาใช้เป็นยาแก้พิษต่าง ๆ (ราก)[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเฟื่องฟ้า
- สารที่พบ ได้แก่ สารจำพวก Bougainvillein เช่น Betanidinm Bougainvillea, 6-o-B-Sophoroside, Verbascose Isobetanidin เป็นต้น[1]
ประโยชน์ของเฟื่องฟ้า
- ดอกเฟื่องฟ้าสามารถนำมาใช้ในการประกอบอาหารได้ เช่น การทำดอกเฟื่องฟ้าชุบแป้งทอด ด้วยการนำดอกเฟื่องฟ้ามาชุบในแป้งชุบทอด รอให้น้ำมันร้อนจัด แล้วใส่ดอกเฟื่องฟ้าที่ชุบแป้งลงไปทอดจนเหลืองกรอบ แล้วตักขึ้นมารอจนน้ำมันสะเด็ด ใช้รับประทานกับน้ำจิ้มเพื่อเพิ่มรสชาติให้อร่อยยิ่งขึ้น
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ ดอกสวยมีหลายสีจากหลากหลายสายพันธุ์ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เป็นซุ้มไม้เลื้อย เป็นซุ้มนั่งเล่น ปลูกในที่สาธารณะ สวนข้างทางเดิน ปลูกเป็นแนวรั้ว ปลูกเป็นไม้กระถาง หรือทำเป็นไม้บอนไซหรือไม้แคระ สามารถตัดแต่งทรงพุ่มได้ ดูแลรักษาได้ง่ายและทนความแล้งได้ดี เมื่อมีอากาศเย็นจะมีดอกออกเต็มต้น แต่ไม่ควรนำไปปลูกไว้ใกล้กับสนามเด็กเล่นเพราะมีหนามแหลม[2]
- ในด้านความเป็นมงคล คนไทยโบราณมีความเชื่อว่า หากบ้านใดปลูกต้นเฟื่องฟ้าไว้เป็นไม้ประจำบ้านจะสามารถช่วยสร้างคุณค่าของชีวิตให้สูงขึ้น เนื่องจากต้นเฟื่องฟ้าเป็นพรรณไม้ที่ได้รับสมญานามว่าเป็น “ราชินีแห่งไม้ประดับ” นอกจากนี้คนไทยโบราณยังมีความเชื่ออีกว่า ต้นเฟื่องฟ้าเป็นไม้มงคลสำคัญของเทศกาลตรุษจีน เพราะต้นเฟื่องฟ้าสามารถออกดอกได้บานสะพรั่งในช่วงเทศกาลตรุษจีน (จึงเป็นที่มาของการเรียกต้นเฟื่องฟ้าว่า “ต้นตรุษจีน”) ดังนั้นจึงมีความเชื่อว่า เมื่อช่วงดอกเฟื่องฟ้าบานจะแสดงถึงความเบิกบาน สว่างไสว และความรุ่งเรืองที่ก้าวไกลแห่งชีวิต และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย ควรปลูกต้นเฟื่องฟ้าไว้ทางทิศตะวันออก และผู้ปลูกควรปลูกในวันพุธเพื่อเอาคุณ ถ้าจะให้เป็นสิริมงคลยิ่งขึ้น ผู้ปลูกควรเป็นสตรี เพราะเฟื่องฟ้าเป็นราชินีแห่งไม้ประดับ จึงเหมาะสมอย่างยิ่งกับสุภาพสตรี[4]
ดอกเฟื่องฟ้า
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “เฟื่องฟ้า”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 412.
- สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “เฟื่องฟ้า” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [11 พ.ค. 2014].
- ไขปริศนา พฤกษาพรรณ, สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยามหิดล. “เฟื่องฟ้า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.il.mahidol.ac.th/e-media/plants/. [11 พ.ค. 2014].
- โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย. “ต้นเฟื่องฟ้า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.suriyothai.ac.th. [11 พ.ค. 2014].
- ไทยรัฐออนไลน์. “ผลิตขนมดอกไม้สีรุ้ง ความสวยงามที่บริโภคได้”. (ผศ.อุจิตชญา จิตรวิมล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th. [11 พ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Doron Bhastekar, Bruna Pimentel, Termizi Yeoh, Andres Hernandez S., anakayer, Kai Yan, Joseph Wong, Don Perucho)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)