เพรดนิโซโลน (Prednisolone) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

เพรดนิโซโลน (Prednisolone) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

เพรดนิโซโลน

เพรดนิโซโลน / เพร็ดนิโซโลน (Prednisolone) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า เพรดโซเมด (Predsomed) เป็นยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือยาสเตียรอยด์ (Steroids) ยานี้เป็นสารสังเคราะห์ซึ่งคล้ายกับฮอร์โมนตามธรรมชาติที่ผลิตขึ้นในร่างกายโดยต่อมหมวกไต ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคและภาวะผิดปกติหลายอย่าง เช่น ต้านการอักเสบ รักษาอาการแพ้ กดภูมิคุ้มกัน รวมทั้งรักษาความผิดปกติเกี่ยวกับระบบต่าง ๆ เช่น ระบบกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อ เป็นต้น

ทั้งนี้การใช้ยาที่ขนาดต่าง ๆ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเท่านั้น เนื่องจากยานี้เป็นยาที่มีผลข้างเคียงมากและอาจเป็นอันตรายได้หากใช้ไม่ถูกวิธี โดยเฉพาะผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ดังนั้น ยานี้จึงจัดเป็นยาควบคุมที่ต้องมีแพทย์เป็นผู้สั่งจ่าย ผู้ป่วยไม่สามารถหาซื้อยาได้เองตามร้านขายยาทั่วไป

ตัวอย่างยาเพรดนิโซโลน

ยาเพรดนิโซโลน (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น คลอโซโลน (Chlorsolone), คลีนิเพรด (Clinipred), ได-อดรีซัน เอฟ (Di-Adreson F), อีโซเพรด (Exopred), ฟาราคิล (Farakil), ฟอร์ทิโซน (Fortisone), ไฮโดรโคโรนิล (Hydrocoronyl), อินฟ์-ออฟ (Inf-Oph), ไอ-โซน (I – sone), ลีโซโลน (Leesolone), ลีวอฟทิน ซิมเพลกซ์ (Levoptin Simplex), เมดิโซโลน (Medisolone), เมดโซโลน (Medsolone), มินิโซโลน (Minisolone), โมเดิร์นเพรด (Modernpred), มายโซโลน-เอน (Mysolone-N), นีโอโซโลน (Neozolone), นีโอโซโลน-ซี (Neosolone-C), นีโอโซโลน-จี (Neosolone-G), นีโอโซโลน-วาย (Neosolone-Y), ไนโซโลน (Nisolone), ไนโซน (Nisone), โอเพรดโซน (Opredsone), โพลีเพรด (Polypred), เพรดแคป (Predcap), พรีคอร์ต (Precort), พรีเดกซ์ (Predex), เพรด-ฟอร์ต/เพรด-มายด์ (Pred-Forte/Pred-Mild), เพรดิ เค บี (Predi K.B.), พรีดิโซล (Predisole), เพรดแมน (Predman), เพรดมายซิน พี (Predmycin P), เพรดเนอร์โซน (Prednersone), เพรดนิดอน (Prednidon), Prednisolone Atlantic (เพรดนิโซโลน แอตแลนติก), เพรดนิโซโลน บีเจ เบญจโอสถ (Prednisolone BJ Benjaosoth), เพรดนิโซโลน เจริญ เภสัช (Prednisolone Charoen Bhaesaj), เพรดนิโซโลน ชิว บราเทอร์ส (Prednisolone Chew Brothers), เพรดนิโซโลน จีพีโอ (Prednisolone GPO), เพรดนิโซโลน เกรทเตอร์ ฟาร์มา (Prednisolone Greater Pharma), เพรดนิโซโลน เมดิซิน โพรดักซ์ (Prednisolone Medicine Products), เพรดนิโซโลน เมดิคฟาร์มา (Prednisolone), เพรดนิโซโลน พอนด์’ส เคมิคอล (Prednisolone Pond’s Chemical), เพรดนิโซโลน สุพง เภสัช (Prednisolone Suphong Bhaesaj), เพรดนิโซโลน ที.พี (Prednisolone T.P.), เพรดนิโซโลน เวสโก ฟาร์มา (Prednisolone Vesco Pharm), พี.โนโซโลน (P.nosolone), เพรดโซ (Predso), เพรดโซเมด (Predsomed), เพรสนิโซโลน (Presnisolone), พรีโซกา (Presoga), เพรดสตาร์ (Predstar), ชอร์นิโซน (Shornisone), ไซโนเพรด (Sinopred), สตาร์เพรด (Starpred), ยาหยอดตาอินฟ์-ออฟ (In-Oph), Pred Oph Ear Drops, Pred Oph Eye Drops ฯลฯ

รูปแบบยาเพรดนิโซโลน

  • ยาเม็ด ขนาด 2.5 และ 5 มิลลิกรัม
  • ยาครีมชนิดทา ขนาดความเข้มข้น 0.5%
  • ยาหยอดหู-ตา ขนาดความเข้มข้น 0.5% โดยมียาปฏิชีวนะเป็นส่วนผสมร่วมด้วย

เพรดนิโซโลน
IMAGE SOURCE : www.medscape.com, www.chombunghospital.com

สรรพคุณของยาเพรดนิโซโลน

  • ใช้เป็นยาต้านอักเสบ (Anti-inflammatory) รักษาและบรรเทาอาการอักเสบที่บริเวณผิวหนัง (ในรูปแบบของยาครีมและยารับประทาน) การอักเสบของลำไส้เล็ก กระดูก ข้อต่อ ปอด และอวัยวะอื่น ๆ รวมถึงอาการอักเสบของตา-หู (ในรูปแบบของยาหยอดตาและยาหยอดหู)
  • ใช้รักษาเยื่อตาขาวอักเสบจากการแพ้ (Allergic conjunctivitis)
  • ใช้เป็นยาเสริมสำหรับการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
  • ใช้เป็นยากดระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (Immunosuppressive) เพื่อรักษาโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองหรือโรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
  • ใช้รักษาภาวะโลหิตจางที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงแตกโดยภูมิต้านทานตนเอง (Autoimmune hemolytic anemia)
  • ใช้ป้องกันการปฏิเสธการปลูกถ่ายไต (Kidney transplant rejection) โดยการกดภูมิต้านทานของร่างกาย
  • ใช้ป้องกันและบำบัดอาการของโรคภูมิแพ้ (Allergy) เช่น ผื่นคันตามผิวหนัง
  • ใช้รักษาโรคหืดกำเริบรุนแรง (Asthma – Acute)
  • ใช้รักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis)
  • ใช้รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบแบบมีแผลเปื่อย (Ulcerative colitis) และการอักเสบของลำไส้เล็ก (Regional enteritis) หรือโรคโครห์น (Crohn’s disease)
  • ใช้รักษาโรคไตรั่วหรือกลุ่มอาการเนโฟรติก (Nephrotic syndrome)
  • ใช้เป็นยาบำบัดเพื่อควบคุมให้โรคสงบต่อไป (Maintenance therapy) ในโรคหัวใจอักเสบรูมาติก (Acute rheumatic carditis), ในกลุ่มอาการของโรคลักษณะผิวหนังแดงลูปัสทั่วกาย (SLE), ในโรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบแบบทั่วกาย (Systemic dermatomyositis)
  • ใช้ควบคุมอาการของโรคซาร์คอยด์ (Sarcoidosis) ที่มีอาการ
  • ใช้รักษาเพอร์พิวราชนิดเกล็ดเลือดน้อยที่ไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic thrombocytopenic purpura – ITP) ในผู้ใหญ่
  • ใช้สำหรับรักษาแบบประคับประคอง (Palliative management) ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน (Acute lymphocytic leukemia) ในเด็ก
  • ใช้รักษาความผิดปกติของระบบเลือดและโรคที่เกี่ยวข้องกับต่อมหมวกไต (Adrenal gland)
  • ใช้รักษาความบกพร่องของการสร้างฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต
  • ใช้ทำเป็นยาเฉพาะที่ในการรักษาริดสีดวงทวาร

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเพรดนิโซโลน

เพรดนิโซโลนเป็นยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ซึ่งคล้ายกับฮอร์โมนตามธรรมชาติที่ผลิตขึ้นโดยต่อมหมวกไตและมีฤทธิ์หลักทางเภสัชวิทยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคต่าง ๆ คือ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายเพื่อไม่ให้มีการทำลายอวัยวะที่เจ็บป่วยอยู่

โดยกลไกต้านการอักเสบของเพรดนิโซโลนนั้นมีหลายกลไก เช่น ยับยั้งการเคลื่อนย้ายเม็ดเลือดขาวชนิดพอลีเมอร์โฟนิวเคลียร์ (Polymorphonuclear) ไม่ให้เข้าสู่บริเวณที่อักเสบ, ยับยั้งการเกาะของนิวโทรฟิลและโมโนไซท์ที่เซลล์ผนังหลอดเลือดฝอย (Capillary endothelial cell) ตรงบริเวณที่อักเสบ, ลดการผ่านเข้าออกของสารต่าง ๆ ผ่านหนังหลอดเลือดฝอย จึงช่วยลดอาการบวม, ยับยั้งการสะสมของแมคโครฟาจในบริเวณที่อักเสบ ทำให้เมมเบรนของไลโซโซมของเม็ดเลือด (Leukocyte lysosomal membrane) แข็งแรงขึ้น, ต้านฤทธิ์ฮิสตามีนและลดการปล่อยไคนินจากซับสเตรต, รบกวนการทำงานของสารตัวกลางในการตอบสนองการอักเสบ, ยับยั้งฤทธิ์ของเอนไซม์ Phospholipase A2 ทำให้ลดการสร้างโพรสตาแกลนดินส์ (Prostaglandins) ลิวโคทรีนส์ (Leukotrienes) และสารประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง, ลดการเจริญของไพโบรบลาสและลดการเคลื่อนย้ายไฟโบรบลาสต์ (Fibroblast) ในการเข้าไปสู่บริเวณที่อักเสบ, ลดการสะสมคอลลาเจน, ลดการสร้างแผลเป็น เป็นต้น

ส่วนฤทธิ์การกดภูมิคุ้มกันของเพรดนิโซโลนเกิดจากการยับยั้งการตอบสนองในการสร้างแอนติบอดีและการตอบสนองผ่านเซลล์ โดยลดการทำงานและลดปริมาตรของระบบน้ำเหลือง ทำให้มีลิมโฟไซท์ในเลือดต่ำลง (Lymphocytopenia), ลดระดับความเข้มข้นของอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) และคอมพลีเมนต์ (Complement), ลดการผ่านของ Immune complexes เข้าออก Basement membranes และกดฤทธิ์ปฏิกิริยาของเนื้อเยื่อที่มีต่อ Antigen-antibody interaction, กระตุ้น Erythroid cells ของไขกระดูก ทำให้อายุของเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดยาวขึ้น และทำให้จำนวนนิวโทรฟิลสูงขึ้น (Neutrophilia) และจำนวนอีโอซิโนฟิลต่ำลง (Eosinopenia) ด้วยกลไกดังกล่าวนี้เองจึงทำให้ยาเพรดนิโซโลนช่วยลดการอักเสบและทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้

ขนาดยาเพรดนิโซโลนในปริมาณต่าง ๆ จะมีผลต่อร่างกายแตกต่างกันไป หากแบ่งตามปริมาณของยาเพรดนิโซโลนที่ได้รับต่อวัน สามารถแบ่งได้ดังนี้

  1. ขนาดยาเพรดนิโซโลนที่เทียบเท่ากับการหลั่งกลูโคคอร์ติคอยด์ตามธรรมชาติของต่อมหมวกไตต่อวัน (Physiologic dose) คือวันละ 5 มิลลิกรัม (ส่วน British Nation Formulary ถือว่า เพรดนิโซโลนในขนาดวันละ 7.5 มิลลิกรัม เป็น Physiologic dose)
  2. ขนาดยาเพรดนิโซโลนที่ถือว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา (Pharmacological dose) ซึ่งเป็นขนาดยาที่สูงกว่า Physiologic dose สามารถแบ่งได้เป็นหลายระดับ ดังนี้
    • ขนาดต่ำ (Low dose, Maintenance dose) เทียบเท่าเพรดนิโซโลนวันละ 5-15 มิลลิกรัม
    • ขนาดปานกลาง (Moderate dose) เทียบเท่าเพรดนิโซโลนวันละ 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
    • ขนาดสูง (High dose) เทียบเท่าเพรดนิโซโลนวันละ 1-3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
    • ขนาดสูงมาก (Massive dose) เทียบเท่าเพรดนิโซโลนวันละ 15-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

คุณสมบัติทางเภสัชจลนศาสตร์ของยาเพรดนิโซโลน

ยาเพรดนิโซโลนจะถูกดูดซึมได้ดีจากทางเดินอาหาร อาหารมีผลต่อการดูดซึมของยานี้บ้าง แต่สุดท้ายตัวยาก็ถูกดูดซึมได้ดี ตัวยาจะมีระดับความเข้มข้นสูงสุดในพลาสมาหลังจากรับประทานยาไปได้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง (มีค่าเฉลี่ยความเข้มข้นสูงสุด 391 นาโนกรัม/มิลลิลิตร) และจะถูกขับออกทางปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่

ส่วนค่าครึ่งชีวิตของเพรดนิโซโลนในพลาสมา คือ 2-4 ชั่วโมง และมีค่าครึ่งชีวิตทางชีวภาพ 18-36 ชั่วโมง ซึ่งทำให้ยานี้มีระยะเวลาการออกฤทธิ์ได้นาน 18-36 ชั่วโมง (จัดเป็นยาที่ออกฤทธิ์ยาวปานกลาง) จึงเหมาะสำหรับการใช้ยาแบบวันเว้นวันเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะต่อมหมวกไตทำงานไม่เพียงพอ โดยที่ยายังมีฤทธิ์เพียงพอในการรักษา

ก่อนใช้ยาเพรดนิโซโลน

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมถึงยาเพรดนิโซโลน สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) แลคโตส (Lactose) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาเพรดนิโซโลนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การใช้ยาเพรดนิโซโลนร่วมกับยาแก้ปวดบางกลุ่ม เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), เซเลโคซิบ (Celecoxib) สามารถเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น เวียนศีรษะ มีเลือดออกผิดปกติ ปวดท้องรุนแรง อุจจาระมีลักษณะเป็นสีดำเหมือนยางมะตอยจากการมีเลือดออกในทางเดินอาหาร
    • การใช้ยาเพรดนิโซโลนร่วมกับยาปฏิชีวนะบางกลุ่ม เช่น ไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin), โอฟล็อกซาซิน (Ofloxacin) สามารถเพิ่มความเสี่ยงทำให้เส้นเอ็นอักเสบ ทั้งนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี
    • การใช้ยาเพรดนิโซโลนร่วมกับยารักษาโรคหัวใจดิจิทาลิส (Digitalis) อาจกระตุ้นให้เกิดผลข้างเคียงของยาดิจิทาลิสได้ง่ายขึ้น
    • การใช้ยาเพรดนิโซโลนร่วมกับยาขับปัสสาวะ (Diuretics) อาจทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ มีอาการอ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้
    • การใช้ยาเพรดนิโซโลนร่วมกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อจากวัคซีน และอาจทำให้ร่างกายตอบสนองต่อวัคซีนได้ไม่ดีเท่าที่ควร จนไม่เกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน จึงไม่แนะนำให้ใช้ร่วมกัน
    • นอกจากนี้ยังมียาอื่น ๆ อีกหลายชนิดที่สามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างกันได้
  • เป็นโรคอีสุกอีใส หัด เริม วัณโรค กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing’s syndrome) โรคจิตประสาท โรคต้อหิน โรคต้อกระจก โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินอาหาร แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ โรคไทรอยด์ โรคตับ โรคไต โรคกระดูกพรุน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชัก
  • มีการใช้ยานี้ก่อนการผ่าตัด 12 เดือน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาเพรดนิโซโลน

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาเพรดนิโซโลน และยากลุ่มสเตียรอยด์
  • ห้ามใช้ยาเพรดนิโซโลนในผู้ที่แพ้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดอื่นแบบรุนแรง เช่น โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis), กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome) และผื่นแพ้ยา Toxic epidermal necrolysis เนื่องจากมีรายงานการแพ้ยาข้ามกันได้ แม้จะพบได้น้อยก็ตาม
  • ห้ามใช้ยาเพรดนิโซโลนในขนาดกดภูมิคุ้มกันกับผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดตัวเป็น ผู้ที่ได้รับยาเพรดนิโซโลนควรเลื่อนการรับวัคซีนชนิดตัวเป็นออกไปอย่างน้อย 3 เดือนหลังจากหยุดยาเพรดนิโซโลน และไม่ควรรับวัคซีนใด ๆ ในผู้ใช้ยาเพรดนิโซโลน เนื่องจากยาเพรดนิโซโลนจะลดการตอบสนองในการสร้างแอนติบอดีต่อวัคซีนชนิดอื่น ๆ รวมทั้งวัคซีนชนิดตัวตายได้
  • ห้ามใช้ยาเพรดนิโซโลนที่มีแลคโตส (Lactose) เป็นส่วนประกอบกับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางพันธุกรรมที่มีการดูดซึมกลูโคส-กาแลคโตสผิดปกติ (Glucose-Galactose malabsorption)
  • ห้ามใช้ยามิฟีพริสโตน (Mifepristone) ในผู้ที่กำลังใช้ยาเพรดนิโซโลนเป็นเวลานานเพื่อรักษาอาการหรือภาวะโรคที่รุนแรง เนื่องจากยามิฟีพริสโตนอาจลดฤทธิ์การรักษาของยาเพรดนิโซโลนได้
  • ห้ามใช้ยาเพรดนิโซโลนกับผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้, ลำไส้อุดตัน, ลำไส้ทะลุ, ทางเดินอาหารมีรูทะลุ หรือผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดเชื่อมลำไส้ เพราะยานี้อาจทำให้กระเพาะและลำไส้ทะลุได้ (เว้นแต่ในสถานการณ์ที่หากไม่ได้ใช้ยานี้แล้วจะมีอันตรายถึงชีวิต)
  • ห้ามใช้ยาเพรดนิโซโลนกับผู้ป่วยโรคจิตหรือโรคประสาทในระยะรุนแรง (อาจทำให้เกิดอาการทางจิตและประสาทที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้นได้), ผู้ป่วยโรคเบาหวาน (อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงและทำให้โรคเบาหวานรุนแรงขึ้นได้), ผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อหิน (อาจทำให้อาการของโรคเหล่านี้กำเริบมากขึ้น), ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระจกตาอักเสบจากเริม (อาจทำให้กระจกตาทะลุได้), ผู้ป่วยโรคคุชชิง (อาจทำให้อาการของโรคคุชชิงรุนแรงขึ้น)
  • ห้ามใช้ยาเพรดนิโซโลนกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อแบบทั่วกายหรือผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ได้รักษา เช่น โรควัณโรค (ยกเว้นการใช้เป็นยาเสริมร่วมกับยายับยั้งเชื้อวัณโรค), โรคติดเชื้อไวรัส (เช่น ไวรัสวาริเซลลา (Varicella virus)), โรคติดเชื้อราแบบทั่วกาย (เว้นแต่มีข้อบ่งใช้ยาเพรดนิโซโลนในการรักษาโรคติดเชื้อนั้นและใช้ยาต้านเชื้อรักษาอยู่) เนื่องจากยาเพรดนิโซโลนอาจทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทำให้เชื้อโรคลุกลามและมีจำนวนมากขึ้น แต่กลับซุกซ่อนอาการจากการติดเชื้อโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัว
  • ห้ามใช้ยาเพรดนิโซโลนในขนาดตั้งแต่วันละ 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ 20 มิลลิกรัมขึ้นไป กับผู้ที่ได้รับวัคซีนไวรัสชนิดตัวเป็น เนื่องจากยาในขนาดนี้จะมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันและอาจทำให้ผู้ได้รับวัคซีนกลับมาติดเชื้อไวรัสจากวัคซีนได้ (ยกเว้นการใช้ยาเพรดนิโซโลนในระยะสั้นไม่เกิน 2 สัปดาห์ หรือใช้ยาขนาดต่ำถึงปานกลาง หรือใช้ยาแบบวันเว้นวัน หรือใช้ยาในขนาดทดแทนฮอร์โมนคอร์ติโคสเตียรอยด์ในร่างกาย)
  • ห้ามใช้ยาเพรดนิโซโลนเป็นเวลากับทารกแรกเกิด (อายุไม่เกิน 1 เดือน) และเด็ก (อายุ 1 – ไม่เกิน 12 ปี) และควรระมัดระวังการใช้กับวัยรุ่น เนื่องจากยานี้จะทำให้พัฒนาการด้านการเจริญเติบโตล่าช้าและกระดูกหักได้ง่าย แต่หากจำเป็นต้องใช้ยานี้ก็ควรใช้ในขนาดต่ำสุดที่ยังคงให้ผลการรักษา และควรให้ยาวันละ 1 ครั้ง แบบวันเว้นวัน พร้อมทั้งติดตามการเจริญเติบโตของเด็กอยู่เสมอ
  • ห้ามใช้ยาเพรดนิโซโลนในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากมีรายงานทารกซึ่งเกิดจากแม่ที่ใช้ยาเพรดนิโซโลนเป็นประจำในระหว่างการตั้งครรภ์มีเพดานโหว่ ตายคลอด และคลอดก่อนกำหนด
  • ห้ามใช้ยาเพรดนิโซโลนในหญิงให้นมบุตร เนื่องจากยาเพรดนิโซโลนสามารถถูกขับออกมาทางน้ำนมได้ หากแม่ใช้ยาในขนาดกดภูมิคุ้มกัน อาจไปกดการทำงานของต่อมหมวกไตในทารก อย่างไรก็ตาม สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (American Academy of Pediatrics) ถือว่า สามารถให้ยาเพรดนิโซโลนในหญิงให้นมบุตรได้ หากขนาดยาต่อวันไม่เกิน 40 มิลลิกรัม เนื่องจากไม่ค่อยทำให้เกิดผลทั่วกาย (Systemic effects) ในทารก หากจำเป็นต้องใช้ยานี้และให้นมด้วย อาจลดปริมาณยาที่ทารกจะได้รับจากน้ำนมโดยการหลีกเลี่ยงการให้นมในช่วง 3-4 ชั่วโมงหลังจากรับประทานยา
  • ห้ามใช้ยาเพรดนิโซโลนในผู้สูงอายุที่มีอาการเพ้อ (Delirium) หรือมีแนวโน้มสูงว่าจะมีอาการเพ้อ เพราะจะทำให้อาการเพ้อกำเริบได้ แต่หากจำเป็นต้องใช้ยาเพรดนิโซโลนก็ต้องติดตามการใช้ยาอย่างใกล้ชิด
  • ควรระมัดระวังในการใช้ยาเพรดนิโซโลนในผู้ป่วยโรคต้อกระจก, ผู้ป่วยโรคจิต อารมณ์ไม่คงที่ ซึมเศร้า อาการฟุ้งพล่าน (โดยเฉพาะผู้ที่เคยเป็นโรคจิตจากสเตียรอยด์มาก่อน), ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นวัณโรคหรือแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้, ผู้ป่วยที่ไตทำงานบกพร่องหรือไตล้มเหลวแบบเรื้อรัง, ผู้ที่เป็นโรคลมชัก, ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี (Myasthenia gravis) หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อและประสาทอื่น (โดยเฉพาะเมื่อได้รับยาที่มีฤทธิ์ Anticholinesterase ร่วมด้วย), ผู้มีประวัติเป็นวัณโรค, ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคกล้ามเนื้อที่มีสาเหตุมาจากคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพราะอาจทำให้อาการของโรคที่เป็นอยู่นี้กำเริบรุนแรงได้
  • ควรระมัดระวังในการใช้ยาเพรดนิโซโลนในผู้ป่วยเหล่านี้ ได้แก่
    1. ผู้ป่วยโรคต้อหิน หรือเคยมีประวัติเป็นโรคต้อหิน หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคต้อหิน เพราะการใช้ยานี้เป็นเวลานานจะทำให้ความดันในลูกตาสูง และอาจทำให้เกิดอันตรายต่อประสาทตาได้ หากใช้ยานี้เกิน 10 วันขึ้นไป ควรตรวจติดตามความดันในลูกตาอย่างสม่ำเสมอ
    2. ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เพราะอาจทำให้น้ำและโซเดียมคั่ง ทำให้เกิดอาการบวม และมีความดันโลหิตสูงมากขึ้น
    3. ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน เพราะยานี้จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้
    4. ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวเหตุเลือดคั่ง (Congestive heart failure) เนื่องจากอาจทำให้น้ำและโซเดียมคั่ง ทำให้บวม ซึ่งทำให้อาการหัวใจล้มเหลวกำเริบมากขึ้น
    5. ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย เพราะอาจทำให้ Ventricular free-wall ด้านซ้ายฉีกขาด
    6. ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดมีลิ่มเลือด (Intravascular thrombosis) ภาวะหลอดเลือดดำอักเสบมีลิ่มเลือด (Thrombophlebitis) และภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด (Thromboembolism) เนื่องจากยานี้จะเพิ่มการแข็งตัวของเลือด และทำให้ภาวะเหล่านี้รุนแรงมากขึ้น
    7. ผู้ป่วยที่มีภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) เนื่องจากอาจทำให้การกำจัดยาเพรดนิโซโลนในร่างกายลดลง ทำให้ยานี้มีฤทธิ์มากขึ้น และอาจทำให้กลับมาเป็นภาวะต่อมไทรอยด์ทำงาน (Hyperthyroidism) ได้
    8. ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในทางเดินอาหาร คือ ลำไส้อักเสบแบบมีแผลเปื่อยแบบไม่จำเพาะ (Nonspecific ulcerative colitis) ซึ่งมีความเสี่ยงที่ลำไส้จะทะลุ, ติ่งเนื้ออักเสบในลำไส้ใหญ่ (Diverticulitis), มีฝี (Abscess), ติดเชื้อมีหนองในทางเดินอาหาร และผู้ที่เคยถูกผ่าตัดเชื่อมต่อลำไส้ (Intestinal anastomosis) แต่ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่เพิ่งผ่าตัดเชื่อมลำไส้เนื่องจากยาเพรดนิโซโลนทำให้ลำไส้ทะลุ
    9. ผู้ที่การทำงานของตับบกพร่อง ตับล้มเหลว และตับแข็ง (Cirrhosis) เนื่องจากยานี้จะถูกเมแทบอไลซ์ที่ตับ จึงทำให้ระดับยาในเลือดสูงขึ้น และเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียงจากยามากขึ้น
    10. ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน เพราะอาจทำให้กระดูกแตกหักง่าย โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
    11. ผู้ที่แพ้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดอื่นที่ไม่รุนแรง เพราะอาจเกิดการแพ้ยาข้ามกันได้
    12. ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดตัวเป็น เพราะเชื้อในวัคซีนอาจทำให้เกิดโรคกับผู้ป่วย
    13. ผู้สูงอายุที่ใช้ยาเพรดนิโซโลนเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจากยาได้มาก เช่น กระดูกพรุน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โพแทสเซียมในเลือดต่ำ ผิวหนังบาง ไวต่อการติดเชื้อ
  • ควรใช้ยานี้เท่าที่จำเป็น ห้ามใช่พร่ำเพรื่อ และอย่าใช้เป็นยาลดไข้แก้ปวด หรือแก้อักเสบ โดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุ
  • สำหรับยาหยอดตาเพรดนิโซโลน ห้ามนำไปใช้กับผู้ป่วยที่โรคต้อหิน เยื่อตาขาวอักเสบจากการติดเชื้อ

วิธีใช้ยาเพรดนิโซโลน

  • สำหรับใช้ต้านอักเสบ กดภูมิคุ้มกัน หรือรักษาอาการแพ้ ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาวันละ 5-60 มิลลิกรัม* ส่วนในเด็กให้รับประทานยาวันละ 0.1-2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 1-4 ครั้ง
  • สำหรับใช้รักษาโรคหืดกำเริบระดับปานกลางถึงรุนแรง ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาวันละ 40-80 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งตอนเช้า หรือแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2 ครั้ง จนกระทั่งค่าอัตราการไหลของอากาศหายใจออกที่สูงที่สุด (Peak expiratory flow – PEF) ถึง 70% ของค่าที่คาดไว้ (Predicted value) หรือค่าที่ดีที่สุดของผู้ป่วย ส่วนในเด็กเล็กและเด็กโต (อายุ 1 ปี – ไม่ถึง 12 ปี) ให้รับประทานยาวันละ 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (สูงสุดไม่เกินวันละ 60 มิลลิกรัม) โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2 ครั้ง จนกระทั่งค่า PEF ถึง 70% ของค่าที่คาดไว้ หรือค่าที่ดีที่สุดของผู้ป่วย โดยทั้งหมดนี้จะมีระยะเวลาในการรักษาประมาณ 3-10 วัน (หากระยะเวลาการรักษายังไม่ถึง 1 สัปดาห์ ยังไม่จำเป็นต้องค่อย ๆ ลดขนาดและหยุดยา)
  • สำหรับใช้รักษาโรคหืดกำเริบเฉียบพลัน ในผู้ใหญ่และวัยรุ่น (อายุ 12 ปีขึ้นไป) ให้รับประทานยาวันละ 40-60 มิลลิกรัม, ในเด็กโต (อายุ 5 ปี – ไม่ถึง 12 ปี) ให้รับประทานยาวันละ 1-2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (ให้ได้ถึง 60 มิลลิกรัม) ส่วนในเด็กทารกและเด็กเล็ก (อายุ 1 เดือน – ไม่ถึง 5 ปี) ให้รับประทานยาวันละ 1-2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (ให้ได้ถึง 30 มิลลิกรัม) โดยทั้งหมดนี้ให้แบ่งรับประทานเป็นวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 3-10 วัน
  • สำหรับป้องกันอาการในผู้ป่วยที่มีอาการหืดรุนแรงในระยะยาว ในผู้ใหญ่และวัยรุ่น (อายุ 12 ปีขึ้นไป) ให้รับประทานยาวันละ 7.5-60 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งตอนเช้า หรือวันเว้นวัน และค่อย ๆ ลดขนาดยาให้ต่ำสุดที่ยังคงให้ผลในการป้องกัน ส่วนในเด็กทารก เด็กเล็ก และเด็กโต (อายุ 1 เดือน – ไม่ถึง 12 ปี) ให้รับประทานยาวันละ 0.25-2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 1 ครั้งตอนเช้า หรือวันเว้นวัน เมื่อควบคุมอาการได้แล้ว ค่อย ๆ ลดขนาดยาให้ต่ำสุดที่ยังคงให้ผลการรักษา
  • สำหรับใช้รักษาภาวะโลหิตจางที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงแตกโดยภูมิต้านทานตนเอง, รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบแบบมีแผลเปื่อย/การอักเสบของลำไส้เล็กหรือโรคโครห์น, ใช้รักษาแบบแบบประคับประคองในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันในเด็ก, ใช้ควบคุมอาการของโรคซาร์คอยด์ที่มีอาการ, ใช้เป็นยาเสริมสำหรับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, ใช้รักษาการปฏิเสธการปลูกถ่ายไต และใช้เป็นยาบำบัดเพื่อควบคุมให้โรคสงบต่อไป (Maintenance therapy) ในโรคหัวใจอักเสบรูมาติกแบบเฉียบพลัน/โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบแบบทั่วกาย/โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบแบบทั่วกาย ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาวันละ 5-60 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือแบ่งรับประทานเป็นวันละหลายครั้ง ส่วนในเด็กทารก เด็กเล็ก เด็กโต และวัยรุ่น (อายุ 1 เดือน – ไม่ถึง 18 ปี) ให้รับประทานยาวันละ 0.14-2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือวันละ 4-60 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิว 1 ตารางเมตร โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 3 ครั้ง
  • สำหรับใช้รักษาเพอร์พิวราชนิดเกล็ดเลือดน้อยที่ไม่ทราบสาเหตุในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาวันละ 5-60 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือแบ่งรับประทานวันละหลายครั้ง
  • สำหรับใช้รักษาโรคไตรั่วหรือกลุ่มอาการเนโฟรติก (Nephrotic syndrome) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาวันละ 40-80 มิลลิกรัม โดยรับประทานจนกว่าปัสสาวะจะไม่มีโปรตีน แล้วจึงค่อย ๆ ลดขนาดยาลง (ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้เวลาในการรักษานาน) ส่วนในเด็กทารก เด็กเล็ก เด็กโต และวัยรุ่น (อายุ 1 เดือน – ไม่ถึง 18 ปี) ให้รับประทานยาวันละ 2 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิว 1 ตารางเมตร หรือวันละ 60 มิลลิกรัม (สูงสุดไม่เกินวันละ 80 มิลลิกรัม) โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 3 ครั้ง จนกว่าปัสสาวะจะไม่มีโปรตีนติดต่อกัน 3 วัน (สูงสุด 28 วัน) แล้วตามด้วยขนาด 1-1.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือวันละ 40 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิว 1 ตารางเมตร รับประทานแบบวันเว้นวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ หากจำเป็นอาจให้ขนาดยาที่ใช้ควบคุมอาการ (Maintenance dose) ในระยะยาวในขนาด 0.5-1 มิลลิกรัม วันเว้นวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 3-6 เดือน
  • สำหรับใช้รักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) ในระยะอาการกำเริบเฉียบพลัน ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาวันละ 200 มิลลิกรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และให้รับประทานยาต่อไปอีก โดยลดขนาดยาลงเหลือวันละ 80 มิลลิกรัม ทุกวันติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน
  • สำหรับใช้รักษาเยื่อตาขาวอักเสบจากการแพ้ (Allergic conjunctivitis) ให้ใช้ยาหยอดตาเพรดนิโซโลน หยอดตาครั้งละ 1-2 หยด ทุก 4-8 ชั่วโมง (ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 7 วัน หรือใช้พร่ำเพรื่อ เพราะอาจทำให้เป็นต้อหินได้) และก่อนใช้ยาหยอดตาทุกครั้ง ควรรู้ให้ชัดว่าเป็นยาชนิดใด เพราะยาหยอดตามีหลายชนิด ซึ่งใช้กับโรคได้ต่างชนิดกัน เพราะถ้านำไปใช้แบบผิด ๆ ก็อาจทำให้ตาเสียได้

หมายเหตุ : * ในระยะแรกต้องรับประทานยานี้ในขนาดสูงก่อน และค่อยปรับขนาดยาตามความรุนแรงของโรค โดยโรคที่เป็นเฉียบพลันควรใช้ในช่วงสั้น ๆ และค่อย ๆ ปรับลดขนาดลงทีละน้อยจนสามารถหยุดยาได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ส่วนโรคที่เป็นเรื้อรัง จะให้คงยา (ในขนาดที่ปรับลดลง หรือในขนาดน้อยที่สุดที่ยังสามารถควบคุมอาการได้) เป็นระยะยาว จนแน่ใจว่าโรคทุเลาดีแล้ว จึงจะหยุดยา แต่ถ้ามีอาการกำเริบขึ้นใหม่ก็อาจต้องให้รับประทานยาใหม่

คำแนะนำเพิ่มเติมในการใช้ยาเพรดนิโซโลน

  • ขนาดการใช้ยานี้มีความหลากหลายขึ้นอยู่กับโรค ความรุนแรง และการตอบสนองทางคลินิกทั้งในด้านของผลการรักษาและความสามารถในการทนต่อผลข้างเคียงจากยาของผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยควรใช้ยานี้ในขนาดที่ต่ำสุดที่ยังคงมีผลในการรักษาและใช้ในระยะเวลาน้อยที่สุดเพื่อลดผลข้างเคียงจากยา หากจำเป็นต้องใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน แพทย์จะประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วย ติดตามผลการรักษาและอาการข้างเคียงของยาเป็นระยะ ๆ เมื่อใช้ยาไปจนสามารถควบคุมอาการของโรคได้แล้ว ให้ลดขนาดยาลงให้อยู่ในขนาดต่ำสุดที่ยังสามารถควบคุมอาการของโรคได้แล้วจึงค่อยหยุดใช้ยา
  • ขนาดการใช้ยาดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น แพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้พิจารณาปรับขนาดการรับประทานและสั่งจ่ายยาได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของโรค สภาพร่างกาย และวัยของผู้ป่วย โดยเฉพาะในเด็กที่ต้องคำนวณขนาดยาตามน้ำหนักตัว
  • ให้รับประทานยาเพรดนิโซโลนพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที หรือรับประทานยาพร้อมนม (ควรกลืนยาทันที ไม่ควรเคี้ยวเม็ดยาหรือทำให้แตกก่อนรับประทาน) หลังจากรับประทานยาควรดื่มน้ำตามมาก ๆ เพื่อลดผลข้างเคียงในระบบทางเดินอาหาร ถ้ารับประทานยาวันละ 1 ครั้ง ให้รับประทานในตอนเช้า (เพื่อเป็นการเลียนแบบการหลั่งคอร์ติซอล (Cortisol) ตามธรรมชาติ ซึ่งจะหลั่งออกมามากที่สุดในช่วงเวลา 7-8 นาฬิกา การรับประทานยาในช่วงนี้จึงเป็นเวลาที่ผู้ป่วยจะได้รับคอร์ติซอลสูงเป็นปกติอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาน้อยกว่าการรับประทานในช่วงเวลาอื่น) หรือให้ใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ผู้ป่วยห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • การรับประทานยาแบบวันเว้นวันเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อลดผลข้างเคียงจากยา โดยการรับประทานยาวันละ 1 ครั้ง ในตอนเช้าแบบวันเว้นวัน (ให้ยาห่างกันทุก 48 ชั่วโมง) แต่การให้ยาแบบนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อการให้ยาแบบทุกวันมีผลในการรักษาเพียงพอแล้ว ส่วนวิธีการเปลี่ยนจากการให้ยาทุกวันมาเป็นแบบวันเว้นวันมีอยู่หลายวิธี เช่น วันที่ได้รับยาให้รับประทานยาในขนาดเป็น 2 เท่าของขนาดที่เคยให้ทุกวัน และเว้นการรับยาไปอีกวัน แล้วทำสลับเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ หรืออีกวิธีให้เริ่มจากเพิ่มขนาดยาอีก 5 มิลลิกรัมจากขนาดที่เคยได้รับทุกวัน และลดขนาดยาลงอีก 5 มิลลิกรัมในวันที่วางแผนจะไม่ให้ยา จนกระทั่งเหลือขนาดยาเป็น 0 ในวันที่วางแผนจะไม่ให้ยา แล้วจึงคงขนาดนี้ไปเรื่อย ๆ เป็นต้น และเมื่อควบคุมอาการของโรคได้แล้วอาจค่อย ๆ ลดขนาดยาในวันที่ได้รับยาให้เหลือขนาดต่ำสุดที่ยังให้ผลการรักษา (วิธีนี้อาจไม่สามารถควบคุมโรคได้ผลเสมอไป)
  • ผู้ป่วยไม่ควรหยุดรับประทานยาด้วยตัวเอง เนื่องจากการหยุดยาในทันทีจะทำให้เกิดอาการถอนยาได้ (ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ควรปรับลดขนาดยาลงทีละน้อยภายใต้คำแนะนำของแพทย์จนสามารถหยุดยาได้ในที่สุด เพื่อป้องกันอาการถอนยา)
  • การลดขนาดยาและหยุดยาเพรดนิโซโลนต้องพิจารณาเป็นกรณีไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะโรคที่ผู้ป่วยกำลังได้รับการรักษา ปัจจัยส่วนบุคคลของผู้ป่วย เช่น แนวโน้มการกำเริบของโรค ระยะเวลาในการใช้ยา
    • การจะค่อย ๆ ลดขนาดยาได้นั้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นผู้ป่วยที่มีแนวโน้มที่จะไม่มีการกำเริบของโรค เช่น ผู้ป่วยได้รับยาเพรดนิโซโลนมากกว่าวันละ 40 มิลลิกรัม เป็นเวลามากกว่า 1 สัปดาห์, ได้รับยาวันละหลายครั้ง ซึ่งจะได้รับยาซ้ำอีกครั้งในตอนเย็น, ได้รับยาในขนาดที่มีผลทางเภสัชวิทยาและรักษามาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 3 สัปดาห์, เพิ่งได้รับการรักษาด้วยยานี้ซ้ำ โดยใช้เวลารักษามากกว่า 3 สัปดาห์, ได้รับยานี้รักษาแบบระยะสั้น หลังจากหยุดการรักษาแบบระยะยาวมาแล้วภายใน 1 ปี, มีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้มีการกดต่อมหมวกไต เป็นต้น
    • บางกรณีอาจหยุดใช้ยาแบบกะทันหันได้ในผู้ป่วยที่ไม่ค่อยมีแนวโน้มของโรคกำเริบหรือผู้ที่ได้รับการรักษาไม่เกิน 3 สัปดาห์ และผู้ที่ไม่อยู่ในกลุ่มข้างต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดยาด้วย หากใช้ยาในขนาดสูง ๆ อาจต้องค่อย ๆ ลดขนาดยาลงเพื่อความปลอดภัย
    • แนวทางการจะค่อย ๆ ลดขนาดยามีอยู่ด้วยกันหลายวิธี เช่น ลดขนาดยาลง 2.5 มิลลิกรัม ทุก 3-7 วัน จนกระทั่งขนาดยาเทียบเท่ากับการหลั่งกลูโคคอร์ติคอยด์ตามธรรมชาติของต่อมหมวกไตต่อวัน หากโรคกลับมากำเริบ ให้กลับไปใช้ยาในขนาดสุดท้ายก่อนที่จะลดขนาดยา และควรลดขนาดยาอย่างช้า ๆ ไปเรื่อยจนได้ขนาดยาที่ใช้ควบคุมอาการ (Maintenance dose) ได้ วันละ 5-10 มิลลิกรัม เป็นเวลา 4 สัปดาห์ (ถ้าได้รับยาในขนาดสูงหรือใช้ยามาเป็นเวลานาน ควรใช้เวลาในการลดขนาดยาประมาณ 9-12 เดือน)
    • หลังจากหยุดยานี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการไวต่อภาวะที่ต่อมใต้สมองและต่อมหมวกไตทำงานไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในระหว่างที่มีภาวะเครียดเชิงสรีระ เช่น การติดเชื้อ ผ่าตัด ได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น จึงควรใช้ยาเพรดนิโซโลนเพิ่มเติม
  • หากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบด้วยว่ากำลังใช้ยาเพรดนิโซโลนอยู่
  • ผู้ที่อยู่ในภาวะเครียดเชิงสรีระ เช่น ติดเชื้อ ผ่าตัด เจ็บป่วย บาดเจ็บ เสียเลือดแบบเฉียบพลัน ควรเพิ่มขนาดยาเพรดนิโซโลน
  • ไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) ในขณะที่รับประทานยาเพรดนิโซโลนอยู่
  • เนื่องจากยานี้มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันและทำให้ติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น หัด เริม อีสุกอีใส ซึ่งอาจลุกลามจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ผู้ป่วยจึงควรสังเกตอาการติดเชื้อระหว่างการใช้ยานี้และต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ที่เป็นโรคเหล่านี้ หากผู้ป่วยมีการสัมผัสและไม่เคยมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเหล่านี้มาก่อน ต้องรีบไปพบแพทย์ภายใน 10 วัน หลังจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อ และหากผู้ป่วยเกิดเป็นโรคติดเชื้อเหล่านี้ก็ต้องรีบรักษาให้หายโดยเร็ว
  • ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้มาก ผู้ป่วยจึงควรสังเกตอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นทั้งในระหว่างการใช้ยาและหลังจากหยุดยาไปแล้ว 12 เดือน (เฉพาะในกรณีที่ใช้ยาเป็นเวลานาน) หากสงสัยว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง ให้กลับไปพบแพทย์ทันที

วิธีใช้ยาเพรดนิโซโลนครีม

  • เพรดนิโซโลนครีม เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคผิวหนังอักเสบจากการแพ้ (เช่น อาการปวด บวม แดงร้อน), ผื่นแพ้จากการสัมผัส, อาการคันลักษณะต่าง ๆ (เช่น อาการที่ผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และอาการคันที่ผิวหนังหนาร่วมด้วย), ผื่นอักเสบแดงแบบมีตุ่มน้ำจากการแพ้ นอกจากนี้ยาเพรดนิโซโลนครีมยังมีสรรพคุณอีกหลายประการ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้เลือกใช้ตามความเหมาะสม
  • ข้อห้ามในการใช้เพรดนิโซโลนครีม คือ
    • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาเพรดนิโซโลนหรือยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ตัวอื่น
    • ห้ามใช้กับสิวคล้ายกุหลาบ (ผิวหนังรอบจมูกอักเสบเป็นสีแดงรุนแรง), การอักเสบรอบปาก (มีผื่นเป็นจุดแดง ๆ รอบปาก) และห้ามใช้กับการติดเชื้อที่ผิวหนังจากเชื้อไวรัส เชื้อรา และแบคทีเรีย เช่น น้ำกัดเท้า กลาก เริม หัด อีสุกอีใส เพราะอาจทำให้โรคลุกลามได้
    • ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่เป็นโรคต้อกระจก ต้อหิน เบาหวาน วัณโรค ผิวหนังบาง อย่าใช้ยานี้ก่อนจะปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพราะคนกลุ่มนี้อาจเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากยาได้มากกว่าผู้อื่น หรือทำให้โรคที่เป็นอยู่รุนแรงมากขึ้น
  • วิธีใช้ยาครีมเพรดนิโซโลน ให้ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งหรือตามคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด ซึ่งโดยทั่วไปจะให้ทาวันละ 1-2 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละราย (ก่อนการทายาให้ทำความสะอาดบริเวณที่จะทายาและรอให้ผิวแห้ง ล้างมือให้สะอาดและทำให้มือแห้ง แล้วจึงใช้นิ้วป้ายยาและทายาบาง ๆ ลงบริเวณที่เป็น และถูเบา ๆ เพื่อให้ยากระจายทั่วบริเวณที่เป็น หลังจากทายาเสร็จให้ล้างมือทุกครั้ง ยกเว้นบริเวณที่รักษาอยู่บริเวณมือ)
  • คำแนะนำในการทายาเพิ่มเติม คือ หลีกเลี่ยงการทายาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในเด็กทารกและเด็กเล็ก (เว้นแต่แพทย์จะสั่ง), ไม่ทายาบริเวณใบหน้า ขาหนีบ รักแร้ โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร (อาจทำให้ผิวหนังบางและแตกเป็นริ้วรอยได้), ห้ามใช้วัสดุ เช่น ผ้าพันแผลชนิดปิดแน่น ปิดทับบริเวณที่ทายา รวมถึงหลีกเลี่ยงการใส่ผ้าอ้อมที่รัดแน่นหรือผ้าอ้อมพลาสติกในเด็กที่ทายานี้ (เพราะจะเป็นการเพิ่มปริมาณยาที่จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง)
  • ผลข้างเคียงจากการทายานี้มากเกินไปหรือนานเกินไป เช่น ผิวหนังบางลง ผิวหนังแตกเป็นลาย และอาการที่เกิดจากยาถูกดูดซึมมากเกินไปดังที่กล่าวมา
  • หากเกิดอาการข้างเคียงรุนแรง ต้องหยุดยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น ผื่น แดง บวม ผิวหนังแสบร้อน มีตุ่มพอง ผิวหนังลอก มีอาการปวด, เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง, มีอาการทางตาเมื่อทายาใกล้ตา เช่น ปวดตา มองเห็นไม่ชัด ตาเบลอ (ถ้ามีอาการข้างเคียงไม่รุนแรงก็ไม่จำเป็นต้องหยุดยา แต่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ เช่น อาการคัน)

เพรดนิโซโลนครีม
IMAGE SOURCE : www.chombunghospital.com

การเก็บรักษายาเพรดนิโซโลน

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ในอุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ)
  • ให้ทิ้งยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว

เมื่อลืมรับประทานยาเพรดนิโซโลน

  • ในกรณีที่รับประทานยาทุกวัน วันละ 1 ครั้ง ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าลืมรับประทานยานานเกิน 12 ชั่วโมง ให้เว้นมื้อของวันนั้นไปและรอรับประทานยามื้อต่อไปในวันรุ่งขึ้นตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
  • ในกรณีที่รับประทานยาทุกวัน วันละมากกว่า 1 ครั้ง หากนึกได้ก่อนถึงเวลารับประทานยามื้อต่อไปตั้งแต่ 2 ชั่วโมงขึ้นไป ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้ายังไม่ 2 ชั่วโมง ให้เว้นมื้อนั้นไป และรอรับประทานยามื้อต่อไปตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
  • ในกรณีที่รับประทานยาแบบวันเว้นวัน วันละ 1 ครั้ง ในวันที่ต้องรับประทานยา ให้รับประทานยาในช่วงเช้าก่อนเที่ยง แต่ถ้าลืมรับประทานยาในช่วงเช้าและนึกได้หลังเที่ยงวันของวันนั้น ให้รอรับประทานยาทดแทนในเช้าวันต่อไป และเว้นการรับประทานยา 1 วัน แล้วรับประทานยามื้อต่อไปตามแผนการรับประทานเดิมแบบวันเว้นวัน โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของยาเพรดนิโซโลน

  • ผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ได้แก่
    • กลุ่มอาการที่เกิดจากการถอนยา การใช้ยาเพรดนิโซโลนในขนาดที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเป็นเวลานานมักทำให้ต่อมหมวกไตฝ่อ เนื่องจากร่างกายได้รับฮอร์โมนคอร์ติโคสเตียรอยด์จากภายนอกเป็นเวลานาน จึงกด HPA axis โดยคอร์ติโคสเตียรอยด์จากภายนอกจะไปยับยั้งการทำงานของต่อมใต้สมองในการหลั่ง Adrenocorticotropin hormone (ACTH) หรืออาจเรียกว่า Corticotrophin ทำให้ต่อมหมวกไตขาด ACTH ที่ต้องใช้ในการสังเคราะห์ฮอร์โมนคอร์ติโคสเตียรอยด์และแอนโดรเจน ต่อมหมวกไตจึงหยุดผลิตฮอร์โมนเหล่านี้และเกิดการฝ่อ เมื่อผู้ป่วยหยุดใช้ยาอย่างกะทันหันก็จะทำให้ร่างกายขาด Corticotrophin เพราะต่อมหมวกไตไม่สามารถผลิตฮอร์โมนคอร์ติโคสเตียรอยด์มาทดแทนได้ทัน และเกิดอาการถอนยา ทำให้ความดันโลหิตต่ำ หมดสติ และเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้มีอาการอื่น ๆ เช่น ไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ซึม เยื่อจมูกอักเสบ ความดันในสมองสูงแบบไม่รุนแรง จิตใจเปลี่ยนแปลง อารมณ์เปลี่ยนแปลง เยื่อบุตาขาวอักเสบ จานประสาทตาบวม ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนแรง ผิวหนังมีตุ่มนูนซึ่งคันและเจ็บ ผิวหนังอักเสบแบบหลุดลอก น้ำหนักตัวลดลง เป็นต้น ทั้งนี้ความรุนแรงของการเกิดอาการถอนยาจะขึ้นอยู่กับความไวของแต่ละบุคคล ขนาดยา ความถี่ เวลา และระยะเวลาในการได้รับยา ดังนั้น ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ต้องค่อย ๆ ปรับลดขนาดยาลงทีละน้อย เพื่อให้ต่อมหมวกไตค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น ผู้ป่วยห้ามหยุดยาทันทีเป็นอันขาด ถ้าต่อมหมวกไตยังฟื้นตัวไม่ดี (การฟื้นตัวของต่อมหมวกไต มักใช้เวลานานเป็นแรมปี) สำหรับผู้ป่วยที่กินยาชุดหรือยาลูกกลอนสมุนไพรที่เข้าสเตียรอยด์เป็นเวลานาน เมื่อต้องการจะเลิกยา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางค่อย ๆ ลดขนาดยาลง เพราะหากหยุดยาทันทีก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน
    • การไม่ตอบสนองของต่อมใต้สมองและต่อมหมวกไตแบบทุติยภูมิ (Secondary adrenocortical and pituitary unresponsiveness) โดยเฉพาะเวลาที่มีภาวะเครียดทางสรีระ เช่น การได้รับบาดเจ็บ ผ่าตัด หรือเจ็บป่วย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดข้อ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ เหนื่อยอ่อน อ่อนเพลียอย่างรุนแรง และความดันโลหิตต่ำจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากรอดชีวิต แม้จะหยุดยาแล้วอาการเหล่านี้ก็อาจจะคงอยู่นาน 9-12 เดือน และแม้จะไม่มีอาการแล้ว แต่ถ้าผู้ป่วยอยู่ในภาวะเครียดก็จะเกิดอาการได้อีก จึงจำเป็นต้องเพิ่มขนาดคอร์ติโคสเตียรอยด์ในระหว่างที่ผู้ป่วยมีความเครียดทางสรีระ
    • การติดเชื้อรุนแรงจนอาจทำให้เสียชีวิต การได้รับยาเพรดนิโซโลนตั้งแต่วันละ 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมขึ้นไป โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ทำให้คอร์ติโคสเตียรอยด์ในร่างกายสูงขึ้น หรือยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันอื่น ๆ จะทำให้ติดเชื้อได้ง่ายและบดบังอาการทางคลินิกของการติดเชื้อ เช่น การอักเสบและมีไข้ จึงทำให้ติดเชื้อรุนแรงยิ่งขึ้นจนอาจเสียชีวิตได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด, การติดเชื้อวัณโรคหรือวัณโรคที่สงบอยู่ลุกลามขึ้นมาอีก, อีสุกอีใส, เริม, การติดเชื้อรา และโรคพยาธิสตรองจีลอยด์ ซึ่งอาจทำให้มีอาการอาเจียน ท้องร่วง ปวดท้อง ท้องอืด ความดันโลหิตต่ำ โพแทสเซียมในเลือดต่ำและช็อก (ผู้ป่วยที่ได้รับยาในขนาดปานกลางเป็นระยะเวลาสั้น ๆ หรือได้รับยาในขนาดต่ำเป็นระยะเวลานานก็มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วยเช่นกัน)
    • รอยโรคที่หลอดเลือดแดงเล็ก (Small arteries และหลอดเลือดแดงจิ๋ว (Arterioles) การใช้ยาเพรดนิโซโลนในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และลดขนาดยาอย่างกะทันหันอาจทำให้เสียชีวิตได้จากการเกิดรอยโรคดังกล่าว คล้ายโรคหลอดเลือดแดงหลายขนาดอักเสบ (Polyarteritis)
    • อาการแพ้แบบรุนแรง เช่น โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis), กลุ่มอาการสตีเวนส์-จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome) และ Toxic epidermal necrolysis
  • ผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายทำให้เกิดความพิการหรือต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล เช่น
    • ปัญหาเกี่ยวกับกระดูก ผู้ใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นเวลานานจะมีปัญหากระดูกพรุน ซึ่งถือเป็นผลข้างเคียงที่รุนแรงมากที่สุดของการใช้ยานี้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่กระดูกอาจแตกหักได้เอง (ที่พบบ่อย คือ กระดูกสันหลัง และกระดูกที่มีรูปร่างยาว), ทำให้กระดูกตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยง, กระดูกส่วนหัวของต้นขาและต้นแขนตายโดยไม่มีการติดเชื้อ โดยอาการเหล่านี้มักพบในผู้ป่วยที่ใช้ยาเพรดนิโซโลนเป็นเวลานาน ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่อ่อนแอ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงควรได้รับการติดตามภาวะกระดูกพรุนอย่างใกล้ชนิดในระหว่างที่ได้รับการรักษาด้วยยานี้เป็นเวลานาน และหากมีปัญหากระดูกพรุนอาจจำเป็นต้องหยุดยา ยกเว้นเป็นการใช้ยาเพื่อรักษาอาการที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
    • กลุ่มอาการคุชชิง การใช้ยาเพรดนิโซโลนในขนาดสูงหรือใช้เป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการคล้ายกับการมีคอร์ติซอลสูง (Hypercorticism) ซึ่งมีลักษณะของต่อมหมวกไตทำงานมากเกินไป ทำให้มีการสะสมไขมันผิดที่ อ้วนที่กลางตัว หน้ากลมคล้ายดวงจันทร์ และมีหนอกที่ไหล่ ผู้ป่วยอาจมีปัญหาทางจิต ความดันในสมองสูง ตาเป็นต้อหิน ตาเป็นต้อกระจกแบบ Subcapsular cataract น้ำตาลในเลือดสูง ประจำเดือนผิดปกติ ขาดประจำเดือน แผลหายช้า มีสิว มีขนแบบผู้ชาย ผิวหนังแตกเป็นริ้วลายขนาน เมื่อหยุดใช้ยาจะต้องใช้เวลาหลายเดือนจึงกลับมาหายเป็นปกติ
    • เอ็นฉีกขาด (Tendon rupture) โดยเฉพาะเอ็นร้อยหวาย
  • ผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่สามารถพบได้ แต่ไม่สามารถระบุความถี่ของการเกิดอาการแต่ละชนิดได้เนื่องจากขึ้นอยู่กับขนาดยาและระยะเวลาในการรักษา มีดังนี้
    • ระบบจิตและประสาท เช่น อารมณ์แปรปรวน (เช่น หงุดหงิด เคลิ้ม ซึมเศร้า อารมณ์ไม่คงที่ มีความคิดฆ่าตัวตาย), พฤติกรรมเปลี่ยนไป (เช่น นอนไม่หลับ ทุรนทุราย วิตกกังวล บุคลิกภาพเปลี่ยนไป มีปัญหาเรื่องความคิดความอ่าน สับสน สูญเสียความจำ), มีอาการทางจิต (เช่น อาการฟุ้งพล่าน หลงผิด เพ้อ ประสาทอ่อน ประสาทหลอน ทำให้โรคจิตเภทรุนแรงขึ้น), คลื่นสมองผิดปกติ, อาการบ้านหมุน, ชัก, ทำให้โรคลมชักรุนแรงขึ้น, การติดยาเพรดนิโซโลน เป็นต้น
    • ระบบกล้ามเนื้อและประสาท เช่น ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ซึ่งเรียกว่า “Steroid myopathy” จึงทำให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อฝ่อ กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงลง เกิดอัมพฤกษ์แขนขาสองข้าง นอกจากนี้ยังมีรายงานโรคเส้นประสาทส่วนปลายจากการขาดเลือด (Ischemic peripheral neuropathy) และอาการผิดปกติแบบเอ็กซ์ทราพีรามิดัล (Extrapyramidal sign) ซึ่งพบมากขึ้นในผู้ที่ได้รับยารักษาโรคจิตร่วมด้วย
    • ระบบทางเดินหายใจ เช่น เลือดกำเดาไหล
    • ระบบเลือด เช่น ทำให้จำนวนของเม็ดเลือดขาวที่สะสมอยู่ในบริเวณที่เกิดการอักเสบลดลง
    • ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจเต้นช้าลงหรือเร็วขึ้น, ใจสั่น, หลอดเลือดอักเสบ, ภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด, ไขมันหลุดอุดหลอดเลือด, โรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง, หลอดเลือดดำอักเสบมีลิ่มเลือด, กลุ่มอาการนิ้วเท้าเป็นสีคล้ำ, ระบบไหลเวียนล้มเหลว เป็นต้น
    • ระบบต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิก เช่น การพัฒนาด้านการเจริญเติบโตล่าช้าในทารก เด็ก และวัยรุ่น, ระดับน้ำตาลในเลือดสูง, คอเลสเตอรอลในเลือดสูง, ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง, ไขมันไม่ดี (LDL) ในเลือดสูง, ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน, เพิ่มความอยากอาหาร, น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น, สมดุลไนโตรเจนของร่างกายเป็นลบ เนื่องจากมีการสลายโปรตีน ทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลง ความผิดปกติด้านของเหลวและอิเล็กโทรไลต์ เช่น ทำให้เกิดการคั่งของน้ำและโซเดียม บวมน้ำ และทำให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมา, ทำให้ระดับความเข้มข้นของโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ภาวะร่างกายเป็นด่างร่วมกับระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemic alkalosis) และถ้าหากรุนแรงหรือผู้ป่วยมีความไวก็อาจทำให้หัวใจล้มเหลวเหตุเลือดคั่ง (Congestive heart failure) ได้, ทำให้เกิดภาวะความเข้มข้นของแคลเซียมต่ำ (Hypocalcemia)
    • ระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารไม่ย่อย แผลเปื่อยในกระเพาะอาหาร กระเพาะทะลุ ลำไส้ทะลุ เลือดออกในทางเดินอาหาร แผลเปื่อยในหลอดอาหาร, มีเชื้อราแคนดิดาในช่องปากและหลอดอาหาร และอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน สะอึก ท้องอืด เบื่ออาหาร และน้ำหนักตัวลดตามมา นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดอาการท้องร่วง ท้องผูก ปวดท้อง ตับอ่อนอักเสบแบบเฉียบพลัน ลิ้นอักเสบ ปากอักเสบ แต่ก็พบได้น้อย
    • ระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปวดปัสสาวะเฉียบพลัน (แต่พบอาการเหล่านี้ได้น้อย), มีการเปลี่ยนแปลงการสร้างอสุจิโดยอาจสร้างมากขึ้นหรือน้อยลง
    • ปัญหาทางผิวหนัง เช่น ทำให้เกิดสิวสเตียรอยด์ (Steroid acne), ติดเชื้อราที่เยื่อบุเมือก เล็บ และผิวหนัง, ทำให้แผลหายช้า, ผิวหนังบางลง, ผิวหนังฝ่อ, โรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมา (Kaposi’s sarcoma), เนื้องอกไขมันบริเวณเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก, เนื้อเยื่อไขมันใต้หนังอักเสบ, ผิวเป็นรอย, หลอดเลือดฝอยพอง, ผิวหนังแตกเป็นริ้วลายขนาน, หน้าแดง, ภาวะหลั่งเหงื่อมาก, ผิวอักเสบจากการแพ้, มีจุดเลือดออก, เลือดออกใต้ผิวหนัง, ผิวฟกช้ำได้ง่าย, ภาวะมีขนแบบผู้ชาย, ผื่นแพ้ยา เช่น ลมพิษ
    • ปัญหาทางตา เช่น ทำให้ความดันในลูกตาเพิ่มขึ้น จึงเสี่ยงต่อการเกิดต้อหิน จานประสาทตาบวม หรือภาวะความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูง (Pseudotumor cerebri) ในเด็ก ผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะ ตาพร่า หรือมองเห็นภาพซ้อน นอกจากนี้ เพรดนิโซโลนยังอาจทำให้โรคติดเชื้อไวรัสและเชื้อราในตารุนแรงขึ้น, ต้อกระจุกแบบ Posterior subcapsular cataract และ Nuclear cataract, กระจกตาบางลง, เปลือกลูกตาหรือตาขาวบางลง, จอตาลอกรุนแรง, เกิดการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อราในตารุนแรงขึ้น ทำให้ตาบอดกะทันหัน, ทำให้ตาโปน, ทำให้เกิดโรคบริเวณกระจกตาและคอรอยด์แบบ Central serous chorioretinopathy
  • การใช้ยาหยอดตาเพรดนิโซโลนอย่างพร่ำเพรื่อ หรือใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เป็นต้อหินได้
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “สตีรอยด์ (Steroid)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 274-276.
  2. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “ยาหยอดตาสตีรอยด์ (Steroid eyedrops)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 310.
  3. สำนักยา.  “เอกสารกำกับยามาตรฐานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) 2.5, 5 มิลลิกรัม ชนิดเม็ด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : drug.fda.moph.go.th.  [08 ต.ค. 2016].
  4. สำนักยา.  “เอกสารกำกับยาสำหรับประชาชนของเพรดนิโซโลนชนิดครีมทาผิวหนัง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : drug.fda.moph.go.th.  [08 ต.ค. 2016].
  5. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “PREDNISOLONE”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.yaandyou.net.  [08 ต.ค. 2016].
  6. หาหมอดอทคอม.  “ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [08 ต.ค. 2016].
  7. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เพรดนิโซโลน (Prednisolone)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [08 ต.ค. 2016].
  8. เครือข่ายความร่วมมือบริการเภสัชสนเทศ.  “อาการข้างเคียงจากการลดยาเพ็นนิโซโลน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : drug.pharmacy.psu.ac.th.  [09 ต.ค. 2016].
  9. โรงพยาบาลป่าพะยอม.  “PREDNISOLONE”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phapayomhospital.com.  [09 ต.ค. 2016].
  10. Drugs.com.  “Prednisolone”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com.  [09 ต.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด