เปลือกตาอักเสบ
เปลือกตาอักเสบ หรือ หนังตาอักเสบ (Blepharitis หรือ Eyelid inflammation) คือ การอักเสบของผิวหนังบริเวณเปลือกตาหรือหนังตาและเนื้อเยื่อใกล้เคียง เช่น ขนตา, ต่อมรอบโคนขนตา, ต่อมสร้างน้ำตาที่ขอบเปลือกตาซึ่งเรียกว่า “ต่อมไมโบเมียน” (Meibomian gland) ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างน้ำตาชั้นนอกสุดที่เป็นชั้นไขมัน ช่วยให้น้ำตาไม่ระเหยเร็ว
เปลือกตาอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อย สามารถพบได้ในคนทุกวัยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ผู้ชายและผู้หญิงก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ใกล้เคียงกัน โดยทั่วไปมักพบในผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และโดยมากเปลือกตาอักเสบมักจะเป็นกับตาทั้ง 2 ข้าง และเป็นแบบเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ ส่งผลทำให้ตาแห้ง ขนตาเกเข้าเขี่ยกระจกตา ตลอดจนผิวกระจกตาอักเสบ
เปลือกตาอักเสบอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ดังนี้
- เปลือกตาอักเสบชนิดที่เกิดจากเปลือกตาติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcal blepharitis)
- เปลือกตาอักเสบชนิดที่เป็นการอักเสบของผิวหนังรอบ ๆ ต่อมสร้างไขมันที่เปลือกตา (Seborrheic blepharitis)
- เปลือกตาอักเสบชนิดที่เกิดจากต่อมไมโบเมียนทำงานผิดปกติ (Posterior blepharitis หรือมักเรียกกันว่า Meibomian gland dysfunction – MGD) โดยปกติแล้วต่อมไมโบเมียนจะสร้างสารที่เรียกว่า “Meibum” ที่มีลักษณะใส สีเหลือง ๆ เป็นส่วนประกอบของชั้นไขมันที่อยู่บนสุดของชั้นน้ำตา เมื่อต่อมไมโบเมียนเกิดทำงานผิดปกติ สาร Meibum ที่ออกมาจะมีลักษณะข้นเป็นสีขาวคล้ายแป้งเปียก ทำให้มีการสร้างน้ำตาในชั้นไขมันได้น้อยลง จึงมีผลทำให้น้ำตาระเหยเร็ว ทำให้เกิดอาการตาแห้ง ตาแดง คันตา เคืองตา แสบตา น้ำตาไหล หรืออาจมีการสร้างไขมันมาก ทำให้เกิดการอักเสบของเปลือกตา ส่งผลให้เกิดอาการหนังตาแดง มีคราบขี้ตาหรือสะเก็ดบริเวณขนตา
นอกจากนี้ยังอาจแบ่งภาวะเปลือกตาอักเสบออกได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ดังนี้
- การอักเสบส่วนหน้า (ประกอบด้วยขนตาและต่อมรอบโคนขนตา) ได้แก่ การอักเสบของเปลือกตาชนิดที่เกิดจากเปลือกตาติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcal blepharitis) และการอักเสบของเปลือกตาชนิดที่เป็นการอักเสบของผิวหนังรอบ ๆ ต่อมสร้างไขมันที่เปลือกตา (Seborrheic blepharitis)
- การอักเสบส่วนหลัง (ประกอบด้วยต่อมไมโบเมียน) ได้แก่ การอักเสบของเปลือกตาชนิดที่เกิดจากต่อมไมโบเมียนทำงานผิดปกติ (Posterior blepharitis หรือมักเรียกกันว่า Meibomian gland dysfunction – MGD) ซึ่งจะไม่กล่าวถึงในบทความนี้ เพราะโดยทั่วไปแล้วถ้าเราพูดถึงเปลือกตาอักเสบ เรามักจะหมายถึงเฉพาะการอักเสบส่วนหน้าที่มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ชนิด Staphylococcal blepharitis และ Seborrheic blepharitis ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้จะมีลักษณะอาการของการอักเสบส่วนใหญ่ที่คล้ายกัน และแตกต่างกันแต่เพียงเล็กน้อยดังที่จะกล่าวในหัวข้ออาการ
สาเหตุของเปลือกตาอักเสบ
สาเหตุที่ทำให้เปลือกตาอักเสบ ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะเปลือกตาอักเสบ ได้แก่
- การได้รับสิ่งสกปรกบริเวณเปลือกตา เช่น ฝุ่นละออง การเขียนขอบตา การติดขนตาปลอม การใช้เครื่องสำอางบริเวณรอบดวงตา การสักขอบเปลือกตา เป็นต้น และยังรวมไปถึงการใส่เลนส์สัมผัสหรือคอนแทคเลนส์เป็นประจำด้วย
- การมีโรคต่าง ๆ รอบดวงตา เช่น ตาแห้ง ขนตางอกผิดทิศทาง เยื่อบุตาอักเสบ กระจกตาอักเสบ มีเหาที่ขนตา เป็นต้น
- การมีภาวะภูมิแพ้ของตา รวมทั้งโรคทางระบบร่างกาย เช่น โรคภูมิแพ้, โรคแพ้ภูมิตนเอง, โรคต่อมไมโบเมียนทำงานผิดปกติ (MGD), โรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis), โรคโรซาเซีย (Rosacea), ผู้มีภาวะหมดประจำเดือน, มีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง เป็นต้น
- การได้รับยาบางอย่าง เช่น ยาแก้แพ้ ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต เป็นต้น
อาการของเปลือกตาอักเสบ
- อาการของเปลือกตาอักเสบชนิดที่เกิดจากเปลือกตาติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcal blepharitis) เป็นชนิดที่มักพบในคนที่มีอายุน้อย เชื้อต้นเหตุมักอยู่ที่บริเวณใบหน้า โดยผู้ป่วยจะมีอาการระคายเคืองตา แสบตา คันตา เปลือกตาหรือหนังตาแดง น้ำตาไหล รู้สึกเหมือนมีผงหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ทำให้ตามัว ๆ ซึ่งอาการจะเป็น ๆ หาย ๆ อาการมักจะเป็นมากในตอนเช้า พอสายอาการจะดีขึ้น (ต่างกับโรคตาแห้งที่ตอนเช้ามักไม่มีอาการ แต่จะมีอาการมากในตอนบ่ายหรือตอนเย็น) เปลือกตาจะบวม โดยเฉพาะบริเวณขอบหนังตาจะเห็นหลอดเลือดบริเวณนั้นขยายตัว มีสะเก็ดรอบ ๆ ขนตาเป็นวง ๆ ร่วมกับมีอาการเยื่อบุตาจะแดง (ตาแดง) ขนตามักเปลี่ยนเป็นสีขาว มีขนตาร่วงได้มากกว่าเปลือกตาอักเสบชนิด Seborrheic blepharitis และบริเวณส่วนผิวหนังของเปลือกตาอาจเป็นแผลถลอก มีเนื้อเยื่อหลุดลอกเป็นแผลให้เห็น ในขณะที่เปลือกตาอักเสบชนิด Seborrheic blepharitis มักไม่ค่อยพบอาการนี้
- อาการเปลือกตาอักเสบชนิดที่เป็นการอักเสบของผิวหนังรอบ ๆ ต่อมสร้างไขมันที่เปลือกตา (Seborrheic blepharitis) เป็นชนิดที่มักพบในคนวัยกลางคนและผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) โดยผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับเปลือกตาอักเสบชนิด Staphylococcal blepharitis แต่จะมีอาการน้อยกว่า มักพบได้ในคนหน้ามัน มีสะเก็ดเป็นเกล็ดมัน ๆ แบบไขมันที่หนังตา ขนตา ขนคิ้ว
อนึ่ง เปลือกตาอักเสบทั้ง 2 ชนิดอาจพบภาวะอักเสบเป็นแผลเล็ก ๆ บริเวณด้านล่างกระจกตา (Punctate epithelial erosion) ได้ แต่จะพบในเปลือกตาอักเสบชนิด Staphylococcal blepharitis มากกว่า และยังอาจพบการอักเสบที่ขอบกระจกตา (Marginal keratitis) ได้มากกว่าด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ เปลือกตาอักเสบทั้ง 2 ชนิดเมื่อเป็นนานเข้าจะทำให้เกิดภาวะตาแห้งจากการขาดน้ำตาชั้น Aqueous ได้ ดังนั้น ในผู้ป่วยบางรายจึงอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการตาแห้งก็ได้
หากคุณมีอาการเหล่านี้บ่อย ๆ แสดงว่าอาจมีปัญหาของโรคเปลือกตาอักเสบได้ เช่น ตาเป็นกุ้งยิง, เปลือกตาบวม แดง มีตุ่มคล้ายสิว, หนังตาแดง มีคราบขี้ตาหรือสะเก็ดบริเวณขนตา, ขอบเปลือกตามีตุ่มใส ๆ, ขนตาเก, ตาแห้ง ตาแดง คันตา เคืองตา แสบตา น้ำตาไหล
ภาวะแทรกซ้อนของเปลือกตาอักเสบ
- อาจทำให้ขนตาร่วง ขนตาผิดรูปร่างหรือขึ้นผิดทิศทาง หรือทำให้เปลือกตาผิดรูปร่าง มีการม้วนเข้าในหรือม้วนออกนอกได้ เมื่อขนตาหรือเปลือกตาผิดรูปร่างอาจทำให้ปลายขนตาไปเขี่ยกับผิวกระจกตาแล้วก่อให้เกิดอาการระคายเคืองตา เกิดกระจกตาอักเสบ กระจกตาขุ่นเป็นแผลเป็น หรือในรายที่เป็นรุนแรงมาก ๆ กระจกตาอาจอักเสบจนทะลุได้ ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดแก้ไขขนตาเกด้วย
- อาจทำให้เกิดภาวะตาแห้งตามมา ซึ่งเกิดจากการขาดน้ำตาชั้น Aqueous จึงส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการแสบตา เคืองตาเรื้อรังได้
- ผู้ป่วยบางรายอาจมีหลอดเลือดจากการอักเสบเกิดล้ำเข้าไปในกระจกตา ส่งผลทำให้เกิดอาการตาแดงได้บ่อย ๆ อีกทั้งยังทำให้กระจกตาเป็นฝ้าขาวได้ด้วย
- อาจมีชีวพิษ (Toxin) จากเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคพลัดเข้าไปในน้ำตาและก่อให้เกิดแผลอักเสบเล็ก ๆ ที่กระจกตา (Superficial punctale keratitis) ได้ ซึ่งมักจะเกิดบริเวณส่วนล่างของกระจกตา จึงส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการระคายเคืองตามากขึ้น
- เปลือกตาอักเสบชนิด Staphylococcal blepharitis อาจทำให้เกิดการอักเสบที่ขอบกระจกตา (Marginal keratitis) ได้
การวินิจฉัยเปลือกตาอักเสบ
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากลักษณะทางคลินิก โดยการอาศัยประวัติอาการเปลือกตาบวม เจ็บตา ตาแดง แสบตา เปลือกตาบวม คล้ายกับมีผงอยู่ในตา ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการในตอนเช้า พอสายหน่อยอาการจะดีขึ้น ร่วมกับการตรวจพบหนังตาบวมแดง ในการอักเสบของเปลือกตาชนิด Staphylococcal blepharitis จะมีสะเก็ดเป็นขุย ๆ หรือมีสะเก็ดเป็นมันในการอักเสบชนิดของเปลือกตาชนิด Seborrheic blepharitis นอกจากนี้อาจพบเยื่อบุตาแดง (ตาแดง) ภาวะตาแห้ง ร่วมกับมีการอักเสบเป็นแผลของผิวกระจกตา
วิธีรักษาเปลือกตาอักเสบ
- การทำความสะอาดเปลือกตา (โดยเฉพาะบริเวณรูเปิดของต่อมไมโบเมียน) เพื่อความสะอาด สบายตา และลดปริมาณเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกที่อยู่ขอบเปลือกตาและรอบเปลือกตา โดยควรทำความสะอาดวันละ 2-4 ครั้ง (ถ้าอาการดีขึ้นให้ลดลงเป็นวันละ 1-2 ครั้ง) โดยมีวิธีการดังนี้
- ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนเริ่มทำความสะอาดเปลือกตา แล้วให้ใช้ไม้พันสำลีหรือสำลีแผ่นที่ไม่มีขุย นำมาชุบกับน้ำอุ่นต้มสุก หรือชุบกับน้ำอุ่นผสมแชมพูสระผมเด็กที่ระคายเคืองต่อผิวหรือตาน้อยที่สุด (แต่ต้องระวังอย่าให้เข้าตา เพื่อป้องกันการแสบตาหรือระคายเคืองตา เนื่องจากไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับดวงตาโดยตรง) หรือจะชุบกับผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดเปลือกตาโดยเฉพาะ (Lid Scrub) ก็ได้จะดีมาก เช่น OCuSOFT® ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 สูตร คือ สูตรออริจินัล (Original) สำหรับใช้ทำความสะอาดเปลือกตาเป็นประจำทุกวัน ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการเปลือกตาอักเสบในระยะเริ่มแรกหรือมีความเสี่ยงที่จะเป็น (เช่น ผู้ที่แต่งหน้า ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ) เพราะสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคของต่อมไมโบเมียนที่ขอบเปลือกตาได้ (เช่น ตากุ้งยิง เปลือกตาอักเสบ เป็นต้น) และสูตรพลัส (Plus) สำหรับใช้ทำความสะอาดเปลือกตาในผู้ป่วยที่มีภาวะเปลือกตาอักเสบระดับปานกลางถึงรุนแรง หรือผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ หรือผู้ป่วยที่มีอาการเปลือกตาอักเสบร่วมกับการติดเชื้อ หรือผู้ป่วยที่พบว่าที่ขนตามีเชื้อไรเดโมเด็กซ์ (Demodex) โดยนำมาใช้เช็ดทำความสะอาดเปลือกตาและขอบตาโดยไม่ต้องล้างออก
- ให้ชุบพอหมาด ๆ แล้วให้เช็ดทำความสะอาดบริเวณเปลือกตาและขอบเปลือกตาเบา ๆ ประมาณ 30 วินาที (ไม่ควรถูเปลือกตาแรงเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดแผลได้) และให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรืออาจจะไม่ต้องล้างออกถ้าใช้ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาสำหรับทาทิ้งไว้โดยเฉพาะ
- ในระหว่างนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางบริเวณขอบตาทุกชนิดจนกว่าโรคจะหายดี แต่หากจำเป็นต้องใช้ ต้องรีบเช็ดออกทันทีหลังเสร็จภารกิจ
- การประคบอุ่นที่เปลือกตา เป็นการรักษาหลัก ๆ สำหรับภาวะเปลือกตาอักเสบ เพราะความอุ่นจะช่วยทำให้มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณที่อักเสบและช่วยละลายไขมันที่เป็นสารตกค้างอยู่ได้ ซึ่งจะทำให้ไขมันที่อุดตันไหลออกมาได้ง่าย และช่วยให้อาการอักเสบที่เป็นอยู่ลดลง โดยอุปกรณ์ที่สามารถนำมาใช้ในการประคบอุ่นที่เปลือกตาได้มีหลายอย่าง เช่น ผ้าชุบน้ำอุ่น, ถุงเจลประคบร้อน-เย็น (ลักษณะเป็นถุงพลาสติกหนาสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในบรรจุเจลสีน้ำเงินฟ้า ก่อนนำมาใช้ให้นำถุงเจลไปแช่น้ำร้อนเสียก่อน), ถุงน้ำร้อน, น้ำร้อนใส่ขวดแก้วขนาดเล็กที่ปิดฝาสนิท, ไข่ต้มสุกที่อุ่นร้อน, ข้าวหุงสุกที่อุ่นร้อนที่นำมาใส่ในถุงพลาสติก หรือจะเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น Warming eye mask เป็นต้น สำหรับวิธีการประคบอุ่นนั้น มีดังนี้
- ก่อนทำการประคบให้นำอุปกรณ์ประคบอุ่นมาทดสอบอุณหภูมิที่หลังมือเสียก่อน โดยอุณหภูมิที่เหมาะสม คือ ประมาณ 40 องศาเซลเซียส (ไม่ควรร้อนจัด เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตาได้)
- ให้หลับตาลง แล้ววางผ้าบาง ๆ ไว้ 1 ชั้น ก่อนที่จะนำอุปกรณ์สำหรับประคบอุ่นวางลงไป
- ให้วางอุปกรณ์สำหรับประคบอุ่นลงบนเปลือกตาทั้ง 2 ข้าง นานติดต่อกันอย่างน้อย 5-15 นาที หากอุปกรณ์ที่นำมาประคบอุ่นมีอุณหภูมิลดลงมาก ให้นำไปอุ่นร้อนใหม่ แล้วประคบต่อจนครบตามเวลา (แนะนำว่าควรมีอุปกรณ์ประคบอุ่นสำรองเผื่อไว้ด้วย)
- ในช่วงแรกให้ประคบอุ่นวันละ 2-4 ครั้ง ถ้ามีอาการน้อยลงหรือเมื่ออาการดีขึ้นแล้วให้ลดลงเป็นวันละประมาณ 1-2 ครั้ง
- การนวดเปลือกตา ให้ดึงหัวตาและหางตาให้ตึง แล้วนวดเปลือกตาบนโดยการกดรูดจากบนลงล่าง ส่วนตาล่างให้นวดโดยการกดรูดจากล่างขึ้นบน ซึ่งจะเป็นการนวดตามการวางตัวของต่อมไมโบเมียน (Meibomian gland) ที่ขอบเปลือกตา เพื่อให้ไขมันที่อุดตันอยู่ในต่อมระบายออกมา นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์บางอย่างที่ช่วยในการนวดเปลือกตาได้อีกด้วย เช่น แท่งหลอดแก้ว ไม้พันสำลี หรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปอื่น ๆ เป็นต้น
- ไปพบแพทย์ หากดูแลตนเองในเบื้องต้นตามข้อ 1-3 แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์หรือจักษุแพทย์ แต่ถ้ามีอาการมากตั้งแต่แรกหรือมีอาการเลวลงในระหว่างการดูแลตนเองต้องรีบไปพบแพทย์ทันที ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาเปลือกตาอักเสบตามแนวทางในข้อถัดไป
- การใช้ยาป้ายตา/ยาหยอดตา มีอยู่ด้วยกันหลายแบบ ดังนี้
- ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาขี้ผึ้งคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) ที่ใช้ป้ายตาบริเวณขอบเปลือกตาหลังทำความสะอาดเปลือกตาแล้วในช่วงก่อนเข้านอน, ยาหยอดตาอะซิโทรมัยซิน (Azithromycin), ยาหยอดตาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) และยาหยอดตากลุ่มควิโนโลน (Quinolones) เป็นต้น (มักใช้ยาปฏิชีวนะป้ายตาในกรณีที่เป็นเปลือกตาอักเสบชนิด Staphylococcal blepharitis แต่หากเป็นเปลือกตาอักเสบชนิด Seborrheic blepharitis อาจไม่จำเป็นต้องป้ายยาปฏิชีวนะ แต่ควรให้การรักษาผิวหนังรอบ ๆ ตา ซึ่งมักจะมีโรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์มร่วมด้วย ร่วมไปกับการรักษาควบคุมโรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม) และถ้ามีการอักเสบมากของเปลือกตาอาจใช้ยาป้ายตาชนิดที่มีสเตียรอยด์เพื่อช่วยลดการอักเสบร่วมด้วย ทั้งนี้ควรให้จักษุแพทย์เป็นผู้แนะนำชนิดของยาที่จะใช้ แต่หากใช้ยาปฏิชีวนะดังกล่าวแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานร่วมด้วย
- ยาหยอดตาสเตียรอยด์ มักใช้เพื่อลดการอักเสบในผู้ป่วยที่มีอาการของกระจกตาอักเสบร่วมด้วยหรือที่มีการอักเสบรุนแรง โดยจะใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งการใช้ยานี้จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น เนื่องจากยาอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอันตรายได้
- น้ำตาเทียม มักใช้ในกรณีที่เป็นการอักเสบเรื้อรังแล้วผู้ป่วยมีอาการตาแห้งร่วมด้วย เพื่อช่วยหล่อลื่นผิวตาซึ่งมักจะแห้งเนื่องจากน้ำตาระเหยเร็วไป และช่วยชะล้างสารที่กระตุ้นการอักเสบ ซึ่งควรใช้น้ำตาเทียมชนิดที่ไม่มีสารกันเสีย ให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาได้นาน มีไขมันเป็นส่วนประกอบเพื่อช่วยทดแทนชั้นไขมันที่ลดน้อยไป มีค่าออสโมลาลิตี (Osmolality) ต่ำ และมีคุณสมบัติที่ช่วยสมานแผลที่ผิวกระจกตาได้ดี
- การใช้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานให้ในผู้ป่วยบางรายร่วมด้วย (โดยเฉพาะในรายที่เป็นเปลือกตาอักเสบชนิด Staphylococcal blepharitis ซึ่งผู้ป่วยมักจะเป็นอย่างเรื้อรัง และการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดป้ายตาเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ) ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะให้รับประทานทานนานประมาณ 6-8 สัปดาห์ (หากรับประทานยาแล้วหายใจไม่ออก หน้าบวม มีผื่นขึ้น หรือมีปัญหาในการใช้ยาปฏิชีวนะ ควรพบแพทย์ทันที) ซึ่งยาปฏิชีวนะที่แพทย์สั่งจ่ายมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ตัวอย่างเช่น
- ยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) ขนาดเม็ดละ 250 มิลลิกรัม ใช้รับประทานหลังอาหารทันที ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 4 ครั้ง (ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร)
- ยาดอกซีไซคลีน (Doxycycline) ขนาดเม็ดละ 100 มิลลิกรัม ใช้รับประทานหลังอาหารทันที ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง (ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร)
- ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ขนาดเม็ดละ 250 มิลลิกรัม ใช้รับประทานก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 4 ครั้ง ซึ่งมักใช้สำหรับผู้ป่วยที่แพ้ยาทั้งสองชนิดดังกล่าว
- การผ่าตัด เป็นการผ่าตัดเพื่อช่วยให้รูของต่อมไมโบเมียนที่ขอบเปลือกตาเปิด หรือเป็นการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะแทรกซ้อนจากเปลือกตาอักเสบเรื้อรัง เช่น การผ่าตัดแก้ไขเปลือกตาเพื่อไม่ให้ขนตาเข้าเขี่ยกระจกตา กระจกตามีแผลเป็นขนาดใหญ่ เป็นต้น
- การรักษาอื่น ๆ เช่น การถอนหรือจี้ขนตาเก การอุดท่อน้ำตา เป็นต้น
- ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ และควรไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่าง ๆ เลวลง หรือมีอาการทางสายตา (เช่น มองเห็นภาพไม่ชัด) หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่
โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีกถ้าไม่รักษาความสะอาดของเปลือกตาและใบหน้าให้ดี และ/หรือไม่สามารถควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ดี แต่ถ้าผู้ป่วยมีการดูแลสุขภาพอนามัยที่บริเวณเปลือกตา ใบหน้า ตลอดจนสุขภาพร่างกายที่ดีแล้ว ก็จะทำให้โรคหายเร็วและไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก
วิธีป้องกันเปลือกตาอักเสบ
- การดูแลรักษาความสะอาดเปลือกตาเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันการเกิดภาวะเปลือกตาอักเสบได้ โดยควรรักษาความสะอาดบริเวณเปลือกตา ผิวหนังรอบตา และที่ใบหน้าให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้เครื่องสำอางจะต้องล้างออกให้สะอาดก่อนเข้านอนทุกครั้ง
- รักษาและควบคุมโรคต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเปลือกตาอักเสบให้ดี
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “หนังตาอักเสบ (Blepharitis)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 941-942.
- หาหมอดอทคอม. “เปลือกตาอักเสบ หรือ หนังตาอักเสบ (Blepharitis)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [11 ธ.ค. 2016].
- ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “เปลือกตาอักเสบ อย่าคิดว่าไม่สำคัญ”. (ศ.พญ.สมสงวน อัษญคุณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.med.cmu.ac.th. [11 ธ.ค. 2016].
- โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์. “การดูแลรักษาโรคขอบเปลือกตาอักเสบ”. (พญ.ณฐมน ศรีสำราญ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : theworldmedicalcenter.com. [12 ธ.ค. 2016].
- SOPTIK. “เปลือกตาอักเสบ”. (พญ.อรทัย ชาญสันติ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.isoptik.com. [12 ธ.ค. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)