เปราะหอม
เปราะหอม ชื่อสามัญ Sand ginger, Aromatic ginger, Resurrection lily
เปราะหอม ชื่อวิทยาศาสตร์ Kaempferia galanga L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Kaempferia marginata Carey ex Roscoe) จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)[1]
สมุนไพรเปราะหอม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เปราะหอมขาว เปราะหอมแดง หอมเปราะ (ภาคกลาง), ว่านหอม ว่านแผ่นดินเย็น ว่านตีนดิน (ภาคเหนือ), เปราะ (ภาคใต้), ว่านนกยูง ว่านหาวนอน (เชียงใหม่), ซู (แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[3],[4]
ลักษณะของเปราะหอม
- ต้นเปราะหอม จัดเป็นพืชล้มลุก มีอายุราวหนึ่งปี ทั้งเปราะหอมขาวและเปราะหอมแดง เป็นไม้ลงหัวจำพวกมหากาฬ มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน หรือที่เรียกว่า “เหง้า” เนื้อภายในของเหง้ามีสีเหลืองอ่อนและมีสีเหลืองเข้มตามขอบนอก และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีรสเผ็ดขม เป็นพืชที่ชอบดินร่วนปนทราย มีความชุ่มชื้นพอเพียง เจริญเติบโตได้ดีในที่ร่ม เจริญเติบโตในช่วงฤดูฝน พอย่างเข้าฤดูหนาวต้นและใบจะโทรมไป และพบได้มากทางภาคเหนือ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดหรือแยกหัว[1],[2],[3]
- ใบเปราะหอม มีใบเป็นใบเดี่ยว แทงขึ้นมาจากหัวหรือเหง้าใต้ดินประมาณ 2-3 ใบ และแผ่ราบไปตามพื้นดิน หรือวางตัวอยู่ในแนวราบเหนือพื้นดินเล็กน้อย เนื้อใบค่อนข้างหนา ลักษณะของใบเป็นรูปค่อนข้างกลมหรือเป็นรูปไข่ป้อม มีขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ส่วนโคนใบมนหรืออาจเว้าเล็กน้อย บางครั้งอาจพบว่าขอบใบมีสีแดงคล้ำ ๆ มีขนอ่อน ๆ อยู่บริเวณท้องใบ ส่วนก้านใบมีลักษณะเป็นกาบ มีความยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร[1]
- ใบอ่อนเปราะหอม ลักษณะม้วนเป็นกระบอกออกมาแล้วค่อยแผ่ราบบนหน้าดิน ในหนึ่งต้นจะมีประมาณ 1-2 ใบ ลักษณะของใบมีรูปร่างทรงกลมโตและยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร หน้าใบหรือหลังใบมีสีเขียว ส่วนท้องใบนั้นถ้าหากเป็น “เปราะหอมขาว” จะมีท้องใบสีขาว แต่ถ้าหากเป็น “เปราะหอมแดง” ท้องใบนั้นจะมีสีแดง ใบมีกลิ่นหอม งอกงามในช่วงหน้าฝนและจะแห้งเหี่ยวไปในช่วงหน้าแล้ง[1]
- ดอกเปราะหอม ออกดอกรวมเป็นช่อ มีความยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร มีดอกประมาณ 4-12 ดอก โดยออกดอกตรงกลางระหว่างใบ ดอกมีสีขาวหรือสีขาวอมชมพูแต้มด้วยสีม่วง ในแต่ละดอกจะมีกลีบประดับ 2 กลีบรองรับอยู่ โดยใบและต้นนั้นจะเริ่มแห้งเมื่อออกดอก[1]
- ผลเปราะหอม ผลเป็นผลแห้งและแตกได้[1]
สรรพคุณเปราะหอม
- การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า ว่านเปราะหอมหรือเปราะหอม มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ (หัว)[5]
- ใช้เป็นยาแก้ปวดศีรษะ คลายเครียด ด้วยการใช้ทั้งหัวและใบนำมาโขลก ใส่น้ำพอชุ่ม แล้วเอาไปชุบนำมาใช้คลุมหัว หรือจะใช้เฉพาะหัวนำมาตำคั้นเอาน้ำไปผสมกับแป้งหรือว่านหูเสือ ก็จะได้แป้งดินสอพองไว้ทาขมับแก้อาการปวดศีรษะ (หัว, ใบ)[5]
- ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ด้วยการใช้หัวผสมลงในยาหอม (หัว)[5]
- หัวเปราะหอมนำมาต้มหรือชงกิน จะช่วยในการนอนหลับได้เป็นอย่างดี และยังช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย (หัว)[5]
- น้ำคั้นจากใบและเหง้าใช้ป้ายคอ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้ (ใบ, หัว)[2]
- น้ำคั้นจากใบและเหง้าใช้ล้างศีรษะเพื่อช่วยป้องกันการเกิดรังแค รักษาอาการหนังศีรษะแห้ง (ใบ, หัว)[2],[5]
- น้ำมันหอมระเหยจากหัวมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของลำไส้เล็กคลายตัว ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องและช่วยขับลม แก้อาการท้องอืดได้ คนสมัยก่อนจึงนำมาทาที่ท้องเด็กคล้าย ๆ กับมหาหิงคุ์ (หัว)[5]
- ใช้เป็นอาหารช่วยบำรุงกระเพาะอาหารและลำไส้ (ใบ)[5]
- ช่วยบรรเทาอาการปวด ด้วยการใช้หัวนำมาโขลกหรือทุบใส่น้ำให้พอชุ่ม นำผ้ามาชุบแล้วใช้พันบริเวณที่มีอาการปวดบวม จะช่วยลดอาการปวดได้ จึงนิยมนำมาใช้ทำเป็นลูกประคบ หรือนำมาเคี่ยวกับน้ำมันไว้ใช้ทาแก้อาการปวดเมื่อย โดยอาจจะใช้ว่านหอมเพียงอย่างเดียวหรือจะผสมกับสมุนไพรอื่น ๆ ด้วยก็ได้ (หัว)[4],[5]
- หัวนำมาตำใช้พอกบริเวณที่เป็นฝี จะช่วยลดอาการอักเสบได้ (หัว)[4]
- ช่วยฆ่าเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
- เปราะหอมใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาเขียวหอม ซึ่งช่วยแก้ไข้ แก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
สรรพคุณของเปราะหอมขาว
- ช่วยเจริญธาตุไฟ แก้ลงท้อง (หัว)[1],[2]
- ช่วยแก้เด็กมีอาการนอนสะดุ้งผวา ร้องไห้ตาเหลือก ตาช้อนดูหลังคา (ดอก)[1],[2]
- หัวและใบนำมาใช้อังไฟให้ร้อนและสุมหัวเด็ก ช่วยแก้อาการหวัดคัดจมูก (หัว)[1],[5]
- ช่วยแก้เสมหะ (หัว)[1]
- ช่วยแก้โลหิต ซึ่งเจือด้วยลมพิษ (หัว)[1]
- ช่วยขับเลือดเน่าเสียของสตรี (ต้น)[1]
- หัวใช้รับประทานช่วยขับลมในลำไส้ (หัว)[1]
สรรพคุณของเปราะหอมแดง
- ช่วยเจริญธาตุไฟ แก้ลงท้อง (หัว)[1],[2]
- ช่วยรักษาโรคตา (ดอก)[1] แก้ตาอักเสบ ตาแฉะ (ดอก)[2]
- ช่วยแก้อาการไอ (หัว)[1]
- ช่วยแก้เสมหะ (หัว)[1]
- ช่วยขับลม แก้อาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อ (หัว, ใบ, ต้น)[1]
- ช่วยขับเลือดและหนองให้ตก (ต้น)[1]
- ช่วยแก้เกลื้อนช้าง (ใบ)[1]
- ช่วยแก้ลมพิษ (หัว)[1]
- ช่วยแก้ผดผื่นคัน (หัว)[1]
- ช่วยรักษาบาดแผล (หัว)[1]
ขนาดและวิธีใช้ : ทั้งเปราะหอมขาวและเปราะหอมแดง ให้ใช้หัวสดประมาณ 10-15 กรัม (หรือประมาณครึ่งถึงหนึ่งกำมือ) นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำมาต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ใช้ดื่มวันละ 1-2 ครั้ง[1]
จากการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดจากเปราะหอม ได้รับการยืนยันว่ามีความปลอดภัยสูงมาก พบว่าไม่มีอาการแสดงความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง และเมื่อตรวจสอบทางพยาธิสภาพก็ไม่พบว่ามีความผิดปกติแต่อย่างใด
ประโยชน์ของเปราะหอม
- หัวและใบสามารถนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารได้ ใบใช้รับประทานเป็นผักแกล้ม มีกลิ่นหอม หรือใช้ทำหมกปลาหรือใส่แกงปลา ส่วนหัวนำมาใช้ปรุงเป็นเครื่องเทศสำหรับทำแกงหรือนำมาตำใส่เครื่องแกง หรือนำมาหั่นใส่ผัดเผ็ด หรือใช้เป็นส่วนผสมของน้ำราดข้าวมันไก่ ส่วนทางภาคใต้นิยมใช้หัวใส่ในน้ำพริก หรือใช้เป็นส่วนผสมในน้ำพริกเผาเพื่อช่วยทำให้มีกลิ่นหอม[1],[2],[4],[5]
- เปราะหอมมีกลิ่นที่หอม สามารถช่วยในการผ่อนคลาย เหมาะสำหรับใช้เป็น Aroma therapy[4]
- ต้นเปราะหอมทั้งแดงและขาวสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ เนื่องจากมีดอกที่สวยงาม[4]
- คนไทยโบราณเชื่อว่าเปราะหอมเป็นว่านศักดิ์สิทธิ์การปลูกเปราะหอมไว้หน้าบ้าน หรือใช้เปราะหอมนำมาแช่น้ำให้ผู้ป่วยรับประทาน จะช่วยปัดเป่าภูตผีปีศาจและขจัดมารออกไปได้ และยังมีความเชื่อว่าเปราะหอมเป็นไม้มงคลที่ใช้สำหรับใส่ลงไปในน้ำสำหรับสรงน้ำพระหรือน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ และยังใช้ผสมในพระเครื่อง รวมไปถึงการนำมาใช้เป็นว่านมหาเสน่ห์สำหรับชายหนุ่ม โดยนำว่านมาปลุกเสกด้วยคาถาแล้วนำมาเขียนคิ้ว หรือใช้ทาปากเพื่อให้ได้รับความเมตตา รักใคร่เอ็นดู หรือใช้ในงานแต่งของชาวอีสาน ด้วยการนำเปราะหอมไปแช่ไว้ในขันใส่น้ำสำหรับดื่มเพื่อความเป็นสิริมงคล[4]
- ด้วยความหอมจากเปราะหอม จึงมีการนำมาใช้เป็นเครื่องสำอาง แป้งฝุ่น แป้งพัฟผสมรองพื้น เจลแต้มสิว สบู่เปราะหอม แชมพู ครีมนวดผม เป็นครีมกันแดด หรือใช้ทำเป็นน้ำยาบ้วนปาก[5]
- สำหรับเครื่องสำอางจากเปราะหอมที่ใช้ทาหน้าจะช่วยแก้สิว แก้ฝ้า ทำให้ผิวหน้าดูสดใส และช่วยรักษาผิวพรรณ[5]
- ใช้เป็นยาสระผม โดยใช้ว่านหอมผสมกับใบชมวง (ส้มโมง), แน่งหอม (เร่วขน), ขมิ้น, ต้มกับน้ำมวก และใช้น้ำที่ได้ไปสระผม จะช่วยบำรุงเส้นผม ทำให้ผมดกดำเงางามและมีกลิ่นหอม[5]
เอกสารอ้างอิง
- สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “เปราะหอมขาว, เปราะหอมแดง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [18 พ.ย. 2013].
- รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “เรื่อง เปราะหอม“. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 25 กันยายน 2549. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [18 พ.ย. 2013].
- ว่านและสมุนไพรไทย คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร. “ว่านเปราะหอม“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.skc.rmuti.ac.th. [18 พ.ย. 2013].
- RUM มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “เปราะหอม…มหัศจรรย์สมุนไพรไทย“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rum.psu.ac.th. [18 พ.ย. 2013].
- อภัยภูเบศร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.abhaiherb.com. [18 พ.ย. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by CANTIQ UNIQUE, Abdire, Ahmad Fuad Morad, Funkychips, vijayasankar, Kero37, Bernadette Hawkins and Russell Reinhardt)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)