เทียนแดง
เทียนแดง ชื่อสามัญ Garden Cress, Garden Cress Seed[2],[3]
เทียนแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Lepidium sativum L. (ของอินเดีย), Lepidium apetalum Willd. (ของจีน) จัดอยู่ในวงศ์ผักกาด (BRASSICACEAE หรือ CRUCIFERAE)[1]
สมุนไพรเทียนแดง ในภาษาจีนกลางจะเรียกว่า ถิงลี่จื่อ, ตู๋สิงช่าย[1]
ลักษณะของเทียนแดง
- ต้นเทียนแดง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุได้ประมาณ 1-2 ปี ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงและมีความสูงประมาณ 10-40 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านบริเวณยอดต้น รากเป็นสีขาว มีรากฝอยไม่มากแทงลงใต้ดิน มีขนอ่อนขึ้นปกคลุมทั้งต้น[1]
- ใบเทียนแดง ใบที่อยู่ใกล้โคนต้นจะมีก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ส่วนใบด้านบนไม่มีก้านใบ ใบเทียนแดงเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีแคบ ขอบใบหยักลึก แตกเป็นแฉกคล้ายขนนก มีประมาณ 2-3 แฉก หน้าใบมีขน แต่หลังใบมีขน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ใบยอดกิ่งมักมีขนาดเล็กเป็นเส้น[1]
- ดอกเทียนแดง ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง รวมเป็นกระจุก มีสีขาวอมม่วง ขนาดเล็ก มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ กลีบดอก 4 กลีบ รอบกลีบมีเกสรเพศผู้สีเหลือง 6 อัน[1]
- ผลเทียนแดง ผลมีลักษณะกลมยาวเป็นรูปไข่แบนมีเหลี่ยม ออกบริเวณง่ามใบ มีขนอ่อนขึ้นปกคลุม ภายในมีเมล็ดกลมรูปไข่กลมรี มีขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เมล็ดเป็นสีแดงเข้ม ผิวเมล็ดเรียบเป็นมัน ตรงกลางมีริ้ว[1] แม้ว่าเทียนแดงจะเป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ แต่เทียนแดงก็เป็นสมุนไพรที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ เนื่องจากเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศเอธิโปเปียและมีการเพาะปลูกกันมากในประเทศอินเดีย[4]
หมายเหตุ : เทียนแดงชนิด Lepidium sativum L. จัดเป็นเทียนแดงที่ได้มาจากประเทศอินเดีย ส่วนเทียนแดงชนิด Lepidium apetalum Willd. จะมาจากประเทศจีน ซึ่งทั้งสองชนิดนี้จะมีลักษณะและคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกัน มีเมล็ดสีแดงเหมือนกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้ แต่ส่วนที่ต่างกันก็คือส่วนของใบ นอกจากนี้ในวงศ์เดียวกันสมุนไพรชนิดนี้จะมีประมาณ 10 กว่าชนิด ที่สามารถนำมาใช้แทนกันได้เช่นกัน เช่น ชนิด Lepidium latifoium L., Lepidium ruderale L. เป็นต้น[1]
สรรพคุณของเทียนแดง
- เมล็ดมีรสเผ็ดขม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอด หัวใจ ม้าม และกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นยาขับความชื้นในร่างกาย ขับความชื้นในปอด น้ำท่วมปอด (เมล็ด)[1]
- เมล็ดใช้เป็นยาลดไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาโรคเบาหวาน (เมล็ด)[3],[4]
- ช่วยฟอกโลหิต (เมล็ด)[4]
- เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ ด้วยการใช้เมล็ดเทียนแดง 300 กรัม นำมาบดให้เป็นผง ใส่น้ำลงไปต้มเคี่ยวจนน้ำแห้ง แล้วจึงนำไปแช่กับเหล้ารับประทาน จากการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีนี้พบว่าได้ผลดีมาก (เมล็ด)[1]
- สำหรับผู้ที่หัวใจไม่มีกำลังเนื่องมาจากอาการไอเรื้อรัง ให้ใช้เทียนแดง 6 กรัม นำมาบดให้เป็นผง แบ่งชงกับน้ำรับประทานวันละ 3 ครั้ง ผลจากการรักษาผู้ป่วยจำนวน 10 รายด้วยวิธีนี้ พบว่าหลังจากผู้ป่วยรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลา 4 วัน อาการบวมน้ำจะลดลง ถ้ารับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ หัวใจของผู้ป่วยจะมีกำลังดีขึ้น และไม่พบอาการเป็นพิษ (เมล็ด)[1]
- ใช้เป็นยาช่วยขับเสมหะ แก้เสมหะ (เมล็ด)[1],[2],[3],[4]
- ช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน (เมล็ด)[2],[3],[4]
- น้ำมันจากเมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลักปิดลักเปิด (น้ำมันจากเมล็ด)[3],[4]
- เมล็ดใช้เป็นยารักษาโรคหอบหืด แก้อาการแน่นหน้าอก (เมล็ด)[1],[4]
- ใช้เป็นยาแก้ลม ขับลม แก้ลมเสียดแทงสองราวข้าง (เมล็ด)[2],[3],[4]
- เมล็ดใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะกะปริบกะปรอย (เมล็ด)[1]
- ช่วยแก้น้ำดีพิการ (เมล็ด)[4]
- ใช้เป็นยาแก้อาการบวมน้ำ ด้วยการใช้เมล็ด 300 กรัม นำมาบดให้เป็นผง ใส่น้ำลงไปต้มเคี่ยวจนน้ำแห้ง แล้วจึงนำไปแช่กับเหล้ารับประทาน จากการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีนี้พบว่าได้ผลดีมาก (เมล็ด)[1]
- เมล็ดมีสรรพคุณช่วยขับน้ำนมของสตรีให้นมบุตร (เมล็ด)[3],[4]
- ในแถบอินเดียและโมร็อกโกจะใช้เมล็ดเป็นยารักษาโรคผิวหนัง (เมล็ด)[4]
- เมล็ดเทียนแดงจัดอยู่ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดเทียน” ซึ่งพิกัดเทียนจะประกอบไปด้วย “พิกัดเทียนทั้ง 5” (เทียนแดง, เทียนขาว, เทียนดำ, เทียนข้าวเปลือก และเทียนตาตั๊กแตน), “พิกัดเทียนทั้ง 7” (เพิ่มเทียนสัตตบุษย์ และเทียนเยาวพาณี), และ “พิกัดเทียนทั้ง 9” (เพิ่มเทียนตากบ และเทียนเกล็ดหอย) มีสรรพคุณโดยรวม คือ เป็นยาบำรุงโลหิต แก้อาเจียน ช่วยขับลม และใช้ตำรับยาหอม (เมล็ด)[4]
- เมล็ดเทียนแดงยังจัดอยู่ในกลุ่มยารักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) โดยปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” ซึ่งมีส่วนประกอบของเทียนแดงอยู่ในพิกัดเทียนทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ โดยเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง นอกจากนี้ยังปรากฏอยู่ในกลุ่มยารักษาอาการทางระบบทางเดินอาหาร โดยปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” ซึ่งมีส่วนประกอบของเทียนแดง เทียนขาว เทียนดำ เทียนเยาวพาณี และเทียนสัตตบุษย์ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการท้องอืด (เมล็ด)[4]
ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [1] เมล็ดให้ใช้ครั้งละ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนการนำมาใช้ภายนอกให้ใช้ตามความต้องการหรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา[1] ส่วนการใช้เมล็ดตาม [3] ให้ใช้เมล็ดเทียนแดงประมาณ 1-2 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำดื่มเช้าและเย็น[3]
ข้อควรระวัง : ผู้ที่มีธาตุอ่อน ปอดหย่อนไม่มีกำลัง ไม่ควรรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1] เทียนแดงมีส่วนประกอบของ mustard oil การรับประทานในขนาดที่สูงเกินไป อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร ทำให้เนื้อเยื่ออักเสบได้[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเทียนแดง
- ในเมล็ดเทียนแดงพบน้ำมัน, โปรตีน, Glucolin, Erucic acid, Stearic acid, Sinapic acid, Sitosterol, Benzyl isothiocyanate benzylcyanide lepiidine สาร Helveticoside และ Evomonoside (เป็นสารที่ทำให้เกิดการบีบตัวของหัวใจ แต่มีปริมาณไม่มาก) เป็นต้น[1]
- ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดความดัน ลดไขมัน กระตุ้นหัวใจ ยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้เล็ก ขับปัสสาวะ แก้ปวด ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส[3]
- เมื่อนำสารที่สกัดได้จากเมล็ดเทียนแดงด้วยแอลกอฮอล์มาฉีดเข้าเส้นเลือดของกบทดลอง พบว่าจะทำให้หัวใจของกบมีการบีบตัวแรงขึ้น เมื่อหัวใจเต้นต่อไปได้สักพักหนึ่ง หัวใจก็จะหยุดเต้นในท่าบีบตัว หากนำสารสกัดมาเข้าเส้นเลือดของกระต่ายหรือแมว จะพบว่าทำให้หัวใจของสัตว์ทดลองดังกล่าวมีการบีบตัวแรงขึ้น แต่หัวใจกลับเต้นช้าลง จึงมีการนำมาใช้กับผู้ป่วยที่หัวใจไม่ค่อยมีกำลัง เพื่อทำให้หัวใจมีการฉีดเลือดเข้าเส้นเลือดได้มากขึ้น แต่จะทำให้ความดันโลหิตลดลง[1]
- จากการให้น้ำมันจากเมล็ดในขนาด 10% แก่หนูทดลองนาน 8 สัปดาห์ พบว่า สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลที่ตับได้ 12.3% ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้ 40.4% และลดระดับไขมัน LDL ได้ 9.45% มีระดับ ALA, EPA, DHA ในตับ และซีรัม เพิ่มขึ้น ส่วนระดับไขมัน HDL น้ำหนัก และน้ำหนักของอวัยวะ ไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลง[4]
- สารสกัดจากเมล็ดเทียนแดงด้วยน้ำ เมื่อนำมาให้หนูทดลองกินในขนาดสูงเพียงครั้งเดียวหรือให้กินต่อเนื่องกันเป็นเวลา 15 วัน พบว่าสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวานและหนูปกติได้ โดยไม่ทำให้ระดับอินซูลินในเลือดมีการเปลี่ยนแปลง และทำให้น้ำหนักตัวของหนูลดลง[4]
- สารสกัดจากเมล็ดเทียนแดงน้ำ เมื่อนำมาให้หนูทดลองที่มีความดันโลหิตสูงกิน ในขนาด 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ภายหลังการทดลองพบว่า สามารถลดความดันโลหิตของหนูได้ในวันที่ 7 ของการได้รับสารสกัด โดยไม่มีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจและไม่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ แต่ในหนูปกติจะเพิ่มการขับปัสสาวะ[4]
- สารสกัดบิวทานอลจากเมล็ดเทียนแดง เมื่อนำมาให้หนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้หลอดลมหดตัวด้วยสารฮีสตามีนและอะเซทิลโคลีน พบว่าจะสามารถป้องกันหลอดลมหดตัวได้ เมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน ketotifen (1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) และยา atropine sulphate (2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)[4]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าสารสกัดจากผลแห้งเทียนแดงด้วย 50% เอทานอล ขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม ไม่มีพิษ ไม่ว่าหนูถีบจักรจะกินหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และให้สารสกัดจากเมล็ดเทียนแดงด้วย 95% เอทานอล ก็ไม่มีพิษเช่นกัน โดยให้หนูถีบจักรกินในขนาด 3 กรัมต่อกิโลกรัม ครั้งเดียว หรือให้กินในขนาด 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ทุกวันติดต่อกัน 90 วัน ก็ไม่มีพิษ[3]
- เมื่อปี ค.ศ.2006 ที่ประเทศอียิปต์ ได้ทำการศึกษาทดลองผลของเมล็ดเทียนแดงในการลดไขมันเลือด โดยพบสาร flavonoid ในสารสกัดเทียนแดง ทำการทดลองโดยใช้ Chromatog techniques มีผลในการลดเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือด 28.5% (ทำการทดลองในหนูที่ถูกกระตุ้นให้เป็นเบาหวาน) และแสดงผลในการลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรีกลีเซอไรด์[3]
- เมื่อปี ค.ศ.2007 ที่ประเทศอียิปต์ ได้ทำการทดลองใช้เมล็ดเทียนแดงในควายที่อยู่ในระยะให้นมลูก จำนวน 15 ตัว ที่มีอายุ 4-6 ปี แบ่งกลุ่มการทดลองเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 3 ตัว ทำการทดลองนาน 12 สัปดาห์ โดยกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม, กลุ่มที่ 2 ให้เมล็ดลูกซัด 200 กรัม, กลุ่มที่ 3 ให้เทียนตากบ (caraway) จำนวน 50 กรัม, กลุ่มที่ 4 ให้ถั่วเมล็ดดำ 50 กรัม และกลุ่มที่ 5 ให้เมล็ดเทียนแดง 100 กรัม ผลการทดลองสรุปได้ว่า เมล็ดเทียนแดงสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ P<0.05[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “เทียนแดง”. หน้า 272.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เทียนแดง Garden Cress Seed”. หน้า 214.
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “เทียนแดง” หน้า 111.
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เทียนแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [07 ธ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by andreasbalzer, naturgucker.de, Dinesh Valke, shadowshador), www.botanik.uni-karlsruhe.de (by Michael Hassler)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)