เทียนตากบ
เทียนตากบ ชื่อสามัญ Caraway, Caraway fruit, Caraway seed, Karawya, Kummel[2],[3]
เทียนตากบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Carum carvi L. จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)[1]
สมุนไพรเทียนตากบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หอมป้อม (ภาคเหนือ), ยี่หร่า (ไทย), เก๋อโหลวจื่อ จ้างหุยเซียง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3]
ลักษณะของเทียนตากบ
- ต้นเทียนตากบ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก อายุ 2 ขึ้นไป มีความสูงของต้นประมาณ 30-80 เซนติเมตร ทั้งต้นมีขนขึ้นปกคลุม ลำต้นมีลักษณะกลม ตั้งตรง สีเทาอมน้ำตาล เนื้อนิ่ม แตกกิ่งก้านสาขาขนาดเล็กบริเวณยอดต้น ลักษณะคดงอ กิ่งก้านไม่ใหญ่ ในช่วงปีแรกจะแตกกิ่งก้านสาขาและในช่วงปีที่สองจะออกดอกและผล ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและมีความชื้นปานกลาง[1],[3]
- ใบเทียนตากบ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 2-3 ชั้น ใบย่อยมีลักษณะคล้ายกับใบสนแผง ปลายใบแหลม ใบเป็นสีเขียวสด ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ก้านใบยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร โคนลำต้นมีกาบหุ้ม[1]
- ดอกเทียนตากบ ออกดอกเป็นช่อคล้ายซี่ร่ม ก้านช่อดอกยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร ในหนึ่งช่อจะมีก้านดอกประมาณ 8-16 ก้าน ทุกก้านจะมีกาบใบเป็นเส้นห่อหุ้มอยู่ 1-3 ใบ ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาวหรือสีขาวอมชมพู มีกลีบดอก 5 กลีบ ดอกยาวไม่เกิน 1 มิลลิเมตร กลางดอกมีเกสรเพศผู้ขนาดเล็ก 5 อัน[1]
- ผลเทียนตากบ ผลจะออกบริเวณดอก ลักษณะของผลเป็นรูปกลมยาว มีเส้นนูนคล้ายสัน มีร่อง 5 ร่อง เรียงเป็นคู่ เมล็ดมีเหลี่ยมห้าเหลี่ยม สีเหลือง มีกลิ่นหอมมากกว่าส่วนอื่น ๆ ของต้น[1],[3]
สรรพคุณของเทียนตากบ
- ผลและเมล็ดเทียนตากบมีรสเผ็ด เป็นยาเย็นเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะและไต ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ แก้กระษัยลม (ผลและเมล็ด)[1],[4]
- ตำรับยาแก้ธาตุอ่อน ระบุให้ใช้เทียนตากบ เปลือกอบเชย ขิงแห้ง และเปลือกส้มแห้ง อย่างละ 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ผลและเมล็ด)[1]
- ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (ผลและเมล็ด)[1]
- ช่วยขับเสมหะ (เมล็ด)[2],[4]
- ผลและเมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาขับลม ช่วยขับลมในลำไส้เล็ก (ผลและเมล็ด, น้ำมันจากเมล็ด)[1],[2],[3],[4]
- ใช้เป็นยาแก้ปวดกระเพาะ ปวดท้อง (ผลและเมล็ด)[1]
- น้ำมันจากเมล็ดเทียนตากบมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (น้ำมันจากเมล็ด)[4]
- ช่วยแก้อาการปวดประจำเดือนของสตรี (ผลและเมล็ด)[4]
- ใช้เป็นยาแก้ไส้เลื่อน (ผลและเมล็ด)[1]
- ช่วยแก้อาการปวดหลัง แก้อาการเกร็ง (ผลและเมล็ด)[1],[4]
- ช่วยขับน้ำนมของสตรี (ผลและเมล็ด)[4]
- เทียนตากบจัดอยู่ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดเทียน” (อยู่ในพิกัดเทียนทั้ง 9) ซึ่งพิกัดเทียนจะประกอบไปด้วย “พิกัดเทียนทั้ง 5” (เทียนขาว, เทียนดำ, เทียนแดง, เทียนข้าวเปลือก และเทียนตาตั๊กแตน), “พิกัดเทียนทั้ง 7” (เพิ่มเทียนสัตตบุษย์ และเทียนเยาวพาณี), และ “พิกัดเทียนทั้ง 9” (เพิ่มเทียนตากบ และเทียนเกล็ดหอย) มีสรรพคุณโดยรวม คือ เป็นยาบำรุงโลหิต แก้อาเจียน ช่วยขับลม และใช้ตำรับยาหอม (เมล็ด)
- เมล็ดเทียนตากบยังจัดอยู่ในกลุ่มยารักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) โดยปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” ซึ่งมีส่วนประกอบของเทียนตากบอยู่ในพิกัดเทียนทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ โดยเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง (เมล็ด)
ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [1] ผลและเมล็ดให้ใช้ครั้งละ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยาตามความต้องการ[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเทียนตากบ
- ในผลเทียนตากบพบน้ำมัน และน้ำมันระเหย 3.5-7% ในน้ำมันพบ Caraway oil ในน้ำมันระเหยพบ d-Carvone, d-Limonene ประมาณ 50-60% เป็นต้น[1]
- เมื่อนำสาร Caraway oil มาให้กระต่ายกิน พบว่ามีฤทธิ์กระตุ้นลำไส้ของกระต่ายให้บีบตัวแรงขึ้น จึงใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ได้ และยังช่วยทำให้มีการผลิตน้ำย่อยในกระเพาะและลำไส้ของกระต่ายให้มีมากขึ้นอีกด้วย[1]
- สาร Caraway oil มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ Staphylococcus และเชื้อในลำไส้ใหญ่บางชนิด และยังสามารถต้านเชื้อแบคทีเรียได้บางชนิดอีกด้วย[1]
- สารสกัดจากผลเทียนตากบในความเข้มข้น 1 ต่อ 1,000 สามารถฆ่าพยาธิใบไม้ในตับได้[1]
- น้ำมันเทียนตากบมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในหลอดทดลองและฆ่าตัวอ่อนของแมลง นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ระงับอาการเกร็งในสัตว์ทดลองอีกด้วย[4]
ประโยชน์ของเทียนตากบ
- เทียนตากบสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องเทศประจำบ้านได้ โดยนิยมนำใช้แต่งกลิ่นขนมผิง ขนมปัง ขนมเค้ก ขนมนึ่ง ลูกกวาด เนื้อ อาหารแช่แข็ง เครื่องดื่มทั้งที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารอื่น ๆ[3],[4]
- น้ำมันจากเมล็ดใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง ยาสีฟัน ยาอมบ้วนปาก น้ำหอม ยาทาบำรุงผิว สบู่ ครีม ฯลฯ[4]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “เทียนตากบ”. หน้า 274.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เทียนตากบ Caraway”. หน้า 215.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ยี่หร่า”. หน้า 666-667.
- เครื่องเทศ, คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (รศ.ดร.นิจศิริ เรืองรังษี). “เทียนตากบ”.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by breki74, per.aasen, Susanne Wiik, ANTONIO PATIÑO, Corey Raimond, John and Anni Winings)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)