เทียนดอย
เทียนดอย ชื่อวิทยาศาสตร์ Impatiens violiflora Hook.f. จัดอยู่ในวงศ์เทียนดอก (BALSAMINACEAE)[1]
สมุนไพรเทียนดอย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เทียนป่า (เชียงใหม่) เป็นต้น[1]
ลักษณะของเทียนดอย
- ต้นเทียนดอย จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีความสูงของต้นประมาณ 20-40 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะกลมมนและฉ่ำน้ำ มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดียจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยขึ้นตามป่าดิบบริเวณน้ำและที่ชุ่มชื้น ที่ระดับความสูงประมาณ 700-1,500 เมตร ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[1],[2]
- ใบเทียนดอย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมใบหอก หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยละเอียด ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกเทียนดอย ออกดอกเป็นช่อกระจุก มีประมาณ 2-3 ดอก หรือออกแบบเดี่ยว ๆ บริเวณซอกใบ ดอกเป็นรูปคล้ายคนกางแขนกางขาในแนวตั้ง กลีบดอกเป็นสีม่วง สีชมพูเข้ม หรือสีชมพูแกมแดง กลีบดอกมี 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบบนจะมีขนาดใหญ่สุดและเว้าลึกดูคล้าย 2 กลีบ ส่วนกลีบล่าง 2 กลีบ เมื่อดอกแรกบานจะติดกันดูคล้ายเป็นกลีบเดียวกัน และต่อมาจะเริ่มแยกออกจากกันอย่างเห็นได้ชัด ปลายกลีบงอคล้ายเขี้ยวและมีแต้มสีเหลืองบริเวณโคนกลีบ ส่วนกลีบรองดอกมี 5 กลีบ มี 1 กลีบ ที่เชื่อมติดกันเป็นถุง ปลายถุงจะมีลักษณะยาวเป็นจะงอยโค้งงอคล้ายหาง ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายน[1],[2]
- ผลเทียนดอย ผลเป็นสีเขียว ก้านผลยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ผลแก่จะแห้ง ภายในมีเมล็ดขนาดเล็ก สามารถดีดไปได้ไกล[1],[2]
สรรพคุณของเทียนดอย
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาเจียน (ราก)[1],[2]
- ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากเทียนดอยจำนวน 3 ราก นำมาต้มกับน้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง เป็นยาบีบมดลูกสำหรับสตรีใกล้คลอด (ราก)[1]
ประโยชน์ของเทียนดอย
- เนื่องจากดอกเทียนดอยมีความสวยงาม จึงสามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เทียนดอย”. หน้า 129.
- หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4. “เทียนดอย”.
ภาพประกอบ : www.sc.mahidol.ac.th, student.nu.ac.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)