เถาวัลย์ปูน
เถาวัลย์ปูน ชื่อวิทยาศาสตร์ Cissus repanda (Wight & Arn.) Vahl จัดอยู่ในวงศ์องุ่น (VITACEAE)[1]
สมุนไพรเถาวัลย์ปูน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เครือจุ้มจ้า (เชียงราย), เถาพันซ้าย (อุตรดิตถ์), เถาวัลย์ปูน (กรุงเทพฯ), ส้มเฮียก (ภาคเหนือ), เครือเขาน้ำ เคือคันเขาขันขา เคือเขาคันเขา ส้มละออม (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), ส้มออบ (ลั้วะ) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของเถาวัลย์ปูน
- ต้นเถาวัลย์ปูน จัดเป็นพรรณไม้เถาขนาดเล็ก มักเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น ๆ และมีมือเกาะคล้ายเถาตำลึง เถานั้นจะมีละอองเป็นสีขาว เกาะจับกันอย่างหนาแน่น จนมองดูเป็นสีนวล พบขึ้นได้ตามที่รกร้างทั่วไป[1]
- ใบเถาวัลย์ปูน ใบเป็นใบเดี่ยวขนาดเท่าฝ่ามือ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจเฉือนปลายแหลม ส่วนตรงกลางใบและริมทั้งสองข้างจะแหลมเป็นสามยอด ตรงกลางจะสูงและมีเว้าตรงข้าง[1]
- ดอกเถาวัลย์ปูน ดอกมีลักษณะคล้ายดอกเถาคัน[1]
สรรพคุณของเถาวัลย์ปูน
- เถามีรสฝาดเปรี้ยว ใช้ปรุงเป็นยากินรักษาโรคกระษัย น้ำมูกพิการ (เถา)[1]
- ใช้เป็นยาขับเสมหะ (เถา)[1]
- ใช้ปรุงกินเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ (เถา)[1]
- ใบสดใช้ขยี้กับปูนกินหมาก เอาฟองทาพอกเป็นยารักษาแผลสด (ใบ)[1]
- เถามีสรรพคุณช่วยทำให้เส้นเอ็นหย่อน (เถา)[1]
ประโยชน์ของเถาวัลย์ปูน
- ใบใช้ใส่ในแกงบอนทำให้มีรสเปรี้ยว (ใช้แทนมะนาว)[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เถาวัลย์ปูน”. หน้า 348-349.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เถาวัลย์ปูน, เถาพันซ้าย”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [12 ธ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)