เถาคันแดง
เถาคัน ชื่อสามัญ Virginia creeper, True Virginia creeper, Victoria creeper, Five-leaved ivy, Five-finger[1],[2]
เถาคัน ชื่อวิทยาศาสตร์ Parthenocissus quinquefolia (L.) Planch. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ampelopsis hederacea DC.) จัดอยู่ในวงศ์องุ่น (VITACEAE)[2]
สมุนไพรเถาคัน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หุนแปแดง หุนแปขาว (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), เครือหุนแป เถาคันแดง เถาคันขาว (ภาคกลาง) เป็นต้น[1],[2],[4]
ลักษณะของเถาคันแดง
- ต้นเถาคัน จัดเป็นพรรณไม้เลื้อย ชอบพาดพันตามต้นไม้ใหญ่ ผิวขรุขระ มีมือแตกออกจากข้อ ไม่มีขน ใช้สำหรับเกาะต้นไม้อื่น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือแยกเอาต้นอ่อนจากกอเดิมไปปลูก ชอบแสงแดดจัด ขึ้นในดินไม่อุ้มน้ำ มักขึ้นตามที่รกร้าง ตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าคืนสภาพ และตามป่าราบทั่วไป เถาคันที่เกิดขึ้นตามป่านั้นมักจะอยู่ได้จนเถามีขนาดใหญ่เท่าข้อมือของคน และถ้าตัดออกจะเห็นเนื้อภายในเป็นวง ๆ มีสีแดงสลับกัน ลักษณะคล้ายกับเถาวัลย์เปรียง พรรณไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ชนิดต้นเขียวเราจะเรียกว่า “เถาคันขาว” ส่วนชนิดต้นที่เป็นสีแดงนั้นเราจะเรียกว่า “เถาคันแดง” ซึ่งชนิดสีแดงนี้จะนิยมนำมาใช้ปรุงเป็นยามากกว่า[1],[2],[4]
- ใบเถาคัน ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3 หรือ 5 ใบ แตกจากก้านใบจุดเดียวกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ ปลายใบค่อนข้างแหลม โคนใบป้าน ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยหรือเป็นคลื่น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ เส้นกลางใบนูนเห็นได้เด่นชัด แผ่นใบเป็นสรเขียวเข้มเป็นมันเรียบ[1],[2],[4]
- ดอกเถาคัน ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่ม แตกออกจากก้านช่อดอกหลักจุดเดียวกัน ออกเป็นช่อใหญ่สีแดง และดอกนั้นจะออกเป็นช่อใหญ่แบนและแน่น ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ตั้งอยู่บนก้านดอกย่อย แต่ละช่อจะมีประมาณ 10-40 ดอก[4] ลักษณะของดอกคล้ายดอกกะตังบาย หรือดอกเถาวัลย์ปูน หรือฝิ่นต้น จะออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[2]
- ผลเถาคัน ผลมีลักษณะกลม ผิวเรียบเป็นมัน ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร หรือมีขนาดเท่าผลมะแว้งหรือขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย ผลดิบนั้นเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ถ้าบีบจะมีน้ำออกเป็นสีม่วงแดง ทำให้คันมาก ผลจะออกในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[2]
การป้องกันและกำจัด : จะนิยมใช้วิธีการเขตกรรมทั่วไป เช่น ถาก ตัด เพื่อไม่ให้ออกดอก หรือใช้สารเคมีต่างๆ ในการกำจัด เช่น เป็นต้น[4]
สรรพคุณของเถาคัน
- เถาใช้ปรุงเป็นยาต้มกิน เป็นยารักษาโรคกษัย เป็นยาฟอกเลือด เป็นยาขับเสมหะ ขับลม รักษาอาการฟกช้ำภายใน และช่วยทำให้เส้นเอ็นหย่อน (เถา)[1]
- ใบนำไปอังกับไฟให้พอเหี่ยว ใช่ปิดฝีบ่มหนอง ถ้าฝีนั้นแตกก็จะทำให้ดูดหนองได้ คล้ายขี้ผึ้งอิดติโยนของฝรั่ง (ใบ)[1]
ประโยชน์ของเถาคัน
- ผลดิบใช้กินเป็นอาหารได้ (ให้รสชาติขมเล็กน้อย ใช้ใส่น้ำพริกและใช้แกงส้ม)[1] (แต่มีข้อมูลชี้ว่าผลเถาคันแดงมีกรดออกซาลิคซึ่งเป็นสารพิษ หากได้รับในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการคัน เพราะสารนี้มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อผนังกระเพาะลำไส้และจะถูกดูดซึมผ่านผนังที่อักเสบจนทำให้เกิดเป็นแคลเซียมออกซาเลทได้ มีผลทำให้ปริมาณของแคลเซียมอิออนลดลง ซึ่งภาวะเช่นนี้จะมีผลต่อการทำงานของหัวใจและประสาทส่วนกลาง ไตพิการ เนื่องจากมีการตกตะกอนของแคลเซียมออกซาเลท[3])
- ยอดอ่อนมีรสจืด มักนำมาลวก ต้ม จิ้มกับน้ำพริกหรือรับประทานเป็นผักสด[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เถาคัน”. หน้า 341-342.
- พืชกินได้ในป่าสะแกราช, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “เถาคันแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tistr.or.th. [13 ก.ค. 2015].
- พืชพิษ, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “รายงานการเกิดพิษในคน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/poison/poison.htm. [13 ก.ค. 2015].
- ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “เถาคันขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : clgc.agri.kps.ku.ac.th. [13 ก.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.sbs.utexas.edu, plants.usda.gov
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)