เต่าเกียด
เต่าเกียด ชื่อวิทยาศาสตร์ Homalomena aromatica (Spreng.) Schott (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Calla aromatica (Spreng.) Roxb.) จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)[1]
สมุนไพรเต่าเกียด มีชื่อเรียกอื่นว่า โหรา (ชุมพร), เต่าเขียด ว่านเต่าเขียด (ภาคกลาง) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของเต่าเกียด
- ต้นเต่าเกียด จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นเป็นเหง้าหรือหัวที่อยู่ใต้ดิน ส่วนที่โผล่ขึ้นมาเหนือดินนั้นจะมีเพียงก้านใบและใบเท่านั้น ซึ่งจะมีความสูงได้ประมาณ 16-36 นิ้ว ซึ่งจะชูใบแตกขึ้นมาบนผิวดิน ก้านใบนั้นมีลักษณะกลมเรียวเป็นสีเขียวแกมแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ เป็นพรรณไม้ที่ชอบอยู่ในที่ชื้น จัดเป็นพืชเมืองร้อน ในประเทศไทยพบขึ้นตามป่าชื้นทั่ว ๆ ไป[1],[2]
- ใบเต่าเกียด ลักษณะของใบเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบไม่มีจัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-6 นิ้ว และยาวประมาณ 4-8 นิ้ว แผ่นใบเป็นสีเขียว มีก้านใบยาวซึ่งจะชูใบแตกขึ้นมาบนผิวดิน[1]
- ดอกเต่าเกียด ออกดอกเป็นช่อ แต่จะไม่มีก้านช่อดอก ดอกเป็นสีเขียวอมเหลือง ลักษณะของดอกจะคล้ายกับดอกบอน แต่จะมีขนาดเล็กกว่า[1]
สรรพคุณของเต่าเกียด
- ทั้งต้นนำมาตำแล้วใช้เป็นยาทาแก้โรคผิวหนัง (ทั้งต้น)[1],[2]
ประโยชน์ของเต่าเกียด
- เหง้านำมาบดให้เป็นผง ใช้ผสมกับใบยาสูบและยานัตถุ์ได้ ซึ่งเหง้านี้จะมีกลิ่นหอม และเมื่อนำมากลั่นด้วยไอน้ำจะได้น้ำมันหอมสีเหลือง ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้น (Stimulant)[1],[2]
- เหง้าสามารถนำมาใช้ผสมกับเครื่องเทศใส่แกงทำให้มีรสหอมได้[1],[2]
- ว่านเต่าเขียด จัดเป็นไม้มงคลในด้านการค้าและเมตตามหาเสน่ห์ ช่วยพัดโบกเงินทองและสิ่งอันเป็นมงคลให้เข้ามาภายในบ้าน สิ่งที่ไม่ดีตลออดจนโรคภัยไข้เจ็บก็ให้ห่างไกล ส่วนการปลูกจะใช้ส่วนผสมของดินร่วน 5 ส่วน ทรายหยาบ 1 ส่วน เปลือกถั่วและอิฐก้อนเล็กน้อยอย่างละ 1 ส่วน[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เต่าเกียด”. หน้า 319.
- ๑๐๘ พรรณไม้ไทย. “ว่านเต่าเกียด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.panmai.com. [15 ก.ค. 2015].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)