เต็งหนาม
เต็งหนาม ชื่อวิทยาศาสตร์ Bridelia retusa (L.) A.Juss. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Bridelia spinosa (Roxb.) Willd., Clutia retusa L., Clutia spinosa Roxb.)[1],[2] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)[4]
สมุนไพรเต็งหนาม มีชื่อเรียกอื่นว่า เปาหนาม (ลำปาง), ฮังหนาม (นครพนม), รังโทน (นครราชสีมา), เต็งหนาม (ราชบุรี), จาลีลึกป๊วก (เขมร-สุรินทร์), ว้อโบ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) เป็นต้น[1],[2],[4]
ลักษณะของเต็งหนาม
- ต้นเต็งหนาม จัดเป็นพรรณไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นผลัดใบ ลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ถึง 20 เมตร เรือนยอดไม่แน่นอน เปลือกต้นอ่อนเป็นสีเทาอ่อนหรือสีน้ำตาลเทา ผิวเรียบ ส่วนต้นแก่เปลือกต้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแก่ แตกเป็นร่องยาวและมีหนามแข็งขนาดใหญ่ขึ้นบริเวณลำต้น พบขึ้นทั่วไปในป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ ที่โล่งแจ้ง และที่รกร้างว่างเปล่า ทั่วทุกภาคของประเทศ ที่ระดับความสูงประมาณ 600-1,100 เมตร[1],[2]
- ใบเต็งหนาม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร ขนาดใบที่ปลายกิ่งจะมีขนาดเล็กลงกว่าใบที่อยู่ถัดใบ ใบเรียงตัวในแนวระนาบ ยอดอ่อนมีขนสีเทา แต่ใบแก่ด้านบนเกลี้ยง ยกเว้นบนเส้นใบ ส่วนด้านล่างมีขนหรือเรียบเกลี้ยง มีเส้นใบข้างตรงและขนานกัน 16-24 คู่ เส้นใบข้างจรดกับเส้นใบย่อยที่ขอบใบ เนื้อใบหนา ท้องใบมีขนนุ่มสีขาว ใบเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลออกชมพูก่อนทิ้งใบ ก้านใบยาวประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร ไม่มีต่อม มีหูใบแหลมขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร หลุดร่วงได้ง่าย[1]
- ดอกเต็งหนาม ออกดอกเป็นช่อเชิงลดแยกแขนงตามซอกใบ และมักออกตามปลายยอดกิ่งที่ใบหลุดร่วงเป็นส่วนใหญ่ ช่อดอกมีลักษณะยาวเรียว ช่อแน่น มีดอกย่อยจำนวนมากประมาณ 8-15 ดอก ดอกมีขนาดเล็ก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 เซนติเมตร ดอกเป็นแบบแยกเพศ กลีบดอกเป็นสีเขียวหรือสีเขียวออกเหลือง อาจพบที่มีประสีส้มหรือสีแดงบ้าง กลีบดอกมี 5 กลีบ ปลายแตกออกเป็นซี่ ๆ ก้านดอกมีลักษณะอ้วน ขนาดสั้นกว่า 2 มิลลิเมตร ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ แต่เกสรเพศเมียเป็นหมันเชื่อมเป็นแท่งตรงกลางดอก ขนาดประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ปลายแท่งแผ่ออกเป็น 5 อับเรณู ส่วนดอกเพศเมียมีก้านชูเกสร 2 อัน ที่ปลายแยก รังไข่มีขนาดเล็กกว่า 1.5 มิลลิเมตร มีส่วนของหมอนรองดอกเป็นรูปคนโทปิดไว้ ส่วนกลีบเลี้ยงหนา มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีขนาดประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน[1]
- ผลเต็งหนาม ผลเป็นผลสด ฉ่ำน้ำ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ แข็งและไม่แตก มีขนาดประมาณ 0.5-0.9 เซนติเมตร ผลเมื่ออ่อนจะเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำหรือสีฟ้าอมม่วง เนื้อในบาง เป็นผลเมล็ดเดียว เมล็ดค่อนข้างกลม มีสีน้ำตาลแดง ขนาดประมาณ 0.4-0.5 เซนติเมตร จะติดผลในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[2]
สรรพคุณของเต็งหนาม
- ตำรายาไทยจะใช้เปลือกต้นเต็งหนาม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาฝาดสมานอย่างแรง และใช้รากเข้ายาสมานท้อง แก้บิด แก้ท้องร่วง และใช้เป็นยาห้ามเลือด (เปลือกต้น, ราก)[1],[3]
- ยาพื้นบ้านทางภาคอีสานจะนำเปลือกต้นเต็งหนามมาปิ้งไฟ แล้วแช่น้ำเกลือ ใช้ดื่มเป็นยาแก้ท้องร่วง (เปลือกต้น)[1]
- ตำรายาอายุรเวทของอินเดียจะนำใบเต็งหนามมาต้มกินเป็นยารักษาบิด และใช้ใบเป็นยารักษาโรคติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ (ใบ)[1]
- น้ำต้มจากเปลือกใช้กินเป็นยาสลายนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (เปลือกต้น)[3]
- เปลือกต้นใช้ต้มกินเป็นยาคุมกำเนิดสำหรับสตรี (เปลือกต้น)[1]
- ใบเต็งหนามใช้ร่วมกับพืชอื่นและน้ำมันละหุ่ง น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันขิง ใช้เป็นยาทารักษาแผล (ใบ)[1]
- เปลือกต้นใช้ตำผสมกับผักเสี้ยนผีทั้งต้น และหัวแห้วหมู ทำเป็นลูกประคบแก้ปวดหัวเข่า (เปลือกต้น)[1]
- ยางจากเปลือกต้นนำมาผสมกับน้ำมันงา ใช้เป็นยาทาถูนวดแก้อาการปวดข้อ (ยางจากเปลือกต้น)[1],[3]
- ในประเทศศรีลังกาจะใช้เปลือกต้นและรากเต็งหนามเป็นยารักษาโรคข้อรูมาติซึม และใช้เป็นยาฝาดสมาน (เปลือกต้น, ราก)[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเต็งหนาม
- เปลือกต้นเต็งหนามพบสารในกลุ่ม bisabolane sesquiterpenes ได้แก่ (E)-4-(1,5-dimethyl-3-oxo-1-hexenyl) benzoic acid, (E)-4-(1,5-dimethyl-3-oxo-1,4-hexadienyl) benzoic acid, (R)-4-(1,5-dimethyl-3-oxo-4-hexenyl) benzoic acid, (-)-isochaminic acid, (R)-4-(1,5-dimethyl-3-oxohexyl) benzoic acid (ar-todomatuic acid) และสารอื่น ๆ ที่พบ ได้แก่ 5-allyl-1,2,3-trimethoxybenzene (elemicin), (+)-sesamin and 4-isopropylbenzoic acid (cumic acid)[1]
- สารสกัดแอลกอฮอล์จากเปลือกต้นเต็งหนาม มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ต้านเนื้องอก ไม่มีความเป็นพิษเฉียบพลันในสัตว์ทดลอง[1]
- สารสกัดแอลกอฮอล์จากใบและต้นเต็งหนาม มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และต้านเชื้อไวรัสเอดส์ได้โดยการยับยั้งเอนไซม์ reverse transcriptase ในหลอดทดลอง[1]
- สารสกัดเมทานอลจากใบเต็งหนาม มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคทางเดินปัสสาวะ ดังนี้ Staphylococcus aureus, Enterococcus faecalis, Enterobacter aerogenes, Acinetobacter baumannii และ Pseudomonas aeruginosa โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ฆ่าเชื้อได้ (MBC) เท่ากับ 1.51, 3.41, 3.41, 4.27 และ 9.63 mg/ml ตามลำดับ[1]
- สารสกัดจากเปลือกต้นมีฤทธิ์ต้านเชื้อราที่ก่อโรคพืช (Cladosporium cladosporioides)[1]
- สารไอโซฟลาโวนจากใบเต็งหนาม มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งแกรมลบและแกรมบวกได้หลายชนิด[1]
ประโยชน์ของเต็งหนาม
- ผลมีรสฝาด รับประทานได้ และเป็นอาหารของนก[2],[3]
- ใบใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์[2]
- เปลือกต้นมีสารแทนนินที่ใช้ในทางเภสัชกรรม เพราะมีคุณสมบัติเป็นสารต่อต้านไวรัสบางชนิด[2]
- เนื้อไม้เต็งหนามมีสีแดงขุ่น สามารถนำมาใช้ในงานการก่อสร้างได้ เช่น การใช้ทำเสา รวมไปถึงเครื่องมือเครื่องใช้ทางอุตสาหกรรม[2]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เต็งหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [18 ก.ย. 2015].
- พันธุ์ไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “เต็งหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/. [18 ก.ย. 2015].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “เต็งหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [18 ก.ย. 2015].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “เต็งหนาม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [18 ก.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Vijayasankar Raman, Anurag Sharma, Ventilago)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)