เต็ง
เต็ง ชื่อสามัญ Burma Sal, Siamese Sal, Thitya[1]
เต็ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Shorea obtusa Wall. ex Blume จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE)[1]
สมุนไพรเต็ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เน่าใน (แม่ฮ่องสอน), เต็งขาว (ขอนแก่น), ชันตก (ตราด), แงะ (ภาคเหนือ), จิก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ไม้แงะ (คนเมือง), เคาะเจื้อ (ละว้า เชียงใหม่), ล่าไน้ (กะเหรี่ยง), แลเน่ย (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน), เหล่ไน้ (กะเหรี่ยง ภาคเหนือ), อองเลียงยง (กะเหรี่ยง กาญจนบุรี), ตะเลซิเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ประจั๊ด (เขมร บุรีรัมย์), ประเจิ๊ก (เขมร สุรินทร์), พะเจ๊ก (เขมร พระตะบอง) เป็นต้น[1],[3]
ลักษณะของต้นเต็ง
- ต้นเต็ง จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลำต้นเปลาตรงหรือมักคดงอไม่ค่อยตรง มีความสูงได้ประมาณ 10-30 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกว้าง เปลือกต้นด้านนอกเป็นสีน้ำตาลเทา แตกร่อง และเป็นสะเก็ดหนา มักตกชันสีเหลืองขุ่น ส่วนเปลือกต้นด้านในเป็นสีน้ำตาลแกมเหลือง กะพี้เป็นสีน้ำตาลอ่อน และแก่นเป็นสีเข้ม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง มีเขตการกระจายพันธุ์เป็นกลุ่มใหญ่ในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ดินลูกรัง และเขาหินทรายทั่วทุกภาคของประเทศ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 150-1,300 เมตร ในต่างประเทศพบต้นเต็งขึ้นที่พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม[1],[2],[3]
- ใบเต็ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปใบขอบขนาน หรือรูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับ ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบทู่หรือมน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-16 เซนติเมตร เนื้อใบหนา สีเขียวอมเหลือง ผิวใบมีขนสั้นสากมือถึงค่อนข้างเกลี้ยง (ใบอ่อนมีขนขึ้นประปราย ส่วนใบแก่เกลี้ยง) เส้นแขนงใบมีประมาณ 15-20 คู่ ก้านใบมักคดงอ ยาวได้ประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ใบแก่ก่อนร่วงจะเป็นสีเหลือง ส้ม หรือแดง[1],[2]
- ดอกเต็ง ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงตามปลายกิ่งหรือตามง่ามใบ ช่อดอกมีขนนุ่ม ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาวนวล กลีบดอกและกลีบรองดอกมีอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีขาวแกมเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม โคนกลีบดอกซ้อนทับกัน ปลายกลีบแยกกันและจีบเวียนตามกันเป็นกังหัน ส่วนกลีบเลี้ยงที่โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก มีเกสรเพศผู้ขนาดเล็กจำนวนมากหรือประมาณ 20-25 อัน อยู่รอบเกสรเพศเมีย ปลายอับเรณูมีขนสั้น ๆ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ยอดเกสรเพศเมียเป็นพู 3 พู ก้านดอกสั้นมาก ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2]
- ผลเต็ง ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมรีถึงรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 0.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีปีกสั้น 2 ปีก ยาวประมาณ 3-4.5 เซนติเมตร และปีกยาวอีก 3 ปีก ลักษณะเป็นรูปหอกกลับ ขนาดกว้างประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ผลจะแก่ในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม[1],[2]
สรรพคุณของเต็ง
- เปลือกต้นใช้เป็นยาสมานแผล ห้ามเลือด รักษาแผลเรื้อรัง และแผลพุพองให้สมานตัวเร็ว (เอาเนื้อไม้หรือเปลือกต้นมาฝนกับน้ำปูนใส แล้วใช้สำลีชุบทาบริเวณที่เป็นแผล)[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ใช้ต้นหรือเปลือกต้นนำมาฝนกับน้ำปูนใส ใช้เป็นยาฝาดสมาน ห้ามเลือด และแก้น้ำเหลืองเสีย[3]
ประโยชน์ของเต็ง
- ชันยางจากต้นใช้ผสมน้ำมันทาไม้ ใช้ยาแนวเรือ เครื่องใช้ต่าง ๆ[1]
- ไม้เต็งมีเนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลแกมแดง สามารถนำไปใช้ในงานก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรงทนทานได้ดี เช่น เสา รอด ตง ขื่อ กระดานพื้น โครงเรือเดินทะเล ไม้หมอนรถไฟ ฯลฯ[1],[3] (มีสถานะเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก)[2]
เอกสารอ้างอิง
- พันธุ์ไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “เต็ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/. [17 ก.ย. 2015].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “เต็ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [17 ก.ย. 2015].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เต็ง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 5 (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [17 ก.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Tony Rodd), biodiversity.forest.go.th, plant.rpk54.ac.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)