เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

เดกซาเมทาโซน

เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) เป็นยาสังเคราะห์ในกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid) ที่เป็นยาสเตียรอยด์ชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้รักษาโรคและภาวะผิดปกติหลายอย่าง เช่น ต้านการอักเสบ กดภูมิคุ้มกัน รักษาอาการแพ้ รวมถึงความผิดปกติเกี่ยวกับระบบต่าง ๆ เช่น ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ต่อมไร้ท่อ เลือด ผิวหนัง กล้ามเนื้อ ข้อ กระดูก คอลลาเจน และโรคมะเร็งบางชนิด

ยาเดกซาเมทาโซนเป็นยาควบคุมพิเศษที่มีข้อควรระวังและข้อห้ามใช้หลายประการและมีใช้ในสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตเท่านั้น การใช้ยานี้อย่างปลอดภัย เหมาะสม และมีประสิทธิผลมากที่สุดจะต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น

ตัวอย่างยาเดกซาเมทาโซน

ยาเดกซาเมทาโซน (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น อาร์ชิเด็กซ์ อาย/เอีย (Archidex Eye/Ear), บี.เดกซอล (B.Dexol), คาเดกซิน-เอ็น (Cadexcin-N), ซีดี-ออฟ (CD-Oph), เดกคาดรอน วิท นีโอมายซิน (Decadron With Neomycin), เดกซา (Dexa), เดกซา เอเอ็นบี (Dexa ANB), เดกซาซิน (Dexacin), เดกซอลติน (Dexaltin), เดกซาเมทาโซน เจริญเภสัช (Dexamethasone Charoen Bhaesaj), เดกซาเมทาโซน เจเนอรัล ดักซ์ เฮาส์ (Dexamethasone General Drugs House), เดกซาเมทาโซน จีพีโอ (Dexamethasone GPO), เดกซาเมทาโซน เค.บี. (Dexamethasone K.B.), เดกซาเมทาโซน เมดิซิน โพรดักซ์ (Dexamethasone Medicine Products), เดกซาเมทาโซน เมดิกฟาร์มา (Dexamethasone Medicpharma), เดกซาเมทาโซน ฟาร์มาสัน (Dexamethasone Pharmasant), เดกซาเมทาโซน ที แมน (Dexamethasone T Man), เดกซาเมทาโซน ที.พี. (Dexamethasone T.P.), เดกซาโน (Dexano), เดกซา-โอ (Dexa-O), เดกซา-พี (Dexa-P), เดกซาโปร (Dexapro), เดกซาโซน (Dexasone), เดกซา-วาย (Dexa-Y), เดกเซียน (Dexion), เดกซอน (Dexon), เดกโซน (Dexone), เดกออฟ เอีย ดร็อปส์ (Dexoph Ear Drops), เดกออฟ อาย ดร็อปส์ (Dexoph Eye Drops), เดกทาซอล (Dexthasol), เดกทาโซน (Dexthasone), เดกซ์โทน (Dexton), เดกซีลิน เอียดร็อปส์ (Dexylin Ear Drops), เดกซีลิน อายดร็อปส์ (Dexylin Eye Drops), อายเด็กซ์ (Eyedex), โลเดกซา/โลเดกซา-5 (Lodexa/Lodexa-5), แม็กซิทรอล (Maxitrol), นีโอเด็กซ์ (Neodex), นีโอ-ออฟตัล เอีย ดร็อปส์ (Neo-Optal Ear Drops), นีโอ-ออฟตัล อาย ดร็อปส์ (Neo-Optal Eye Drops), ออราเดกซอน (Oradexon), โอเซอร์เดกซ์ (Ozurdex), ฟีโนเดกซ์ (Phenodex), โซฟราเดกซ์ (Sofradex), โทบราเดกซ์ (Tobradex), ยูโท-เดกซาเมทาโซน (Uto-Dexamethasone), เวสออฟ (Vesoph), วีกาเดกซา (Vigadexa) ฯลฯ

รูปแบบยาเดกซาเมทาโซน

  • ยาเม็ด 0.25, 0.5, 4 มิลลิกรัม ฯลฯ
  • ยาฉีด 4-5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาพ่นคอ
  • ยาหยอดตาชนิดน้ำ / ยาขี้ผึ้งป้ายตา (ยาผสม)
  • ยาหยอดหู (ยาผสม)

ยาเดกซ่า
IMAGE SOURCE : www.kaefproduk

ยาdexa
IMAGE SOURCE : www.medscape.com

ยาdexaแบบฉีด
IMAGE SOURCE : Medthai.com (เด๊กซ์โทน)

หมายเหตุ : ในรูปแบบของยาผสม ยาเดกซาเมทาโซนมักมีส่วนประกอบของยาปฏิชีวนะเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น นีโอมัยซิน (Neomycin), โทบรามัยซิน (Tobramycin), โพลีมิกซิน บี (Polymyxin B) เป็นต้น

สรรพคุณของยาเดกซาเมทาโซน

  • ใช้เป็นยาต้านการอักเสบหรือกดภูมิคุ้มกัน[1] ช่วยบรรเทาอาการอักเสบต่าง ๆ ที่เกิดกับร่างกาย เช่น ระงับการอักเสบในผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ[4] ใช้รักษาการอักเสบที่บริเวณผิวหนัง ข้อต่อ ปอด และอวัยวะอื่น ๆ[3]
  • ใช้รักษาอาการแพ้[1] ใช้บรรเทาอาการแพ้ชนิดปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis)[4], ใช้เป็นยาระงับอาการแพ้โดยผสมกับยาหยอดตา-หู หรือยาพ่นจมูก[4]
  • ใช้รักษาโรคหืด[1],[5]
  • ใช้รักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) ในระยะอาการกำเริบเฉียบพลัน[1]
  • ใช้รักษาอาการผิดปกติทางระบบประสาทหรือการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อพยาธิทริคิโนซิส (Trichinosis)[1]
  • ใช้รักษาภาวะโลหิตจางที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงแตกโดยภูมิต้านทานตนเอง (Autoimmune hemolytic anemia)[1]
  • ใช้รักษาเพอร์พิวราชนิดเกล็ดเลือดน้อยที่ไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic thrombocytopenic purpura – ITP)[1]
  • ใช้เสริมกับยาต้านเชื้อวัณโรคเพื่อรักษาหรือบรรเทาอาการที่เกิดจากการติดเชื้อวัณโรคที่เยื่อหุ้มสมองหรือวัณโรคปอดชนิดแพร่กระจาย (Disseminated pulmonary tuberculosis)[1]
  • ใช้รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบแบบมีแผลเปื่อย (Ulcerative colitis) และโรคโครห์น (Crohn’s disease)[1]
  • ใช้รักษาการเจริญมากเกินของต่อมหมวกไต (Adrenal hyperplasia)[1]
  • ใช้รักษาและควบคุมโรคไตรั่วหรือกลุ่มอาการเนโฟรติก (Nephrotic syndrome)[1]
  • ใช้สำหรับรักษาโรคลักษณะผิวหนังแดงลูปัสทั่วกาย (Systemic lupus erythematosus – SLE)[1]
  • ใช้เป็นยาเสริมสำหรับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)[1]
  • ใช้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดแบบเฉียบพลัน (Acute lymphocytic leukemia)[1]
  • ใช้รักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูงเนื่องจากโรคมะเร็ง[1]
  • ใช้วินิจฉัยกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing’s syndrome)[1]
  • ใช้รักษาภาวะต่อมหมวกไตวิกฤติ หรือภาวะช็อกจากต่อมหมวกไตบกพร่องเฉียบพลัน (Adrenal crisis)[2]
  • ใช้รักษาความผิดปกติของระบบเลือด โรคที่เกี่ยวข้องกับต่อมหมวกไต และโรคมะเร็งบางชนิด[3]
  • ใช้เป็นยาลดภาวะสมองบวมในผู้ป่วยด้วยเนื้องอกสมองหรือมะเร็งสมอง[4]
  • ใช้เป็นยาบรรเทาและลดอาการข้างเคียงของยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง[4]
  • ใช้เป็นยาบรรเทาอาการบวมของจอประสาทตา อันมีสาเหตุมาจากเส้นเลือดดำใหญ่ที่ไปหล่อเลี้ยงตีบตัน[4]
  • ใช้รักษาและป้องกันภาวะอักเสบของตาอันมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือหลังผ่าตัดต้อกระจก[4]
  • ใช้รักษาอาการป่วยของทารกในครรภ์มารดาที่มีการพัฒนาของปอดผิดปกติ[4]
  • ใช้เป็นยาทดแทนในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาเพรดนิโซโลน[4]
  • ใช้เป็นยาหยอดตาเมื่อต้องการทำหัตถกรรมเกี่ยวกับตา เช่น ผ่าตัดตา[4]
  • ใช้รักษาอาการอักเสบของหู (หูติดเชื้อ) อันมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย[4]
  • ใช้รักษาและบรรเทาแผลในปาก ช่องคอ โดยการใช้ในรูปแบบของยาพ่น[4]

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเดกซาเมทาโซน

เดกซาเมทาโซนเป็นยาในกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ชนิดสังเคราะห์ ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบมากกว่ายาเพรดนิโซโลน 5-7 เท่า และมากกว่ายาไฮโดรคอร์ติโซน 20-30 เท่า นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านอาการแพ้ ลดไข้ และกดภูมิคุ้มกันได้เหมือนกลูโคคอร์ติคอยด์ชนิดอื่น ๆ อีกด้วย

โดยกลไกต้านการอักเสบของเดกซาเมทาโซนนั้นมีหลายกลไก เช่น ยับยั้งการเคลื่อนย้ายเม็ดเลือดขาวชนิดพอลีเมอร์โฟนิวเคลียร์ (Polymorphonuclear) ไม่ให้เข้าสู่บริเวณที่อักเสบ, ยับยั้งการเกาะของนิวโทรฟิลและโมโนไซท์ที่เซลล์ผนังหลอดเลือดฝอย (Capillary endothelial cell) ตรงบริเวณที่อักเสบ, ยับยั้งการสะสมของแมคโครฟาจในบริเวณที่อักเสบ ทำให้เมมเบรนของไลโซโซมของเม็ดเลือด (Leukocyte lysosomal membrane) แข็งแรงขึ้น, ต้านฤทธิ์ฮิสตามีนและลดการปล่อยไซโตไคน์หลายชนิดจากซับสเตรต, รบกวนการทำงานของสารตัวกลางในการตอบสนองการอักเสบ, ยับยั้งฤทธิ์ของเอนไซม์ Phospholipase A2 ทำให้ลดการสร้างโพรสตาแกลนดินส์ (Prostaglandins) ลิวโคทรีนส์ (Leukotrienes) และสารประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง, ลดการสะสมคอลลาเจน, ลดการสร้างแผลเป็น เป็นต้น

ส่วนฤทธิ์การกดภูมิคุ้มกันของเดกซาเมทาโซนเกิดจากการยับยั้งการตอบสนองในการสร้างแอนติบอดีและการตอบสนองผ่านเซลล์ โดยลดการทำงานและลดปริมาตรของระบบน้ำเหลือง ทำให้มีลิมโฟไซท์ในเลือดต่ำลง (Lymphocytopenia), ลดระดับความเข้มข้นของอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) และคอมพลีเมนต์ (Complement), ลดการผ่านของ Immune complexes เข้าออก Basement membranes และกดฤทธิ์ปฏิกิริยาของเนื้อเยื่อที่มีต่อ Antigen-antibody interaction, กระตุ้น Erythroid cells ของไขกระดูก ทำให้อายุของเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดยาวขึ้น และทำให้จำนวนนิวโทรฟิลสูงขึ้น (Neutrophilia) และจำนวนอีโอซิโนฟิลต่ำลง (Eosinopenia) ด้วยกลไกดังกล่าวนี้เองจึงทำให้ยาเดกซาเมทาโซนช่วยลดการอักเสบและทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้

ขนาดยาเดกซาเมทาโซนในปริมาณต่าง ๆ จะมีผลต่อร่างกายแตกต่างกันไป หากแบ่งตามปริมาณของยาเดกซาเมทาโซนที่ได้รับต่อวัน สามารถแบ่งได้ดังนี้

  1. ขนาดยาเดกซาเมทาโซนที่เทียบเท่ากับการหลั่งกลูโคคอร์ติคอยด์ตามธรรมชาติของต่อมหมวกไตต่อวัน (Physiologic dose) คือวันละ 0.75 มิลลิกรัม
  2. ขนาดยาเดกซาเมทาโซนที่ถือว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา (Pharmacological dose) ซึ่งเป็นขนาดยาที่สูงกว่า Physiologic dose สามารถแบ่งได้เป็นหลายระดับ ดังนี้
    • ขนาดต่ำ (Low dose, Maintenance dose) เป็นขนาดยาเดกซาเมทาโซนวันละ 0.75-2.25 มิลลิกรัม
    • ขนาดปานกลาง (Moderate dose) เป็นขนาดยาเดกซาเมทาโซนวันละ 0.075 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
    • ขนาดสูง (High dose) เป็นขนาดยาเดกซาเมทาโซนวันละ 0.15-0.45 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
    • ขนาดสูงมาก (Massive dose) เป็นขนาดยาเดกซาเมทาโซนวันละ 2.25-4.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

ก่อนใช้ยาเดกซาเมทาโซน

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมถึงยาเดกซาเมทาโซน สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาเดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) แอสไพริน (Aspirin) ทาร์ทาร์ซีน (Tartarzine) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาเดกซาเมทาโซนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การใช้ยาเดกซาเมทาโซนร่วมกับยาแก้ปวดบางตัว เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร มีอาการปวดท้อง วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ อุจจาระเป็นสีดำเหมือนยางมะตอยจากการมีเลือดออกในทางเดินอาหาร จึงควรหลีกเลี่ยงหรือให้รับประทานยาแก้ปวดหลังอาหาร
    • การใช้ยาเดกซาเมทาโซนร่วมกับยาลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin) สามารถทำให้ประสิทธิภาพของยาลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือดด้อยลงไป จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกันหรือต้องปรับขนาดการรับประทานยาทั้งคู่โดยแพทย์
    • การใช้ยาเดกซาเมทาโซนร่วมกับยารักษาโรคหัวใจดิจิทาลิส (Digitalis) อาจกระตุ้นให้เกิดผลข้างเคียงของยาดิจิทาลิส ได้ง่ายขึ้น
    • การใช้ยาเดกซาเมทาโซนร่วมกับยาขับปัสสาวะ (Diuretics) อาจทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ มีอาการอ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้
    • การใช้ยาเดกซาเมทาโซนร่วมกับยาปฏิชีวนะบางตัว เช่น ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) จะทำให้ประสิทธิภาพของยาเดกซาเมทาโซนในการรักษาโรคลดลงไป หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน อาจต้องปรับขนาดรับประทานยาโดยแพทย์
    • การใช้ยาเดกซาเมทาโซนร่วมกับยาปฏิชีวนะบางกลุ่ม เช่น ไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin), โอฟล็อกซาซิน (Ofloxacin) สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเส้นเอ็นอักเสบได้ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
  • เป็นโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต้อหิน โรคจิต โรคระบบทางเดินอาหาร แผลในระบบทางเดินอาหาร ไทรอยด์ โรคคุชชิง อีสุกอีใส หัด เริม วัณโรค ตับ ไต กระดูกพรุน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชัก ติดเชื้อรา
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาเดกซาเมทาโซน

  • ห้ามใช้ยาเดกซาเมทาโซนกับบุคคลเหล่านี้
    1. ผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาและส่วนประกอบของยาเดกซาเมทาโซน หรือผู้ที่มีประวัติเคยแพ้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์
    2. ผู้ป่วยที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการติดเชื้อ
    3. ผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อรา โดยเฉพาะในกรณีที่มีการติดเชื้อทั่วร่างกาย การติดเชื้อเฉียบพลัน หรือการติดเชื้อที่รุนแรง เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเชื้อวัณโรค หรือผู้ป่วยที่มีประวัติติดเชื้อวัณโรค หรือวัณโรคชนิดหลบซ่อน หรือวัณโรคชนิดกระจาย ผู้ป่วยโรคมาลาเรียขึ้นสมอง ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อโปรโตซัวหรือสตรองจิลอยด์ที่ไม่แสดงอาการ เพราะยานี้อาจทำให้ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง การตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ซึ่งอาจทำให้อาการของโรคกำเริบได้
    4. ผู้ป่วยโรคไวรัสเริมในตา หรือมีประวัติโรคเส้นประสาทตาอักเสบ เพราะยานี้อาจทำให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้นหรือเกิดกระจกตาทะลุหรือโรคกลับมาเป็นซ้ำได้
    5. ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคอีสุกอีใส เพราะยานี้อาจทำให้อาการของโรคเหล่านี้รุนแรงมากขึ้น (ยกเว้นการใช้ในขนาดทดแทนฮอร์โมนตามธรรมชาติของร่างกาย)
    6. ผู้ป่วยที่มีประวัติหรือเป็นแผลในทางเดินอาหาร โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีประวัติทางเดินอาหารทะลุ ฝีในทางเดินอาหารหรือติดเชื้อในทางเดินอาหาร เพราะยานี้จะทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินอาหาร ยกเว้น ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาในการรักษาโรคหรืออาการที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
    7. ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดเชื้อเป็นในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน เพราะการใช้ยานี้ในขนาดวันละ 3 มิลลิกรัม หรือ 0.3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จะทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ลดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อวัคซีน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนได้
    8. ผู้ป่วยโรคคุชชิง เพราะยานี้อาจทำให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้น
    9. ห้ามใช้ยาเม็ดเดกซาเมทาโซนซึ่งมีน้ำตาลแลคโตสเป็นส่วนประกอบกับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางพันธุกรรมดังนี้ Galactose intolerance, Lapp lactase deficiency หรือการดูดซึมของกลูโคส-กาแลคโตสผิดปกติ (Glucose-Galactose malabsorption)
    10. หญิงตั้งครรภ์ เพราะยานี้สามารถผ่านรกได้และถูกเมแทบอไลซ์บางส่วนโดยเอนไซม์ในรก ซึ่งจากการศึกษาในสัตว์ทดลองที่ตั้งท้อง พบว่าเดกซาเมทาโซนทำให้ทารกมีเพดานโหว่ พัฒนาการเจริญเติบในมดลูกล่าช้า มีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมอง ตายคลอด แท้ง และคลอดก่อนกำหนด แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนในมนุษย์ว่า ยา กลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์จะเพิ่มอุบัติการณ์ทำให้ทารกผิดปกติแต่กำเนิด แต่มีรายงานว่า ทารกที่เกิดจากแม่ที่ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์มีภาวะสมองบวมน้ำและภาวะผนังหน้าท้องไม่ปิด
    11. หญิงให้นมบุตร เพราะยานี้สามารถขับออกทางน้ำนมได้ แม้จะขับออกในปริมาณเล็กน้อย แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในขนาดรักษาในระหว่างการให้นมบุตร เพราะทารกที่ดื่มน้ำนมมารดาที่รับประทานยานี้ในขนาดสูงเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะต่อมหมวกไตทำหน้าที่น้อย กดการเจริญเติบโต หรืออาจทำให้เกิดผลข้างเคียงของยา
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุแล้ว
  • ห้ามใช้ยาเดกซาเมทาโซนร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์อาจเพิ่มการระคายเคืองในทางเดินอาหารได้
  • ห้ามผู้ที่ใช้ยาเดกซาเมทาโซนในขนาดสูง (มากกว่าวันละ 1 มิลลิกรัม) อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหยุดยาอย่างกะทันหัน เพราะจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนจากภาวะการขาดฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตเฉียบพลัน (Acute adrenal insufficiency) และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • การใช้ยาเดกซาเมทาโซนในขนาดสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานในเด็ก จะมีผลยับยั้งการเจริญของกระดูก ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนในเด็ก การเจริญเติบโตและพัฒนาการช้า และมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าเด็กทั่วไป ซึ่งการใช้ยานี้ในเด็ก แพทย์จะใช้ในกรณีที่จำเป็นและมีการติดตามการเจริญเติบโตอย่างใกล้ชิด
  • การใช้ยาเดกซาเมทาโซนในขนาดสูงมากกว่าวันละ 0.15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในทุกช่วงระยะเวลา หรือได้รับยาร่วมกับยาที่มีผลเสริมฤทธิ์ของคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น โทรลีแอนโดมัยซิน (Troleandomycin) หรือการใช้ยาเดกซาเมทาโซนในขนาดต่ำเป็นเวลานาน หรือการใช้ยาเดกซาเมทาโซนในขนาดปานกลางในระยะสั้น จะมีผลกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือบดบังอาการที่เกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรีย หรือวัณโรคได้ง่าย
  • การใช้ยาเดกซาเมทาโซนเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดโรคต้อกระจก หรือทำให้อาการของโรคต้อหินเลวลง เพราะยานี้จะทำให้ความดันในลูกตาเพิ่มขึ้น หรืออาจทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อราที่ดวงตา ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานควรได้รับการตรวจติดตามทางตาและการมองเห็นโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด
  • การใช้ยาเดกซาเมทาโซนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมา (Kaposi’s sarcoma) หากเกิดอาการของโรคนี้ขึ้น ควรหยุดยาและรีบไปพบแพทย์ทันที
  • ควรระมัดระวังการใช้ยาเดกซาเมทาโซนกับบุคคลเหล่านี้
    1. ผู้ป่วยที่มีประวัติโรคทางจิตและอารมณ์แปรปรวน หรือผู้ป่วยที่มีประวัติโรคลมชัก เพราะยานี้อาจทำให้อาการของโรคกำเริบได้
    2. ผู้ที่มีประวัติปวดศีรษะไมเกรน
    3. ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจขาดเลือด (ควรระมัดระวังเป็นอย่างมาก)
    4. ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจล้มเหลวและความดันโลหิต เพราะยานี้มีผลเพิ่มการดูดกลับน้ำและโซเดียม ทำให้เกิดภาวะบวมและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคดังกล่าวอาจเกิดอาการกำเริบได้
    5. ผู้ป่วยที่มีประวัติเลือดออกง่าย เช่น โรคฮีโมฟิเลีย (Hemophilia) หรือการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เพราะยานี้อาจเพิ่มการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดได้
    6. ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคเบาหวานเป็นเวลานาน เพราะยานี้อาจลดความทนต่อกลูโคสและทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้ ผู้ป่วยจึงควรได้รับการติดตามระดับน้ำตาลในเลือดและปรับขนาดยาหรืออินซูลินร่วมกับการควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด
    7. ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคในทางเดินอาหาร หรือทางเดินอาหารทะลุ หรือโรคโครห์น เพราะยานี้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินอาหารและทำให้อาการของโรคกำเริบได้
    8. ผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องหรือผู้ป่วยโรคตับ เช่น ตับแข็ง ตับวาย หรือผู้ป่วยที่มีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงของยาเดกซาเมทาโซนเพิ่มขึ้น เช่น ต้อกระจก เบาหวาน ความดันโลหิตสูง กระดูกสันหลังคด และโรคคุชชิง ซึ่งจะมีโอกาสเกิดได้ประมาณ 30% ในผู้ป่วยทั้งหมด จึงควรปรับลดขนาดยาให้เหมาะสมตามระดับความรุนแรงของโรคตับ
    9. ผู้ป่วยโรคไตหรือมีการทำงานของไตบกพร่อง เพราะยานี้จะเพิ่มการคั่งของน้ำและโซเดียม ทำให้เกิดภาวะบวม สูญเสียโพแทสเซียม และอาจทำให้อาการของโรคไตเลวลง
    10. ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อปรสิตและอะมีบา
    11. ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี (Myasthenia gravis) ที่กำลังได้รับการรักษาด้วยยาต้านโลลีนเอสเตอเรส (Anticholinesterase agents) เพราะยานี้อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหายใจ ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรหยุดยาต้านโคลีนเอสเตอเรสก่อนเริ่มรับประทานยาเดกซาเมทาโซนอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
    12. ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับยาเดกซาเมทาโซนในขนาดสูงหรือได้รับร่วมกับยายับยั้งการส่งสัญญาณประสาทไปยังกล้ามเนื้อ เพราะอาจส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อตา กล้ามเนื้อหายใจ และอาจทำให้เกิดอัมพาตได้
    13. ผู้สูงอายุ เพราะผลข้างเคียงจากยานี้มีความสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะโรคกระดูกพรุน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โพแทสเซียมในเลือดต่ำ หรือติดเชื้อได้ง่าย ผู้สูงอายุจึงควรใช้ยานี้ในระยะสั้นและติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด
    14. หญิงวัยหมดประจำเดือน เพราะการใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน กระดูกสันหลังหรือกระดูกยาวหัก หรือเกิดภาวะกระดูกส่วนหัวของต้นขาและต้นแขนตายโดยไม่มีการติดเชื้อได้

วิธีใช้ยาเดกซาเมทาโซน

  • สำหรับใช้ต้านการอักเสบหรือกดภูมิคุ้มกัน ในผู้ใหญ่ให้รับประทานในขนาดเริ่มต้นวันละ 0.75-9 มิลลิกรัม* โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2-4 ครั้ง ส่วนในเด็กอายุ 1 เดือน – ไม่ถึง 18 ปี ให้รับประทานยาวันละ 0.08-0.3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ 2.5-10 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิว 1 ตารางเมตร โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2-4 ครั้ง
  • สำหรับรักษาหรือบรรเทาอาการแพ้และอาการอักเสบ ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาวันละ 0.75-9 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2-4 ครั้ง ส่วนในเด็กให้รับประทานยาวันละ 0.024-0.34 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ 0.66-10 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิว 1 ตารางเมตร โดยแบ่งรับประทานเป็นวัน วันละ 2-4 ครั้ง
  • สำหรับใช้รักษาโรคหืด, รักษาอาการผิดปกติทางระบบประสาทหรือการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อพยาธิทริคิโนซิส (Trichinosis), รักษาภาวะโลหิตจางที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงแตกโดยภูมิต้านทานตนเอง (Autoimmune hemolytic anemia), รักษาเพอร์พิวราชนิดเกล็ดเลือดน้อยที่ไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic thrombocytopenic purpura), ใช้เสริมกับยาต้านเชื้อวัณโรคเพื่อรักษาหรือบรรเทาอาการที่เกิดจากการติดเชื้อวัณโรคที่เยื่อหุ้มสมองหรือวัณโรคปอดชนิดแพร่กระจาย (Disseminated pulmonary tuberculosis), รักษาโรคลักษณะผิวหนังแดงลูปัสทั่วกาย (Systemic lupus erythematosus) และใช้เป็นยาเสริมสำหรับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานในขนาดเริ่มต้นวันละ 0.75-9 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2-4 ครั้ง ส่วนในเด็กให้รับประทานยาวันละ 0.024-0.34 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ 0.66-10 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิว 1 ตารางเมตร โดยแบ่งรับประทานเป็นวัน วันละ 2-4 ครั้ง
  • สำหรับใช้รักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) ในระยะอาการกำเริบเฉียบพลัน ในผู้ใหญ่ให้รับประทานวันละ 30 มิลลิกรัม เป็นเวลา 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้รับประทานยาในขนาด 4-12 มิลลิกรัม โดยรับประทานแบบวันเว้นวันติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน
  • สำหรับใช้รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบแบบมีแผลเปื่อย (Ulcerative colitis) และโรคโครห์น (Crohn’s disease), รักษาและควบคุมโรคไตรั่วหรือกลุ่มอาการเนโฟรติก (Nephrotic syndrome) และรักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูงเนื่องจากโรคมะเร็ง ในผู้ใหญ่ให้รับประทานในขนาดเริ่มต้นวันละ 0.75-9 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 2-4 ครั้ง ส่วนในเด็กให้รับประทานยาวันละ 0.02-0.3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ 0.6-9 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิว 1 ตารางเมตร โดยแบ่งรับประทานเป็นวัน วันละ 2-4 ครั้ง
  • สำหรับใช้รักษาการเจริญมากเกินของต่อมหมวกไต (Adrenal hyperplasia) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาวันละ 0.75-9 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 2-4 ครั้ง ส่วนในเด็กให้รับประทานยาวันละ 0.03-0.3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ 0.6-10 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิว 1 ตารางเมตร โดยแบ่งรับประทานเป็นวัน วันละ 2-4 ครั้ง
  • สำหรับใช้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดแบบเฉียบพลัน (Acute lymphocytic leukemia) ในผู้ใหญ่และเด็ก ให้รับประทานยาในขนาดวันละ 6-10 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิว 1 ตารางเมตร ติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน โดยเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาในระยะเหนี่ยวนำ (Induction), ระยะอัด (Consolidation) และระยะเข้มข้น (Intensification)
  • สำหรับใช้วินิจฉัยกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing’s syndrome) ในผู้ใหญ่ให้ยาในขนาด 1 มิลลิกรัม รับประทานเป็นเวลา 23 นาฬิกา หลังจากนั้นให้เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อวัดระดับของคอร์ติซอล (Cortisol) ในพลาสมา เวลา 8 นาฬิกาในเช้าวันถัดมา หรือให้ยาในขนาด 0.5 มิลลิกรัม รับประทานทุก ๆ 6 ชั่วโมง เป็นเวลา 48 ชั่วโมง หลังจากนั้น ให้เก็บตัวอย่างปัสสาวะเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจวัดปริมาณของ 17-hydroxycorticosteroid ที่ขับออกทางปัสสาวะ[1]
  • สำหรับใช้รักษาภาวะต่อมหมวกไตวิกฤติ (Adrenal crisis) ในผู้ใหญ่ให้ใช้ยาชนิดฉีด ฉีดเข้าหลอดเลือดดำครั้งละ 4-10 มิลลิกรัม ซ้ำได้ทุก 6-12 ชั่วโมง[2]

หมายเหตุ : * ในระยะแรกควรให้ยานี้ในขนาดสูงก่อน แล้วจึงค่อย ๆ ปรับขนาดยาตามความรุนแรงของโรค (ในรายที่มีภาวะฉุกเฉิน อาจให้ยาฉีดในขนาดสูงกว่าดังกล่าวข้างต้น เมื่ออาการดีขึ้น จึงค่อยเปลี่ยนเป็นยาชนิดรับประทาน) โดยโรคที่เป็นเฉียบพลันควรใช้ในช่วงเวลาสั้น ๆ และค่อย ๆ ปรับลดขนาดยาลงทีละน้อยจนสามารถหยุดยาได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ส่วนโรคที่เป็นเรื้อรัง จะให้คงยา (ในขนาดที่ปรับลดลง หรือในขนาดน้อยที่สุดที่ยังสามารถควบคุมอาการได้) เป็นระยะยาว จนแน่ใจว่าโรคทุเลาดีแล้ว จึงจะหยุดยา แต่ถ้ามีอาการกำเริบขึ้นใหม่ก็อาจต้องให้รับประทานยาใหม่

คำแนะนำในการใช้ยาเดกซาเมทาโซน

  1. ให้รับประทานยาเดกซาเมทาโซนพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที (เพื่อลดการระคายเคืองของทางเดินอาหาร) และการรับประทานยาในแต่ละวันสามารถแบ่งขนาดยาต่อวันเป็นวันละหลายครั้ง หรือรวมขนาดยาทั้งวันแล้วให้เพียงครั้งเดียวก็ได้ หากรับประทานยาวันละครั้งให้รับประทานยาในตอนเช้า เพื่อเลียนแบบการหลั่งคอร์ติซอลตามธรรมชาติ ซึ่งจะหลั่งมากที่สุดในช่วงเวลาประมาณ 7-8 นาฬิกา ดังนั้นในตอนเช้าจึงเป็นเวลาที่เนื้อเยื่อของผู้ป่วยได้รับคอร์ติซอลสูงเป็นปกติอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าการรับประทานยานี้ในช่วงเวลาอื่น ๆ (หากแบ่งรับประทานยาเป็นวันละ 2-4 ครั้ง ให้แบ่งรับประทานยาเป็นทุก ๆ 6-12 ชั่วโมง)
  2. ควรใช้ยานี้เท่าที่จำเป็น อย่าใช้พร่ำเพรื่อ และอย่าใช้เป็นยาแก้ปวดลดไข้ หรือแก้อักเสบ โดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุ
  3. ขนาดการใช้ยาเดกซาเมทาโซนมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับโรค ความรุนแรง และการตอบสนองทางคลินิกทั้งในด้านของผลการรักษาและความสามารถในการทนต่อผลข้างเคียงของผู้ป่วย ผู้ป่วยจึงควรใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาหรือตามคำสั่งของแพทย์ ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุ และไม่ควรหยุดยาเองทันที เพราะจะทำให้เกิดอาการรุนแรงตามมาได้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  4. เดกซาเมทาโซนเป็นยาที่ออกฤทธิ์ยาวนานได้ถึง 2.75 วัน (66 ชั่วโมง) จึงไม่เหมาะที่จะรับประทานยาแบบวันเว้นวันเพื่อลดผลข้างเคียงเหมือนการใช้ยาเพรดนิโซโลนที่มีฤทธิ์สั้นไม่เกิน 1.5 วัน (36 ชั่วโมง) อย่างไรก็ตาม ก็มีการรับประทานยาเดกซาเมทาโซนแบบวันเว้นวันในการรักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) ในระยะอาการกำเริบเฉียบพลัน ซึ่งจะใช้ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 เป็นต้นไปของการรักษา
  5. ควรใช้ยาเดกซาเมทาโซนในขนาดต่ำสุดที่ยังคงให้ผลการรักษาและใช้เวลาน้อยที่สุดเพื่อลดผลข้างเคียงของยา หากต้องใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน แพทย์จะประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยและติดตามผลการรักษาและอาการข้างเคียงของยาเป็นระยะ ๆ และเมื่อใช้ยาไปจนสามารถควบคุมอาการของโรคได้แล้ว ควรลดขนาดยาให้ต่ำสุดเท่าที่จะสามารถควบคุมอาการของโรคได้แล้วจึงหยุดใช้ยา
  6. สำหรับการลดขนาดยาและการหยุดยา ปริมาณและความเร็วในการลดขนาดยาจะต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป โดยแพทย์จะพิจารณาจากโรคและปัจจัยส่วนตัวของผู้ป่วย เช่น แนวโน้มการกำเริบของโรคและระยะเวลาการใช้ยาในการรักษา ซึ่งการจะค่อย ๆ ลดขนาดยาได้นั้นจะทำได้เฉพาะในผู้มีแนวโน้มที่โรคจะไม่กำเริบ (การหยุดยาในการใช้ยาระยะสั้น ๆ หรือในกรณีฉุกเฉิน เช่น การรักษาอาการแพ้ ควรลดขนาดยาและหยุดยาให้เร็วที่สุดเมื่อควบคุมอาการของโรคได้ดีแล้ว แต่หากเป็นการใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน การหยุดยาจะต้องค่อย ๆ ลดขนาดยาลงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน) ส่วนแนวทางการปรับลดขนาดยาเดกซาเมทาโซนก็มีอยู่หลายวิธี แต่วิธีที่ทำได้ง่ายและเป็นที่นิยม คือ การค่อย ๆ ปรับลดเดกซาเมทาโซนลง 0.375-0.75 มิลลิกรัม ทุก ๆ 3-7 วัน จนกระทั่งถึงขนาดยาที่เทียบเท่ากับการหลั่งกลูโคคอร์ติคอยด์ตามธรรมชาติของต่อมหมวกไต (Physiologic dose) คือ เดกซาเมทาโซน 0.75 มิลลิกรัม
  7. ผู้ป่วยที่ได้รับยาเดกซาเมทาโซนเป็นเวลานานและอยู่ในภาวะเครียดเชิงสรีระ (Physiological stress) เช่น ได้รับบาดเจ็บ มีการเจ็บป่วย การติดเชื้อ การผ่าตัด เสียเลือดแบบเฉียบพลัน อาจจำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาเดกซาเมทาโซนขึ้นตามความเหมาะสม หรือหากมีการหยุดยาได้เพียงไม่นาน แพทย์อาจพิจารณาให้ยานี้อีกครั้ง
  8. หากมีความจำเป็นต้องผ่าตัดหรือทำฟัน ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบถึงการใช้ยาเดกซาเมทาโซน
  9. ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างการใช้ยานี้
  10. ไม่ควรหยุดยาเองทันที ในกรณีที่ใช้ยาเดกซาเมทาโซนเป็นเวลานาน ห้ามหยุดใช้ยาอย่างกะทันหัน ผู้ป่วยอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนในการค่อย ๆ ลดขนาดยาและหยุดยาได้ในที่สุด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดอาการถอนยา
  11. เดกซาเมทาโซนเป็นยาที่มีอาการไม่พึงประสงค์จากยาเกิดขึ้นได้มาก ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน (อย่างน้อย 12 เดือน) แพทย์จะติดตามอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการใช้ยาเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงถึงแก่ชีวิต หากผู้ป่วยสงสัยว่ามีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงเกิดขึ้นควรกลับไปพบแพทย์ทันที เช่น สงสัยว่ามีการติดเชื้อ มีบาดแผลเกิดขึ้นในระหว่างการรักษาหรือหลังการรักษาไปแล้ว 12 เดือน

การเก็บรักษายาเดกซาเมทาโซน

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เก็บยาให้พ้นแสงแดด (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ)
  • ให้ทิ้งยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว

เมื่อลืมรับประทานยาเดกซาเมทาโซน

  • ในกรณีที่รับประทานยาทุกวัน วันละ 1 ครั้ง ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ และรับประทานยามื้อต่อไปตามปกติ แต่หากเพิ่งนึกได้ในวันถัดไป ให้เว้นยามื้อที่ลืม และรับประทานยามื้อต่อไปตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
  • ในกรณีที่รับประทานยาทุกวัน วันละมากกว่า 1 ครั้ง ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกได้ และรับประทานยามื้อต่อไปตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
  • ในกรณีที่รับประทานยาแบบวันเว้นวัน วันละ 1 ครั้ง ในวันที่ต้องรับประทานยา ให้รับประทานยาในช่วงเช้าก่อนเที่ยง แต่ถ้าลืมรับประทานยาในช่วงเช้าและนึกได้หลังเที่ยงวันของวันนั้น ให้รอรับประทานยาทดแทนในเช้าวันต่อไป และเว้นการรับประทานยา 1 วัน แล้วรับประทานยามื้อต่อไปตามแผนการรับประทานเดิมแบบวันเว้นวัน โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของยาเดกซาเมทาโซน

  • ผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ได้แก่
    • กลุ่มอาการถอนยา การใช้ยาเดกซาเมทาโซนในขนาดสูงเป็นเวลานานมักทำให้ต่อมหมวกไตฝ่อ เนื่องจากร่างกายได้รับฮอร์โมนคอร์ติโคสเตียรอยด์จากภายนอกเป็นเวลานาน จึงกด HPA axis โดยคอร์ติโคสเตียรอยด์จากภายนอกจะไปยับยั้งการทำงานของต่อมใต้สมองในการหลั่ง Adrenocorticotropin hormone (ACTH) หรืออาจเรียกว่า Corticotrophin ทำให้ต่อมหมวกไตขาด ACTH ที่ต้องใช้ในการสังเคราะห์ฮอร์โมนคอร์ติโคสเตียรอยด์และแอนโดรเจน ต่อมหมวกไตจึงหยุดผลิตฮอร์โมนเหล่านี้และเกิดการฝ่อ เมื่อผู้ป่วยหยุดใช้ยาอย่างกะทันหัน จึงทำให้ร่างกายขาด Corticotrophin เพราะต่อมหมวกไตไม่สามารถผลิตฮอร์โมนคอร์ติโคสเตียรอยด์มาทดแทนได้ทัน และเกิดอาการถอนยา ทำให้ความดันโลหิตต่ำ หมดสติ และเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้มีอาการอื่น ๆ เช่น ไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ซึม กระสับกระส่าย ความดันในสมองสูง น้ำตาลในเลือดต่ำ จานประสาทตาบวม (พบในเด็ก) เยื่อบุตาขาวอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ ผิวหนังมีตุ่มนูนซึ่งคันและเจ็บ ผิวหนังอักเสบแบบหลุดลอก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนแรง ข้อติด เป็นต้น ทั้งนี้ความรุนแรงของการเกิดอาการถอนยาจะขึ้นอยู่กับความไวของแต่ละบุคคล ขนาดยา ความถี่ เวลา และระยะเวลาในการได้รับยา การหยุดยานี้จึงควรค่อย ๆ ลดขนาดยาเพื่อลดผลข้างเคียงดังกล่าว (สำหรับผู้ป่วยที่กินยาชุดหรือยาลูกกลอนสมุนไพรที่เข้าสเตียรอยด์เป็นเวลานาน เมื่อต้องการจะเลิกยา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางค่อย ๆ ลดขนาดยาลง เพราะหากหยุดยาทันทีก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน)
    • การไม่ตอบสนองของต่อมใต้สมองและต่อมหมวกไตแบบทุติยภูมิ (Secondary adrenocortical and pituitary unresponsiveness) โดยเฉพาะเวลาที่มีภาวะเครียดทางสรีระ เช่น การได้รับบาดเจ็บ ผ่าตัด หรือเจ็บป่วย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดข้อ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ เหนื่อยอ่อน อ่อนเพลียอย่างรุนแรง และความดันโลหิตต่ำจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากรอดชีวิต แม้จะหยุดยาแล้วอาการเหล่านี้ก็อาจจะคงอยู่นาน 9-12 เดือน จึงจำเป็นต้องเพิ่มขนาดคอร์ติโคสเตียรอยด์ในระหว่างที่ผู้ป่วยมีความเครียดทางสรีระ
    • อาการแพ้แบบรุนแรง เช่น โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis), แองจิโออีดีมา (Angioedema) เป็นต้น
    • การติดเชื้อรุนแรงจนอาจทำให้เสียชีวิต การได้รับยาเดกซาเมทาโซนตั้งแต่วันละ 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมขึ้นไป โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ทำให้คอร์ติโคสเตียรอยด์ในร่างกายสูงขึ้น หรือยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันอื่น ๆ ไม่ว่าจะใช้ยาในระยะสั้น ๆ หรือใช้เป็นเวลานานก็ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้ยายังบดบังอาการทางคลินิกของการติดเชื้อ เช่น การอักเสบและมีไข้ จึงทำให้ติดเชื้อรุนแรงยิ่งขึ้นจนอาจเสียชีวิตได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด, การติดเชื้อฉวยโอกาส, การติดเชื้อวัณโรคหรือวัณโรคที่สงบอยู่ลุกลามขึ้นมาอีก, การติดเชื้อไวรัสอีสุกอีใส, เริม, การติดเชื้อรา, ติดเชื้อโปรโตซัวหรือพยาธิ เช่น อะมีบา หรือโรคพยาธิสตรองจีลอยด์ อีกทั้งยังลดการตอบสนองต่อการให้วัคซีนและการทดสอบการแพ้ทางผิวหนังด้วย หากผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีน ควรได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตาย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ในขนาดปานกลางเป็นระยะเวลาสั้น ๆ หรือได้รับยาในขนาดต่ำเป็นระยะเวลานานก็มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วยเช่นกัน
  • ผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายทำให้เกิดความพิการหรือต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ได้แก่
    • ปัญหาเกี่ยวกับกระดูก ผู้ใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นเวลานานจะมีปัญหากระดูกพรุน ซึ่งถือเป็นผลข้างเคียงที่รุนแรงมากที่สุดของการใช้ยานี้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่กระดูกอาจแตกหักได้เอง (ที่พบบ่อย คือ กระดูกสันหลัง และกระดูกที่มีรูปร่างยาว), ทำให้กระดูกตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยง, กระดูกส่วนหัวของต้นขาและต้นแขนตายโดยไม่มีการติดเชื้อ โดยอาการเหล่านี้มักพบในผู้ป่วยที่ใช้ยาเดกซาเมทาโซนเป็นเวลานาน ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่อ่อนแอ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงควรได้รับการติดตามภาวะกระดูกพรุนอย่างใกล้ชิดในระหว่างที่ได้รับการรักษาด้วยยานี้เป็นเวลานาน และหากมีปัญหากระดูกพรุนอาจจำเป็นต้องหยุดยา ยกเว้นเป็นการใช้ยาเพื่อรักษาอาการที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
    • กลุ่มอาการคุชชิง การใช้ยาเดกซาเมทาโซนในขนาดสูงหรือใช้เป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการคล้ายกับการมีคอร์ติซอลสูง (Hypercorticism) ซึ่งมีลักษณะของต่อมหมวกไตทำงานมากเกินไป ทำให้มีการสะสมไขมันผิดที่ อ้วนที่กลางตัว หน้ากลมคล้ายดวงจันทร์ มีหนอกที่ไหล่ โครงสร้างร่างกายผิดปกติ มีขนแบบผู้ชาย ผู้ป่วยอาจมีอาการหน้าแดง มีปัญหาทางจิต แผลหายช้า มีสิว ผิวหนังแตกเป็นริ้วลายขนาน จ้ำเลือด ความดันในสมองสูง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง เพิ่มการสลายโปรตีน น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ประจำเดือนผิดปกติ ประจำเดือนขาด หรือปวดประจำเดือน ตาเป็นต้อหิน ตาเป็นต้อกระจกแบบ Subcapsular cataract เมื่อหยุดใช้ยานี้แล้วจะต้องใช้เวลาหลายเดือนจึงกลับมาหายเป็นปกติ
    • เอ็นฉีกขาด (Tendon rupture) โดยเฉพาะเอ็นร้อยหวาย
  • ผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่สามารถพบได้ แต่ไม่สามารถจะระบุความถี่ของการเกิดอาการแต่ละชนิดได้ เนื่องจากขึ้นอยู่กับขนาดยาและระยะเวลาในการรักษา มีดังนี้
    • ระบบจิตและประสาท เช่น อารมณ์แปรปรวน (เช่น หงุดหงิด เคลิ้มสุข ซึมเศร้า อารมณ์ไม่คงที่ มีความคิดฆ่าตัวตาย), บุคลิกภาพและพฤติกรรมเปลี่ยนไป (เช่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ ทุรนทุราย รู้สึกไม่สุขสบาย มีปัญหาเรื่องความคิดความอ่าน สับสน ปวดศีรษะ และสูญเสียความจำ), มีอาการทางจิต (เช่น อาการฟุ้งพล่าน หลงผิด เพ้อ ประสาทอ่อน ประสาทหลอน ทำให้โรคจิตเภทรุนแรงขึ้น), คลื่นสมองผิดปกติ, อาการบ้านหมุน, ชัก, ทำให้โรคลมชักรุนแรงขึ้น, มีการเพิ่มขึ้นของความดันในสมองร่วมกับการบวมของจานประสาทตาในเด็ก, การติดยาเดกซาเมทาโซน เป็นต้น
    • ระบบทางเดินหายใจ การใช้ยาเดกซาเมทาโซนในขนาดสูงเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ วัณโรคปอด ปอดบวมน้ำ โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาเดกซาเมทาโซนร่วมกับยาริโทดรีน (Ritodrine) สำหรับการคลอดทารกก่อนกำหนด
    • ระบบเลือด เช่น เดกซาเมทาโซนจะทำให้จำนวนเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นโดยไม่มีการติดเชื้อหรือเป็นโรคมะเร็ง และเม็ดเลือดขาวจะกลับสู่ปกติภายหลังจากหยุดใช้ยาภายใน 2 สัปดาห์, ทำให้จำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซท์ (Lymphocyte) โมโนไซท์ (Monocyte) และอิโอซิโนฟิล (Eosinophil) ที่ไหลเวียนอยู่ในหลอดเลือดลดลง ทำให้ภาพรวมจำนวนของเม็ดเลือดขาวที่สะสมอยู่ในบริเวณที่เกิดการอักเสบลดลง นอกจากนี้การใช้ยาเดกซาเมทาโซนในขนาดสูงเป็นเวลานาน ยังก่อให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้อีกด้วย
    • ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจฉีกขาดในผู้ที่เพิ่งมีภาวะ Myocardial infarction, หัวใจเต้นผิดปกติ (เต้นชา เต้นเร็ว ใจสั่น), หัวใจหยุดเต้น, หลอดเลือดอักเสบ, ภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด, ไขมันหลุดอุดหลอดเลือด, โรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง, หลอดเลือดดำอักเสบมีลิ่มเลือด, ระบบการไหลเวียนล้มเหลว
    • ระบบต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิก เช่น การพัฒนาด้านการเจริญเติบโตล่าช้าในทารก เด็ก และวัยรุ่น, ระดับน้ำตาลในเลือดสูง, คอเลสเตอรอลในเลือดสูง, ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง, ไขมันไม่ดี (LDL) ในเลือดสูง, ไขมันดี (HDL) ในเลือดต่ำ, เพิ่มความอยากอาหาร, น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น, ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน, ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติเนื่องจากภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง, สมดุลไนโตรเจนของร่างกายเป็นลบเนื่องจากมีการสลายโปรตีน, ท่อหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง, มีความผิดปกติด้านของเหลวและอิเล็กโทรไลต์ (เช่น ทำให้เกิดการคั่งของน้ำและโซเดียม ทำให้เกิดอาการบวมน้ำ และทำให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมา) นอกจากนี้ ยาเดกซาเมทาโซนยังไปรบกวนสมดุลของอิเล็กโทรไลต์ในเลือด ได้แก่ ระดับความเข้มข้นของโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและหัวใจหยุดเต้น, ภาวะร่างกายเป็นด่างร่วมกับระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemic alkalosis) และถ้าหากรุนแรงหรือผู้ป่วยมีความไวก็อาจทำให้หัวใจล้มเหลวเหตุเลือดคั่ง (Congestive heart failure) ได้ อีกทั้งเดกซาเมทาโซนยังเพิ่มการขับแคลเซียมออก ทำให้เกิดภาวะความเข้มข้นของแคลเซียมต่ำ (Hypocalcemia) ได้ด้วย
    • ระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารไม่ย่อย ระคายเคืองกระเพาะอาหาร และกระเพาะอาหารอักเสบ แผลเปื่อยในกระเพาะอาหาร กระเพาะทะลุ ลำไส้ทะลุ เลือดออกในทางเดินอาหาร หลอดอาหารอักเสบ แผลเปื่อยในหลอดอาหาร (เนื่องจากยานี้มีผลรบกวนกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ จึงทำให้เกิดแผลเปื่อยได้ง่าย) นอกจากนี้ยังมีเชื้อราแคนดิดาในช่องปากและหลอดอาหาร ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน สะอึก ท้องอืด ปวดมวนท้อง เบื่ออาหาร และน้ำหนักตัวลดตามมา แต่ก็มีรายงานด้วยว่า อาจทำให้อยากอาหารมากขึ้นจนทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และยังทำให้เกิดอาการท้องร่วง ท้องผูก ปวดท้อง และตับอ่อนอักเสบ
    • ระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ เช่น ช่องคลอดอักเสบ, มีการเปลี่ยนแปลงการสร้างอสุจิโดยอาจสร้างมากขึ้นหรือน้อยลง เป็นต้น
    • ปัญหาทางตา เช่น ทำให้ความดันในลูกตาเพิ่มขึ้น จึงเสี่ยงต่อการเกิดต้อหิน, ประสาทตาอักเสบ, ประสาทตาถูกทำลาย, จานประสาทตาบวมในเด็ก, ต้อกระจกแบบ Posterior subcapsular cataract และ Nuclear cataract โดยเฉพาะในเด็ก, กระจกตาบางลง, เปลือกลูกตาหรือตาขาวบางลง, การติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อราในตารุนแรงขึ้น ทำให้ตาบอดกะทันหัน, ตาโปน เป็นต้น
    • ปัญหาทางผิวหนัง เช่น ทำให้เกิดสิวสเตียรอยด์ (Steroid acne), ติดเชื้อราที่เยื่อบุเมือก เล็บ และผิวหนัง, แผลหายช้า, ผิวหนังบางลง, ผิวหนังฝ่อ, โรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมา (Kaposi’s sarcoma), เนื้องอกไขมันบริเวณเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก, หลอดเลือดฝอยพอง, ผิวหนังแตกเป็นริ้วลายขนานบริเวณต้นขา สะโพก และไหล่, หน้าแดง, ภาวะหลั่งเหงื่อมาก, ผิวอักเสบจากการแพ้, มีจุดเลือดออก, เลือดออกใต้ผิวหนังหรือผิวฟกช้ำได้ง่าย, ภาวะผิวหนังเป็นสีม่วงคล้ำบริเวณข้อพับ หลังมือ และส่วนบนของแขนท่อนล่าง, ภาวะมีขนแบบผู้ชาย, ผมร่วง, ผื่นแพ้ยา เช่น ลมพิษ โดยอาการต่าง ๆ จะค่อย ๆ หายไปเมื่อหยุดยา
เอกสารอ้างอิง
  1. สำนักยา.  “เอกสารกำกับยามาตรฐานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ยาเดกซาเมทาโซน 2.5, 0.5, 4 มิลลิกรัม ชนิดเม็ด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : drug.fda.moph.go.th.  [08 ต.ค. 2016].
  2. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “สตีรอยด์ (Steroid)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 274-276.
  3. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “DEXAMETHASONE”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [08 ต.ค. 2016].
  4. หาหมอดอทคอม.  “เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [08 ต.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด