เซทิไรซีน (Cetirizine) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

เซทิไรซีน (Cetirizine) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

เซทิไรซีน

เซทิไรซีน (Cetirizine) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า เซทริซิน (Cetrizin), เซ็ทเทค (CETTEC), ฟาเทค (Fatec), เซอร์ทีน (Zertine), ไซริทีน (Zyritine), ซีร์เทค (Zyrtec) เป็นกลุ่มยาต้านสารฮิสตามีน (Histamine) ที่ไม่ทำให้เกิดอาการง่วงนอน (แต่บางรายก็อาจเกิดอาการง่วงนอนได้) โดยมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการแพ้ อาการคัน และลมพิษ

ตัวอย่างยาเซทิไรซีน

ยาเซทิไรซีน (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น อะเลอเรสต์ (Alerest), อัลเลอร์-จีโอ (Aller-GO), อัลเลอร์เทค (Allertec), บู๊ทส์ เซทิไรซีน (Boots cetirizine), แซนเทค ไซรัป (Cantec syrup), แซนเทค (Cantec), เซลาแทก (Celatag), เซเทค (Cetec), เซทิฮิส (Cetihis), เซทิฮิส ไซรัป (Cetihis syrup), เซทิแมกซ์ (Cetimax), เซทิแนค (Cetinac), เซทิเรกซ์ (Cetirex), เซทิไรซิน สตาดา (Cetirizin Stada), เซทิเทอร์ (Cetiter), เซทิซิน (Cetizin), เซทนาซ (Cetnaz), เซทริแลน (Cetrilan), เซทริเมด (Cetrimed), เซทรีน (Cetrine), เซทริเซท (Cetrizet), เซทริซิน (Cetrizin), เซทริซิน ไซรัป (Cetrizin syrup), เซทเทค (Cettec), เซทเทค ไซรัพ (Cettec syrup), เซททริค (Cettric), เซซา (Ceza), ซินทาร์ (Cintar), ซินเทค (Cintec), ซิสทามีน (Cistamine), ไซซีน (Cyzine), ฟาเทค (Fatec), ฟาเทค ไซรัป (Fatec syrup), ฟลอเรกซ์ (Florex), ฮิสไรซีน (Hisrizine), ฮิสเทค (Histec), ฮิสทิกา (Histica), เจ.วี. ซีน (J.v. zine), แมนแทบ (Mantab), โมทิซีน (Motizine), วัน-เทรกซ์ (One-trex), ออร์มิสต์ (Ormist), พี-ซีน (P-zine), พี-เทกซ์ (P-tex), เรนเทกซ์ (Rentex), ไรเซท (Rhicet), ไรเทซิน (Rhitecin), ไรเทซิน ไซรัป (Rhitecin syrup), ไรเซเทค (Rizetec), เซติน (Setin), เซติน ไซรัป (Setin syrup), สตาร์เทค ไซรัป (Startec syrup), ซูแทก (Sutac), เทอร์ซีน (Terzine), ทิซีน (Tizine), ทิซีน ไซรัป (Tizine syrup), อัปเทค (Uptec), ยูทิซีน (Utizine), ยูนิเซท (Unicet), ทริส (Triz), ไวราเทค (Viratec), ไวราเทค ไซรัป (Viratec syrup), ซาริเดค ไซรัป (Zaridec syrup), ซีเฟค (Zeafec), เซนซิล (Zensil), เซอร์เมด (Zermed), เซอร์เมด ไซรัป (Zermed syrup), เซอร์ทีน (Zertine), เซอร์ทีน ไซรัป (Zertine syrup), เซเทซีน (Zetecine), ซิทเทค (Zittec), ไซเลอจิก (Zylergic), ไซเมด (Zymed), ไซเมด ไซรัป (Zymed syrup), ไซรา (Zyra), ไซแรก (Zyrac), ไซรัล (Zyral), ไซราซีน (Zyrazine), ไซเรกซ์ (Zyrex), ไซเรกซ์ ไซรัป (Zyrex syrup), ไซริล (Zyril), ไซริน (Zyrin), ซีร์คอน (Zyrcon), ไซริทีน (Zyritine), ซีร์เมด (Zyrmed), ซีร์เมกซ์ (Zyrmex), ซีร์เทค (Zyrtec), ซีร์เทคโน (Zyrtecno), ซีร์ไรซิน ไซรัป (Zyrrizin syrup), ซีร์ไรซิน (Zyrrizin), ไซทีน (Zytine), ไซทีน ไซรัป (Zytine syrup), ไซทิซีน (Zytizine), ไซทิซีน ไซรัป (Zytizine syrup) ฯลฯ

รูปแบบยาเซทิไรซีน

  • ยาเม็ดรับประทาน ขนาด 5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดเคี้ยว ขนาด 5-10 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำเชื่อม ขนาด 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

เซทริซิน (Cetrizin)
IMAGE SOURCE : www.mims.com

เซ็ทเทค (CETTEC)
IMAGE SOURCE : oknation.nationtv.tv/blog/normalcode, pantip.com (by ningjojo)

ฟาเทค (Fatec)
IMAGE SOURCE : www.bloggang.com (by fornatcha)

เซอร์ทีน (Zertine)
IMAGE SOURCE : www.bangkoklab.co.th

ซีร์เทค (Zyrtec)
IMAGE SOURCE : www.medicinep.com

สรรพคุณของยาเซทิไรซีน

  • ช่วยบรรเทาอาการของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้/โรคแพ้อากาศ (Allergic rhinitis) หรือไข้ละอองฟาง (Hay fever) ที่มีสาเหตุมาจากการแพ้ละอองเกสรดอกไม้ ฝุ่นละออง หรือสารอื่นในอากาศ เช่น อาการคันจมูกหรือคันคอ คัดจมูกหรือแน่นจมูก จาม มีน้ำมูกใส ๆ ไหล ตาแดง บวม และน้ำตาไหล[3],[4]
  • ช่วยบรรเทาอาการผื่นคันและผิวหนังแดงที่เกิดจากผื่นลมพิษ (Urticaria) แต่ไม่สามารถป้องกันอาการของผื่นลมพิษหรือการแพ้อื่น ๆ ทางผิวหนังได้[1],[3],[4]
  • ยานี้อาจใช้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่น ๆ ได้ หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร[3]

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเซทิไรซีน

เมื่อได้รับยาเซทิไรซีนเข้าสู่ร่างกายแล้ว ตัวยาจะถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเป็นสารไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) ซึ่งเป็นสารต้านฮิสตามีน (Histamine) ชนิดหนึ่ง แล้วสารนี้จะไปต้านฮิสตามีนที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ โดยเข้าไปจับกับตัวรับ (Receptor) ที่เรียกว่า Selective Inhibition of Peripheral H1-receptor จึงทำให้กลไกที่ก่อให้เกิดการแพ้ทุเลาลง[2]

หลังจากรับประทานยาเซทิไรซีน ตัวยาจะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารภายใน 1 ชั่วโมง และจะออกฤทธิ์ได้นานถึง 21 ชั่วโมง (ตัวยาสามารถซึมผ่านเข้าสมองได้เพียงเล็กน้อย จึงทำให้ผู้ที่รับประทานยานี้ไม่ค่อยเกิดอาการง่วงนอน) ระดับยาในกระแสเลือดจะลดลง 50% ภายในเวลาประมาณ 8.30 ชั่วโมง ร่างกายจะกำจัดยาส่วนใหญ่ออกทางปัสสาวะ และมีบางส่วนถูกเปลี่ยนโครงสร้างที่ตับและถูกขับออกไปกับอุจจาระ[2]

ก่อนใช้ยาเซทิไรซีน

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเซทิไรซีน สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาเซทิไรซีน (Cetirizine) และประวัติการแพ้ยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ และยาที่แพทย์สั่งจ่ายหรือที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาเซทิไรซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การรับประทานยาเซทิไรซีนร่วมกับยากลุ่มต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เช่น กลุ่มยารักษาอาการแพ้ต่าง ๆ, กลุ่มยานอนหลับ, กลุ่มยาคลายเครียด, กลุ่มยารักษาอาการซึมเศร้า, กลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ, กลุ่มยาแก้โรคลมชัก, ยาแก้ปวดที่เป็นกลุ่มยาเสพติดให้โทษ เป็นต้น สามารถก่อให้เกิดอาการง่วงนอนมากขึ้น หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเซทิไรซีนร่วมกับยาเหล่านี้[2]
    • การรับประทานยาเซทิไรซีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สามารถส่งผลให้การควบคุมสติและการควบคุมร่างกายด้อยประสิทธิภาพลง[2]
  • มีหรือเคยมีโรคตับหรือโรคไต
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาเซทิไรซีน

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติการแพ้ยาเซทิไรซีน (Cetirizine)
  • ห้ามใช้ยานี้รักษาตุ่มผื่นลมพิษซึ่งมีการพุพอง ฟกช้ำ มีสีผิดปกติ หรือผื่นลมพิษที่ไม่มีอาการคัน และควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการในผื่นลักษณะดังกล่าว[3]
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กทารกแรกเกิดและหญิงให้นมบุตร (เนื่องจากยานี้สามารถขับออกทางน้ำนมได้[4])
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพ
  • ควรระมัดระวังการใช้ยากับผู้ที่มีการทำงานของตับหรือไตผิดปกติ (แพทย์อาจปรับลดขนาดการรับประทานยาลงเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย)
  • ควรระมัดระวังการใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์ (เพราะยังไม่มีรายงานยืนยันความปลอดภัยของการใช้ยานี้ในคนที่ตั้งครรภ์ แต่จากการทดลองในสัตว์ ยานี้ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงแต่อย่างใด[4])
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้ร่วมกับกลุ่มยารักษาอาการแพ้ต่าง ๆ, กลุ่มยานอนหลับ, กลุ่มยาคลายเครียด, กลุ่มยารักษาอาการซึมเศร้า, กลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ, กลุ่มยาแก้โรคลมชัก, ยาแก้ปวดที่เป็นกลุ่มยาเสพติดให้โทษ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้เกิดอาการง่วงนอนมากขึ้น
  • ในขณะที่ใช้ยาเซทิไรซีน ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร เพราะยานี้อาจทำให้ความคิดและการตอบสนองของร่างกายช้าลง และอาจก่อให้เกิดอาการง่วงนอนในผู้ป่วยบางรายได้[2],[4]

วิธีใช้ยาเซทิไรซีน

  • ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาครั้งละ 5-10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง[1]
  • ในเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 5-10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง[1] (บางคำแนะนำระบุว่า ในเด็กอายุ 6-11 ปี ให้รับประทานยาเพียงครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ส่วนในเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 5-10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง[2])
  • ในเด็กอายุ 2-5 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม (ครึ่งช้อนชา) วันละ 1 ครั้ง และสามารถปรับขนาดการรับประทานยาได้สูงสุดไม่เกินครั้งละ 5 มิลลิกรัม (1 ช้อนชา) วันละ 1 ครั้ง หรือแบ่งเป็น 2.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งก็ได้[1]
  • ในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม (ครึ่งช้อนชา) วันละ 1 ครั้ง (สำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป อาจปรับขนาดการรับประทานยาได้ สูงสุดไม่เกินวันละ 5 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม)[1]
  • สำหรับผู้ป่วยไตวาย ให้รับประทานยานี้เพียงครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง[4]

คำแนะนำในการใช้ยาเซทิไรซีน

  • ยาเซทิไรซีนสามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้[2] แต่ควรรับประทานยาในช่วงเวลาเดียวกันทุกวัน และอาจต้องรับประทานยาหลายวันก่อนที่อาการจะดีขึ้น[3]
  • โดยทั่วไปยานี้จะให้รับประทานวันละ 1 ครั้ง หรือใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้ในฉลากยาหรือตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่มากกว่าหรือบ่อยกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • ขนาดและระยะเวลาของการใช้ยาควรต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษาซึ่งขึ้นอยู่กับอายุ อาการ ความรุนแรงของโรคของผู้ป่วยเป็นสำคัญ[2]
  • หากอาการผื่นลมพิษยังไม่ดีขึ้นภายใน 3 วันหลังจากเริ่มใช้ยา หรือในกรณีที่ผื่นลมพิษมีอาการยาวนานมากกว่า 6 สัปดาห์ ให้หยุดใช้ยานี้และควรปรึกษาแพทย์ถึงสาเหตุของการเกิดผื่นดังกล่าว[3]

การเก็บรักษายาเซทิไรซีน

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง (แต่บางบริษัทผู้ผลิตยาแนะนำให้เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น เช่น ในห้องน้ำ
  • ห้ามเก็บยารูปแบบน้ำเชื่อมในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ให้ทิ้งยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพ

เมื่อลืมรับประทานยาเซทิไรซีน

โดยทั่วไปเมื่อลืมรับประทานยาเซทิไรซีน ให้รับประทานยาในทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า หรือมากกว่าปกติ

ผลข้างเคียงของยาเซทิไรซีน

  • ผลข้างเคียงทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการใช้ยา (หากเป็นต่อเนื่องหรือรบกวนชีวิตประจำวัน ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ) คือ ง่วงซึม มึนงง อ่อนเพลียหรือเหนื่อยมาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ ปากแห้ง เจ็บคอ ไอ ไม่สบายท้อง ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก[2],[3],[4]
  • ผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้และผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ ได้แก่ มึนงง สับสน, หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น, อ่อนเพลีย มือสั่น หรือนอนไม่หลับ, มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น, ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ[4]
  • ผลข้างเคียงรุนแรงที่ต้องหยุดยาและรีบไปพบแพทย์ทันที ได้แก่ เกิดอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง มีผื่นลมพิษ หายใจลำบาก หรือกลืนลำบาก แน่นหน้าอก มีอาการบวมของใบหน้า หนังตา ริมฝีปาก ลิ้น และคอ[4]
  • ผลข้างเคียงจากการรับประทานยานี้เกินขนาด เท่าที่มีรายงานพบเพียงอาการง่วงซึมเท่านั้น[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. Drugs.com.  “Cetirizine”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com.  [10 พ.ย. 2016].
  2. หาหมอดอทคอม.  “เซทิไรซีน (Cetirizine)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [11 พ.ย. 2016].
  3. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “CETIRIZINE DIHYDROCHLORIDE”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [11 พ.ย. 2016].
  4. Siamhealth.  “ยาแก้แพ้อากาศ Cetirizine”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [11 พ.ย. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด