เจียวกู่หลาน สรรพคุณและประโยชน์ของชาเจียวกู่หลาน 36 ข้อ !

เจียวกู่หลาน สรรพคุณและประโยชน์ของชาเจียวกู่หลาน 36 ข้อ !

เจียวกู่หลาน

เจียวกู่หลาน ชื่อสามัญ Jiaogulan[2], Gynostemma, Miracle grass (หญ้ามหัศจรรย์), Southern ginseng (โสมภาคใต้), 5-Leaf ginseng (โสมห้าใบ), Penta tea[4]

เจียวกู่หลาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Gynostemma pentaphyllum (Thunb.) Makino จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย [1]

สมุนไพรเจียวกู่หลาน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปัญจขันธ์ เบญจขันธ์ (ไทย), เครือต๋อมต๋อ (ไทใหญ่), ชีเย่ต่าน เสี่ยวขู่เอี้ยว เจียวกู่หลาน (จีนกลาง)[1],[4] คำว่า “เจียวกู่หลาน” มาจากภาษาจีนที่หมายความถึงพืชเถาที่พันรอบไม้ใหญ่ แต่ด้วยความที่สมุนไพรชนิดนี้มีสรรพคุณในการบำรุงสุขภาพและรักษาอาการป่วยต่าง ๆ ได้หลายอย่าง ชาวจีนจึงเรียกว่าเจียวกู่หลานว่า “ซียันเช่า” ซึ่งมีความหมายว่าสมุนไพรแห่งชีวิตอมตะ ส่วนชาวญี่ปุ่นจะเรียกว่า “อะมาซาซูรู” ที่มีความหมายว่า ชาหวานจากเถา[2]

ลักษณะของเจียวกู่หลาน

  • ต้นเจียวกู่หลาน จัดอยู่พรรณไม้ล้มลุกตระกูลหญ้าแบบเถาเลื้อย ยาวประมาณ 1-150 เซนติเมตร มีรากอยู่ใต้ดินเป็นรากเลื้อย เส้นเล็ก ยาวประมาณ 50-100 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของรากประมาณ 1 เซนติเมตร ลำต้นเป็นข้อ ๆ มีมือเกาะตามข้อ มีขนบาง ๆ เล็กน้อย เลื้อยไปตามพื้นหรือเลื้อยพันกับพืชชนิดอื่น ๆ[1] ขยายพันธุด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำ และวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช มักขึ้นตามที่ชื้นแฉะ ริมทางน้ำไหล หรืออาจพบขึ้นบนหินปูน มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย ในบริเวณภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาที่มีความสูงระดับ 300-3,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล พบได้ในประเทศอินเดีย เนปาล จีน พม่า ลาว เกาหลี และญี่ปุ่น ส่วนในประเทศไทยสมุนไพรชนิดนี้สามารถปลูกได้ดี ปัจจุบันมีการปลูกที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ยังไม่แพร่หลายนัก[2],[3]

เจียวกูหลาน

  • ใบเจียวกู่หลาน ใบออกเรียงสลับ มักเรียงแบบขนนก กิ่งหนึ่งมีใบประมาณ 3-7 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปกลมรีหรือรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบกลม ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยเล็กน้อย ตรงกลางของใบยาวได้ประมาณ 4-8 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร เส้นใบล่างมีขนสั้นปกคลุม ใบ 2 ข้างมักเรียงคู่กันเล็กกว่าใบตรงกลาง[1]

ปัญจขันธ์

  • ดอกเจียวกู่หลาน ออกดอกเป็นกระจุกมีสีเหลืองเขียว โดยจะออกตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอกเป็นเส้น ปลายแหลมยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน มีเกสรเพศเมีย 3 อัน[1]

เจี่ยวกู้หลาน ดอกเจียวกู่หลาน

  • ผลเจียวกู่หลาน ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนผลแก่เป็นสีเขียวออกดำ ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปกลมรี ยาวได้ประมาณ 4 มิลลิเมตร เมล็ดจะเป็นเส้นย่น[1]

เจี่ยวกู่หลาน

ในด้านการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เจียวกู่หลาน ให้นำใบเจียวกู่หลานที่ทำความสะอาดแล้วมาคั่วด้วยไฟอ่อน ๆ แล้วนำเข้าเตาอบอุณหภูมิ 40-60 องศาเซลเซียส เป็นเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ส่วนก้านที่ทำความสะอาดและตัดเป็นท่อนแล้ว ให้นำไปอบด้วยอุณหภูมิประมาณ 40-60 องศาเซลเซียส ประมาณ 6-7 ชั่วโมง แล้วนำมาคั่วให้หอม โดยสรรพคุณทางยาในส่วนของก้านนั้นจะมีมากกว่าใบ เนื่องจากลักษณะของต้นเจียวกู่หลานจะเป็นไม้เถาล้มลุก จึงมีส่วนที่เป็นกิ่งก้านสาขามากกว่าส่วนของใบ ส่วนในเรื่องของรสชาติเมื่อนำมาชงเป็นชาส่วนของก้านจะมีรสขมกว่าใบ ส่วนที่เป็นใบบางคนก็บอกว่าหวาน ในทางการค้ามีการคัดเลือดเฉพาะบางส่วน โดยเกรด A จะคัดเอาเฉพาะยอดอ่อน ไม่มีใบแก่และไม่มีก้านหรือเถา ซึ่งจะให้รสชาติที่นุ่มนวล ลื่นคอ ไม่ขม ไม่ฝาด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สรรพคุณทางยาก็คงจะไม่แตกต่างกันมากเท่าไหร่นัก ฉะนั้นการเลือกซื้อก็ขึ้นอยู่กับความพอใจครับ

สรรพคุณของเจียวกู่หลาน

  1. เจียวกู่หลาน หรือ สมุนไพรปัญจขันธ์ชาเจียวกู่หลาน มีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยชะลอความแก่ การรับประทานเจียวกู่หลานครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 60 วัน จากคนที่เข้ารับการรักษาจำนวน 1-6 คน พบว่า คนที่เข้ารับการรักษาร่างกายทุกคนแข็งแรงดีขึ้น ความจำฟื้นคืนปกติ อาการนอนไม่หลับและอาการปวดหลังปวดเอวหายไป[1]
  2. ใช้เป็นยารักษามะเร็ง ต้านทานการเจริญเติบโตของเชื้อมะเร็ง ด้วยการรับประทานสารสกัดจากเจียวกู่หลานครั้งละ 40 มิลลิลิตร วันละ 2 ครั้ง จากคนที่เข้ารับการรักษาจำนวน 30 คน โดยทำการรักษาเป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่า มี 27 ราย ได้ผลดีขึ้น ประสิทธิภาพในการรักษาประมาณ 87%[1] บางข้อมูลระบุว่าเจียวกู่หลานมีสรรพคุณช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งปอด มะเร็งในช่องท้อง มะเร็งลำไส้ มะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม และอื่น ๆ อีกรวมกว่า 20 ชนิด
  3. ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ลดไขมันในเส้นเลือด ด้วยการใช้ใบเจียวกู่หลานแห้ง นำมาชงกับน้ำรับประทานแทนน้ำชา ครั้งละ 2-3 กรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 40 วันอย่างต่อเนื่อง พบว่า ผู้ที่เข้ารับการรักษาจำนวน 29 คน มี 19 คน ที่เห็นผลดี และมี 1 คน ที่ได้ผล โดยมีประสิทธิภาพในการรักษาอยู่ที่ 68.97%[1],[2]
  4. ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ มีอาการปวดบิดทางหัวใจ ด้วยการใช้ใบเจียวกู่หลานแห้ง นำมาชงกับน้ำรับประทานแทนน้ำชา ครั้งละ 2-3 กรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 40 วันอย่างต่อเนื่อง พบว่า คนไข้ที่เข้ารับการรักษาจำนวน 23 คน มี 7 คน ที่ได้ผล และมี 5 คน ที่ให้ผลเด่นชัด ส่วนอีก 11 รายยังไม่เห็นผลชัดเจน โดยมีประสิทธิภาพการรักษาอยู่ที่ 68.17%[1] แต่ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำจะปรับความดันให้เป็นปกติ[2]
  5. ช่วยทำให้หัวใจแข็งแรง[2]
  1. ช่วยยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด[2]
  2. ทั้งต้นและรากมีรสขม เป็นยาเย็น ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ รักษาไข้หวัด แก้ร้อนในต่าง ๆ[1],[2]
  3. ช่วยแก้อาการไอ ไอเรื้อรัง[1],[2]
  4. ช่วยขับเสมหะ[1],[2]
  5. ใช้เป็นยารักษาหลอดลมอักเสบ โรคหลอดลมเรื้อรัง หลอดลมแข็งตัว ตามรายงานระบุว่าจากการใช้เจียวกู่หลานรักษาผู้ป่วยโรคหลอดลมเรื้อรังมากกว่า 500 ราย มีประสิทธิภาพในการรักษาอยู่ที่ 79%[1],[2]
  6. ใช้รักษาโรคถุงลมในปอดอักเสบ ชาวจีนได้มีการใช้เจียวกู่หลานเป็นยารักษาผู้ป่วยที่มีอาการถุงลมในปอดอักเสบมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งมีผลการทดลองที่ได้นำชาเจียวกู่หลานมาให้ผู้ป่วยดื่มเพื่อรักษาโรคถุงลมในปอดอักเสบ จากการทดลองพบว่า ได้ผลในการรักษาสูงถึง 92% จากการรักษาผู้ป่วยจำนวนทั้งหมด 96 ราย[2]
  7. ช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น และทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารมากยิ่งขึ้น[2]
  8. ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร[2]
  9. ช่วยทำให้ตับแข็งแรง ใช้รักษาตับอักเสบติดเชื้อหรือตับอักเสบชนิดไวรัสบี กรวยไตอักเสบ[1],[2],[3]
  10. ใบนำมาทุบ ใช้เป็นยาพอกฝี (ชาวไทใหญ่)[4]
  11. ใช้เป็นยาขับพิษแก้อักเสบ ต้านการอักเสบ แก้ปวด[1],[2]
  12. ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก[2]
  13. ต้นใช้ตำพอกเป็นยาแก้กระดูกหัก แก้อาการเจ็บในกระดูก ปวดในข้อเท้า ข้อมือ หรือปวดตามกล้ามเนื้อ รวมไปถึงอาการฟกช้ำดำเขียวต่าง ๆ (ต้นสด)[3]
  14. ส่วนสรรพคุณในตำรับยาจีน ระบุไว้ว่าสารสกัดจากเจียวกู่หลานมีสรรพคุณช่วยส่งการสร้างเซลล์กระดูก เสริมสร้างการรวบตัวของโปรตีนและกรดในตับ ช่วยบำรุงสมอง มีผลต่อการรักษาโรคในช่องอก โรคโลหิตจาง โรคหลอดลมเรื้อรังและโรคหลอดเลือดแข็งตัว[2]
  15. นอกจากนี้เจียวกู่หลานยังมีสรรพคุณอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ช่วยแก้อาการท้องผูก ลดกรด รักษาลำไส้อักเสบ คางทูม ทอนซิล ความจำเสื่อม ปวดหัว ไมเกรน ผมหงอก ผมร่วง หอบหืด ฆ่าเชื้อราที่เท้า โรคเก๊าท์ ปวดหลัง ปวดเอว แก้หูอักเสบ แก้หูด ช่วยควบคุมน้ำหนักตัว ทำให้แผลหายเร็ว เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเซลล์ในร่างกาย ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ลดภูมิแพ้ สร้างสมดุลฮอร์โมนรอบเดือนของสตรี ฟื้นฟูฮอร์โมนต่อมลูกหมากของสุภาพบุรุษ ลดอาการต่อมลูกหมากโต ขับท่อปัสสาวะ ขับน้ำในร่างกายของคนที่เป็นคนอ้วน ขับของเสียที่ไต ช่วยล้างท่อปัสสาวะ ทำให้ท่อปัสสาวะโล่งและมีแรงดัน ช่วยขับลมต่าง ๆ (เช่น ลมที่ไม่ปกติในกระเพาะอาหารและลำไส้ ลมแน่นหน้าอก กรดไหลย้อน ลมในข้อกระดูก แขน ขา หัวไหล่) ขับไขมัน ขับถ่ายสะดวก เป็นต้น[5]

หมายเหตุ : วิธีการใช้ตาม [1] ให้ใช้ยาแห้งบดเป็นผงใส่ในแคปซูล ให้รับประทานครั้งละไม่เกิน 3 กรัม หรือใช้เข้ากับตำรับยาตามต้องการ[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเจียวกู่หลาน

  • สารที่พบ ได้แก่ สาร Flavonol และสาร Gypenoside (1-52 ชนิด), Sterol ของเจียวกู่หลาน และยังพบกลูโคส, น้ำตาล, กลูโคลีน มีสารคล้ายกับโสมคน 4 ชนิด เช่น Rb1, Rd3, Rd, Rf2 รวมไปถึงกรดอะมิโน วิตามินบี1 วิตามินบี2 และยังมีแร่ธาตุอีกหลายชนิด เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม แมงกานีส สังกะสี เป็นต้น[1],[2]
  • Dr Osama Tanaka แห่งคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮิโรชิมา ได้ทำการศึกษาจนพบว่า เจียวกู่หลานมีสาร Saponins ที่มีโครงสร้างโมเลกุลเหมือนกับโสม ต่อมา Dr Tsunematsu Takemoto ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรที่ศึกษาประโยชน์ของเจียวกู่หลานมากว่า 10 ปี ได้พบว่าเจียวกู่หลายมีสาร Saponins อยู่มากถึง 82 ชนิด หรือที่เรียกว่า Gypenosides และเจียวกู่หลานยังเป็นสมุนไพรที่ใช้เป็นยาได้เหมือนกับโสมแต่ดีกว่าโสม เนื่องจากโสมมีสาร Saponins ที่เรียกว่า Gypenosides อยู่เพียง 28 ชนิด ในขณะที่เจียวกู่หลานนั้นมี Gypenosides อยู่ถึง 82 ชนิด และสาร Gypenosides ที่พบในเจียวกู่หลานจะมีอยู่ 4 ชนิดที่เหมือนกับโสม และมีอีก 17 ชนิด ที่มีลักษณะคล้ายกับโสม นอกจากนี้ปริมาณของ Gypenosides ที่มีอยู่ในเจียวกู่หลานก็ยังมีมากกว่าและมีคุณสมบัติทางยาที่ดีกว่า Gypenosides ที่พบได้ในโสม อีกทั้งเจียวกู่หลานยังไม่มีพิษและไม่มีอาการแพ้ที่เกิดขึ้นจากการบริโภคอีกด้วย[2]
  • จากการศึกษาทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นเวลากว่า 30 ปีเจียวกู่หลานแคปซูล สามารถยืนยันได้ว่าสมุนไพรเจียวกู่หลานนั้นเป็น Adaptogen ที่มีคุณสมบัติอันน่ามหัศจรรย์ในการช่วยปรับสมดุลของการทำงานในระบบประสาทส่วนกลางซึ่งประกอบไปด้วย สมองไขสันหลัง ระบบประสาท Sympathetic ระบบ Parasympathetic ที่ควบคุมการทำงานของระบบประสาท การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ และการหลั่งฮอร์โมน หากร่างกายมีความเครียดมากเกินไป สาร Gypenosides จะช่วยทำให้ระบบประสาทส่วนกลางปรับตัวเพื่อทำให้ร่างกายผ่อนคลาย แต่ถ้าร่างกายมีอาการหดหู่ สาร Gypenosides ก็จะช่วยทำให้ระบบประสาทส่วนกลางปรับตัวปรับตัวเพื่อทำให้ร่างกายกระฉับกระเฉงขึ้น[2]
  • จากรายงานของ Poomecome W ได้รายงานสรุปรวมความว่าเจียวกู่หลานสามารถกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งสารอินซูลินและยับยั้งการดูดซึมของกลูโคสในทางเดินอาหาร ซึ่งมีผลช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ (อ้างอิง Poomecome W. “Hypoglycemic activity of Extract From Gynostemma Pentaphyllum Makino”. 1999.)[2]
  • Tanner MA และคณะ พบว่าสารสกัด Gypenosides ในขนาด 0.1-100 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร มีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือดโคโรนารีในหลอดทดลอง และพบว่าสารสกัดจากเจียวกู่หลานทำให้การสร้าง nitric oxide ของเซลล์เพาะเลี้ยง bovine arotic endothelial เพิ่มขึ้นแบบ dose-dependent โดยไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อเซลล์ จึงสรุปได้ว่าสารสกัดจากเจียวกู่หลาน
  • มีฤทธิ์โดยตรงต่อการหลั่งของสาร notric oxide แต่ไม่มีผลต่อการสร้างสารกลุ่ม prostanoid[2]
  • LIM และคณะ ได้ทำการทดลองนำเจียวกู่หลานแห้งไปสกัดด้วยน้ำ จากนั้นนำไปทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูขาวทดลอง พบว่าสามารถต้านการอักเสบ ลดอาการบวมของอุ้งเท้าหนูได้ (อ้างอิง LIM JM, Lin CC, Chiu HF, Jang JJ, Lee SG. “Evalution of anti-inflammatory and liver protect effects of Anoectochilus formosanus, Ganoderma lucidum and Gynostemma pentaphyllum in rats”. 1993.)[2]
  • การให้สารสกัดด้วยน้ำจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นเจียวกู่หลาน ในขนาด 1 กรัมต่อกิโลกรัม (คิดตามน้ำหนักของเจียวกู่หลานที่นำมาสกัด) แก่หนูขาวทดลอง โดยการฉีดเข้าทางช่องท้อง พบว่าสามารถป้องกันตับจากการเกิดสารพิษจาก CCI และยังมีรายงานว่า Gypenoside มีฤทธิ์ในการรักษาภาวะการเกิดพิษเรื้อรังที่ตับ ซึ่งถูกเหนี่ยวนำด้วย CCI4 และลดการเกิด Fibrosis ด้วย โดยพบว่า Gypenoside จะลดการเพิ่มของ SGOT, SGPT activities ในหนูขาว ซึ่งตับถูกทำลายด้วย CCI4 เป็นเวลานานถึง 8 สัปดาห์ และยังทำให้ปริมาณของคอลลาเจนลดลง 33%[2]
  • ตัวยาที่สกัดได้จากเจียวกู่หลานมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์เอชไอวีโพรทีเอส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เชื้อ HIV ใช้ในการเพิ่มจำนวน และมีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกันในหลอดทดลองได้เป็นอย่างดี[2]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลันและพิษเรื้อรังของสารสกัดเจียวกู่หลานในสัตว์ทดลอง พบว่าสมุนไพรชนิดนี้มีความปลอดภัยสูง และยังได้ทำการทดลองในอาสาสมัคร โดยให้รับประทานสารสกัดเจียวกู่หลานแคปซูลก็พบว่ามีความปลอดภัย[2]

ประโยชน์ของเจียวกู่หลาน

  1. ชาวจีนนิยมใช้เจียวกู่หลานมาบริโภคเป็นอาหารและต้มดื่มแทนน้ำชาชาเจียวกู้หลาน เพราะเจียวกู่หลายมีคุณสมบัติในการส่งเสริมธาตุหยินและหยางของร่างกาย ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง สามารถทำงานหนักกลางแจ้งได้นาน มีอายุยืนยาว ดูอ่อนเยาว์กว่าวัย และยังมีอัตราการป่วยเป็นโรคมะเร็งที่ต่ำด้วย[2]
  2. ในประเทศจีนได้มีการใช้เจียวกู่หลานร่วมกับสมุนไพรจีนชนิดอื่นและน้ำผลไม้ที่คั้นจากผลกีวี่ซึ่งมีวิตามินซีและวิตามินอีสูง ซึ่งนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาหารป่วยอันเกิดจากอนุมูลอิสระต่าง ๆ อย่างได้ผลและมีประสิทธิภาพ เช่น อาการขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจที่เป็นสาเหตุของหัวใจวาย อาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรืออาการขาดเลือดไปเลี้ยงสมองที่เป็นสาเหตุของอัมพาต[2]
  3. เจียวกู่หลานเป็นสมุนไพรที่สามารถช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกายได้ เพราะช่วยทำให้การทำงานของระบบน้ำเหลืองดีขึ้น โดยการสร้างเม็ดเลือดขาวสำหรับกำจัดเชื้อโรคภายในร่างกาย จึงทำให้ร่างกายแข็งแรง หายอ่อนเพลีย มีภูมิต้านทานมากขึ้น และยังช่วยป้องกันฤทธิ์ทางชีวภาพของรังสีแกมม่าในการทำลายเม็ดเลือดขาว ทำลายระบบภูมิคุ้มกันได้ด้วย นอกจากนี้ในประเทศไทยบ้านเราเองก็ได้มีการทดลองใช้สมุนไพรเจียวกู่หลานเพื่อประกอบการรักษาผู้ป่วยเอดส์ โดยพบว่าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันของร่างกายสูงขึ้นด้วย[2]
  4. เจียวกู่หลานมีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ซึ่งอนุมูลอิสระนั้นเป็นสาเหตุของปัญหาทางด้านสุขภาพหลายอย่าง เช่น ทำให้อวัยวะภายในเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ ผิวหนังเหี่ยวย่นไว DNA ทำงานผิดปกติ ร่างกายจึงแก่เร็ว ทำให้เส้นเลือดตีบตันจนทำให้เป็นสาเหตุของอาการต่าง ๆ (เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตาย อัมพาต ไตเสื่อมหรือไตวาย เป็นต้น) ทำให้เกิดอาการอักเสบที่เอ็นและกล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมากเกินไป จนทำให้มีอาการข้ออักเสบหรือเป็นโรคเม็ดเลือดขาวมากเกินไป นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อมหรือความจำเสื่อมอีกด้วย เป็นต้น[2]
  5. สาร Gypenosides ในสมุนไพรเจียวกู่หลานสามารถช่วยควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ปกติได้ กล่าวคือถ้ามีอาการความดันโลหิตต่ำจะปรับให้เป็นปกติ แต่ถ้ามีความดันโลหิตสูงจะปรับให้ลดลง[2]
  6. เจียวกู่หลานมีคุณสมบัติในการรักษาโรคเบาหวานและโรคตับ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยมีสารซาโปนินที่มีคุณสมบัติลดอาการป่วยจากโรคตับอักเสบและโรคเบาหวาน ด้วยการเข้าไปช่วยกระตุ้นการสร้างอินซูลินจากตับอ่อน จึงช่วยลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้[2]
  7. เจียวกู่หลานมีคุณสมบัติในการลดไขมันในเลือดได้ ซึ่งจากการรักษาผู้ป่วยโดยใช้สาร Gypenosides พบว่าสามารถลดระดับของไตรีกลีเซอไรด์ และไขมันเลว (LDL) ที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพได้ และยังช่วยเพิ่มไขมันดี (HDL) ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย[2]
  8. ในวงการแพทย์นั้นยอมรับว่าสาร Ginsenosides Rh 12 ที่พบได้ในโสมนั้นมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้เป็นอย่างดี แต่สาร Rh12 ที่มีอยู่ในโสมนั้นมีปริมาณเพียง 0.001% เท่านั้น แต่ในสมุนไพรเจียวกู่หลานจะมีสาร Ginsenosides 22-29 ที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้เช่นกัน แต่มีปริมาณมากกว่าในโสมหลายเท่าตัว[2]
  9. เจียวกู่หลานสามารถช่วยขยายหลอดเลือดของหัวใจให้มีอัตราการไหลเวียนของเลือดจากหัวใจสูงขึ้น (แต่อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตไม่มีการเปลี่ยนแปลง)[2]
  10. สาร Gypenosides ในสมุนไพรเจียวกู่หลานสามารถป้องกันการจับตัวของลิ่มเลือดได้ ถ้าหากลิ่มเลือดอุดตันในบริเวณเส้นเลือดหัวใจ จะเป็นสาเหตุให้มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติหรือหัวใจวายได้[2]
  11. ในจำนวนพืชกว่า 4,000 ชนิด สมุนไพรที่จัดได้ว่าเป็น Adaptogen จะต้องไม่มีสารใด ๆ ที่เป็นพิษต่อร่างกายและช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยรักษาโรคร้ายต่าง ๆ โดยมีผลต่อการทำงานของร่างกายที่สำคัญคือ ช่วยบำรุงการทำงานของอวัยวะภายในให้แข็งแรงและปรับสมดุลการทำงานของระบบประสาท ระบบฮอร์โมนให้เป็นปกติจากความเครียด ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า สมุนไพรเจียวกู่หลานนั้นเป็น Adaptogen ที่ดีกว่าสมุนไพรชนิดอื่น ๆ[2]
  12. ในอดีตชาวจีนจะใช้เจียวกู่หลานเป็นอาหารแก้หิวยามแล้ง บำรุงร่างกาย ชูกำลัง ชะลอความแก่ชรา ทำให้กระชุ่มกระชวย ช่วยทำให้นอนหลับสบาย ผ่อนคลายความเครียด ลดความตื่นเต้น ช่วยลดอาการปวดหัวข้าวเดียวหรือไมเกรนได้[2]
  13. ช่วยรักษาความยืดหยุ่นและความความชุ่มชื้นของผิวพรรณ ทำให้ผิวหนังเต่งตึง[5]
  14. ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกายและทางเพศ ช่วยเพิ่มจำนวนอสุจิ[2],[5]
  15. การดื่มชาเจียวกู่หลานก่อนเข้านอน จะช่วยทำลายสารอาหารตกค้างในร่างกาย รวมไปถึงอาหารที่ไม่สะอาดหรือย่อยสลายไม่หมด และขับสารพิษต่าง ๆ ในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ดี[1]
  16. โครงการหลวงได้มีการนำเจียวกู่หลานมาพัฒนาเจียวกู้หลานเป็นพืชปลูกเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชาวเขา เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ มีประโยชน์ทั้งเป็นยาสมุนไพรและเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ สามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้หลากหลายรูปแบบ เช่น เจียวกู่หลานแคปซูล ชาเจียวกู่หลาน ไวน์เจียวกู่หลาน รวมไปถึงเจียวกู่หลานในรูปแบบของยาลูกกลอนชา ยาเม็ด ยาน้ำ ยาผสม หรือบางทีก็นำเอาสารสกัดจากเจียวกู่หลานไปผสมกาแฟก็มี นอกจากนี้ยังมีการนำไปผสมในตำรายาสมุนไพรอื่น ๆ เครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ เครื่องสำอาง ตลอดจนบุหรี่บางชนิด ซึ่งก็ได้รับความนิยมทั่วไปทั้งในและต่างประเทศในแถบเอเชียรวมไปถึงในแถบยุโรปและอเมริกาด้วย[2],[3]

วิธีชงชาเจียวกู่หลาน

ให้หยิบใบชามาประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ใส่ภาชนะชงชา รินน้ำร้อน 90-100 องศา (ไม่ควรใช้น้ำประปา) แช่ใบในน้ำร้อนประมาณ 1 นาที อย่าแช่ไว้นานเพราะจะทำให้สีชาเข้ม ถ้าชาเข้มจนเกินไปก็ให้เอาน้ำร้อนรินใส่จนออกเหลืองอ่อน ดื่มอุ่น ๆ ได้จะดีมาก หรือถ้าดื่มไม่หมดก็ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วนำไปแช่ตู้เย็น ใช้ดื่มเป็นน้ำเย็นก็สดชื่นดีเช่นกัน

คำแนะนำ : การดื่มชาเจียวกู่หลานควรดื่มหลังอาหารเช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน โดยควรชงด้วยน้ำร้อนจัดหรือเดือดจัดประมาณ 100 องศาเซลเซียส (ไม่ควรใช้น้ำประปาชง เพราะมีสารคลอรีนอยู่มาก อาจทำให้รสและกลิ่นของชาเสียได้) เพื่อให้ใบชาคลายรสชาติที่ดีออกมา แต่ข้อมูลจากจดหมายข่าวผลิใบของกรมวิชาการเกษตร (คอลัมน์ขอคุยด้วยคนโดยคุณ “มธุรส วงษ์ครุฑ”) ได้เขียนถึงการดื่มชาเจียวกู่หลายไว้ว่าห้ามดื่มติดต่อกันนานเกิน 7 วัน เมื่อดื่มครบ 7 วันแล้วก็ให้หยุดดื่มประมาณ 1-2 วัน แล้วค่อยเริ่มต้นดื่มใหม่ และถ้าหากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะ มึนงง ตาพร่าลาย ก็ให้หยุดดื่มเช่นกัน ส่วนขนาดที่รับประทานนั้นให้ดูที่ฉลาก และสามารถชงซ้ำได้ 1-2 รอบ ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ใส่ลงไปหรือจนกว่าน้ำชาจะเจือจางลง เมื่อใช้เสร็จแล้วก็อย่าลืมปิดซองให้สนิทด้วยนะครับ หรือจะใส่ในภาชนะอื่นที่เป็นภาชนะสุญญากาศก็ได้ (ห้ามเก็บในตู้เย็น เพราะใบชาอาจขึ้นราได้) ส่วนบางข้อมูลระบุว่าสตรีสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ผู้ที่ฟอกไต คนผอมแห้งไม่ควรดื่มชาเจียวกู่หลาน (ไม่ยืนยัน)[5]

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “เจียวกู่หลาน (ปัญจขันธ์)”.  หน้า 188.
  2. ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.
  3. หนังสือเทิดไท้องค์ราชัน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ ๗ รอบ.  “เจียวกู่หลาน”.
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “เจียวกู้หลาน”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [03 ส.ค. 2014].
  5. เดลินิวส์ออนไลน์.  “ปัญจขันธ์…สมุนไพรหลากสรรพคุณ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dailynews.co.th.  [03 ส.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Maja Dumat, Amazon Discovery, judymonkey17, iulia.lampone, minabo minabo)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด