เจนเชียนไวโอเลต
เจนเชียนไวโอเลต / เยนเชียนไวโอเลต (Gentian violet) หรือ คริสตัลไวโอเลต (Crystal Violet) หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “ยาม่วง” เป็นน้ำยาสีม่วงที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเป็นสารเริ่มต้นที่ใช้ในอุตสาหกรรมการย้อมสีและห้องทดลอง หรือที่เรียกว่า การย้อมแกรม (Gram’s method) เพื่อใช้แยกแยะประเภทของแบคทีเรียว่าเป็นเชื้อแกรมลบ (gram negative) หรือเชื้อแกรมบวก (gram positive)
เจนเชียนไวโอเลตได้ถูกสังเคราะห์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1828 (พ.ศ. 2371) ต่อมาหลังจากนั้นอีกไม่นาน จักษุแพทย์ชาวเยอรมันนามว่า Jakob Stilling ได้ค้นพบว่าเจนเชียนไวโอเลตนั้นมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ยีสต์ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนี้ เจนเชียนไวโอเลตจึงถูกนำมาใช้เป็นยาทารักษาการติดเชื้อทางผิวหนัง ในรูปแบบของยาน้ำประเภทสารละลายสีม่วง
เนื่องจากยาเจนเชียนไวโอเลต สามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อได้ จึงทำให้องค์การอนามัยโลกบรรจุยาชนิดนี้ ไว้ในรายการยาจำเป็นขั้นพื้นฐานในระดับชุมชน และสำหรับในประเทศไทยเอง องค์การอาหารและยา ก็ได้บรรจุยาเจนเชียนไวโอเลตไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้วยเช่นกัน โดยมีข้อบ่งใช้เป็นยาสำหรับหยอดหูและใช้เป็นยาทาภายนอก ซึ่งยาเจนเชียนไวโอเลตสามารถหาซื้อได้ง่าย มีขายทั่วไปตามร้านขายยา
สรรพคุณของเจนเชียนไวโอเลต
- ใช้รักษาโรคเชื้อราแคนดิดา เช่น เชื้อราในช่องปาก เชื้อราที่ขาหนีบ หรืออวัยวะสืบพันธุ์
- ใช้รักษากระพุ้งแก้มและลิ้นเป็นฝ้าขาวจากเชื้อรา
- ใช้ทารักษาปากเปื่อยเป็นแผล ลิ้นเปื่อย ลิ้นแตกเป็นขุม
- ใช้รักษาโรคติดเชื้อที่ผิวหนังจากเชื้อแบคทีเรียพวกแกรมบวก
- ใช้เป็นยาทาแผลที่ถูกน้ำกัดตามมือตามเท้า แผลพุพอง แผลภายนอกเนื่องจากเชื้อรา
- นอกจากนี้ยาม่วงหรือเจนเชียนไวโอเลตยังถูกนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีกด้วย เช่น
- ใช้ในการย้อมสีผม
- ใช้ทดสอบกรด ถ้าเป็นกรดอนินทรีย์สีของเจนเชียนไวโอเลตจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว แต่ถ้ากรดอินทรีย์จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือสีม่วง
- ใช้ทดสอบน้ำส้มสายชูว่าแท้หรือปลอม ถ้าเป็นน้ำส้มสายชูปลอมจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อน ๆ หรือสีน้ำเงินอ่อน
- ใช้รักษาโรคเชื้อราหรือโรคผิวหนังในน้องหมาและแมว เป็นต้น
กลไกการออกฤทธิ์ของเจนเชียนไวโอเลต
เมื่อทายาเจนเชียนไวโอเลตลงบนผิวหนังหรือภายในช่องปากแล้ว ตัวยาจะแทรกซึมผ่านผนังเซลล์ของเชื้อราโรค เมื่อตัวยาเข้าไปในเซลล์แล้วจะก่อให้เกิดภาวะพิษต่อสายพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) จึงส่งให้เชื้อโรคหยุดการแบ่งเซลล์และตายไปในที่สุด
วิธีใช้ยาเจนเชียนไวโอเลต
แม้ว่ายาเจนเชียนไวโอเลตเป็นยาสำหรับใช้ภายนอกและมีอันตรายต่ำ แต่ผู้ใช้ก็ควรใช้ยาชนิดนี้อย่างถูกต้อง เพื่อผลการรักษาที่ดี
- การใช้ยาในผู้ใหญ่และเด็ก ให้ใช้สำลีก้านที่สะอาดจุ่มน้ำยาเจนเชียนไวโอเลต แล้วนำมาป้ายในบริเวณเป็น โดยให้ทาวันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน สำหรับการป้ายยาภายในช่องปาก หลังจากป้ายยาแล้ว ไม่ควรดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหาร หรือยาอื่นตามลงไปในทันที เพราะจะทำให้ยาที่ทาไว้มีระดับความเข้มข้นลดลงจนยาไม่สามารถออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม วิธีการใช้ยาในข้างต้น เป็นเพียงคำแนะนำคร่าว ๆ เท่านั้น ไม่สามารถใช้แทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์หรือเภสัชกรได้ การใช้ยาอย่างถูกต้องและเหมาะสมจึงต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
- ในกรณีที่ลืมทายาเจนเชียนไวโอเลต ควรทายาในทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้านึกได้ตอนใกล้กับเวลาที่ต้องทายาในครั้งถัดไปแล้ว ก็ให้เว้นยาครั้งที่ลืมไปเลย แล้วรอทายาในครั้งถัดไปตามปกติ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณในการทายาเป็น 2 เท่าแต่อย่างใด
- การเก็บรักษายาเจนเชียนไวโอเลตอย่างถูกต้องจะช่วยคงประสิทธิภาพของยาได้ดี โดยควรเก็บยานี้ในที่ที่มีอุณหภูมิเย็น (ไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส) มีภาชนะปิดอย่างมิดชิด เก็บให้พ้นแสงแดดและความร้อน และเก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง หลีกเลี่ยงการเก็บในที่ที่มีความชื้นสูง เช่น ห้องน้ำ และห้ามเก็บยาเจนเชียนไวโอเลตในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เพราะอุณหภูมิที่ต่ำเกินไปอาจทำลายตัวยาได้
- ยาเจนเชียนไวโอเลตอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ได้ เช่น ผู้ป่วยบางรายเมื่อใช้ยานี้อาจมีอาการบวมแดงหรือระคายเคืองตรงรอยที่ทายา ส่วนผู้ป่วยที่แพ้ยาชนิดนี้ อาจมีอาการหน้าบวม ปากบวม มีผื่นคันขึ้น และหายใจไม่ออก หากพบอาการดังกล่าวผู้ป่วยจะต้องหยุดใช้ยาในทันที แล้วรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว
- เพื่อหลีกเลี่ยงอาการแพ้ยาและอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ควรแจ้งข้อมูลดังต่อไปนี้ให้แพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกรที่เป็นผู้จ่ายยาทราบด้วย
- ประวัติการแพ้ยา เช่น เคยกินยาชนิดใดแล้วเกิดอาการคลื่นไส้มาก ผื่นขึ้น หรือแน่นหายใจลำบาก
- ประวัติการใช้ยา เช่น กำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาชนิดนี้อาจทำให้เกิดปฏิกิริยากับยาหรืออาหารเสริมที่รับประทานอยู่ก่อนหน้านั้นได้
- ประวัติการมีโรคประจำตัวต่าง ๆ ถ้ามีหรือเคยมีก็ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบด้วยทุกครั้ง เพราะยาเจนเชียนไวโอเลตอาจส่งผลให้อาการของโรคที่เป็นอยู่แล้วรุนแรงมากขึ้น
- สำหรับหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงที่กำลังให้นมบุตร ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบด้วยเช่นกัน เพราะมียาหลายประเภทที่สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หมายเหตุ : แม้ว่ายาหลาย ๆ ชนิดจะมีปฏิกิริยากับอาหารหรือยาชนิดอื่น ๆ แต่สำหรับยาเจนเชียนไวโอเลตที่เป็นยาที่ใช้ภายนอก จะไม่ค่อยพบเห็นปฏิกิริยาระหว่างการใช้ยานี้กับยาชนิดรับประทานอื่น ๆ แต่อย่างใด
ข้อควรระวังในการใช้ยาเจนเชียนไวโอเลต
การทราบถึงข้อควรระวังต่าง ๆ จะช่วยทำให้ผู้ป่วยใช้ยาเจนเชียนไวโอเลตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย
- ในขณะใช้ยาควรระวังอย่าให้ยากระเด็นเข้าตาและหกเลอะเสื้อผ้า
- การป้ายยาในปากควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและป้ายยาตรงในบริเวณที่มีการติดเชื้อเท่านั้น เพราะการใช้ยามากเกินไปอาจทำให้ผู้ป่วยกลืนยาและมีอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและลำไส้ตามมาได้
- เมื่อใช้ยานี้ไปได้ 2-3 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและปรับเปลี่ยนแผนการรักษาใหม่
- ต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีเมื่อพบอาการบวม แดง ร้อน ในบริเวณที่ทายาเจนเชียนไวโอเลต
- ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเอง แม้ว่ายังไม่มีรายงานว่ายานี้ก่อให้เกิดโทษต่อทารก แต่เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้เสมอ
- สำหรับคุณแม่ที่ยังเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตัวเอง ควรหลีกเลี่ยงการทายานี้บริเวณหัวนม เพราะจะทำผิวหนังบริเวณนั้นแห้งและแตก
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาในรูหูกับผู้ป่วยที่มีภาวะเยื่อแก้วหูทะลุ
- ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยาเจนเชียนไวโอเลต
- ห้ามใช้ยานี้ของผู้อื่นหรือแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้ และควรตรวจสอบความผิดปกติของตนเองหลังใช้ยาทุกครั้ง เช่น อาการผื่นขึ้น หน้าบวม และปากบวม
- ห้ามใช้ยานี้ในบริเวณที่มีบาดแผล
- ห้ามใช้ยานี้ในเด็กทารกแรกเกิด เพราะอาจก่อให้เกิดแผลในบริเวณที่ทายาได้
- ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
ยาเจนเชียนไวโอเลต
ยาเจนเชียนไวโอเลตที่มีจำหน่ายในร้านขายยานั้นมีหลากหลายยี่ห้อและจากหลากหลายผู้ผลิต โดยมีทั้งยาน้ำชนิดป้ายปากและยาทาผิวภายนอก (ขนาดความเข้มข้น 0.5 และ 1 กรัมต่อสารละลาย 100 มิลลิลิตร) เช่น
- เยนเชี่ยนไวโอเลต สหการ (Gentian Violet Sahakarn ผลิตโดย บริษัท สหการโอสถ (1996) จำกัด) ขนาด 15 มิลลิลิตร ราคาประมาณ 15 บาท
- ไพแร็ด-ไวโอเล็ต (PYRAD-VIOLET ผลิตโดย บริษัท สหการโอสถ (1996) จำกัด) ขนาด 450 ซีซี ราคาประมาณ 75 บาท
- เยนเชียนไวโอเลต เจนเทียนไวโอเลต (ผลิตโดย บริษัท วิทยาศรม จำกัด) ขนาด 30 มิลลิลิตร ราคาประมาณ 12-18 บาท
- ไอซีเอ็ม เจนเชียนไวโอเลต เพนต์ ความเข้มข้น 0.5% (ICM Gentian Violet Paint 0.5% BP ผลิตโดย ICM Pharma)
เจนเชียนไวโอเลตแต่เดิมนั้นถูกนำมาใช้เป็นสารเคมีเพื่อย้อมแบคทีเรียในห้องปฏิบัติการ แต่ด้วยสรรพคุณในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา จึงทำให้มีการใช้ยาชนิดนี้ เพื่อรักษาโรคติดเชื้อบนผิวหนังและในช่องปาก แม้ว่ายาเจนเชียนไวโอเลตจะมีความปลอดภัยสูง เป็นยาใช้ภายนอก แต่ก่อนใช้ยานี้ทุกครั้ง ผู้ป่วยควรแจ้งประวัติแพ้ยาให้กับแพทย์และเภสัชกรทราบ นอกจากนี้ การใช้ยาเจนเชียนไวโอเลตในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ด้วยจะดีที่สุด
เอกสารอ้างอิง
- หาหมอดอทคอม. “เจนเชียนไวโอเลต (Gentian violet)”. (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [30 มี.ค. 2016].
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1. “เจนเชียนไวโอเลต (Gentian violet)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 308.
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. “ยาน้ำเจนเชียนไวโอเลต (ยาน้ำสีม่วง)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [30 มี.ค. 2016].
ภาพประกอบ : scottish-mexicanjumpingbean.blogspot.com, punyarx.com, npi.co.th, www.24osod.com, www.rookiemoms.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)