เจตพังคี สรรพคุณและประโยชน์ของเจตพังคี 30 ข้อ !

เจตพังคี สรรพคุณและประโยชน์ของเจตพังคี 30 ข้อ !

เจตพังคี

เจตพังคี ชื่อวิทยาศาสตร์ Cladogynos orientalis Zipp. ex Span. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Adenochlaena siamensis Ridl.[2]) จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย ACALYPHOIDEAE[1],[2],[3]

สมุนไพรเจตพังคี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตองตาพราน (สระบุรี), สมี (ประจวบคีรีขันธ์), มนเขา (สุราษฎร์ธานี), ตะเกีย เปล้าเงิน หนาดตะกั่ว (นครราชสีมา), ใบหลังขาว (ภาคกลาง), เปล้าน้ำเงิน (ภาคใต้), พังคี, พังคีใหญ่, ปานดง, ปานดงเหลือง, เป้าเงิน, สมีหนาดตะกั่ว เป็นต้น[2],[3],[5]

ลักษณะของเจตพังคี

  • ต้นเจตพังคี จัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงประมาณ 2 เมตร กิ่งก้านมีขนเป็นรูปดาวสีขาว เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลขรุขระ ทุกส่วนมีขน[2],[5] ส่วนรากมีลักษณะเรียวยาว เปลือกหุ้มรากเป็นเยื่อบางสีเหลืองเข้ม มีกลิ่นหอม และมีรสเผ็ด ขื่น และเฝื่อนเล็กน้อย[3],[5] สามารถพบได้ตามป่าดิบ ป่าไม่ผลัดใบ ป่าเขาหินปูน ในพื้นที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 200-500 เมตร[5]

เจตพังคี

  • ใบเจตพังคี ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปวงรี มีความกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบสอบมน หรือเป็นรูปทรงกลมแคบ ส่วนขอบใบหยักและไม่สม่ำเสมอ แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ใบหนา ด้านบนของใบเกลี้ยง ส่วนแผ่นใบด้านล่างมีขนสีขาวจำนวนมาก ทำให้มองเห็นแผ่นใบเป็นสีขาวหรือสีเงิน มีเส้นใบข้างละประมาณ 4-5 คู่ ก้านใบมีขนและยาวประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร ส่วนหูใบเป็นรูปใบหอก มีขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร ที่ฐานมีต่อม 1 ต่อม[2],[5]

ใบเจตพังคี

  • ดอกเจตพังคี ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ในแต่ละช่อดอกจะมีดอกตัวผู้ 1-2 ดอกและดอกตัวเมีย 1 ดอก โดยดอกตัวผู้จะมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ขนาดประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร มีขนขึ้นนุ่มเป็นรูปดาว มีเกสรตัวผู้สีเหลือง เป็นเส้นยาวยื่น 4 เส้น ส่วนอับเรณูมีขนาดประมาณ 0.5 มิลลิเมตร และก้านชูยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนดอกตัวเมียจะเป็นหมัน มีขนาดประมาณ 0.5 มิลลิเมตร มีก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1.3 เซนติเมตร มีใบประดับอยู่ 2 ใบ โดยใบหนึ่งจะมีลักษณะคล้ายใบ มีขนาดประมาณ 9 มิลลิเมตร ส่วนอีกใบจะเป็นรูปแถบ มีขนาดประมาณ 4 มิลลิเมตรและร่วงได้ง่าย กลีบเลี้ยงติดคงทน เป็นรูปแถบมีประมาณ 6-7 กลีบ มีความกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 6-13 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม ส่วนที่ขอบมีต่อมอยู่ประปราย ส่วนรังไข่เป็นรูปกึ่งทรงกลม มีก้านชู 3 อัน ขนาดประมาณ 7 มิลลิเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤศจิกายน[2],[5]

ดอกเจตพังคี

  • ผลเจตพังคี ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ผลแห้งไม่แตก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8 มิลลิเมตร ผลแบ่งออกเป็น 3 พู ผิวของผลทั้งผลเป็นลายเส้นสีขาวและมีขนนุ่มสีขาว ในผลมีเมล็ดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤศจิกายน[2],[5]

 ผลเจตพังคี

สรรพคุณของเจตพังคี

  1. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ด้วยการใช้รากเจตพังคีผสมกับรากกำยาน ใช้ต้มกับน้ำดื่ม (ราก)[2],[3]
  2. ใช้เป็นยารักษาธาตุ ด้วยการใช้รากเจตพังคีผสมกับไพล กระเทียม กระทือบ้าน กระทือป่า ขิง ดีปลี พริกไทย และเจตมูลเพลิงแดง นำมาบดเป็นผง ละลายกับน้ำ เติมน้ำตาลทรายพอหวานแล้วนำมาดื่ม (ราก)[3]
  3. ช่วยบำรุงหัวใจ ด้วยการใช้รากเจตพังคีผสมกับรากกำยาน ใช้ต้มกับน้ำดื่ม (ราก)[3]
  4. ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ มีอาการระส่ำระส่าย (ใบ)[2]
  5. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก สูตรเดียวกับยารักษาธาตุ)[3]
  6. ช่วยแก้ลงแดง (ราก)[2]
  7. ใบช่วยแก้ไข้อันบังเกิดแต่ตับและช่วยถอนพิษไข้ (ใบ)[2]
  8. ช่วยแก้หวัดในเด็ก (ใบ)[2]
  9. ช่วยแก้สันนิบาตลงโลหิตสดออกมา (ราก)[2]
  10. ช่วยขับเสมหะให้สำรอกออกมา (ผล)[2]
  1. ช่วยแก้กำเดาในเด็ก (ใบ)[2]
  2. ช่วยแก้ลม (ใบ)[2]
  3. ช่วยแก้ลมในกองธาตุ (ราก)[2]
  4. ช่วยแก้ลมกาฬ (ราก)[2]
  5. ช่วยแก้ท้องขึ้น ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยขับผายลม แก้ลมจุกเสียด แก้อาการปวดแน่นท้อง ด้วยการใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้ทั้งต้นนำมาต้มหรือทำเป็นผง หรือนำไปดองเหล้าใช้กิน หรือใช้ภายนอกด้วยการผสมกับน้ำปูนใส ผสมกับมหาหิงคุ์และการบูรใช้ทาท้องเด็กอ่อน จะช่วยทำให้ผายลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ และอาการปวดท้อง (ราก, ทั้งต้น)[2],[3]
  6. ช่วยแก้อาการท้องร่วง ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาต้มน้ำ หรือทำเป็นผง หรือใช้ดองเหล้าดื่ม (ราก, ทั้งต้น)[2],[3]
  7. ช่วยขับลมที่คั่งในลำไส้และในกระเพาะอาหาร (ราก ใช้สูตรเดียวกับยารักษาธาตุ)
  8. ช่วยแก้อาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด (ราก)[2]
  9. ช่วยแก้พยาธิให้ออกทางอุทร (ไส้)[2]
  10. ช่วยแก้สตรีมีครรภ์ตกเลือด และช่วยแก้มดลูกพิการ (ดอก)[2]
  11. ช่วยรักษาอาการเลือดคั่งหรือเกิดอาการกระสับกระส่าย ด้วยการใช้เจตพังคี รากดับยาง หัวเป้งบก ในสัดส่วนที่เท่ากัน นำมาตำให้เป็นผง ใส่น้ำเย็น เอาเหล็กหล่อเผาให้ร้อนแดง แล้วโยนใส่น้ำยาที่เตรียมไว้ แล้วนำมากิน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นราก)[3]
  12. ช่วยแก้ตับอักเสบ (ใบ)[2]
  13. ช่วยแก้คุดทะราด (ราก)[2]
  14. รากใช้ตำประคบแก้อาการปวด (ราก)[3]
  15. ช่วยแก้บวม (ราก)[2]
  16. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง แก้กลาก เกลื้อน (เปลือก)[2]
  17. ช่วยฆ่าเชื้อโรคภายใน (เปลือก, ไส้)[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเจตพังคี

  • เจตพังคีมีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิต กระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ มีฤทธิ์เหมือน Histamine ช่วยยับยั้งเอนไซม์ Reverse Transcriptase[2]

สมุนไพรเจตพังคี

ประโยชน์เจตพังคี

  • ใบเจตพังคี ใช้แก้สิว (ใบ)[2]
  • นำมาแปรรูปเป็นตำรับยาสมุนไพรสำเร็จรูป ในชื่อของตำรับยา “ยาประสะเจตพังคี” โดยจัดเป็นตำรับยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ซึ่งมีสรรพคุณแก้กษัยและแก้อาการจุกเสียด โดยประกอบไปด้วยสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ดังนี้ กานพลู การบูร กรุงเขมา เกลือสินเธาว์ ดอกจันทน์ ลูกจันทน์ ลูกสมอทะเล ลูกกระวาน ใบกระวาน รากไคร้เครือ พญารากขาว เปลือกหว้า (ทั้งหมดนี้อย่างละ 1 ส่วน), และยังมีพริกไทยล่อน บอระเพ็ด ระย่อม (อย่างละ 2 ส่วน), ข่า (16 ส่วน) และเจตพังคี (34 ส่วน) ใช้รับประทานก่อนอาหารเช้าและเย็น ครั้งละ 1 ช้อนชา ละลายด้วยน้ำสุก[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th.  [13 ธ.ค. 2013].
  2. สมุนไพรในร้านยาโบราณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.  “เจตพังคี“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.msu.ac.th.  [13 ธ.ค. 2013].
  3. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เจตพังคี“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [13 ธ.ค. 2013].
  4. ศูนย์สมุนไพรทักษิณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  “ยาประสะเจตพังคี“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: herbal.pharmacy.psu.ac.th.  [13 ธ.ค. 2013].
  5. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เจตพังคี“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [13 ธ.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), www.paro6.dnp.go.th

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด