เงาะ
เงาะ ชื่อสามัญ Rambutan
เงาะ ชื่อวิทยาศาสตร์ Nephelium lappaceum L. จัดอยู่ในวงศ์เงาะ (SAPINDACEAE)
เงาะ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เงาะป่า (นครศรีธรรมราช), พรวน (ปัตตานี), กะเมาะแต มอแต อาเมาะแต (มาเลย์ปัตตานี) เป็นต้น
เงาะเป็นผลไม้เมืองร้อน มีถิ่นกำเนิดในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย และแพร่ขยายมาปลูกในบ้านเราในภายหลัง ซึ่งนิยมปลูกในภาคใต้และภาคตะวันออก สายพันธุ์ที่นิยมเพาะปลูกมากที่สุดก็ได้แก่ พันธุ์โรงเรียน (เงาะโรงเรียน) พันธุ์สีทอง พันธุ์สีชมพู เป็นต้น ส่วนสายพันธุ์อื่น ๆ ก็มีปลูกกันบ้างประปราย
ประโยชน์ของเงาะ
- เงาะมีส่วนช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใส
- ช่วยรักษาอาการอักเสบในช่องปาก
- ช่วยแก้อาการท้องร่วงรุนแรงอย่างได้ผล
- ช่วยรักษาโรคบิด ท้องร่วง
- ใช้เป็นยาแก้อักเสบ
- ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
- ประโยชน์ของเงาะ สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้มากมาย เช่น การทำเงาะกระป๋อง เงาะกวน เป็นต้น
- เงาะมีสารแทนนิน ซึ่งนำมาใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง ย้อมสีผ้า บำบัดน้ำเสีย ทำปุ๋ย และกาว เป็นต้น
- สารแทนนิน (tannin)ช่วยป้องกันแมลง ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ใช้ทำเป็นยารักษาโรค
คุณค่าทางโภชนาการของเงาะกระป๋องน้ำเชื่อมต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 82 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 20.87 กรัม
- เส้นใย 0.21 กรัม
- ไขมัน 0.65 กรัม
- โปรตีน 2.5 กรัม
- วิตามินบี 1 0.013 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินบี 2 0.022 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 3 1.352 มิลลิกรัม 9%
- วิตามินบี 6 0.02 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 9 8 ไมโครกรัม 2%
- วิตามินซี 4.9 มิลลิกรัม 6%
- ธาตุแคลเซียม 22 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุเหล็ก 0.35 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุแมกนีเซียม 7 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุแมงกานีส 0.343 มิลลิกรัม 16%
- ธาตุฟอสฟอรัส 9 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุโพแทสเซียม 42 มิลลิกรัม 1%
- ธาตุสังกะสี 0.08 มิลลิกรัม 1%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
โทษของเงาะ เงาะมีสารแทนนิน (Tannin) ซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในกระเพาะอาหาร การรับประทานในปริมาณมากเกินไปอาจจะทำให้ท้องอืดหรือท้องผูกได้ (ระวังอ้วนด้วยล่ะ) เพราะฉะนั้นควรรับประทานอย่างพอประมาณ เพื่อที่ร่างกายจะได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด
เมล็ดเงาะมีพิษ ห้ามรับประทานเพราะอาจจะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และมีไข้ได้ ถึงแม้จะนำไปคั่วจนสึกแล้วก็ตาม ก็ยังเป็นอันตรายอยู่ดี !
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, กรมวิชาการเกษตร, กรมส่งเสริมการเกษตร
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)