เข็มม่วง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเข็มม่วง 7 ข้อ ! (ร่องไม้)

เข็มม่วง

เข็มม่วง ชื่อสามัญ Blue sage, Violet ixora[4]

เข็มม่วง ชื่อวิทยาศาสตร์ Pseuderanthemum andersonii Lindau จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)[1]

เข็มม่วง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เฒ่าหลังลาย เฒ่าหล้งลาย (ชลบุรี), เฉียงพร้าป่า (ตรัง), ยายปลัง รงไม้ (สุราษฎร์ธานี), ร่องไม้ (ภาคใต้), เข็มสีม่วง, เข็มพญาอินทร์ เป็นต้น[1],[4]

ลักษณะของเข็มม่วง

  • ต้นเข็มม่วง จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีลำต้นตั้งตรง มีความสูงของต้นประมาณ 1-1.5 เมตรและอาจสูงได้ถึง 2 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านจำนวนมาก เป็นทรงพุ่มแน่นทึบ ขยายพันธุ์ด้วยการตอนหรือการตัดกิ่งปักชำ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนระบายน้ำดี ชอบความชื้นปานกลาง และแสงแดดปานกลางถึงรำไร อัตราการเจริญเติบโตอยู่ในระดับปานกลาง นิยมปลูกในที่มีแสงแดดแบบรำไรมากกว่าปลูกกลางแจ้ง[1],[2] ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค แต่ส่วนมากมักพบขึ้นตามป่าทางภาคใต้ ในพื้นที่ร่มรำไรตามป่าผสมผลัดใบและป่าดิบแล้ง ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลไปจนถึงระดับความสูงประมาณ 400 เมตร[3]

ต้นเข็มม่วง

  • ใบเข็มม่วง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามเรียงเวียนสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี หรือรูปใบหอกถึงรูปไข่แกมใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบแหลมหรือมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นมันสีเขียวสด เส้นใบเป็นสีเขียวเข้ม[1],[2]

ใบเข็มม่วง

  • ดอกเข็มม่วง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อฉัตร โดยจะออกตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ดอกเป็นสีม่วงหรือสีฟ้าอมม่วง ใบประดับเป็นสีเขียวเข้ม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็กยาว ปลายแยกเป็นกลีบ 5 กลีบ สองกลีบด้านบนจะติดกันเป็นคู่และมีขนาดเล็กกว่าสามกลีบด้านล่าง กลีบดอกเป็นสีม่วงอ่อน มีจุดประสีม่วง สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี แต่โรยเร็ว โดยจะออกดอกมากในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[1],[2]

ดอกเข็มสีม่วง

ร่องไม้

ดอกเข็มม่วง

  • ผลเข็มม่วง ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ยาว[1]

สรรพคุณของเข็มม่วง

  1. ชาวบ้านจะใช้ทั้งต้นรวมรากนำมาต้มรับประทานเป็นยา ว่ากันว่าสามารถช่วยต้านอนุมูลอิสระได้ (ทั้งต้น)[3]
  2. ชาวเขาเผ่าแม้วและกะเหรี่ยงจะใช้ต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย แก้อาการอ่อนเพลีบ (ต้น)[1]
  3. ต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร (ต้น)[1]
  4. ใบนำมาตำพอกหรือต้มกับน้ำอาบ ช่วยแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน และหูด (ใบ)[1]
  5. ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ทั้งต้นเข็มม่วง นำมาผสมกับหัวยาข้าวเย็น (ไม่ได้ระบุว่าข้าวเย็นเหนือหรือข้าวเย็นใต้) ต้มกับน้ำดื่มแก้อาการปวดเมื่อย (ทั้งต้น)[1]

ประโยชน์ของเข็มม่วง

  • ดอกมีสีสันสวยงาม สามารถออกดอกได้ตลอดปี ทรงพุ่มตัดแต่งได้ สามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี โดยจะนิยมนำปลูกตามสวน ริมน้ำตก ลำธาร หรือตามสระว่ายน้ำ เป็นต้น[2]
  • ต้นเข็มม่วงเป็นเข็มโบราณหายาก เหมาะที่จะใช้บูชาเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อของคนไทยโบราณเชื่อว่า หากบ้านใดปลูกต้นเข็มไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะทำให้มีความเฉลียวฉลาด ดังนั้นคนไทยจึงใช้ดอกเข็มในพิธีไหว้ครู และยังใช้ดอกเข็มเป็นเครื่องบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และใช้ในพิธีทางศาสนาอีกด้วย[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ร่องไม้”.  หน้า 179.
  2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “เข็มม่วง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [24 พ.ค. 2014].
  3. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม.  “สมุนไพรพื้นบ้านดอกเข็มม่วง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: m-culture.in.th.  [24 พ.ค. 2014].
  4. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “เข็มสีม่วง (Blue Sage)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org.  [24 พ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Chatchai Powthongchin, Russell Cumming, Van Swearingen, Kenneth Er), pantip.com (by Mai_ZaZa_ZuZu)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด