เข็มขาว
เข็มขาว ชื่อสามัญ Siamese white ixora[2]
เข็มขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Ixora lucida R.Br. ex Hook.f. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ixora ebarbata Craib) จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]
สมุนไพรเข็มขาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เข็มพระราม (กรุงเทพฯ), เข็มปลายสาน (ปัตตานี), เข็มขาว (นครศรีธรรมราช), เข็มขาว (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), เข็มไม้ (ไทย) เป็นต้น[1]
ลักษณะของเข็มขาว
- ต้นเข็มขาว จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ขึ้นเป็นพุ่มแน่น แตกกิ่งใกล้ผิวดินจำนวนมาก ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 1-3 เมตร เปลือกต้นเป็นสีดำ รากมีรสหวาน มีหูใบ 2 ข้าง น้ำยางใส ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง ทาบกิ่ง และปักชำ เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินร่วนชุ่มชื้น มีแสงแดดจัด ทนแล้งได้ดี เป็นพรรณไม้ที่ชอบขึ้นตามธรรมชาติในป่าราบหรือตามป่าเบญจพรรณ[1],[2]
- ใบเข็มขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรีขอบขนาน ปลายใบมน แหลม หรือเรียวแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ผิวใบค่อนข้างหนา[1],[2]
- ดอกเข็มขาว ออกดอกรวมกันเป็นช่อแบบซี่ร่มขนาดใหญ่แน่นทึบ ก้านดอกยาวกว่าดอกเข็มชนิดอื่น ๆ ดอกย่อยเป็นรูปหลอดปลายแยกออกเป็นกลีบ 4-5 กลีบ ดอกเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอม[1],[2]
- ผลเข็มขาว ลักษณะของผลเป็นรูปรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8 เซนติเมตร มีเนื้อนุ่ม ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลแก่เป็นสีดำ[2]
สรรพคุณของเข็มขาว
- รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาช่วยเจริญอาหาร (ราก)[1],[2]
- ใช้ปรุงเป็นยารักษาโรคตาต่าง ๆ (ราก)[1],[2]
ประโยชน์ของเข็มขาว
- นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับสวย ชอบดินร่วนซุยระบายน้ำได้ดี ดอกมีกลิ่นหอม สามารถออกดอกเกือบตลอดทั้งปี
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เข็มขาว”. หน้า 149.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เข็มขาว”. อ้างอิงใน : หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง (อัปสร และคณะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [28 ม.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Kukiat Tanteeratarm, b inxee), www.sahavicha.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)