เกล็ดมังกร
เกล็ดมังกร ชื่อวิทยาศาสตร์ Dischidia minor (Vahl) Merr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dischidia nummularia R. Br.) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE – ASCLEPIADACEAE)[1],[2]
สมุนไพรเกล็ดมังกร มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กะปอดไม้ (เชียงใหม่-ชุมพร), อีแปะ (จันทบุรี), กระดุมเสื้อ เกล็ดลิ่น (ชัยภูมิ, อุบลราชธานี), หญ้าเกล็ดลิ่น (ชลบุรี), เบี้ยไม้ กับม้ามลม (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), เกล็ดมังกร เบี้ย (ภาคกลาง), ปิติ้ (มลายู-นราธิวาส) เป็นต้น[1],[2],[3]
ลักษณะของเกล็ดมังกร
- ต้นเกล็ดมังกร จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีลำต้นพันหรือเลื้อยเกาะยึดไปตามต้นไม้อื่น ๆ ย้อยห้อยเป็นสายลงมา ยาวประมาณ 10-50 เซนติเมตร มีรากตามลำต้น ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางสีขาวเหมือนน้ำนม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นพรรณไม้ที่มักพบขึ้นตามบริเวณป่าเบญจพรรณหรือตามป่าทั่ว ๆ ไป มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ในต่างประเทศพบได้ที่มาเลเซีย[1],[2],[3]
- ใบเกล็ดมังกร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเป็นคู่ตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปกลมหรือรูปวงรีแกมรูปโล่ ขนาดเล็ก ปลายใบแหลมเป็นติ่งขนาดเล็ก โคนใบแหลม-มน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-8 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4-11 มิลลิเมตร ผิวใบเกลี้ยง เนื้อใบหนา ก้านใบสั้น ยาวได้เพียง 1-2 มิลลิเมตร ยอดอ่อนและใบอ่อนมีขนขึ้นประปราย[1],[2],[3]
- ดอกเกล็ดมังกร ออกดอกเป็นช่อกระจะสั้น ๆ ตามซอกใบ ดอกย่อยมีขนาดเล็ก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีสมมาตรตามรัศมี กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ เป็นสีเขียว มีขนาดกว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกจะมี 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีขาวแกมเหลืองหรือเป็นสีเขียว โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโท ส่วนที่เป็นหลอดมีความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร และส่วนที่เป็นพูมีความกว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีรยางค์เป็นรูปมงกุฎ 5 อัน แต่ละอันแยกเป็น 2 พู เกสรเพศผู้มี 5 อัน และเกสรเพศเมียมี 1 อัน รังไข่ 2 อัน รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ มี 1 ช่อง และมีออวุลจำนวนมาก ติดตามแนวตะเข็บ มีก้านเกสรเพศเมีย 2 อัน และยอดเกสรเพศเมีย 1 อัน ออกดอกในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม[1],[2],[3]
- ผลเกล็ดมังกร ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปดาบแกมขอบขนาน โค้งเล็กน้อย ยาวได้ประมาณ 5-7 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร บริเวณเหนือจุดกึ่งกลางแหลมเรียวเป็นจะงอย ใต้จุดกึ่งกลางนั้นมีลักษณะเป็นรูปรีเบี้ยว แตกตะเข็บเดียว ภายในฝักมีเมล็ดลักษณะแบนจำนวนมาก ที่ปลายเมล็ดมีขนเป็นพู่หรือกระจุกขนสีขาวคล้ายเส้นไหม[1],[2],[3]
สรรพคุณของเกล็ดมังกร
- ตำรายาไทยจะใช้ทั้งต้นเป็นยาถอนพิษไข้ พิษไข้กาฬ (ไข้ที่มีตุ่มที่ผิวหนัง ตุ่มอาจมีสีดำ) (ทั้งต้น)[2]
- ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้พิษตานซาง (โรคพยาธิในเด็กที่มีอาการเบื่ออาหาร ไม่ค่อยทานอาหาร อ่อนเพลีย พุงโรก้นปอด ผอมแห้ง ซูบซีด ท้องเดิน ตกใจง่าย อุจจาระผิดปกติ อาจมีกลิ่นคาวจัด และชอบกินอาหารคาว) (ทั้งต้น)[2]
- ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้ทั้งต้นเกล็ดมังกรเข้ายาแก้โรคตับพิการ (ทั้งต้น)[2]
- ใบสดของต้นเกล็ดมังกรนำมาตำให้ละเอียดแล้วใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็นแผลพุพอง (ใบสด)[1],[2]
- ลำต้นใช้เป็นยาแก้อักเสบและปวดบวม (ลำต้น)[1]
- ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ทั้งต้น)[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เกล็ดมังกร”. หน้า 75-76.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “เกล็ดมังกร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [14 มิ.ย. 2015].
- พันธุ์ไม้ในสวน, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “เกล็ดมังกร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/. [14 มิ.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Yeoh Yi Shuen, Ahmad Fuad Morad, Gabriela Vigdorovici, Siyang Teo, Wee Foong Ang)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)