เกล็ดปลาช่อน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเกล็ดปลาช่อน 16 ข้อ !

เกล็ดปลาช่อน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเกล็ดปลาช่อน 16 ข้อ !

เกล็ดปลาช่อน

เกล็ดปลาช่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllodium pulchellum (L.) Desv. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Hedysarum pulchellum L., Desmodium pulchellum (L.) Benth., Meibomia pulchella (L.) Kuntze) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2],[3]

สมุนไพรเกล็ดปลาช่อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เกล็ดลิ่นใหญ่ (นครราชสีมา), ลูกหนีบต้น (ปราจีนบุรี), หางลิ่น (สุราษฎร์ธานี), หญ้าเกล็ดลิ่น (ภาคเหนือ, ภาคใต้), เกล็ดลิ่นใหญ่ ลิ่นต้น หญ้าสองปล้อง (ภาคกลาง), กาสามปีกเล็ก, เกล็ดลิ้น เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของเกล็ดปลาช่อน

  • ต้นเกล็ดปลาช่อน จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุหลายปี มีความสูงได้ประมาณ 0.5-2 เมตร ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.2-3.7 เซนติเมตร กิ่งก้านแตกแขนงตั้งแต่โคนต้น ปลายกิ่งโค้งลง กิ่งและก้านใบมีขนนุ่มสีเทาถึงสีน้ำตาลอ่อนขึ้นหนาแน่น ส่วนเปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลค่อนข้างเรียบ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ในกัมพูชา เวียดนาม ลาว ออสเตรเลีย และพบในทุกภาคของประเทศไทย โดยพบขึ้นทั่วไปในทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณะ ตามพื้นที่ป่า ตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าผลัดใบ ป่าสน ป่าไผ่ ชายป่าดิบ ที่ความสูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1,300 เมตร[1],[2],[3]

ต้นเกล็ดปลาช่อน

  • ใบเกล็ดปลาช่อน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก รูปฝ่ามือ ออกเรียงสลับ มีใบย่อย 3 ใบ ใบย่อยตรงกลางจะมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยด้านข้าง มีลักษณะเป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบแหลม มน หรือกลม ส่วนขอบใบเรียบ บางครั้งเป็นคลื่น มีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบด้านบนมีขนสั้นนุ่มขึ้นบาง ๆ เมื่อแก่จะเกลี้ยง ส่วนด้านล่างมีขนสั้นนุ่มขึ้นหนาแน่น (หลังใบหยักเป็นลอนตามเส้นใบแบบขนาน ส่วนท้องใบก็เป็นลอนด้วยเช่นกัน) ใบย่อยด้านข้าง 2 ใบนั้นมีลักษณะรูปร่างคล้ายใบย่อยตรงกลาง แต่จะมีขนาดเล็กกว่า โดยมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร โคนใบเบี้ยว เส้นแขนงใบมีข้างละ 6-10 เส้น ก้านใบย่อยสั้น มีขนาดยาวได้ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร มีหูใบเป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร มีขน หูใบย่อยเป็นขนแข็ง ยาวคล้ายหาง ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร แก่นช่อใบยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อใบยาวประมาณ 5-10 มิลลิเมตร[1],[2]

ใบเกล็ดปลาช่อน

รูปเกล็ดปลาช่อน

  • ดอกเกล็ดปลาช่อน ออกดอกเป็นช่อกระจุกประมาณ 3-5 ดอก เรียงอยู่บนแกนช่อดอก แบบช่อกระจะจะค่อนข้างยาว โดยจะออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกแต่ละกระจุกจะมีใบประดับคล้ายใบประกบหุ้มไว้ 2 ใบ ใบประดับจะมีลักษณะคล้ายเกล็ดปลา เป็นรูปเกือบกลม ปลายแหลมหรือเว้าตื้น โคนกลมหรือเป็นรูปหัวใจตื้น มีขนาดกว้างประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร มีขนทั้งสองด้าน และมีใบประดับอีกหนึ่งใบอยู่ปลายสุด ลดรูปเป็นเส้นใบประดับย่อย ยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร มีขน ใบประดับหุ้มดอกและติดอยู่จนติดผล ก้านดอกยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด ส่วนปลายแยกออกเป็นแฉก 4 แฉก แฉกบนและแฉกข้างมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายแหลม ส่วนแฉกล่างจะมีลักษณะเป็นรูปไข่เช่นกัน แต่จะแคบและยาวกว่าแฉกอื่น ๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน มีลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว กลีบกลางจะเป็นรูปไข่กลับ ปลายกลม มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร มีก้านกลีบสั้น ๆ กลีบด้านข้างจะเป็นรูปรีแคบ ปลายมน โคนมีติ่ง มีขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ส่วนกลีบคู่ล่างจะยาวเท่ากับกลีบคู่ข้าง แต่จะกว้างกว่า รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี 1 ช่อง มีออวุล 2-4 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียโค้ง ที่โคนมีขน[1],[2]

ใบประดับเกล็ดปลาช่อน

ดอกเกล็ดปลาช่อน

  • ผลเกล็ดปลาช่อน ผลมีลักษณะเป็นฝักแบน ฝักมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน หยักคอดเป็นข้อประมาณ 2-4 ข้อ มีขนาดกว้างประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร ผิวฝักมีขน มีลวดลายแบบร่างแหชัดเจน ส่วนเมล็ดเป็นรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ออกดอกและเป็นผลในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม[1],[2]

ผลเกล็ดปลาช่อน

สรรพคุณของเกล็ดปลาช่อน

  1. เปลือกต้นใช้ต้มน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคตา (เปลือกต้น)[2]
  2. รากมีรสจืดเฝื่อน ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาอาการผู้ป่วยทางจิต อาการเพ้อ กล้ามเนื้อสั่นกระตุก อาการชักในเด็กทารก แก้ปวดฟัน เลือดจับตัวเป็นลิ่ม (ราก)[2]
  1. ใบมีรสจืด ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ไข้จับสั่น (ใบ)[2]
  2. ดอกใช้เป็นยาแก้อาเจียน (ดอก)[2]
  3. เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องร่วง (เปลือกต้น)[2]
  4. รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดท้อง (ราก)[2]
  5. เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการตกเลือด แต่ถ้าใช้ในปริมาณมากจะเป็นพิษ (เปลือกต้น)[2]
  6. ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้รากเกล็ดปลาช่อน นำมาต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคตับพิการ บรรเทาอาการตับทำงานผิดปกติ ส่วนตำรายาไทยจะใช้ทั้งต้นปรุงเป็นยาแก้ตับพิการ (ราก, ทั้งต้น)[2]
  7. ทั้งต้นใช้ปรุงเป็นยาแก้พยาธิใบไม้ในตับ (ทั้งต้น)[2]
  8. ใบใช้เป็นยารักษาแผลพุพอง (ใบ)[2]
  9. รากหรือเปลือกรากใช้ตำพอกแก้ปวด แก้เคล็ดบวม (ราก, เปลือกราก)[1],[2]
  10. รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดเส้น ปวดข้อ ปวดหลัง (ราก)[2]
  11. รากใช้ผสมกับรากกาสามปีกใหญ่, รากดูกอึ่ง, รากโมกมัน และรากหางหมาจอก ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้คุณไสย (มีอาการผอมแห้ง ใจสั่น บางเวลาเพ้อคลั่งและร้องไห้)[2]

ประโยชน์ของเกล็ดปลาช่อน

  • ต้นเกล็ดปลาช่อน จัดเป็นต้นไม้มงคล จะใช้เมื่อเอาข้าวขึ้นยุ้งฉาง[2]
  • ในทางอาหารจะใช้ยอดเกล็ดปลาช่อนนำมากินสด ๆ เป็นผักจิ้ม มีรสฝาดมันและขมเล็กน้อย[2]
  • ใช้เป็นแหล่งอาหารสัตว์ตามธรรมชาติของโค กระบือ สำหรับแทะเล็ม ส่วนที่กินได้ (ใบรวมก้านใบย่อย) จะมีโปรตีน 16.7%, เยื่อใยส่วน ADF 34.47%, NDF 41.94%, แคลเซียม 0.84%, ฟอสฟอรัส 0.24%, โพแทสเซียม 1.52%, แทนนิน 3.74%[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “เกล็ดปลาช่อน”.  หน้า 74.
  2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เกล็ดปลาช่อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [14 มิ.ย. 2015].
  3. สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์.  “เกล็ดปลาช่อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th.  [14 มิ.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by judymonkey17, Foggy Forest, CANTIQ UNIQUE)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด