24 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นอ้อยช้าง ! (กอกกั๋น)

24 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นอ้อยช้าง ! (กอกกั๋น)

อ้อยช้าง

อ้อยช้าง ชื่อสามัญ Wodier tree[5]

อ้อยช้าง ชื่อวิทยาศาสตร์ Lannea coromandelica (Houtt.) Merr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dialium coromandelicum Houtt.) จัดอยู่ในวงศ์มะม่วง (ANACARDIACEAE)[1],[2]

สมุนไพรอ้อยช้าง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หวีด (เชียงใหม่), ช้าเกาะ ช้างโน้ม (ตราด), กอกกั่น กอกกั๋น (อุบลราชธานี), ตะคร้ำ (ราชบุรี), ซาเกะ (สุราษฎร์ธานี), กุ๊ก กุ้ก (ภาคเหนือ), อ้อยช้าง (ภาคกลาง), เส่งลู่ไค้ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ปีเชียง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), แม่หยูว้าย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), กอกกัน เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของอ้อยช้าง

  • ต้นอ้อยช้าง จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรงมีความสูงได้ประมาณ 12-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง เปลือกต้นเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด สีเทาอมเขียว เปลือกในเป็นสีชมพู มียางเหนียวใส อ้อยช้างเป็นไม้ที่ไม่ค่อยจะแตกกิ่งก้านสาขามากนัก กิ่งก้านจะค่อนข้างเรียวเล็ก ส่วนที่ยังอ่อนหรือตามกิ่งอ่อนจะมีขนรูปดาวขึ้นปกคลุมอยู่ สวนกิ่งแก่จะมีช่องอากาศ ต้นจะสลัดใบทิ้งเมื่อออกดอก มีรอยแผลใหญ่ ๆ ของใบที่หลุดใบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง (เพาะเมล็ดเป็นวิธีที่ง่ายสุด) ขึ้นได้ในทุกสภาพดิน ชอบความชื้นและแสงแดดแบบเต็มวัน[1],[2],[6] มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง มักพบขึ้นในอินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายูและชวา ในประเทศพบกระจายทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง บางครั้งก็พบได้ตามป่าเขาหินปูน ที่ระดับความสูงจนถึงประมาณ 1,100 เมตร จากระดับน้ำทะเล[2]

ต้นอ้อยช้าง

กุ๊ก

  • ใบอ้อยช้าง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ ออกเป็นช่อตรงปลายกิ่งเรียงเวียนสลับกัน แกนกลางใบประกอบยาวได้ประมาณ 12-28 เซนติเมตร ส่วนก้านใบประกอบยาวประมาณ 6-8 เซนติเมตร เป็นรูปคล้ายทรงกระบอก มีใบย่อยประมาณ 3-7 คู่ ออกเรียงตรงข้าม ก้านใบย่อยจะค่อนข้างสั้น มักมีสันปีกแคบ ๆ ด้านใดด้านหนึ่ง ก้านใบย่อยด้านข้างยาวได้ประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ส่วนก้านใบย่อยของใบปลายยาวได้ประมาณ 2-3 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปหอก ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบกลม แหลม หรือเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบหรือหยักมน ใบย่อยที่ปลายจะมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยด้านข้าง แผ่นใบค่อนข้างหนา หลังใบเกลี้ยง ส่วนท้องใบมีขนสั้นนุ่มและขนรูปดาวขึ้นปกคลุม ส่วนใบแก่ผิวจะเกลี้ยง มีเส้นใบข้างละประมาณ 7-11 คู่ ส่วนเส้นใบย่อยค่อนข้างเลือนราง[1],[2],[6]

ใบอ้อยช้าง

  • ดอกอ้อยช้าง ออกดอกเป็นช่อสีเหลืองอ่อน ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลดแยกแขนง โดยจะออกที่ปลายกิ่งก่อนผลิใบ ช่อดอกห้อยลงมาจากกิ่งที่ไม่มีใบ กลีบดอกหอม ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองอ่อนหรือเขียวอมเหลือง ขนาดประมาณ 0.3 เซนติเมตร ช่อดอกยาวประมาณ 12-30 เซนติเมตร ก้านช่อมีขนเล็ก ๆ ทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะแยกกันอยู่คนละต้น ต้นเพศผู้จะมีช่อดอกแบบแยกแขนงยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ส่วนต้นเพศเมียจะแตกแขนงน้อยกว่า ช่อยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร หรือไม่มีก้านดอก กลีบเลี้ยงดอกที่โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร ส่วนปลายแยกออกเป็นแฉก 4-6 แฉก ลักษณะของกลีบเป็นรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน มีขนปกคลุม ปลายกลีบมน ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนรูปดาวขึ้นประปราย กลีบเลี้ยงมีขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกมีประมาณ 4-5 กลีบ เรียงซ้อนกัน ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน ปลายมน ไม่มีขน และพับงอกลีบ กลีบดอกมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 8-10 อัน (หรือมีเป็นสองเท่าของจำนวนกลีบดอก) อยู่ในดอกเพศผู้ ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้จะอยู่ล้อมรอบหมอนรองดอกรูปวงแหวน มีร่องเว้าตรงกลาง ในดอกเพศเมีย ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร หรือสั้นกว่า ส่วนรังไข่เกลี้ยงเป็นสีแดงสด และดอกจะออกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ หรือในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2],[3],[5],[6]

กอกกั๋น

ดอกอ้อยช้าง

  • ผลอ้อยช้าง ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ผลผนังชั้นในแข็ง ลักษณะของผลเป็นรูปถั่ว รูปไตแบน รูปสี่เหลี่ยมคางหมู หรือรูปคล้ายสี่เหลี่ยมมุมฉากถึงรูปกลม มีขนาดกว้างประมาณ 0.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียวแต้มด้วยสีม่วงแดง ผลแก่เป็นสีม่วงอมแดง ก้านผลสั้นหรือเกือบไม่มีก้าน มีกลีบเลี้ยงติดทน ภายในผลจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมหรือรี เมล็ดค่อนข้างแข็ง มีรอยเว้า 1-2 รอยที่ปลายบน (ผลจะแก่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนมีนาคม)[1],[2],[3],[5],[6]

กอกกัน

ผลอ้อยช้าง

สรรพคุณของอ้อยช้าง

  1. เปลือกต้นมีรสขม ใช้เป็นยาธาตุ ช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือก)[6]
  2. เปลือกใช้เป็นยาต้มรักษาธาตุพิการและอ่อนเพลีย (เปลือก)[1],[3]
  3. ช่วยแก้อาการปวดประสาท (ใบ)[6]
  4. น้ำที่ได้จากเปลือกสด ๆ ใช้เป็นยาหยอดตารักษาอาการตาเจ็บ ตาอักเสบรุนแรง (เปลือก)[1],[3],[6]
  5. ใช้รักษาอาการปวดฟัน (เปลือก)[1],[3],[6]
  1. แก่นมีรสหวาน มีสรรพคุณช่วยแก้เสมหะ (แก่น)[3] แก้เสมหะเหนียว (เปลือก)
  2. แก่นอ้อยช้างใช้ปรุงเป็นยาแต่งรสเพราะมีรสหวานช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำ ทำให้ชุ่มชื่นในลำคอ เกิดความชุ่มชื่นในอก (แก่น)[1],[3],[6]
  3. ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้ใบอ้อยช้างผสมกับใบไพล ใบหวดหม่อน แล้วนำมาบดให้เป็นผงกินกับน้ำเช้าเย็น เป็นยาแก้ไอเป็นเลือด หรือจะใช้ยางที่ปูดจากลำต้น นำมาผสมกับยางที่ปูดจากลำต้นมะกอก ฝนกับน้ำดื่มก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอเป็นเลือดเช่นกัน (ใบ, ยางที่ปูดจากลำต้น)[6]
  4. ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (เปลือก)[6]
  5. รากหรือเปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย (ราก, เปลือก)[6]
  6. เปลือกมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องร่วง (เปลือก)[4],[6]
  7. เปลือกใช้ทำเป็นยาใส่แผล ช่วยสมานแผล และเป็นยาห้ามเลือด (เปลือก)[1],[3],[4],[6]
  8. เปลือกนำมาต้มกับน้ำอาบเป็นยาแก้ฝีเมื่อเป็นฝี และรักษาโรคผิวหนัง โรคเรื้อน หรือจะนำเปลือกมาบดให้เป็นผงแล้วนำมาใช้ใส่แผลโรคผิวหนังก็ได้ (เปลือก)[1]
  9. ใช้เป็นยาแก้ผิวหนังพุพอง เน่าเปื่อย (เปลือก[6], ใบ[3])
  10. ใบใช้เป็นยารักษาโรคเท้าช้าง (ใบ)[6]
  11. ช่วยรักษาโรคเกาต์ (เปลือก)[6]
  12. ใบมีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการอักเสบ อาการแพลง และรอยฟกช้ำ (ใบ)[6] ส่วนเปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวด แก้รอยฟกช้ำ อาการแพลง (เปลือกต้น)[6]
  13. รากใช้เข้ากับตำรับยา เพื่อชูรสในตำรับนั้น ๆ (ราก)[3]
  14. สารสกัดน้ำจากเปลือกต้นสดและผลสดเป็นพิษต่อปลา (เปลือก, ผล)[6]

อายุการเก็บเกี่ยว : แก่นหรือเนื้อไม้ และรากต้องมีอายุประมาณ 10 ปี ขึ้นไป จึงจะสามารถนำมาใช้ทำยาได้ ส่วนเปลือกต้นต้องมีอายุประมาณ 8 ปี ขึ้นไป

ประโยชน์ของอ้อยช้าง

  1. ยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวและฝาด นิยมนำมารับประทานเป็นผัก หรือนำมารับประทานร่วมกับพริกเกลือก็ได้[3] ส่วนช้างจะชอบกินทั้งใบและดอก รวมถึงเปลือกด้วย โดยช้างจะใช้งาแทงเปลือกแล้วลอกออกมากิน (เข้าใจว่าเป็นที่มาของชื่อ “อ้อยช้าง“)
  2. ส่วนของรากซึ่งเป็นกระเปาะใหญ่เก็บสะสมน้ำ น้ำในรากสามารถนำมาดื่มแก้อาการกระหายน้ำได้[3]
  3. เนื้อไม้อ้อยช้างใช้เป็นแบบเทคอนกรีต ใช้ในงานแกะสลัก[3] ใช้ทำพื้นกระดาน ฝา รอด เครื่องเรือน ฯลฯ[4]
  4. เปลือกต้นนำมาทุบทำเป็นผืนสำหรับปูบนหลังช้าง (ที่รองหลังช้าง) ใช้ทำเชือก ให้สีน้ำตาล ใช้ย้อมผ้า ย้อมหนัง ย้อมแห ฟอกหนังสัตว์ ใช้ในงานศิลปะ ฯลฯ[3],[4],[5]
  5. แก่นใช้ปรุงรสยาให้มีรสหวาน[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “อ้อยช้าง”.  หน้า 840-841.
  2. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “กุ๊ก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [21 ก.ย. 2014].
  3. ผู้จัดการออนไลน์.  “โพธิญาณพฤกษา : อ้อยช้าง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.manager.co.th.  [21 ก.ย. 2014].
  4. คมชัดลึกออนไลน์.  “อ้อยช้าง เปลือกแก้ปวดท้อง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net.  [21 ก.ย. 2014].
  5. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “กุ๊ก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [21 ก.ย. 2014].
  6. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “กอกกัน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.   [21 ก.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, Shubhada Nikharge, Tony Rodd)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด