อุโลก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นอุโลก 8 ข้อ !

อุโลก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นอุโลก 8 ข้อ !

อุโลก

อุโลก ชื่อวิทยาศาสตร์ Hymenodictyon orixense (Roxb.) Mabb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Hymenodictyon excelsum (Roxb.) Wall., Hymenodictyon excelsum (Roxb.) DC.)[1],[3] จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]

สมุนไพรอุโลก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ลาตา (ตรัง), ลุ ส้มลุ (สุราษฎร์ธานี), ส้มกบ ส้มเห็ด (ภาคเหนือ, ภาคอีสาน), ส้มลุ ลุ ลาตา (ภาคใต้), สั่งเหาะ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ถู่เหลียนเชี่ยว (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของต้นอุโลก

  • ต้นอุโลก จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 10-20 เมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนออกเป็นทรงพุ่มกลมโปร่ง กิ่งแขนงแตกออกจากลำต้นเป็นวงรอบที่ปลายกิ่ง เปลือกต้นหนาแตกลอนเป็นสะเก็ด เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทาบางทีมีสีเทาปนน้ำตาล ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด และวิธีการตอนกิ่ง มักขึ้นตามป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณผสม และตามป่าดงดิบแล้งทั่วไปทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้[1],[4]

ต้นอุโลก

เปลือกต้นอุโลก

  • ใบอุโลก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ เป็นกระจุกตามปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปโล่ ปลายใบมนมีติ่ง โคนใบสอบเข้าหาก้านใบ ส่วนขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-25 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นลอนเล็กน้อย หลังใบและท้องใบมีขนนุ่มทั้งสองด้าน แผ่นใบหนา เส้นใบเห็นได้ชัดเป็นร่างแห มีเส้นแขนงใบประมาณ 7-9 คู่ ก้านใบมีสีแดงอ่อน ยาวประมาณ 6 เซนติเมตร มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ[1],[2],[4]

ใบอุโลก

  • ดอกอุโลก ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยจะออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ในแต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีขาวขนาดมีขนาดใหญ่กว่ากลีบฐานดอก ดอกมีกลิ่นหอม กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-8 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน อยู่ใจกลางดอก มีรังไข่ 2 ห้อง กลีบเลี้ยงมีเส้นใบคล้ายกับตาข่ายเป็นสีเขียว[1],[2],[4]

ดอกอุโลก

รูปดอกอุโลก

  • ผลอุโลก ผลพบได้ในดอก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรีขนาดเล็ก มีร่อง 2 ร่อง เมื่อสุกผลตะแตกได้ ผิวเปลือกผลแข็งบางเป็นสีน้ำตาลแดง ยาวได้ประมาณ 2-3 เซนติเมตร อยู่รวมกันเป็นพวงห้อยลง แต่ปลายผลชี้ย้อนขึ้นไปทางโคนช่อ ภายในผลมีมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีครีบหรือปีกบาง ๆ ที่ปลาย[1],[2],[4]

ผลอุโลก

สรรพคุณของอุโลก

  1. ราก แก่นและเปลือกต้น มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้พิษต่าง ๆ ช่วยระงับความร้อน ใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้ไข้ตัวร้อน ไข้หวัด แก้ไข้จับสั่น (ราก,แก่น,เปลือกต้น)[1],[2],[3]
  2. ใช้เป็นยาแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ราก,แก่น,เปลือกต้น)[1],[2],[3]
  3. ช่วยแก้อาการไอ (ราก,แก่น)[3]
  4. ช่วยขับเสมหะ (ราก,แก่น)[3]
  5. ใบและรากใช้เป็นยาดูดพิษฝีหนอง (ใบและราก)[3]
  6. ใบและราก ใช้เป็นยาภายนอกแก้ไขข้ออักเสบ แก้ปวดบวมแดงตามข้อ (ใบและราก)[3]

หมายเหตุ : วิธีการใช้ตาม [3] ถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ใช้ภายนอกให้ใช้ยาสดได้ตามปริมาณที่ต้องการ[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของอุโลก

  • เปลือกต้นและใบอุโลกพบสารหลายชนิด ได้แก่ Aesculin, Scopoletin ส่วนรากอุโลกพบสาร Rubiadin, Lucidin, Damnacanthal, Morindon, Nordamnacanthal, 2-Benzylxanthopurpurin, 6-Methyllalizarin และ Anthragallol เป็นต้น[3]

ประโยชน์ของอุโลก

  • ใบอ่อนมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานเป็นผักสดหรือลวก ต้มกินกับน้ำพริก[4]
  • เนื้อไม้ของต้นอุโลก สามารถนำมาใช้งานเบา ๆ ได้ เช่น ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ หรือทำฝาบ้าน เป็นต้น[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “อุโลก”.  หน้า 154.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “อุโลก”.  หน้า 123.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “อุโลก”.  หน้า 652.
  4. ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.  “อุโลก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th/veg/.  [26 ก.ค. 2014].
  5. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “อุโลก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [26 ก.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด