12 สารอาหารต้านฝุ่นพิษ PM 2.5 เกินมาตรฐาน !

ผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5

เป็นประจำทุกปีตั้งแต่ช่วงมกราคมลากยาวจนถึงเดือนเมษายนที่กรุงเทพและปริมณฑล รวมไปถึงหัวเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่จะถูกปกคลุมไปด้วยมลพิษฝุ่น PM 2.5 หรือฝุ่นละอองที่เล็กมากขนาด 1 ใน 25 ของเส้นผม เล็กจนสามารถสูดหายใจเข้าไปที่ปอดและซึมผ่านผนังปอดเข้าสู่กระแสเลือดกระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกายแล้วเหนี่ยวนำให้เกิดอนุมูลอิสระและภาวะการอักเสบขึ้นในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ หอบหืดเรื้อรัง โรคเยื่อบุตาอักเสบ โรคมะเร็งปอด รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

หากเราได้รับฝุ่น PM 2.5 ที่มีอนุภาคเล็ก ๆ เหล่านี้เป็นเวลานานก็จะส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ดังนี้

  • ระบบทางเดินหายใจ โดยจะไปกระตุ้นให้เซลล์ปอดสร้างอนุมูลอิสระเกิดการระคายเคืองและก่อให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินหายใจ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของปอดลดลง การแลกเปลี่ยนอากาศจึงทำได้น้อยลง ส่งผลให้การหายใจสั้น หัวใจทำงานหนักขึ้น เกิดอาการไอ ไอเรื้อรัง เสมหะ หายใจลำบาก นอกจากนี้ยังสามารถเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้นด้วย โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง จะมีผลกระทบมากขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งหากได้รับฝุ่นอนุภาคเล็ก ๆ เหล่านี้เป็นระยะเวลานานก็อาจก่อให้เกิดเป็นโรคมะเร็งตามมาได้
  • ระบบหลอดเลือดหัวใจ ฝุ่นละอองอนุภาคเล็กทำให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น เพิ่มระดับไขมันโคเลสเตอรอลชนิดร้ายในเลือด LDL-Cholesterol และไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) และลดระดับโคเลสเตอรอลชนิดดีในเลือด HDL-Cholesterol เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดโรคทางหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและมากกว่าการเสียชีวิตจากโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ โดยการเสียชีวิตอาจมีสาเหตุมาจากภาวะหัวใจวายและหัวใจวายเฉียบพลัน ภาวะหลอดเลือดสมองแตก หัวใจเต้นผิดจังหวะ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่า การได้รับฝุ่นละอองทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้เกิดภาวะอ้วนและมีผลต่อระบบเผาผลาญในร่างกาย

นอกจากนั้นในหญิงตั้งครรภ์ อนุภาคเหล่านี้สามารถเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางรก ทำให้ทารกที่คลอดออกมามีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ และมีผลต่อการพัฒนาสมองของทารกได้ จากการวิจัยพบว่าเด็กที่อยู่ในพื้นที่ของการกระจายของฝุ่นจะมีอัตราการขาดเรียนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะความผิดปกติของปอด อาการหอบหืด และอาจเป็นสาเหตุของการก่อให้เกิดโรคมะเร็งในเด็กได้ รวมทั้งมีผลต่อการเจริญเติบโตและภูมิคุ้มกันของเด็กที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงของการกระจายของฝุ่นละอองอีกด้วย

ฝุ่น PM2.5
IMAGE SOURCE : 123RF

อาหารต้านฝุ่น PM 2.5

วิธีการป้องกันฝุ่นพิษ PM 2.5 นอกจากการอยู่ภายในอาคารบ้านเรือนและใช้เครื่องกรองอากาศเป็นตัวช่วย สวมใส่หน้ากากกรองฝุ่น เช่น N 95 เมื่อจำเป็นต้องออกนอกบ้าน และงดการออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว และยังมีข้อมูลการศึกษาวิจัยที่พบว่า สารอาหารบางอย่างอาจมีคุณสมบัติช่วยต้านพิษของฝุ่น PM 2.5 นี้ได้ด้วย ได้แก่…

1. โอเมก้า-3 (Omega-3) ในน้ำมันปลา มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ช่วยป้องกันการติดเชื้อ ต้านการแข็งตัวของเลือด จึงมีผลทำให้ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้โอเมก้า-3 ยังช่วยลดการเกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง และช่วยเสริมสร้างผนังเซลล์ในร่างกายจึงอาจมีส่วนช่วยดูแลสุขภาพจากผลกระทบของฝุ่นพิษได้ด้วย

  • จากการศึกษาทดลองโดยให้นักศึกษามหาวิทยาลัยในเมืองเซี่ยงไฮ้จำนวน 65 คนทดลองทานน้ำมันปลาในปริมาณ 2.5 กรัมต่อวันติดต่อกันเป็นเวลา 5 เดือน พบว่า ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบน้อยมากต่อการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรภาวะสุขภาพ เช่น ระดับการอักเสบในร่างกาย (Blood inflammation), การทำงานของหลอดเลือดหัวใจ (Endothelial function), การแข็งตัวของเลือด (Coagulation) และภาวะเครียดที่เกิดจากออกซิเดชัน (Oxidative stress) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานน้ำมันปลา ความหมายก็คือ สารโอเมก้า 3 ที่อยู่ในน้ำมันปลาสามารถช่วยกระตุ้นให้ร่างกายต่อสู้กับฝุ่นพิษ PM 2.5 ในอากาศได้นั่นเอง
  • งานวิจัยในกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่น PM 2.5 สูง แล้วได้รับโอเมก้า 3 ประมาณวันละ 2 กรัม จะช่วยลดผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ได้

อาหารที่มีโอเมก้า-3 สูง : ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาแมกเคอเรล ปลาแอนโชวี ปลาคอด ปลาเฮริ่ง ฯลฯ และยังพบได้ในกุ้งทะเล ปูทะเล รวมไปถึงผักโขม ถั่วเหลือง ถั่วอัลมอลต์ ถั่วแระ ถั่ววอลนัท ข้าวโอ๊ต เมล็ดฟักทอง เมล็ดแฟลกซ์ น้ำมันคาโนลา อะโวคาโด และผลิตภัณฑ์จากนม

โอเมก้า3ต้านฝุ่น PM2.5
IMAGE SOURCE : 123RF

สำหรับการบริโภคโอเมก้า-3 จากอาหารให้ได้ถึงวันละ 2,000 มิลลิกรัม คงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นการรับประทานน้ำมันปลาที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงเป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุด โดยจะเป็นน้ำมันปลายี่ห้อไหนก็ให้ผลไม่ต่างกันมากนัก เพราะสูตรและปริมาณสารสำคัญจะคล้าย ๆ กันหมด หรือถ้าคุณไม่รู้ว่าจะเลือกซื้อน้ำมันปลายี่ห้อไหนก็สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความ “10 อันดับน้ำมันปลายอดนิยม & รีวิวจากการใช้จริง ! (2020)” ครับ เพราะเราได้ทำการจัดอันดับเอาไว้แล้ว โดยวัดคะแนนจากความน่าเชื่อถือของแบรนด์, ลักษณะของขวดบรรจุภัณฑ์, คุณภาพของวัตถุดิบและปริมาณสารสำคัญ, กลิ่นของน้ำมันปลา และความคุ้มค่ากับเงินที่จ่าย โดยอันดับ 1-10 นั้นมีดังนี้

  1. MEGA We care FISH OIL 1000 mg
  2. VISTRA SALMON FISH OIL 1000 mg
  3. BEWEL SALMON FISH OIL 1000 mg
  4. BLACKMORES FISH OIL 1000
  5. NUTRAKAL Salmon Oil Fish Omega 3
  6. NUTRI MASTER FISH OIL 1000 mg.
  7. HOF FISH OIL 1000 MG.
  8. Giffarine FISH OIL 1000
  9. watsons FISH OIL 1000 MG
  10. AMSEL Fish Oil 1,000 mg.
รีวิวน้ำมันปลา
รีวิว 10 อันดับน้ำมันปลาโดยเมดไทย (Medthai)

2. สารซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) พบมากในบร็อคโคลีและผักตระกูลกะหล่ำต่าง ๆ เป็นสารที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เนื่องจากช่วงที่มีค่าฝุ่นพิษ PM 2.5 สูง สารพิษจำนวนมากนี้จะเข้าสู่ร่างกายระบบทางเดินหายใจแล้วก่อให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบ (Inflammatory response) ดังนั้นการได้รับสารนี้เป็นประจำจึงเท่ากับเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้สารซัลโฟราเฟนยังออกฤทธิ์ช่วยให้ตับและเซลล์เยื่อบุสลายสารพิษ ขับสารก่อมะเร็ง และสารระคายเคือง โดยมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮ็อปกินส์ ในประเทศจีนพบว่า การกินน้ำบร็อกโคลีจะช่วยเพิ่มอัตราการขับสารพิษออกทางปัสสาวะ

อาหารที่มีสารซัลโฟราเฟนสูง : บรอกโคลี, กะหล่ำดอก, กะหล่ำดาว, กะหล่ำปลี, ผักเคล, ผักกวางตุ้งจีน, ผักคะน้า, ผักวอเตอร์เครส, ผักสลัดร็อคเก็ต, หัวบีต (ผักบรอกโคลีจะต้องไม่ผ่านกรรมวิธีปรุงสุกในระยะเวลาที่นานเกินไป เพราะจะทำให้ปริมาณของสารซัลโฟราเฟนลดลง)

บรอกโคลีต้านฝุ่น PM2.5
IMAGE SOURCE : 123RF

3. N-acetylcysteine (NAC) เป็นสารที่มีฤทธิ์ละลายเสมหะและช่วยขับเสมหะออกจากหลอดลมและปอดได้มากขึ้น นอกจากนี้ NAC ยังมีฤทธิ์ในการกำจัดสารพิษและสารอนุมูลอิสระที่เกิดภายในร่างกาย (เช่น เกิดจากของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญของเซลล์) และภายนอกร่างกาย (เช่น เกิดจากมลพิษในอากาศ ฝุ่น ควันบุหรี่ การอักเสบ ฯลฯ) โดยจะออกฤทธิ์โดยตรงด้วยการเปลี่ยนสารพิษและอนุมูลอิสระให้เป็นน้ำ ส่วนฤทธิ์โดยอ้อมคือการเป็นสารตั้งต้นของกลูตาไธโอนที่มีฤทธิ์กำจัดสารอนุมูลอิสระภายในร่างกาย

อาหารที่มีกรดอะมิโนซิสเตอีน : อกไก่, พอร์คชอป, สเต็กเนื้อ, ทูน่า, ถั่ว, โยเกิร์ตไขมันต่ำ, เมล็ดทานตะวัน, ถั่วเลนทิล, โอ๊ตมีล, ชีสสวิส

4. วิตามินเอ (Vitamin A) และเบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) มีบทบาทเพิ่มระบบภูมิต้านทานให้ร่างกายให้แข็งแรง จึงช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของปอดให้ดีขึ้นได้ นอกจากนี้วิตามินเอยังมีส่วนช่วยในการลดการอักเสบและลดอนุมูลอิสระของเซลล์ภายในร่างกาย ซึ่งอนุภาคต่าง ๆ จะไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในเนื้อเยื่อของระบบทางเดินหายใจ และลดการเกิดอนุมูลอิสระต่าง ๆ ที่สามารถทำลายเซลล์ได้

อาหารที่มีวิตามินเอสูง : ผักผลไม้ที่มีสีส้ม สีเหลือง และสีแดง เช่น ฟักทอง มะเขือเทศ แครอท มันเทศ มันหวาน มะละกอ มะม่วง ข้าวโพด พริกหวานแดง เรดโอ๊ค ผักใบเขียวเข้มอย่างผักบุ้ง ผักเคล ผักปวยเล้ง ผักกาดหอม ผักโขม ผักวอเตอร์เครส ตำลึง ยอดชะอม บรอกโคลี ใบเหลียง รวมไปถึงนมและผลิตภัณฑ์จากนม เนย ตับ ไข่

วิตามินต้านฝุ่น PM2.5
IMAGE SOURCE : 123RF

5. วิตามินซี (Vitamin C) และวิตามินอี (Vitamin E) วิตามินซีสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญในร่างกาย ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง และช่วยลดภาวะการอักเสบและป้องกันเซลล์ไม่ให้ถูกทำลายได้ ส่วนวิตามินอีนั้นก็เป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นเยี่ยมเช่นกัน โดยมีคุณสมบัติช่วยชะลอการเสื่อมสมรรถภาพของเซลส์และปกป้องปอดจากมลพิษ โดยจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่า…

  • การรับประทานวิตามินซีเสริมวันละ 1,000 มิลลิกรัม อาจช่วยลดระดับอนุมูลอิสระในกลุ่มคนที่อยู่อาศัยในเขตที่มีมลพิษทางอากาศได้
  • งานวิจัยของ Isabelle Romieu จากสถาบันวิจัย Instituto Nacional de Salud Publica ยืนยันว่าการรับประทานวิตามินซีและวิตามินอีในปริมาณที่มากกว่าความต้องการในแต่ละวัน สามารถช่วยทุเลาผลกระทบจากมลพิษทางอากาศได้โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก
  • งานวิจัยในกลุ่มเด็กเล็กที่อยู่อาศัยในเม็กซิโก พบว่าอาการโรคหอบหืดอันเนื่องจากสัมผัสกับโอโซนในระดับความเข้มข้นที่สูงสามารถทุเลาลงได้ด้วยการรับประทานวิตามินซีและวิตามินอี
  • วิตามินซีในมะเขือเทศช่วยป้องกันและบรรเทาอาการหอบหืดได้ (วารสาร Archives of Pediatrics และ Adolescent Medicine)
  • งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย King’s College พบว่า วิตามินอีช่วยขับสารพิษในปอด และลดอัตราการเกิดโรคหอบหืดได้เป็นอย่างดี

อาหารที่มีวิตามินซีสูง : ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่และผลไม้รสเปรี้ยว เช่น มะขามป้อม, ฝรั่ง, กีวี, สตรอว์เบอร์รี, ส้ม, องุ่น, สับปะรด, ลิ้นจี่, มะเขือเทศ, มะละกอสุก, ตรีผลา รวมไปถึงผักใบเขียวต่าง ๆ กะหล่ำปลี, บรอกโคลี, พริกหยวก

วิตามินซีต้านฝุ่น PM2.5
IMAGE SOURCE : 123RF

อาหารที่มีวิตามินอีสูง : อาหารประเภทถั่วและธัญพืชชนิดต่าง ๆ เช่น เมล็ดทานตะวัน, อัลมอนด์, เฮเซลนัต, มะเขือเทศ, ฟักทอง, มันหวาน, อะโวคาโด, กีวี่, มะม่วง, น้ำมันคาโนล่า, น้ำมันปาล์ม, น้ำมันมะกอก, จมูกข้าวสาลี, เนยถั่ว รวมไปถึงผักใบเขียวบางชนิด เช่น ผักปวยเล้ง บร็อคโคลี ผักโขม

อาหารต้านฝุ่นพิษ PM2.5
IMAGE SOURCE : 123RF

6. วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 และกรดโฟลิกหรือสารโฟเลต การสัมผัสและได้รับฝุ่น PM 2.5 ขนาดเล็กจะส่งผลต่อภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบโดยมีสารโฮโมซิสเทอีนในเลือดสูง แต่การได้รับวิตามินบีเหล่านี้จะช่วยให้สารโฮโมซิสเทอีนในเลือดให้ลดลงได้

อาหารที่มีวิตามินบี 6 สูง : อกไก่, เนื้อวัวไม่ติดมัน, เนื้อหมู, ปลาทูน่า, อะโวคาโด, กล้วย, เมล็ดทานตะวัน, ถั่วพิชตาชิโอ, ลูกพรุนแห้ง, เมล็ดงา, มันฝรั่ง, ผักปวยเล้ง, นม, ไข่แดง, ข้าวกล้อง, จมูกข้าวสาลี, รำข้าว

อาหารที่มีวิตามินบี 12 สูง : หอยนางรม, ตับวัว, เนื้อวัว, เนื้อแกะ, ปลาทู, ปลาทูน่า, ปู, ปลาซาดีน, ปลาแซลมอน, ชีส, นมสด, ไข่, ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง, ซีเรียลธัญพืช

อาหารที่มีกรดโฟลิก/โฟเลตสูง : ผักบรอกโคลี, ผักคะน้า, ผักโขม, ตำลึง, ผักกาดหอม, ถั่วงอก, อะโวคาโด, มะเขือเทศ, แคนตาลูป, ไข่, เมล็ดทานตะวัน, ถั่วแดง, ทุเรียน, ส้ม, องุ่น, สับปะรด, มะละกอ, ฝรั่ง

7. วิตามินดี (Vitamin D) ช่วยในการควบคุมความรุนแรงของการเกิดโรคหอบหืด มีส่วนในการเพิ่มภูมิคุ้มกันและช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอด โดยทั่วไปวิตามินดีร่างกายจะสามารถสังเคราะห์ได้เองจากแสงแดด แต่ในช่วงที่มีการกระจายของฝุ่นละอองควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แจ้ง โดยสามารถรับประทานวิตามินดีเสริมจากอาหารทดแทนได้

อาหารที่มีวิตามินดีสูง : ปลาแซลมอน, ปลาซาร์ดีน, ปลาแมคเคอเรล, ปลาเทราต์, น้ำมันตับปลา, ปลาทูน่ากระป๋อง, หอยนางรม, นม, ไข่แดง, มาร์การีน, ซีเรียล, ขนมปัง

8. ขมิ้นชัน สมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบและเสริมภูมิคุ้มกันต้านอนุมูลอิสระ ส่งผลดีต่อการทำงานของปอด ผลการศึกษาพบว่า ขมิ้นชันมีผลในการปกป้องระบบหัวใจหลอดเลือดและปอดได้ รับประทานได้ตามขนาดปกติ คือ 2 แคปซูลหลังอาหาร วันละ 2-3 ครั้ง

9. มะขามป้อม สมุนไพรที่มีสารโพลีฟีนอล (Pholyphenols) สูง มีสรรพคุณเป็นยาละลายเสมหะ บำรุงเสียง ช่วยแก้ไอ แก้หอบ รักษาหลอดลมอักเสบ และต้านอนุมูลอิสระได้ดี โดยพบว่าหากนำมาต้มดื่มจะช่วยป้องกันเซลล์เกิดการอักเสบ ช่วยให้การทำงานของหลอดเลือดมีความยืนหยุ่น ไหลเวียนดี นอกจากนี้ยังมีจากงานวิจัยที่พบว่า การกินมะขามป้อมสามารถช่วยลดผลกระทบจากก๊าซพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์อันเป็นแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 ได้ด้วย

10. รางจืด สมุนไพรที่โดดเด่นเรื่องการล้างพิษ แก้พิษ ลดอาการแพ้ และต้านอนุมูลอิสระ ผลการศึกษาพบว่า รางจืดสามารถปกป้องอวัยวะจากสารพิษโลหะหนักได้ ซึ่งในฝุ่นพิษ PM 2.5 ก็มีพวกสารเหล่านี้ประกอบอยู่ด้วย

11. หญ้าดอกขาว สมุนไพรที่หาง่ายและมีความปลอดภัย ปัจจุบันถูกบรรจุให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ถึงแม้จะไม่ได้มีการศึกษาผลต่อ PM 2.5 โดยตรง แต่ก็สามารถนำประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ฝุ่นพิษในปัจจุบันได้ เพราะมีงานวิจัยเดิมที่ระบุว่า สารสกัดจากหญ้าดอกขาวความเข้มข้น 10.09% นั้นมีฤทธิ์ลดการอักเสบในหนูที่ได้รับนิโคตินเป็นเวลายาวนานกว่า 6 เดือน โดยพบว่าช่วยฟื้นฟูพยาธิสภาพของปอดให้กลับมาเป็นปกติได้ อีกทั้งยังมีการศึกษาว่าช่วยลดคาร์บอนมอนนอกไซด์ที่คั่งค้างในปอด และลดการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งปอดได้ด้วย ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ในสถานการณ์ที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงจาก PM 2.5 ได้

สมุนไพรต้านฝุ่น PM2.5
IMAGE SOURCE : 123RF

12. ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรที่มีความโดดเด่นเรื่องการเสริมภุมิคุ้มกัน มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยเฉพาะในระบบทางเดินหายใจ จากการศึกษาวิจัยทางคลินิก พบว่าสามารถใช้ฟ้าทะลายโจรป้องกันและรักษาหวัด ไซนัสอักเสบ ชนิดไม่รุนแรง หลอดลมอักเสบ คออักเสบ และทอนซิลอักเสบได้ ซึ่งตรงกับอาการที่มักเกิดหลังสัมผัสสะสมฝุ่นพิษแบบเฉียบพลัน

ถึงแม้ว่าข้อมูลการศึกษาวิจัยเรื่องสารอาหารกับฝุ่น PM 2.5 ยังมีไม่มากนัก แต่ก็พอจะเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าสารอาหารต่าง ๆ ข้างต้นนี้มีส่วนช่วยในการส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงได้ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบการกำจัดสารพิษของร่างกาย และอย่างน้อยสารอาหารพวกนี้ก็มีประโยชน์และมีของแถมในเรื่องการช่วยเป็นเกราะกำบังลดผลกระทบจากมลพิษฝุ่น PM 2.5 ที่เรายังต้องเผชิญต่อไปอีกหลายปีได้

เอกสารอ้างอิง
  1. Lin, Z., Chen, R., Jiang, Y., Xia, Y., Niu, Y., Wang, C., … & Yin, G. (2019). Cardiovascular benefits of fish-oil supplementation against fine particulate air pollution in China. Journal of the American College of Cardiology, 73(16), 2076-2085.
  2. M. Nestle, Broccoli sprouts in cancer prevention, Nutrition reviews, 56 (1998) 127-130.
  3. Y. Zhang, P. Talalay, C.G. Cho, G.H. Posner, A major inducer of anticarcinogenic protective enzymes from broccoli: isolation and elucidation of structure, Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America, 89 (1992) 2399-2403.
  4. M.A. Riedl, A. Saxon, D. Diaz-Sanchez, Oral sulforaphane increases Phase II antioxidant enzymes in the human upper airway, Clinical immunology, 130 (2009) 244-251.
  5. Romieu I, Sienra-Monge JJ, Ramı´rez-Aguilar M et al. Antioxidant supplementation and lung functions among children with asthma exposed to high levels of air pollutants. Am J Respir Crit Care Med 2002; 166: 703–709.
  6. Péter S, Holguin F, Wood LG, Clougherty JE , Raederstorff D, Antal M, Weber P, Eggersdorfer M. Nutritional Solutions to Reduce Risks of Negative Health Impacts of Air Pollution. Nutrients. 2015; 7(12): 10398–10416.
  7. Whyand T, Hurst JR, Beckles M, Caplin ME. Pollution and respiratory disease: can diet or supplements help? A review. Respir Res. 2018; 19: 79.
  8. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “ประโยชน์ของ N-Acetylcystrine (NAC) ที่คุณยังไม่รู้”. (รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [19 มี.ค. 2020].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด