อังกาบหนู
อังกาบหนู ชื่อวิทยาศาสตร์ Barleria prionitis L. จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)
สมุนไพรอังกาบหนู มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เขี้ยวแก้ง เขี้ยวเนื้อ อังกาบ มันไก่ เป็นต้น
ลักษณะของอังกาบหนู
- ต้นอังกาบหนู หรือ ต้นอังกาบเหลือง เป็นไม้พุ่มเตี้ย มีความสูงประมาณ 1-1.5 เมตร แตกกิ่งก้านจำนวนมาก มีลำต้นเกลี้ยง มีหนามยาวอยู่รอบข้อ หนามมีความประมาณ 1-2 เซนติเมตร มักพบขึ้นหนาแน่นเป็นวัชพืชอยู่ตามเขาหินปูนในที่แห้งแล้งทางภาคใต้และภาคตะวันตกเฉียงใต้ของไทย และมีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในแอฟริกา ปากีสถาน อินเดีย พม่า มาเลเซีย รวมไปถึงภูมิภาคอินโดจีน
- ใบอังกาบหนู หรือ ใบอังกาบเหลือง มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน มีความยาวประมาณ 4-12 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเรียวสอบจรดกับก้านใบ ที่ปลายมีติ่งแหลม ขอบใบมีขนแข็ง แผ่นใบมีขนสั้นนุ่มกระจายอยู่ด้านล่าง ก้านใบมีความยาวได้ประมาณ 2.5 เซนติเมตร
- ดอกอังกาบหนู (อังกาบดอกเหลือง) ออกดอกเป็นช่อเป็นกระจุกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง (ออกหนาแน่นที่ช่วงปลายกิ่งคล้ายช่อเชิงลดสั้น) มีใบประดับดอกลักษณะเป็นรูปแถบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ใบประดับย่อยเป็นหนาม ติดทน มีความยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบเรียงซ้อนเหลื่อมกันอยู่ มีขนาดไม่เท่ากัน คู่นอกจะมีขนาดใหญ่กว่า มีความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ที่ปลายเป็นติ่งหนาม กลีบคู่ในรูปไข่ ปลายแหลมยาว กลีบดอกลักษณะคล้ายรูปปากเปิด หลอดกลีบยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ดอกอังกาบหนูมีกลีบดอก 5 กลีบ มีสีส้มหรือเหลือง กลีบด้านบนมี 4 กลีบ มีความยาวเท่ากัน หลอดกลีบเรียงซ้อนเหลื่อมกัน ส่วนกลีบล่างจะมีขนาดเล็กกว่ากลีบบนเล็กน้อย มีเกสรตัวผู้ 2 ก้าน ติดอยู่ที่โคนกลีบดอก ยื่นเลยปากหลอดกลีบเล็กน้อย อับเรณูมีความยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร เกสรตัวผู้ที่เป็นหมัน 2 ก้าน มีขนาดเล็ก มีรังไข่เป็นรูปไข่ มีความประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มีช่องอยู่ 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลอยู่ 2 เม็ด ส่วนก้านเกสรตัวเมียมีลักษณะเรียวยาว ยาวกว่าเกสรตัวผู้ ยอดเกสรเป็น 2 พู ไม่ชัดเจนนัก
- ผลอังกาบหนู ลักษณะของผลเป็นแบบแคปซูล รูปไข่แกมรูปขอบขนาน มีความประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ที่ปลายเป็นจะงอย ด้านในมีผลมีเมล็ดแบน ลักษณะคล้ายรูปไข่ มีความยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร และมีขนคล้ายไหมแบนราบ
สรรพคุณของอังกาบหนู
- ดอกอังกาบนำมาตากแห้งใช้ปรุงเป็นยาสมุนไพร ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยเจริญธาตุไฟได้ดีมาก (ราก, ดอก)
- รากหรือใบใช้เป็นยาลดไข้ (ราก, ใบ) ช่วยแก้หวัดด้วยการนำใบมาคั้นกิน (ใบ)
- ช่วยขับเสมหะด้วยการใช้รากของดอกอังกาบสีเหลืองที่ตากแห้งแล้วนำมาต้มเป็นยาดื่ม (ราก)
- ใบอังกาบหนูใช้เคี้ยวแก้อาการปวดฟันได้ (ใบ)
- ใบใช้ผสมกับน้ำผึ้งช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ใบ)
- น้ำคั้นจากใบใช้หยอดหู แก้หูอักเสบได้ (ใบ)
- ช่วยป้องกันและแก้อาการท้องผูก (ใบ)
- ช่วยแก้อาการอาหารไม่ย่อย (ราก)
- ใช้แก้พิษงู (ใบ)
- ช่วยรักษาโรคคัน (ใบ)
- รากหรือใบใช้ผสมกับน้ำมะนาวช่วยรักษากลากเกลื้อน (ใบ, ราก)
- รากใช้เป็นยาแก้ฝี (ราก)
- ทั้ง 5 ส่วนของต้นอังกาบหนูใช้เป็นยาแก้ไข้ข้ออักเสบ (ทั้ง 5 ส่วน)
- ช่วยแก้อัมพาต รักษาโรคปวดตามข้อ โรครูมาติซั่ม หรือใช้ทาแก้อาการปวดหลัง แก้ปวดบวม (ใบ)
- มีคนเคยใช้อังกาบเพื่อเยียวยารักษาโรคมะเร็ง เนื้องอกในสมอง และเบาหวาน แต่ไม่มีแหล่งข้อมูลไหนที่ยืนยันว่ามันสามารถช่วยหรือมีส่วนรักษาได้จริง (ราก)
- สารสกัดจากรากอังกาบหนูมีฤทธิ์ในการคุมกำเนิด โดยมีการทดลองในหนูเพศผู้นานติดต่อกัน 60 วัน พบว่าสามารถคุมกำเนิดได้ 100% เนื่องจากสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ในการรบกวนการสร้างสเปิร์ม ลดจำนวนสเปิร์ม และทำให้การเคลื่อนไหวของสเปิร์มลดลง โดยสารสกัดจากอังกาบหนูนั้นส่งผลต่อการสร้างสเปิร์ม ทำให้โครงสร้างและหน้าที่ของสเปิร์มผิดปกติไป (ราก)
ประโยชน์ของอังกาบหนู
- น้ำคั้นจากใบสามารถใช้ทาแก้ส้นเท้าแตกได้ (ใบ)
- ประโยชน์ของอังกาบดอกเหลือง โดยทั่วไปแล้วจะนิยมปลูกไว้เป็นไม้ประดับสวน เนื่องจากมีดอกที่สวยงาม แต่ในปัจจุบันอังกาบดอกเหลืองนั้นหายากมาก เท่าที่เคยเห็นมาก็มีแต่สวนนงนุชพัทยา แต่ก็นานแล้วนะครับ หรือถ้ามีที่ไหนช่วยแนะนำด้วยนะครับ
แหล่งอ้างอิง : สารานุกรมพืช สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, ไทยรัฐออนไลน์ (นายเกษตร), หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, www.sirisombon.com (ครูบาไตรภพ), www.biogang.net (ใช้ข้อมูลจาก sisaket.go.th)
ภาพประกอบ : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, www.flickr.com (by Faaxaal, the1andtheonly1, Tony Rodd)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)