อังกาบ
อังกาบ ชื่อสามัญ Philippine violet, Bluebell barleria, Crested Philippine violet
อังกาบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Barleria cristata L. จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)
สมุนไพรไทยอังกาบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ก้านชั่ง คันชั่ง ลืมเฒ่าใหญ่ ทองระอา ทองระย้า อังกาบกานพลู อังกาบเมือง เป็นต้น
ต้นอังกาบ กับต้นต้อยติ่ง ลักษณะโดยรวมแล้วจะดูคล้ายกันมาก จนทำให้คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นต้นต้อยติ่ง เนื่องจากลักษณะของผลนั้นมีรูปทรงที่เหมือนกันมาก แต่ผลของต้อยติ่งเมื่อถูกน้ำแล้วจะแตกออก แต่ผลของอังกาบจะไม่แตกเมื่อถูกน้ำ แต่จะแตกหรืออ้าได้เองตามธรรมชาติ
ลักษณะของอังกาบ
- ต้นอังกาบ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและจีน จัดเป็นไม้พุ่มเตี้ยขนาดเล็ก มีลำต้นเป็นข้อ มีความสูงประมาณ 1-1.5 เมตร กิ่งก้านและลำต้นจะมีขนสีเหลืองอ่อนโดยเฉพาะตามข้อ ไม่มีหนามเหมือนต้นอังกาบหนู เป็นไม้ที่ชอบแสงแดดปานกลาง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำกิ่งและการใช้เมล็ด ในประเทศไทยนั้นสามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามหัวไร่ปลายนา ป่าละเมาะ หรือป่าดงดิบ ป่าเต็งรัง รวมไปถึงป่าก่อ
- ใบอังกาบ ลักษณะของใบคล้ายรูปหอก ปลายใบเรียวแหลมหรือยาว โคนใบเรียวสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีขนสั้นนุ่มกระจายอยู่ทั้งสองด้าน โดยเฉพาะตามเส้นใบ ใบมีความยาวประมาณ 3-12 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร ใบออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ก้านใบสั้น มีความยาวประมาณ 0.3-2 เซนติเมตร ใบตามกิ่งจะสั้นและมีขนาดเล็กกว่าตามลำต้น
- ดอกอังกาบ ออกดอกเป็นช่อคล้ายช่อเชิงลดสั้น ๆ หรือเป็นกระจุกค่อนข้างแน่นที่ปลายยอด หรือบริเวณใกล้ปลายยอด ลักษณะของดอกอังกาบเป็นรูปทรงกลมหรือรูปแตร ดอกมีสีม่วง ส่วนที่โคนช่อดอกจะมีใบประดับรูปขอบขนานยาวหรือรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร ขอบใบเว้า มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบเรียงซ้อนเหลื่อมกัน มีขนาดไม่เท่ากัน คู่นอกจะมีขนาดใหญ่กว่า ลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน มีความยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ขอบจักเป็นติ่งหนาม ปลายแหลมยาว ส่วนกลีบคู่มีลักษณะเป็นรูปใบหอกหรือรูปแถบ ยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร มีปลายแหลมยาว กลีบดอกคล้ายรูปปากเปิด หลอดกลีบยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ดอกอังกาบมีกลีบดอก 5 กลีบ มีสีม่วง สีชมพู หรือสีขาว กลีบบนมี 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับยาวประมาณ 2 เซนติเมตร เรียงซ้อนเหลื่อมกันอยู่ ส่วนกลีบล่างจะแผ่กว้างกว่ากลีบบนเล็กน้อย แต่มีความยาวเท่ากับกลีบบน มีเกสรตัวผู้ 4 ก้านติดอยู่ที่โคนกลีบดอก ยาว 2 อัน และสั้น 2 อัน เกสรอันยาวจะยื่นเลยปากหลอดกลีบมาเล็กน้อย ก้านเกสรจะมีขนหนาแน่นที่โคน ส่วนอับเรณูจะยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร โดยเกสรตัวผู้จะเป็นหมัน 1 ก้าน รังไข่เป็นรูปขอบขนานแกมรูปกรวยเกลี้ยง มีอยู่ 2 ช่อง แต่ละช่องจะมีออวุลอยู่ 2 เม็ด ส่วนก้านเกสรตัวเมียจะมีลักษณะเรียวยาว มีความยาวได้ประมาณ 4 เซนติเมตร ยอดเกสรเรียบ โดยอังกาบมักออกดอกช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม
- ผลอังกาบ หรือ ฝักอังกาบ ลักษณะเป็นฝักรูปยาวรี ปลายและโคนฝักแหลม ส่วนปลายฝักจะกว้างกว่าส่วนโคนฝัก ในฝักอังกาบมีเมล็ด 4 เมล็ด เมล็ดแบนกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 มิลลิเมตร มีขนแบนราบ
สมุนไพรต้นอังกาบ โดยทั่วไปแล้วจะแยกออกเป็น 3 สี 3 ชนิด ได้แก่ ชนิดดอกสีม่วง ชนิดดอกสีขาว และชนิดดอกสีเหลือง โดยดอกสีม่วงนั้นจะมีถิ่นกำเนิดที่ประเทศจีนและอินเดีย ส่วนชนิดดอกสีขาวและเหลืองนั้นสามารถพบได้ทั่วไปตามป่าราบหรือที่รกร้างว่างเปล่าในประเทศไทย แต่ในปัจจุบันแทบจะไม่เห็นแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ที่เห็นจะมีแต่ชนิดสีม่วง
สรรพคุณของอังกาบ
- ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยเจริญธาตุไฟ (ราก, ดอกของต้นอังกาบดอกสีขาว)
- ช่วยฟอกโลหิตในร่างกาย (รากของต้นอังกาบดอกสีม่วง)
- รากช่วยแก้ลม (ราก, ดอกของต้นอังกาบดอกสีม่วง)
- ดอกมีสรรพคุณเป็นยาช่วยขับเสมหะ (ดอกของต้นอังกาบสีม่วง)
- รากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (รากของต้นอังกาบดอกสีม่วง)
- รากมีรสหวาน ใช้เป็นยาแก้ระดูขัด ฟอกโลหิตระดูของสตรี แก้ประจำเดือนคั่งค้างเป็นลิ่มเป็นก้อน (รากของต้นอังกาบดอกสีม่วง)
- ช่วยแก้อาการเจ็บปวดเมื่อยบั้นเอว (รากของต้นอังกาบดอกสีม่วง)
- ช่วยแก้อาการบวม (รากของต้นอังกาบดอกสีม่วง)
- ช่วยแก้อาการปวดฝี (ใบของต้นอังกาบดอกสีม่วง)
- ใบช่วยถอนพิษร้อนอักเสบ (ใบของต้นอังกาบดอกสีม่วง)
- รากอังกาบดอกม่วง ใช้แก้พิษงู พิษตะขาบ และแมลงป่องต่อย (รากของต้นอังกาบดอกสีม่วง)
ประโยชน์ของอังกาบ
- โดยทั่วไปแล้วจะนิยมปลูกไว้เป็นกลุ่มไม้ประดับสวนหย่อมเพื่อใช้ปรับภูมิทัศน์เป็นหลัก จึงใช้ปลูกทำเป็นรั้ว ริมทางเดิน รวมไปถึงริมธารน้ำตก ริมทะเล เป็นต้น เนื่องจากอังกาบมีดอกที่สวยงามนั่นเอง โดยปัจจุบันได้มีการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้มีดอกสีขาวหรือดอกสีม่วงสลับขาว (ตามภาพด้านล่าง)
แหล่งอ้างอิง : สารานุกรมพืช สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2, ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, ไทยรัฐออนไลน์ (นายเกษตร), หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (en)
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by lanonnaeli, Hesperia2007, hai_rose87, AussieSalviaGal)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)